แดงวิพากษ์แดง 1 ปี พลาดโอกาสปฏิรูปปชต.
ครบรอบ 1 ปี ที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ได้เข้าไปใช้อำนาจรัฐ และเป็นส่วนประกอบสำคัญ ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย หลังจากได้ ชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์จนเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง "พฤษภาเลือด" พร้อมคำประกาศ โจมตีต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งประเด็นสองมาตรฐาน และเมื่อแกนนำเสื้อแดงได้เป็นรัฐบาลในช่วงแรกได้พูดถึงจุดยืนหลายเรื่องที่จะผลักดัน ไม่ว่า การปฏิรูปประชาธิปไตย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเยียวยา ช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังในคุกจากผลพวงการชุมนุม ฯลฯ
อีกด้านหนึ่ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งแกนนำนปช.จำนวนมาก เข้ามามีตำแหน่งทางการเมือง ร่วม 40-50 คน ไล่จากระดับสูง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ รองลงไปยังมีตำแหน่ง ผู้ช่วยรัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี กระจายอยู่หลายกระทรวง รวมถึง ข้าราชการการเมืองประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กระทั่ง ตั้งให้เป็นบอร์ดในบางหน่วยงาน ยังไม่นับแกนนำนปช.และเครือญาติที่ได้เป็น สส. สังกัดพรรคเพื่อไทย อีกนับสิบตำแหน่ง
ทีมข่าวนโยาบายสาธารณะ ถือโอกาสครบ1 ปีนี้ ตรวจสอบจุดยืนแกนนำนปช.ที่เข้าไปมีอำนาจรัฐผ่านความเห็นนักวิชาการฝ่ายเสื้อแดงและมุมมองจาก "คนนอกสี"
อำมาตย์ได้ นปช.ทำงานแทน
"ยุกติ มุกดาวิจิตร" อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ครก.112) มองว่า นปช. พลาดโอกาสในสิ่งที่ควรทำไปหลายเรื่องในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จนทำให้ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยม ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเลย ฝ่ายอำมาตย์จึงได้พรรคเพื่อไทยมาทำงานแทน ไม่ต้องไปเดือดร้อนหาใครมาแทน เพราะพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ทำในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากนัก
เขาขยายความว่า ที่บอกว่า พลาดโอกาสสำคัญ คือ เดิมคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยไม่ได้เลือกมาให้ทำงานด้านนโยบายทางด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ประเด็นสำคัญ คือ เพราะเรื่องทางการเมือง พรรคเพื่อไทยแทนที่จะใช้โอกาสนี้เปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองให้ประชาธิปไตยก้าวหน้าขึ้น แต่กลับไม่ได้ทำ หรือ ทำแล้วไม่สำเร็จ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล่าสุดหลังจากถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินอย่างที่เห็น พรรคเพื่อไทยก็ไม่มีท่าทีชัดเจนว่า จะเอาอย่างไร กลายเป็นว่า ช็อคไปเลย
