สกว.ชี้วิจัยชุมชนไทยลงไม่ถึงรากหญ้า-ไม่แก้จน
สกว. ชี้วิจัยชุมชนไม่คืบ เหตุไม่ตอบโจทย์พัฒนาประเทศ-ไม่แก้จน-ลงไม่ถึงรากหญ้า
วันที่ 28 ส.ค. 55 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดงาน “การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2555” ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ โดยหัวข้อสัมมนา “การวิจัยเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม” ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า งานวิจัยปัจจุบันไม่คำนึงถึงบริบทแวดล้อมของชาติ โดยเฉพาะโจทย์การพัฒนา แบ่งเป็น 1.ปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ความยากจน ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม 2.แรงกระแทกสิ่งใหม่ เช่น การเรียนรู้เรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ไม่ได้นำหลักการวิจัยเข้าประยุกต์ใช้ ทำให้โรงเรียนหลายแห่งสร้างการเรียนรู้ได้เพียงการจัดนิทรรศการธงชาติเท่านั้น 3.ภาวะความล้มเหลวการจัดการรัฐที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง ส่งผลให้นโยบายที่มุ่งประโยชน์เพื่อชุมชนไม่ขับเคลื่อน เช่น นโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน หรือการผลักดันระบบจัดเก็บภาษีที่ดินที่ไร้ความคืบหน้า เพราะติดขัดระบบราชการและความขัดแย้งของนักการเมือง และ4.การเปลี่ยนแปลงค่านิยมของสังคม เช่น คนมีความคิดให้นักการเมืองโกงได้หากมีผลงาน หรือโครงการพักชำระหนี้ฝึกให้คนไม่มีระเบียบวินัยทางการเงิน ทำให้คนที่ใช้หนี้ตรงเวลาถูกเอาเปรียบ
ดังนั้นแนวคิดการพัฒนางานวิจัยชุมชนต้องเริ่มจากมองฐานรากตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน และสังคม โดยต้องทราบปัญหาพื้นที่ชัดเจน เพื่อให้งานวิจัยสามารถต่อยอดขับเคลื่อนพัฒนาได้ แต่ที่ผ่านมากลับไม่คำนึงถึงกลไกดังกล่าว ทำให้งานวิจัยเข้าถึงเพียงระดับชุมชน แต่ไม่สามารถขับเคลื่อนถึงครอบครัวได้ ทั้งนี้ต้องให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการจนเกิดการเรียนรู้ เพื่อจะได้ขับเคลื่อนการพัฒนาต่อยอดอย่างไม่หยุดยั้ง แต่หากงานวิจัยมุ่งเนื้อหาความรู้เป็นประเด็นอย่างเดียว เช่น ระบบสวัสดิการ การกำจัดขยะ หรือพลังงานทางเลือก โดยขาดปัจจัยแวดล้อมในชุมชนจะไม่มีความยั่งยืน
“การทำบัญชีครัวเรือน กลุ่มออมทรัพย์ การบวชป่า ทำฝายชะลอน้ำ เป็นเครื่องมือที่เกิดในกลุ่มชาวบ้าน ไม่ค่อยเกิดในกลุ่มวิชาการ”
ด้านนายสุขวัฒน์ จันทรปรรณิก ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า การพัฒนาชุมชนและสังคมภายใต้การขับเคลื่อนงานวิจัยนั้นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากนักวิจัยชุมชนและนักวิจัยสังคม เพื่อให้เกิดความสำเร็จเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามขอยกตัวอย่างงานวิจัยที่ล้มเหลวซึ่งเน้นเฉพาะการหารายได้ นั่นคือการวิจัยขยายการผลิตทุเรียนช่วงต้นฤดูของภาคใต้ ทำให้เพิ่มยอดผลผลิตจากเดิมกก.ละ 6 บาท ขยับขึ้นอย่างก้าวกระโดดกว่า 100 บาท ซึ่งช่วงนั้นเกษตรกรมีกินมีใช้ แต่เมื่อวิธีขยายผลผลิตกระจายออกไปทั่วประเทศ ราคาที่เคยสูงกลับลดลงตามลำดับ ส่งผลให้เกษตรกรประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเนื่องจากใช้จ่ายฟุ่มเฟือยตามความเคยชินจนต้องขายทรัพย์สิน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากขาดภูมิคุ้มกันทางสังคมในการใช้ชีวิต ดังนั้นงานวิจัยจึงควรคำนึงถึงบริบทแวดล้อมอย่างรอบด้านเสมอ
ขณะที่รศ.ดร.เปรื่อง กิจรัตน์กร อธิการบดีมรภ.พระนคร ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมรภ.ทั่วประเทศ กล่าวว่า สถาบันการศึกษามีภารกิจ 4 ประการ ได้แก่ การสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม แต่สถาบันส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญแต่ละภารกิจแตกต่างกันไป ทั้งที่ทุกส่วนต้องดำเนินควบคู่กัน โดยการสอนจะต้องคำนึงถึงการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งต้องใช้กระบวนการวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุ และวิธีการแก้ปัญหา เพื่อสู่จุดหมายนั่นคือการวิจัยและพัฒนา
อย่างไรก็ดีโจทย์ใหญ่ของปัญหาย่อมส่งผลกระทบต่อชุมชนและสังคมที่มีบริบทซับซ้อนและตัวแปรเกี่ยวข้องมากมาย ซึ่งมักสัมพันธ์กับวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมในพื้นที่ นโยบายรัฐ การเมืองระดับประเทศ ทั้งนี้ยังยกตัวอย่างผลงานวิจัยเพื่อการพัฒนาศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่นและสังคมของมรภ.พระนครที่ประสบความสำเร็จ เช่น งานวิจัยเรื่อง ศักยภาพและสถานภาพของภูมิปัญญาไทย เพื่อสืบสานการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืน มุ่งเน้นให้ชุมชนมีแหล่งข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาท้องถิ่นและเพิ่มโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เพื่อผลักดันภูมิปัญญาไทยทำผลิตภัณฑ์ขายต่างประเทศได้ หรืองานวิจัยเรื่อง การปฎิบัติการแบบมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เกษตรแบบผสมผสาน ชุมชนบางใหญ่ จ.นนทบุรี มุ่งเน้นการศึกษาความต้องการ อุปสรรค และแนวทางแก้ไขการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว.