จับตาย-วิสามัญฯ...อย่าให้เป็นมาตรฐานปิดคดี
ปรัชญา โต๊ะอิแต
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
การวิสามัญฆาตกรรมกลุ่มคนร้าย หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “จับตาย” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ยังคงเป็นประเด็นที่นักสิทธิมนุษยชนเฝ้าจับตามอง เพราะแม้ในบางแง่มุมจะถือเป็นความสำเร็จของฝ่ายความมั่นคง แต่ก็ยังมีประเด็นที่เป็นคำถาม และยิ่งน่าเป็นห่วงหากมีการส่งสัญญาณว่านี่คือมาตรฐานการปิดคดี
สิ่งที่เป็นคำถามมีอยู่ 2 ประเด็นหลักๆ คือ
1. ผู้ตายใช้อาวุธต่อสู้เจ้าหน้าที่จริงหรือไม่ และ
2. การแจกแจงประวัติของผู้เสียชีวิตโดยฝ่ายความมั่นคง ที่มักอ้างว่าผู้ตายเป็นคนร้ายคดีสำคัญ บางรายมีหมายจับติดตัวนับสิบๆ คดี
คดีวิสามัญฆาตกรรมที่เป็นข่าวครึกโครมในปี 2552 มีหลายคดี ล่าสุดก็คือคดี “จับตาย 6 ศพ” ที่บ้านเลขที่ 192 หมู่ 5 บ้านพรุจูด ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2552 โดยฝ่ายความมั่นคงอ้างว่า หนึ่งในผู้เสียชีวิตคือ นายอาหามะดือราแม หะยีมะ ซึ่งมีชื่อจัดตั้งว่า “ปะดอ” อายุ 34 ปี ชาว 4 ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานีนั้น เป็นแกนนำอาร์เคเค (กลุ่มที่ได้รับการฝึกรบแบบจรยุทธ์) ระดับสั่งการ มีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ถึง 12 หมาย
ถัดจากนั้นไม่กี่วัน คือเมื่อวันเสาร์ที่ 21 พ.ย. ทหารหน่วยเฉพาะกิจยะลา 14 ปะทะกับกลุ่มผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบบนเทือกเขาฮูยงซูแง หมู่ 6 ต.บาโร๊ะ อ.ยะหา จ.ยะลา และวิสามัญฆาตกรรม นายมาหะมะ มะหร๊ะ อายุ 28 ปี ชาว ต.บาโร๊ะ เสียชีวิต โดยฝ่ายความมั่นคงระบุว่า นายมาหะมะ เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับคดีความมั่นคง 5 คดี
อีกกรณีที่เป็นข่าวครึกโครมอย่างมาก คือเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบรวม 4 ศพ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2552 ที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิตถูกระบุว่าคือ นายมะซอบี ยาโก๊ะ อายุประมาณ 30-35 ปี เป็นแกนนำระดับสั่งการ มีหมายจับในคดีความมั่นคงถึง 16 หมาย!