ประเด็นอื่น ที่ยังมีความล่าช้า คือ การค้นหาความจริงโดยคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะนำไปสู่อะไร โดยเฉพาะข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ก็ยังไม่คืบหน้า ทั้งที่ผ่านมา 1 ปีแล้ว
อีกเรื่อง พรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการคำนึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สำคัญ โดยเฉพาะการช่วยประกันตัวนักโทษการเมือง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มนปช.หรือบางคนที่ไม่ได้เป็นเสื้อแดงและถูกเข้าคุก ดำเนินคดี ตั้งข้อหาเป็นผู้ก่อการร้าย เผาเมือง ตอนนี้ยังติดอยู่ 21 คน และติดคุกมาเกิน 2 ปี โดยที่รัฐบาลยังไม่ได้ให้ความช่วยเหลืออะไร ทั้งที่มีกลไกที่สามารถช่วยเหลือได้ อีกกลุ่ม นักโทษที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 มีอยู่ 4 คน แต่ยังมีการจับกุมและใช้กฎหมายนี้อยู่ ปัญหาสำคัญ คือ ไม่มีท่าทีจากพรรคเพื่อไทยว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาและคิดที่จะแก้ไขปรับปรุง ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่
แก้รธน.เหลว /ทักษิณคิดเพื่อตัวเอง
"นี่คือสิ่งที่รัฐบาลเพื่อไทยพลาด ไม่ยอมทำ ในทางกลับกัน เมื่อไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง หรือ การประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพแล้ว การเมืองก็ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย รัฐธรรมนูญ2550 การริดรอนสิทธิเสรีภาพก็ยังอยู่ การสลายการชุมนุม ปี 2553 ผลที่เกิดขึ้น ก็ยังไม่นำไปสู่การชี้แจงข้อเท็จจริง หรือ แสดงให้เห็นถึงแนวทางที่จะปรองดองก็ยังไม่เกิดขึ้น สังคมไทยก็ยังมีความขัดแย้งอยู่ นี่เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลเพื่อไทย และถ้ามองจากมุมมองเสื้อแดง เขาจะมีความอึดอัด และจะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ"
เหตุที่ ผิดพลาดเพราะพรรคเพื่อไทยประนีประนอม หรือ ติดกับดักอำมาตย์? ยุกติ ตอบคำถามนี้ว่า "ผมไม่คิดว่าเขาโง่ แต่คิดว่าเขายังมีท่าทีของการเป็นพ่อค้าคิดว่า ทุกอย่างยังเจรจาได้ หรือ ต้องประนีประนอม เพื่อมุ่งรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจของกลุ่มเขา มีชนชั้นนำของเขาเหมือนกัน ฉะนั้น ประเด็นทางการเมืองที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการไปกระทบกระเทือนการดำรงอยู่ของเขา เขาก็ยังไม่เลือกที่ทำ อย่างเรื่องการปรองดอง ก็ไม่มีท่าทีชัดเจน เพราะถึงที่สุดพรรคเพื่อไทยหรือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังอยากเดินหน้าแค่ว่า จะกลับมาให้ได้ ซึ่งหลายฝ่ายเห็นว่า ทำไมพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่หยุดตรงนี้ก่อนแล้วไปเดินหมากที่จะแก้รัฐธรรมนูญซึ่งสำคัญกว่าและเป็นสิ่งที่มีความชอบธรรมที่สุดที่จะทำ
