เปิดวาระสุขภาพสมัชชาชาติ :พระสงฆ์แย่ วิกฤตหมอกควัน สารเคมีเกษตร
คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ บรรจุวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปี 2555 แล้ว 11 ประเด็นเพื่อเตรียมผลักดันสู่นโยบายสาธารณะในการแก้ปัญหา
ประกอบด้วย 1.การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน 2.การจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก 24 ชั่วโมง กรณีเด็กไทยกับไอที
3.พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ 4.การแก้ปัญหาสารเคมีการเกษตร 5.การปฏิรูประบบวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 6.การป้องกันและลดผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล 7.การจัดการปัญหาหมอกควัน 8.ผลกระทบจากนโยบายจัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพเพื่อความเป็นเลิศในโรงพยาบาลใหญ่ของรัฐ
9.การปฏิรูประบบการศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพให้สอดคล้องกับสถานการณ์ประเทศ 10.การรับมือผลกระทบด้านสุขภาพต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 11.การพัฒนาระบบเงินการคลังด้านสุขภาพที่ยั่งยืน
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ขอนำเสนอบางประเด็นมาขยายความ โดยนพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเผยข้อมูลว่าในปี 2550 พระสงฆ์ทั้งหมด 250,437 รูปทั้งในเมืองและชนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อาพาธด้วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด ภาวะไขมันในเลือดสูง มีพระสงฆ์ที่น้ำหนักเกินเกณฑ์ 45.9% รัฐบาลต้องสูญเสียค่ารักษาพยาบาลทั้งสิ้น 56.5 ล้านบาท
ยังพบว่าประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในการใส่บาตรซึ่งกระทบต่อสุขภาพของพระสงฆ์ โดยเฉพาะอาหารประเภท แกงกะทิ และอาหารที่มีไขมันสูง ขนมหวาน พร้อมกันนี้ยังพบว่าพระสงฆ์มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ดื่มกาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง ในระดับเกินความเหมาะสม และมีภาวะความเครียด 54.13%
“ปัญหาสุขภาพพระสงฆ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง ประกอบกับพระธรรมวินัยที่เคร่งครัด ขาดการดูแลทั้งด้านการรักษา การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสภาพหลังการเจ็บป่วย จึงเป็นประเด็นที่ต้องนำมาสู่สมัชชาเพื่อหายุทธศาสตร์การแก้ปัญหาต่อไป” นพ.อำพล กล่าว
สำหรับปัญหาหมอกควัน เชื่อมโยงวิถีชีวิตชุมชนโดยตรง นพ.อำพล กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่าระหว่างเดือน ก.พ.-เม.ย.ของทุกปี พื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนมักเกิดหมอกควัน ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กมีจำนวนมากเกินค่ามาตรฐาน และจากการวัดดัชนีคุณภาพอากาศพบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
ข้อมูลการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของกรมควบคุมมลพิษ ระหว่างปี 2550-2555 แต่ละจังหวัดมีจำนวนวันที่และค่าปริมาณฝุ่นควันที่สูงเกินระดับมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่ออัตราการเกิดโรคทางเดินหายใจ โรคมะเร็งปอด และโรคหัวใจและหลอดเลือด
“ประชาชน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินหายใจ มะเร็งปอด หัวใจและหลอดเลือด มากที่สุด โดยช่วงสถานการณ์รุนแรงที่สุด มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 8,000 ราย ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก” นพ.อำพล ระบุ
อีกประเด็นที่น่าจับตามอง คือการป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีเศษวัสดุทางการเกษตรหรือกากจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมการเกษตรเหลือใช้จำนวนมาก โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรรายงานว่าประเทศไทยมีชีวมวลจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทั้งหมด 4.8 หมื่นตัน ใช้ผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าได้มากถึง 9,630 เมกะวัตต์
จากข้อมูลของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ปี 2554 พบว่ามีโรงไฟฟ้าสามารถผลิตและขายไฟฟ้าได้ 84 แห่ง จำนวนนี้ 24 แห่งอยู่ในกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และมีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กและเล็กมากอีก 309 แห่ง ที่อยู่ระหว่างยื่นขออนุมัติโครงการ
นพ.อำพล กล่าวว่า ผลการสำรวจสุขภาพประชาชนที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้าจำนวน 2 แห่ง พบว่าโรคประจำตัวที่เป็นมากที่สุดคือโรคภูมิแพ้ 31.6% รองลงมาคือโรคหอบหืด 13% และโรคหัวใจ 7.1%
“หากไม่จัดการให้ดีจะสร้างความเดือดร้อน มลพิษจากสารพิษและฝุ่นละอองเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ฝุ่นจากกองขี้เถ้าจากการเผาชีวมวลและฝุ่นจากกองเชื้อเพลิงทำให้บ้านเรือน เสื้อผ้า สิ่งของเครื่องใช้ของประชาชนรอบโรงไฟฟ้าสกปรก มีปัญหาน้ำเสียชุมชน” นพ.อำพล กล่าวถึงความจำเป็นต้องนำปัญหาเข้าสู่เวทีสมัชชา
………………………
ทั้งนี้ ในวันที่ 29 ส.ค.นี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจะแถลงข่าวเรื่องการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 ประจำปี 2555 ภายใต้แนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ โดยจะมีการเปิด 8 ระเบียบวาระสำคัญในสมัชชาสุขภาพ พร้อมให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน สำหรับสมัชชาจะจัดขึ้นในวันที่ 18-20 ธ.ค.นี้ .