“จับเป็น” ดีกว่า “จับตาย”
สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ เลขาธิการศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า ในทางกฎหมาย การจับตายสามารถกระทำได้ในกรณีที่ฝ่ายตรงข้ามใช้อาวุธปะทะกับเจ้าหน้าที่ โดยยิงเข้าใส่เจ้าหน้าที่ก่อน และเจ้าหน้าที่ก็สามารถตอบโต้ในลักษณะป้องกันตัวได้ แต่ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ต้องประกาศให้ฝ่ายผู้ต้องหายอมจำนนก่อนเข้าปะทะ
"การจับตายในคดีความมั่นคงนั้น ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกที่ควนโนรี แต่มันเกิดมาหลายครั้งแล้ว ซึ่งที่จริงการจับเป็นเพื่อนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลย่อมดีกว่า แต่ถ้าปะทะแล้วตายก็ต้องมีการไต่สวนการตายย้อนหลัง เพราะเป็นการตายโดยปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ที่ผ่านมาในพื้นที่ไม่ค่อยได้มีการไต่สวนการตายในชั้นศาล เพราะติดปัญหาตรงที่ว่าจะต้องมีการร้องขอจากครอบครัวผู้ตาย ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านไม่กล้าฟ้องร้อง หรือบางทีชาวบ้านก็ไม่รู้สิทธิของเขาเอง เจ้าหน้าที่จึงควรนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทุกคดี เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ”
“ประเด็นสำคัญเมื่อมีการจับตายคือ โดยข้อเท็จจริงไม่รู้ว่ามีการปะทะจริงหรือไม่ เพราะข้อมูลที่ได้หลังจากเกิดเหตุ ล้วนเป็นข้อมูลจากเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างผู้ตายหนึ่งใน 6 คนซึ่งโดนวิสามัญฆาตกรรมที่ควนโนรี ก็เป็นลูกความของผม และคดีเพิ่งจะถูกยกฟ้องไปแล้ว ผมจึงอยากให้ทุกปัญหามายุติที่ศาล จากประสบการณ์ที่ว่าความมาหลายคดี พบว่าหลายครั้งมักมีการยกฟ้องจำเลยเพราะหลักฐานอ่อน ผมจึงกลัวเจ้าหน้าที่จะใช้การจับตาย หรือวิสามัญฆาตกรรมเป็นมาตรฐานในการจับกุม เพราะมันง่ายดี และจะทำให้มีการจับตายมีมากขึ้น ตรงนี้ก็เป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน"
หมายจับพร่ำเพรื่อ
ส่วนที่ฝ่ายความมั่นคงมักอ้างข้อมูลว่า บุคคลที่ถูกจับตายเป็นผู้ต้องหาคนสำคัญ บางคนมีหมายจับนับสิบหมาย ทั้งๆ ที่ในประวัติของมือปืนระดับประเทศบางคนยังไม่มีหมายจับมากเท่านี้ ประเด็นนี้ ทนายสิทธิพงษ์ มองว่า การหมายออกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้พร่ำเพรื่อจนเกินไป
“ผมได้ฟังข้อมูลแล้วก็รู้สึกแปลกๆ อยู่เหมือนกัน ที่สำคัญจะทำให้เกิดปัญหาว่าคนที่โดนหมายเยอะๆ แบบนี้ เมื่อหลุดคดีไปหนึ่งหมาย ก็ต้องติดอีกหมายหนึ่ง เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ มันทำให้ต่อสู้คดีในชั้นศาลลำบาก หลายๆ กรณีเจ้าหน้าที่ไม่ได้คำนึงถึงผลของคดี เพียงแค่อยากกักตัวผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยไว้ในเรือนจำสัก 2-3 ปี เหมือนเป็นนโยบายอะไรสักอย่าง เพราะผมเจอกรณีแบบนี้มากในคดีความมั่นคง ผมจึงคิดว่าน่าจะต้องมีการตรวจสอบในภายหลัง และองค์กรที่จะเข้ามาตรวจสอบข้อมูลตรงนี้ต้องไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหาร แต่ต้องเป็นองค์กรที่เป็นกลางเพื่อความเป็นธรรม”