หมดหวังเรื่อย ๆ เหตุเล่นเกมประนีประนอม
"ทั้งหมด ผมไม่คิดว่า เขาถูกหลอก เพียงแต่ว่า เขาเลือกประนีประนอมเพื่อซื้อเวลาให้ตัวเขาอยู่ไปได้เรื่อยๆ มากกว่า ผมยังคิดว่า มันจะหมดหวังไปเรื่อยๆ ถ้ารัฐบาลยังแสดงท่าทีอย่างนี้ อย่างวันนี้บทบาทนำของพรรคมีใครบ้าง ซึ่งก็ไม่มีเลย นอกจาก คุณยิ่งลักษณ์เดินสายไปต่างประเทศ ซึ่งเราได้เห็นการยอมรับจากต่างประเทศมากมาย"
อย่างไรก็ตาม ยุกติ มองว่า นปช. กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเป็นลักษณะน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า ต้องเป็นแนวร่วมกันอยู่เพียงแต่ว่า ผลประโยชน์ในเชิงอุดมการณ์ที่ฝ่ายหนึ่งถือมวลชนไว้ กับผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจที่ผู้มีอำนาจในพรรคถืออยู่ ยังต่อรองกันอยู่ แต่ถ้ายังเป็นอย่างนี้ ผลเสียมันตกอยู่ขบวนการประชาธิปไตย
"พรรคเพื่อไทยเขาคงไม่กลัวมวลชนของเขาเองมากเท่ากับฝ่ายอำมาตย์ ฉะนั้นก็กลายเป็นว่า ทุกคนก็ยังหล่อเลี้ยงกันอยู่ แม้แต่นปช.เองแทนที่จะใช้มวลชนเขาเองในการต่อรองกับ พรรค ก็ยังเกรงใจกันอยู่ ยังไม่เดินหน้าในเชิงอุดมการณ์ที่ชัดเจนว่า ควรจะทำอะไร"
สิ่งที่น่าผิดหวังอีกอย่าง ยุกติ เห็นว่า สภาพของ นปช. ณ วันนี้ หายไป แทนที่นปช.จะเป็นโหวตเตอร์ที่แอคทิฟเรียกร้องสิ่งต่างๆ กับพรรค และลุกขึ้นมาประกาศว่า ถ้าไม่ทำนั่นทำนี้ พรรคเพื่อไทยจะมีปัญหากับมวลชนอย่างไร แต่กลับไม่มีการเรียกร้อง กลายเป็นว่า นปช.ประคับประคองพรรคไปเรื่อยๆ พอเห็นประเด็นแหลมคมอะไร ก็หยุดไว้ก่อนแล้วก็ไม่ทำอะไร เช่น ช่วงที่กลุ่มครก. เคลื่อนไหวให้แก้มาตรา 112 นปช.ก็ไม่สนับสนุน แถมยังคัดค้านด้วย
"สิ่งที่เราเห็นวันนี้ จึงมีพวกเสื้อแดงที่ก้าวหน้าอยู่ กลุ่มเล็ก กลุ่มน้อย ทำกิจกรรมต่างๆ ตามแต่กำลังที่จะทำกันได้ นปช.ก็อาจจะสนับสนุนบ้าง แต่ว่าเป็นเชิงปัจเจกมากกว่า ภาพรวมก็ไม่เกิดขึ้นมา มวลชนที่ก้าวหน้าจำนวนมากยังรอยู่ว่า ถ้านปช.เคลื่อนในทางที่จะทัดทานพรรค ก็จะมีคนเข้าร่วมอีกจำนวนมาก แต่เมื่อ นปช.เลือกที่จะประคองรัฐบาลอย่างเดียว ก็เป็นทางเลือกที่ผิดของ นปช. "
อย่างไรก็ตาม ยุกติ ยังเชื่อว่า แกนนำ นปช. แม้จะได้ตำแหน่งทางการเมือง แต่ก็ยังมีอุดมการณ์อยู่ เพียงแต่ว่า อำนาจต่อรองของนปช.ในพรรคเพื่อไทยยังน้อย หวังว่า นปช.จะสามารถใช้ต้นทุนที่มีมวลชนสนับสนุน และก็ยังมีสื่อเสื้อแดง มากดดันให้รัฐบาลยอมทำตามข้อเสนอของนปช. แตถ้ายังไม่ทำอะไร ก็กลายเป็นว่า นปช.สนับสนุนให้ระบอบรัฐประหาร 19 ก.ย. ยังสืบทอดต่อไป
"ผมยังมองไม่ออกว่า สุดท้ายมันจะออกไปทางไหน นปช.ก็เงียบ ไม่มีการเคลื่อนไหว อย่างนี้ก็เป็นเกมที่ยื้อไปเรื่อยๆ ประคองให้รัฐบาลอยู่อย่างเดียว แล้วอยู่ไปทำไม ก็มองไม่ออกว่า อยู่ไปแล้ว ได้อะไรดีขึ้นมา เพราะตอนนี้รัฐบาลเพื่อไทยก็กลายเป็นรัฐบาลฝ่ายอำมาตย์เรียบร้อยแล้ว เพราะคุณไม่ได้เข้าไปแตะต้องโครงสร้างทางการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นมันก็แค่เปลี่ยนขั้วในตัวแสดงทางการเมืองเท่านั้น"
