แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
ดุลอำนาจ สว.ถึงจุดเปลี่ยน? คดีถอดถอน”สุเทพ” สำเร็จยาก
นิคม ไวยรัชพานิช ได้เข้ารับตำแหน่งประธานวุฒิสภา อย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อศุกร์ที่ 24 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา
การที่นิคม สว.ฉะเชิงเทรา ได้รับเลือกจากที่ประชุมวุฒิสภาให้เป็นประธานสภาสูงเมื่อ 14 สิงหาคม ด้วยคะแนน 77 คะแนนเอาชนะ พิเชต สุนทรพิพิธ สว.สรรหาที่ได้ 69 คะแนน
นับเป็นชัยชนะครั้งแรกของกลุ่มสมาชิกวุฒิสภาสายเลือกตั้งที่มีส.ว.เลือกตั้งได้เป็นประธานวุฒิสภาคนแรกเสียที เพราะหลังจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้แบ่งสว.ออกเป็นสองซีกคือสว.เลือกตั้งและสว.สรรหา ประธานวุฒิสภาที่ผ่านมาสองคนก่อนหน้านี้คือประสพสุข บุญเดช และพลเอกธีรเดช มีเพียร ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสว.สรรหาทั้งสิ้น
ก่อให้เกิดการวิเคราะห์กันในแวดวงการเมืองไม่ใช่แค่ในสภาสูงว่า
"ดุลอำนาจในสภาสูง"วันนี้จะเปลี่ยนไปหรือไม่ แม้ผลการลงมติเลือกรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1ที่มาแทน นิคม ชัยชนะจะตกเป็นของ"สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย"สว.สรรหาที่ชนะนายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี แต่ก็ชนะแบบเฉียดฉิวด้วยคะแนน 73 ต่อ 69 คะแนน
จากที่ก่อนหน้านี้สว.สรรหามักจะมีบทบาทในสภาสูงค่อนข้างมากกว่าสว.เลือกตั้งอย่างเห็นได้ชัด
ไม่ว่าจะเป็นบทบาทการตรวจสอบฝายบริหาร ที่สว.สรรหามักจะมีบทบาทนำมากกว่าสว.เลือกตั้งมาโดยตลอด ทั้งการตรวจสอบในรัฐสภา เช่นผ่านช่องทางคณะกรรมาธิการสามัญชุดต่างๆ ของวุฒิสภา ที่เข้าไปตรวจสอบฝายบริหารซึ่งมีให้เห็นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาจนถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
หรือการตรวจสอบการออกกฎหมายสำคัญของรัฐบาลอาทิ การท้วงติงและอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณประจำปี ในแต่ละปีในชั้นวุฒิสภา ที่แม้จะไม่สามารถเพิ่ม-ปรับลดอะไรได้เหมือนของสภาผู้แทนราษฏร แต่ก็มีการแสดงความคิดเห็นต่อการจัดทำงบฯของฝ่ายบริหารอย่างตรงไปตรงมาหลายเรื่องและบางคนก็มีข้อมูลการอภิปรายดีกว่าพวกส.ส.เสียอีก
หรือการแสดงจุดยืนของสว.สรรหาหลายคนที่ประกาศคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ของพรรคร่วมรัฐบาลที่ผ่านมาก่อนหน้านี้รวมถึงพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ที่เคยมีปัญหาด้วย
และบางโอกาสยังออกไปตรวจสอบฝายรัฐบาลนอกรัฐสภาอย่างเข้มข้น อาทิ บทบาทของสว.สรรหาบางคนอย่างพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม –สมชาย แสวงการ-คำนูณ สิทธิสมาน ที่เปิดตัวชัดว่าอยู่ฝายตรงข้ามรัฐบาลเพื่อไทยและพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนมีการตั้งกลุ่ม"สยามสามัคคี"ที่ทำกิจกรรมการเมืองชนกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรมาตลอด อาทิการเปิดเวทีที่สวนลุมพินีเพื่อคัดค้านการออกพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติหรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
การรวมกลุ่มการเมืองกันของสว.สรรหาดังกล่าวที่รวมตัวและทำกิจกรรมการเมือง เห็นได้ชัดว่า กลายเป็นที่ได้รับความสนใจและติดตามมองจากสังคมอย่างใกล้ชิด จนบทบาทโดดเด่นกว่าสว.เลือกตั้งซึ่งจะพบว่า บทบาทการเมืองทั้งในรัฐสภาและนอกรัฐสภาแทบไม่ค่อยมีให้เห็น
เหตุที่เป็นเช่นนี้ ส่วนสำคัญอาจเกิดจากหลายสาเหตุเช่นเป็นเพราะสว.สรรหาชุดปัจจุบัน ก่อนหน้านี้หลายคนเคยเป็นสว.สรรหาปี 50 มาก่อน แล้วได้รับเลือกให้กลับมาเป็นสว.สรรหาอีกหนึ่งสมัย เมื่อมีสว.สรรหาชุดใหม่เข้ามาเมื่อช่วงปี 54 ที่ไม่เคยเป็นสว.มาก่อน สว.สรรหาหลายคนที่เป็นสว.มาแล้วสองรอบ มีประสบการณ์และความเก๋าส์เกมในสภาสูง
จึงทำให้สว.สรรหาปี 54 หลายคนที่เพิ่งเป็นสว.สมัยแรกเข้าไปรวมกลุ่มด้วยอย่างพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการคมช. สว.สรรหา จึงเกาะกลุ่มกันค่อนข้างปึ๊กกว่าสายเลือกตั้งและทำให้ดุลอำนาจในสภาสูงช่วงก่อนหน้านี้ เห็นได้เลยว่าเทไปอยู่ในปีกของสว.สรรหาค่อนข้างมาก
