4 ทางเลือก ผลศึกษาวิเคราะห์ระบบการจัดการน้ำลุ่มน้ำยม
วันที่ 28 สิงหาคม 2555 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการศึกษาวิเคราะห์ระบบการจัดการน้ำลุ่มน้ำยมโดยใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบบูรณาการและให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบและนำผลการศึกษาไปเป็นกรอบในการกำหนดแผนงาน/โครงการในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานต่อไป ตามที่กระทรวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
สาระสำคัญของผลการศึกษาวิเคราะห์ระบบการจัดการน้ำลุ่มน้ำยม มี 2 ประเด็น ได้แก่
1. การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) เป็นกระบวนการในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของนโยบาย แผน เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบาย โดยจะได้มีการพิจารณาถึงผลกระทบทางลบ ทางบวกจากการดำเนินโครงการต่อมิติสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ผลการศึกษาสรุปว่า ทางเลือกการจัดการน้ำในลุ่มน้ำยมมีด้วยกัน 4 ทางเลือก ดังนี้
ทางเลือกที่ 1 มีการพัฒนาเฉพาะมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างและการปรับปรุงประสิทธิภาพการชลประทาน
ทางเลือกที่ 2 มีการพัฒนาในมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างและมาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ทั้งอ่างเก็บน้ำและฝาย/ประตูระบายน้ำตามลำน้ำยม รวมถึงการพัฒนาและจัดสรรน้ำโครงการขนาดเล็กในพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก
ทางเลือกที่ 3 มีการพัฒนาในมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างและมาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง ทั้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนแม่น้ำยม และเขื่อนแม่น้ำยมตอนบน
ทางเลือกที่ 4 มีการพัฒนาในมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างและมาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนแก่งเสือเต้น
แนวทางเลือกการพัฒนาโครงการ ทางเลือกที่ 4 เป็นทางเลือกที่มีศักยภาพมากที่สุด โดยมีความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับทางเลือกที่ 1,2, และ 3 ในด้านความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจ ทางเลือก ที่ 4 จะให้ผลประโยชน์สุทธิมากกว่าทางเลือกที่ 3 และทางเลือกที่ 2 ตามลำดับ
2. การใช้นโยบายสาธารณะแบบบูรณาการเป็นกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับผู้ที่มีส่วนได้เสีย ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังในกระบวนการศึกษาวิเคราะห์ระบบการจัดการลุ่มน้ำยม
ผลจากการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "ทางเลือกในการจัดการลุ่มน้ำยม" ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบนและลุ่มน้ำยมตอนล่าง รวม 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพะเยา ลำปาง น่าน แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร และนครสวรรค์ โดยจัดให้มีการประชุมรวมทั้งหมดจำนวน 9 ครั้ง โดยพื้นที่และกลุ่มประชากรเป้าหมายของการประชุมในพื้นที่ลุ่มน้ำยมได้ครอบคลุมพื้นที่และกลุ่มประชากรเป้าหมายที่มาจากพื้นที่ลุ่มน้ำยมทั้ง 11 ลุ่มน้ำดังกล่าวข้างต้น มีพื้นที่ครอบคลุม 161 ตำบล 31 อำเภอ 10 จังหวัด มีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมถึง 6,313 คน
ผลสรุปจาการมีส่วนร่วมในการจัดระดับความสำคัญของทางเลือกในการพัฒนาลุ่มน้ำยมพบว่า ผู้มีส่วนได้เสียส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับทางเลือกที่ 4 รองลงมาได้แก่ ทางเลือกที่ 3 ทางเลือกที่ 2 ทางเลือกที่ 1 ตามลำดับ ยกเว้นกลุ่มองค์กรอิสระที่ให้ความสำคัญกับทางเลือกที่ 4 น้อยที่สุด
2. กษ. โดยกรมชลประทานได้นำส่งรายงานการศึกษาระบบการจัดการน้ำลุ่มน้ำยมโดยใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบบูรณาการไปยังกรมทรัพยากรน้ำ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