นปช.เหยาะแหยะ เกรงใจชนชั้นนำ
ด้าน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการเสื้อแดงอีกราย มองไม่ต่างกับยุกติว่า มีสองเรื่องที่นปช.ยังไม่บรรลุผลสำเร็จ 1. การปฏิรูปประชาธิปไตย เป้าหมายของคนเสื้อแดงที่ผ่านมา คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยแต่ยังทำไม่ได้ 2. นักโทษการเมืองจากที่ประชาชนถูกจับมาดำเนินคดีข้อหาก่อการร้าย หรือ ข้อหาอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม ซึ่งหลายคนยังติดคุกอยู่
เขาขยายความว่า เรื่องนักโทษการเมือง ได้กลายเป็นช่องว่างระหว่างพรรคเพื่อไทย นปช. กับ ขบวนการเสื้อแดงเพราะพี่น้องคนเสื้อแดงที่ถูกจับดำเนินคดีในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็มาจากการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ให้รัฐบาลยุบสภา และเมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลมาได้ 1 ปี แต่คนเสื้อแดงก็ยังติดคุกและถูกดำเนินคดีในศาล ซึ่งมันก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ค่อยดีเหมือนกันว่า พี่น้องโดนทิ้ง อีกเรื่อง คือ ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 เหมือนโดนปล่อยตามยถากรรม
"ความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่สำเร็จ อาจจะเหยาะแหยะ เกินไป ไปประนีประนอมกับ พล.อ.เปรม แต่ถ้ามองในเชิงรัฐบาลก็อาจมีความจำเป็นที่ต้องทำอย่างนั้น แต่ผมก็คิดว่า มันก็มีปัญหาเพราะมันไม่ได้บรรลุตามวาระที่เราเคยคุยกันว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะได้เป็นรัฐบาลแล้ว อย่างน้อยที่สุดการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นก็ควรดำเนินการโดยเร็ว"
สุธาชัย ระบุว่า ก่อนหน้านี้เราเข้าใจว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะมีข้อจำกัด จากกองทัพ ศาล ที่ไม่ได้อยู่ในมือของพรรคเพื่อไทย เพราะรัฐบาลคุมไม่ได้ แต่อยู่ในมืออำมาตย์ อีกด้านคิดว่า พรรคเพื่อไทยก็สู้น้อยไป และเกรงใจชนชั้นนำมากเกินไป ทั้งที่พรรคเพื่อไทย ควรช่วยประชาชนระดับล่างมากกว่านี้ แต่กลับทอดทิ้งไม่ว่ากรณี อากง ที่เสียชีวิตในคุก หรือ ใครก็ตามที่โดนคดี 112 รัฐบาลก็ไม่ช่วย ทั้งๆที่เป็นเรื่องสิทธิมนุษชนเหมือนกันเพราะอากงยังเป็นผู้บริสุทธิ์แต่ต้องตายในคุก ในต่างประเทศถือเป็นเรื่องใหญ่มาก รัฐบาลก็ควรเอาจริงแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย
จี้ออกพรก.นิรโทษชาวบ้านสองฝ่าย แกนนำไม่เกี่ยว
