เขื่อนสิริกิติ์น้ำเกินครึ่งอ่าง ขณะที่เขื่อนอีสาน กลาง ตะวันออกน้ำยังน้อย
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ ล่าสุด(29 ส.ค. 55) มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 42,011 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด สามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้อีกกว่า 28,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ในภาคเหนือ ยังสามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้อีกกว่า 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร อาทิ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 6,511 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 6,900 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 5,178 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 4,300 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ มีปริมาณน้ำ 101ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 38 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 160 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง มีปริมาณน้ำ 49 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 50 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 305 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 600 ล้านลูกบาศก์เมตร แนวโน้มสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ แม้ว่าส่วนใหญ่จะมีน้ำไหลลงอ่างฯ มากขึ้น แต่ปริมาณน้ำก็ยังอยู่ในเกณฑ์น้อย
ส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต่างๆ ยังสามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้อีกกว่า 5,400 ล้านลูกบาศก์เมตร อาทิ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี มีปริมาณน้ำ 34 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีปริมาณน้ำ 296 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 200 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำ 472 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 90 ล้านลูกบาศก์เมตร แนวโน้มเขื่อนหลายแห่งในพื้นที่ภาคอีสาน ปริมาณน้ำยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯค่อนข้างน้อยเช่นกัน
ส่วนในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ที่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 148 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 600 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี มีปริมาณน้ำ 62 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 26 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 170 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก มีปริมาณน้ำ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนบางพระ จ.ชลบุรี มีปริมาณน้ำ 62 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 50 ล้านลูกบาศก์เมตร แนวโน้มสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก หลายแห่งยังมีน้ำอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงเกณฑ์น้อย ซึ่งกรมชลประทาน จะได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อไป
ขุดลอกคลองใน กทม.คืบ 96%
ขณะที่ นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยผลการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 27/2555 ซึ่งมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมเกี่ยวกับความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ในส่วนของการขุดลอกคูคลองในพื้นที่ 18 เขตเร่งด่วน จำนวน 644 คลอง ความยาวรวม 988 กิโลเมตร คืบหน้าไปร้อยละ 96 พร้อมเร่งดำเนินการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมคลองบางกอกน้อย
สำหรับการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำในส่วนที่กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำเป็นผู้รับผิดชอบ จำนวน 362 เส้นทาง ความยาวรวม 1,022 กิโลเมตร แล้วเสร็จ 358 เส้นทาง 988 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 97 ส่วนที่สำนักงานเขตรับผิดชอบร่วมกับสำนักการระบายน้ำ ความยาว 4,315 กิโลเมตร แล้วเสร็จ 3,592 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 81.3 ด้านสถานการณ์น้ำในเขื่อนขณะนี้เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณในอ่างร้อยละ 48 และ 54 ตามลำดับ
ทั้งนี้ในวันที่ 5 ก.ย. 55 ทางรัฐบาลจะทำการทดสอบระบบฟลัดเวย์ทางด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ (ช่วงทวีวัฒนา) ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สั่งการให้สำนักการระบายน้ำจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกันนี้ คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครจะลงพื้นที่ตรวจความพร้อมการรับมือสถานการณ์น้ำในพื้นที่ต่างๆ รอบกรุงเทพฯ ด้วย