คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ซึ่งมีนายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ มีหนังสือถึงประธานคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิสิทธิมนุษยชน นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขอให้ระงับการเข้าตัดฟันต้นยางพารา โดยมีรายละเอียดดังนี้
ตามที่ได้ปรากฏข้อมูลทางสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๕ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้กว่า ๑,๕๐๐ คน พร้อมอาวุธปืน มีดพร้า และเครื่องเลื่อยยนต์ เข้าตัดฟันทำลายต้นยางพาราของราษฎรในชุมชนหลายพื้นที่ เช่น บ้านคอกเสือ หมู่ที่ ๘ ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ และตำบลตะแพน อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง เป็นพื้นที่ไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ไร่ และมีการตรึงกำลังเพื่อเตรียมการเข้าตัดฟันทำลายต้นยางพาราของราษฎรในชุมชนบ้านทับเขือ – ปลักหมู ตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรังด้วย ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวอ้างว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดและเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้มีราษฎรประมาณ ๑๐๐ กว่าคน ชุมนุมคัดค้านในพื้นที่ไม่ให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าดำเนินการได้ รวมทั้งมีราษฎรจำนวนประมาณ ๕๐ คน เดินทางไปศาลากลางจังหวัดตรัง เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรังขอให้มีคำสั่งชะลอการตัดฟันต้นยางพาราและพืชผลทางการเกษตรอย่างเร่งด่วน โดยราษฎรได้แจ้งว่าจะกลับไปชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดตรังในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๕ นั้น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความเห็นเบื้องต้นต่อการดำเนินการดังกล่าวของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดังนี้
๑. เนื่องจากพื้นที่ชุมชนบ้านทับเขือ – ปลักหมู ในพื้นที่ตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เป็นพื้นที่เดียวกับที่ราษฎรในนามเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จังหวัดตรัง ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่าและเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ได้เข้าตัดฟันทำลายต้นยางพาราและพืชผลเกษตรและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งพยายามจับกุมราษฎร ทั้งๆ ที่พื้นที่ดังกล่าวนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยยึดหลักสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๖๖ และมาตรา ๖๗ และยังเป็นพื้นที่ดำเนินงานโฉนดชุมชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.๒๕๕๓ อีกด้วย ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้น
คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียนดังกล่าว มีความเห็นเบื้องต้นต่อว่า การดำเนินการตามที่ปรากฏเป็นข่าวข้างต้นของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยอาจทำให้กระบวนการตรวจสอบไม่ได้ข้อเท็จจริงที่รอบด้านและถูกต้องอย่างเพียงพอในระดับที่สามารถนำมาประมวลและวิเคราะห์เพื่อนำเสนอมาตรการการแก้ไขปัญหาที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบในประเด็นแนวเขตพื้นที่โฉนดชุมชนของบ้านทับเขือ-ปลักหมู ซึ่งจากการเดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ ร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร พร้อมด้วย นายฐิติ กนกทวีฐากร ในฐานะผู้แทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายทัศพันธ์ พงษ์เภตรา ผู้อำนวยการสำนักงานโฉนดชุมชน นายเกรียงศักดิ์ ดีกล่อม หัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า และผู้ร้องเรียน พบข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า พื้นที่ที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า เข้าไปตัดฟันต้นยางพาราตามกรณีร้องเรียนข้างต้นนั้น น่าจะอยู่ในเขตพื้นที่ดำเนินงานโฉนดชุมชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.๒๕๕๓ ซึ่งหากมีการดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มเติม ก็อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้
๒. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เคยมีข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีปัญหาข้อพิพาทในเรื่องการปลูกต้นยางพาราระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่ากับราษฎรในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ดังนั้น การดำเนินการตามที่ปรากฏเป็นข่าวข้างต้นของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อาจไม่เป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีดังกล่าว
๓. คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความห่วงใยว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกับกลุ่มราษฎรทั้งในพื้นที่จังหวัดพัทลุงและจังหวัดตรังที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ หากไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อระงับเหตุการณ์เผชิญหน้าดังกล่าว ก็อาจส่งผลให้สถานการณ์มีความรุนแรงบานปลายไปสู่ปัญหาความมั่นคงได้
ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำที่อาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น จึงขอให้ระงับหรือยับยั้งการดำเนินการที่อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเอาไว้ก่อน จนกว่าการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะแล้วเสร็จ
คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๕