"ผู้ก่อการภาคใต้ เราเรียกว่า ผู้ก่อการไม่สงบ แต่คนเสื้อแดงกลับถูกเรียกว่า ผู้ก่อการร้าย อันนี้มันเป็นการแกล้ง ดังนั้น รัฐบาลสามารถช่วยชาวบ้านได้ง่ายๆ เลย คือ ออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรม ให้กำหนดชัดเจนเลยว่า นิรโทษกรรมชาวบ้านระดับล่าง ไม่รวมแกนนำ เพราะเดี๋ยวจะหาว่า เป็นการช่วยแกนนำ และถ้าจะให้แฟร์ก็นิรโทษกรรมชาวบ้านฝ่ายอื่นไปด้วย อันนี้ผมก็ไม่ว่านะ เพราะเป็นในระดับชาวบ้าน ส่วนพ.ต.ท.ทักษิณ แม้จะไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่เมื่อเทียบกับชาวบ้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ยังได้อยู่ต่างประเทศ ไม่ได้อยู่ในคุก เหมือนชาวบ้าน บางรายติดมา2-3 ปีเช่นเดียวกับ แกนนำนปช. ก็ให้ดำเนินคดีกันไป"
สำหรับสุธาชัย บอกว่า ฟังไม่ขึ้นหากพรรคเพื่อไทย จะแก้ตัวว่า ต้องการประคองอำนาจรัฐไว้ก่อน จึงไม่อยากช่วยเหลือคนเสื้อแดงในคุก เรื่องนี้จะให้ชาวบ้านเป็นผู้เสียสละอย่างเดียวไม่ได้ เพราะตราบใดก็ตามที่ยังไม่ช่วยเหลือชาวบ้านที่ติดคุก ก็ไม่ถูก เพราะนี่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสองมาตรฐานในสังคมไทย เพราะวันนี้ยังไม่มีฝ่ายเสื้อเหลืองซักคนเดียวที่ติดคุกแล้วถูกดำเนินคดี แต่มีฝ่ายเสื้อแดงเท่านั้น
"ผมไม่ได้หมายความว่า ต้องการให้ชาวบ้านทั้งสองฝ่ายมาติดคุก แต่เผอิญฝ่ายนู้นยังไม่มีใครโดนเลย แต่คนเสื้อแดง โดยฝ่ายเดียว อันนี้ยิ่งหนักกว่าไปใหญ่แล้วศาลก็ตัดสินจำคุกถึง 30 ปี แล้วเงินชดเชยเยียวยาก็มีปัญหาแม้ว่า รัฐบาลจะให้เงินชดเชยเยียวยาแล้ว แต่เงื่อนไขระบุว่า ถ้าถูกดำเนินคดีอยู่ ก็ยังไม่ได้ แล้วพี่น้อง โดนคดีก่อการร้ายทั้งนั้น ก็ไม่ได้ค่าชดเชยหลายคนจึงลำบาก ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะ 1 ปี ยังมีชาวบ้านโดนดำเนินคดีจนติดคุก"
"กลไกที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีอยู่ในมือ ผมคิดว่า เขาไปยอมศาลมากเกินไป ศาลไม่ใช่คนเดียวที่ใช้กลไกนะ ตำรวจทหารอยู่ในมือของรัฐบาล รัฐบาลก็ยอมให้ศาลดำเนินการอะไรตามใจชอบ อะไรๆก็อ้างศาล ผมว่า มันถูกหรอก เรื่องสิทธิมนุษยชนที่ชาวบ้านโดนกระทำนี้ รัฐบาลช่วยได้ ไม่มีใครว่า"
ผูกติดกับเพื่อไทยมากเกินไป
สำหรับ นปช. กับ ขบวนการเสื้อแดง 1 ปีที่ผ่านมา สำหรับ สุธาชัย ยอมรับว่า นปช.เป็นขบวนการที่ใหญ่ที่ในขบวนการเสื้อแดง แต่นปช. ไม่ได้เป็นทั้งหมดของขบวนการเสื้อแดง เพราะยังมีกลุ่มเสื้อแดงต่างๆ มากมายหลายกลุ่ม ซึ่งก็ยังยึดโยงกับปัญหาใหญ่วันนี้ทั้งเรื่อง ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากศาล แต่ก็ไม่คิดว่า พรรคเพื่อไทยจะกล้าทำ ดังนั้น ยืนยันว่า ภารกิจของคนเสื้อแดงยังคงอยู่
"ผมเข้าใจนปช.เขานะ เพราะส่วนหนึ่งเขาต้องฟังพรรคเพื่อไทย จะไปแตกหักพรรคเพื่อไทย ก็คงลำบาก แต่สถานการณ์ 1 ปีที่ผ่านมา นปช.โยงกับพรรคเพื่อไทยมากไป หลักการที่ถูก ขบวนการเสื้อแดงกับ พรรคเพื่อไทย ต้องแยกกัน ไม่ใช่ขบวนการเดียวกัน เพราะพรรคเพื่อไทยเขาก็มีวาระในการบริหารประเทศ แต่เสื้อแดงต้องการจะให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตย เลิกการละเมิดสิทธิมนุษยชน การปฏิรูปศาล
"คนเสื้อแดงต้องผลักดันให้พรรคเพื่อไทยทำในจุดยืนที่ประกาศที่ผ่านมา แน่นอนพรรคเพื่อไทย อาจมีวิธีการเอาตัวรอด เป็นรัฐบาลอยู่ครบ 4 ปี แต่นั่นไม่เกี่ยวกับคนเสื้อแดง และคนเสื้อแดงไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายในลักษณะนั้น ดังนั้น ต่อจากนี้ เราต้องสร้างคนเสื้อแดงให้เข้มแข็ง ส่วนพรรคเพื่อไทยก็เดินของเขาไป แต่เราไม่ถึงขั้นเป็นปฏิปักษ์กับพรรคเพื่อไทย เราเป็นเพื่อนกัน แต่วันนี้ มันเป็นแบบว่า ยูชกให้มันเต็มหมัดหน่อย ไม่ใช่เยาะๆ แหยะ ๆ อยากได้เหรียญทอง ก็ไม่ได้ คนดูก็ไม่ประทับใจ"
ฟังความเห็นจาก นักวิชาการที่ไม่ใช่ฝ่ายเสื้อแดง สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ตั้งข้อสังเกตุว่า เมื่อสถานะของนปช.และพรรคเพื่อไทยพลิกกลับมาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศแล้ว นปช.กับพรรคเพื่อไทยก็ยังเป็นกลุ่มเดียวกัน การเคลื่อนไหวของนปช. ที่จะสร้างสีสันทางการเมืองย่อมน้อยลงเพราะต้องมีหน้าที่คอยสนับสนุนปกป้องรัฐบาลด้วย และหากรัฐบาลบริหารประเทศโดยไม่โดดเด่น แกนนำจะออกไปคัดค้านก็ไม่ได้อีก ฉะนั้น การเคลื่อนไหวให้มีบทบาทเพื่อยกระดับตัวเองจึงเป็นไปได้ยาก
"ลักษณะอย่างนี้มันยากที่จะสร้างสีสันความเข้มแข็งให้เพิ่มขึ้นเพราะบางทีสิ่งที่รัฐบาลทำก็อาจจะไม่โดดเด่นหรือถูกวิจารณ์ หรือ มีจุดอ่อนอยู่ มันก็จะทำให้กระบวนการที่เป็นผู้สนับสนุน อาจจะทำงานยากขึ้น
"ถ้าสิ่งที่เคยเรียกร้องไว้ ปลุกระดมไว้ แล้วมันไม่เป็นจริงก็ทำให้ความน่าเชื่อถือของแกนนำลดลง แล้วที่สุดก็อาจทำให้เกิดความเสื่อมถอยได้ ปกติกลุ่มทางการเมืองในประเทศไทย จะมีช่วงอายุระยะหนึ่งและหลังจากนั้น มันจะผ่อนคลายและเจือจางลง ที่ผ่านมามันเป็นอย่างนี้ กลุ่มนี้จะมีความแตกต่าสงหรือไม่ก็ลองติดตามดู"
เขาอธิบายว่า การขับเคลื่อนของนปช.เกิดจากขบวนทางการเมือง มีแกนนำโดยตรง และเป้าหมายของกลุ่มที่ชัดเจน ว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร ต่างจากเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีต เช่น 14 ตุลา 2516 หรือ 6 ตุลา 2519 ที่ผู้นำนักศึกษาไม่ได้มีเป้าหมายทางการเมือง และผู้นำนักศึกษาก็เปลี่ยนไปแต่ละชุด ไม่มีความต่อเนื่อง
"การขับเคลื่อนของนปช.มีกลยุทธ์ที่ชัดอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ ถึงแม้ว่า องค์ประกอบของแกนนำอาจมีเป้าหมายภายในที่แตกต่างก็ตาม แต่ก็เป็นลักษณะ แสวงจุดร่วม ในการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีพลังสนับสนุนทางการเงินที่ต่อเนื่อง ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูง และคุณทักษิณ ก็ยังมีบทบาทนำสูงอยู่ ฉะนั้นกลุ่ม นปช.ก็ต้องมีบทบาทในการสนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ด้วย ซึ่งความสำเร็จของคุณทักษิณที่ผ่านมา เขาก็จะดูแลผลประโยชน์ให้ทุกกลุ่มอย่างถ้วนหน้า แล้วก็สับเปลี่ยนกันไป เมื่อกลุ่มนี้ได้ประโยชน์แล้วก็ได้เวลาเปลี่ยนให้กลุ่มหนึ่งเข้ามาก็จะเป็นอย่างนี้" สมบัติ ทิ้งท้าย