สายข่าว...แหล่งข้อมูลปริศนา
ทั้งนี้ ประเด็นที่บางคนถูกออกหมายจับหลายๆ หมาย มักเชื่อมโยงกับการให้ข้อมูลโดย “สายข่าว” ของรัฐ ซึ่งก็เป็นแง่มุมที่ ทนายสิทธิพงษ์ เห็นว่าเป็นปัญหาเช่นกัน
"ประเด็นของสายข่าวหรือแหล่งข่าว มักจะเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่อ้างเพื่อไปจับคน เรื่องนี้เป็นปัญหามานานแล้ว ไม่รู้ว่าใครกันแน่ที่เป็นสายข่าวให้ มันไม่ชัดเจนเพราะแหล่งข่าวที่ว่าอาจเป็นกลุ่มคนที่มีความขัดแย้งผลประโยชน์ส่วนตัวหรือมีความแค้นกับผู้ที่ถูกกล่าวหาก็ได้ แล้วก็แจ้งข่าวเท็จเพื่อหวังผลล้างแค้น คำถามคือเจ้าหน้าที่ได้กลั่นกรองมากน้อยแค่ไหน ยิ่งคนที่เป็นสายมักได้รับค่าตอบแทน อาจจะกลายเป็นเหตุจูงใจที่ไม่สมควร มันผิดหลัก และจะเอาเรื่องก็ไม่ได้ด้วย เพราะได้รับการคุ้มครองจากศาล ทนายไม่มีสิทธิคัดค้าน”
“อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากแหล่งข่าวนั้นมักไม่ค่อยมีน้ำหนักในชั้นศาล ทำให้บางคดีศาลยกฟ้อง แต่ถึงกระนั้นเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวอยู่เรื่อยๆ ทำให้ผมประมวลได้ว่าการออกหมายจับที่ควรอาศัยหลักฐานและพยานในเบื้องต้นที่มีน้ำหนักพอสมควร แท้ที่จริงแล้วการออกหมายผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบส่วนใหญ่ เป็นข้อมูลที่ได้จากสายข่าวและการซัดทอดแทบทั้งสิ้น ซึ่งมันไม่ถูกหลัก เพราะควรจะมีพยานหลักฐานอื่นๆ โดยเฉพาะวัตถุพยาน หรือผลตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ประกอบด้วย มิฉะนั้นจะกลายเป็นปัญหาไม่รู้จบ”
หวั่นขยายวงความรุนแรง
กมล ถมยาวิทย์ อนุกรรมาธิการรายงานผลการพิจารณาศึกษาปัญหาความไม่สงบและสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร มองอย่างเป็นห่วงว่า ปฏิบัติการจับตายในลักษณะที่เกิดขึ้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเหมือนกับการฆ่าตัดตอน ซึ่งอาจก่อผลกระทบทำให้เกิดความเกลียดชังในหมู่วัยรุ่นในพื้นที่ที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐได้
“กลุ่มวัยรุ่นที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม อาจรวมกลุ่มกันตอบโต้รัฐอย่างรุนแรง เพราะจะถูกตั้งคำถามว่าคนที่ปะทะเป็นกลุ่มขบวนการจริงหรือไม่ แล้วแหล่งข่าวที่แจ้งมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัญหาใหญ่ มันเป็นการขยายวงกลุ่มที่เลือกใช้ความรุนแรง”
สื่อก่อความรู้สึกแปลกแยก
ประเด็นที่ กมล เป็นกังวลไม่ต่างกับทนายสิทธิพงษ์ คือ การจับตายจะกลายเป็นมาตรฐานที่เจ้าหน้าที่รัฐนำไปใช้อย่างกว้างขวางหรือไม่
“ผมขอตั้งข้อสังเกตว่าภาพเหตุการณ์จับตาย มักจะถูกประโคมเป็นข่าวใหญ่ มีการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี เพราะการที่สื่อกระแสหลักนำเสนอเหตุการณ์เหมือนเป็นการสร้างความชอบธรรมให้เจ้าหน้าที่ นั่นหมายถึงว่าสื่อกระแสหลักได้กลายเป็นตัวขยายความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปเรียบร้อยแล้ว”
“ที่สำคัญการใช้ถ้อยคำบางคำของสื่อ โดยเฉพาะรายการทีวีที่นำข่าวหนังสือพิมพ์มาอ่านตอนเช้าๆ ได้ทำให้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รู้สึกแปลกแยก เช่น ใช้คำว่าทหารของเราบาดเจ็บ หรือใช้คำว่าแผ่นดินของเรา ทั้งๆ ที่มันคือแผนดินของคนทั้งประเทศ บางรายการถึงกับพูดว่าผู้ตายคือคนที่จะมาแบ่งแยกแผ่นดินของเรา อย่างนี้มันส่งผลต่อสภาพจิตใจของคนในพื้นที่ เหมือนจะแยกคนสามจังหวัดออกจากคนทั้งประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ผมได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งเป็นพุทธอยู่ในพื้นที่ เขาก็มองเหมือนผม คือมองว่าสื่อกำลังเป็นตัวปัญหาที่ขยายความรุนแรง” กมล ระบุ
ผู้การปัตตานียันปฏิบัติตามขั้นตอน
ด้านมุมมองของฝ่ายปฏิบัติ พล.ต.ต.พิเชษฐ์ ปิติเศรษฐ์พันธ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี (ผบก.ภ.จว.ปัตตานี) กล่าวว่า การปะทะกันที่ ต.ควนโนรี ซึ่งทำให้ต้องวิสามัญฆาตกรรมผู้ก่อเหตุรุนแรงถึง 6 ศพนั้น ก่อนจะนำไปสู่การยิงปะทะ เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนทุกอย่าง คือภายหลังได้รับทราบข้อมูลจากแหล่งข่าว ก็ได้ลงไปพิสูจน์ทราบตามหาคนร้าย มีการเชิญผู้ใหญ่บ้านเข้าไปเจรจา ผู้ใหญ่บ้านก็แจ้งว่าฝ่ายคนร้ายขอสู้ตาย ไม่ยอมมอบตัว
“เราเข้าไปรอบแรก เขาก็ยิงมา เราก็ให้ผู้นำศาสนาเข้าไปเกลี้ยกล่อมว่าอย่าให้ต้องสู้กันเลย ให้มอบตัว ก็มีการยิงกันอีก เขายิงมาตลอด เจ้าหน้าที่เลยต้องยิงแก๊สน้ำตาเข้าไปเพื่อให้ออกจากบ้าน เมื่อทุกขั้นตอนไม่ได้ผลซึ่งไม่เคยมีมาก่อน เจ้าหน้าที่ก็เลยต้องยิงโต้ตอบไป เราได้ทำทุกขั้นตอนแล้ว เราต้องการเพียงแค่ให้เขามอบตัว เมื่อเร็วๆ นี้เราก็ทำตามขั้นตอนเดียวกัน ผู้ต้องหาก็หลบหนีไปได้ เราไม่ได้ยิงปะทะเพราะกลัวจะโดนชาวบ้าน ทั้งๆที่เขาก็มีปืน” ผบก.ภ.จว.ปัตตานีระบุ
สายข่าวคือชาวบ้าน-หมายจับออกโดยศาล
ส่วนเรื่อง “แหล่งข่าว” หรือ “สายข่าวของรัฐ” ที่ถูกตั้งคำถามจากนักสิทธิมนุษยชน พล.ต.ต.พิเชษฐ์ บอกว่า ได้เวลาต้องคิดใหม่กันแล้ว
“วันนี้แหล่งข่าวก็คือประชาชนที่มีความเชื่อใจเรา เขาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่มากกว่าเมื่อก่อน และเราก็มีการกลั่นกรองข่าวตลอด ไม่ใช่จู่ๆ เข้าไปจับเลย ส่วนกรณีการออกหมายจับที่มีหลายหมายนั้น ไม่ใช่เราเป็นผู้ออก แต่ศาลเป็นผู้ออกให้ เป็นหมาย ป.วิอาญา ซึ่งมีการสืบสวนสอบสวนจากวัตถุพยานหรือพยานบุคคลจนทำให้ศาลเชื่อ จึงออกหมายมาได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเพียงผู้ส่งข้อมูลไปเท่านั้น หลายคดีศาลก็ไม่อนุมัติ ไม่ใช่อนุมัติทุกเรื่อง"
"เจ้าหน้าที่เองก็อยากให้เหตุการณ์สงบ เราก็พยายามแก้ปัญหา เราพยายามให้ความเป็นธรรม เสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่รังแกประชาชน ผู้ใหญ่ทั้งหลายก็เน้นย้ำเรื่องนี้มาโดยตลอด เราคาดหวังให้ประชาชนเปลี่ยนแนวคิด และผมเชื่อว่าวันนี้ประชาชนก็อยากช่วยเหลือรัฐ เพื่อสถานการณ์ดีขึ้นเสียที" พล.ต.ต.พิเชษฐ์ กล่าวในที่สุด