ดูได้จากกรณีการลงมติลับเพื่อเลือก"คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ"หรือกสทช. ที่รายชื่อส่วนใหญ่เป็นไปตามการคาดการที่ออกมาจากซีกสว.สรรหาซึ่งเก็งรายชื่อไว้และถูกหลายต่อหลายคน
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ก่อนหน้านี้สว.สรรหาค่อนข้างมีบทบาทมากกว่าสว.เลือกตั้งนอกจากเพราะสว.สรรหาค่อนข้างรวมตัวกันเหนียวแน่นกว่าสว.เลือกตั้งแล้ว
ก็น่าจะเป็นเพราะสว.สรรหาส่วนใหญ่มาจากฐานอำนาจไม่กี่กลุ่มเช่นภาคธุรกิจ-อดีตข้าราชการระดับสูง แล้วยังคลอดออกมาจากผู้ทำคลอดคณะเดียวกันคือ"คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา"จำนวน 7 คน อาทิ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ-ประธานศาลปกครองสูงสุด ที่เรียกกันว่า 7 อรหันต์เลือกสว.นั่นเอง แถมสว.เลือกตั้งบางส่วนเช่นกลุ่มสว.ภาคใต้ ที่โดยพื้นฐานและความสัมพันธ์ทางการเมืองแล้วก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับทางนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ไม่มากก็น้อย แถมเป็นกลุ่มสว.ที่มีการเกาะกลุ่มกันค่อนข้างเหนียวแน่นกว่าสว.ภาคอื่น ก็พบได้ว่า หลายครั้งว่าสว.ภาคใต้ มักมีแนวคิดหรือการเคลื่อนไหวการเมืองสอดคล้องไปกับทิศทางของพวกสว.สรรหาหลายคน
ขณะเดียวกันก็มีสว.เลือกตั้งบางคน ก็แสดงตัวชัดเจนว่าเข้าร่วมกิจกรรมการเมืองอยู่กับซีกสว.สรรหาโดยเฉพาะกลุ่ม 40 สว.มาตลอดอาทินายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง-พิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สว.พิษณุโลก-นางสาวสุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สว.ปัตตานี
ทำให้ที่ผ่านมา บทบาทและการเคลื่อนไหวของสว.สรรหาที่มีพวกสว.เลือกตั้งรวมกลุ่มด้วย จึงมักยึดพื้นที่ความสนใจและการถูกจับจ้องจากสังคมมากกว่าสว.เลือกตั้งมาตลอด
มาปัจจุบันเมื่อ"นิคม"ได้รับเสียงหนุนให้เป็นประธานวุฒิสภา ขณะที่"สุรชัย"ก็ได้รับเลือกเป็นรองประธานวุฒิสภา แบบคะแนนเสียงไม่เด็ดขาด
ขณะเดียวกันก็ยังพบว่า สว.เลือกตั้ง ก็มีการแตกคอกันเองอย่างเห็นได้ชัด จากผลพวงเรื่อง"การผิดสัญญาใจ"กันบางอย่างระหว่างพวกแกนนำสว.เลือกตั้งด้วยกันเองในการเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภา ที่ทำให้แม้ศึกเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาจบไปแล้ว แต่ความไม่พอใจกันดังกล่าวก็ยังคงอยู่
เช่นเดียวกับความรู้สึกในเรื่องการแบ่งขั้ว "สว.เลือกตั้งVSสว.สรรหา" ที่มีมาตลอดหลายปี ก็ยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหนแถมความไม่พอใจของสว.สองขั้วดังกล่าวดูแล้วน่าจะมีมากขึ้นด้วยซ้ำ แม้ทั้งสองฝั่งจะพยายามปฏิเสธว่า"ทุกอย่างจบแล้ว"ก็ตาม
แม้วันนี้ การเมือง-กลเกมในสภาสูงเพื่อแย่งชิงอำนาจกันเองจะจบไปแล้วหลังการเลือกประธานวุฒิสภา-รองประธานวุฒิสภา แต่วุฒิสภาชุดปัจจุบัน ก็ยังถูกจับตามองการทำหน้าที่อีกหลายเรื่องตามปฏิทินการเมืองของตัวเอง
ไม่ว่าจะเป็นกรณีการลงมติถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานีและแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณีขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
จากกรณีสุเทพ ทำหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ส่ง ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์และบุคคลอื่นรวม 19 คน ไปช่วยราชการที่กระทรวงวัฒนธรรม เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 268 และ 266 (1) ของรัฐธรรมนูญที่วุฒิสภาเริ่มพิจารณาระเบียบวาระดังกล่าวที่ป.ป.ช.ส่งมาให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอนวันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม
ซึ่งตามรัฐธรรมนูญการลงมติถอดถอนจะมีผลก็เมื่อวุฒิสภามีมติด้วยคะแนนเสียง 3 ใน 5 ของจำนวนเสียงที่มีอยู่ แม้จะเป็นคะแนนเสียงที่หากจะให้มีผลที่ดูแล้วถือว่าค่อนข้างมาก
แต่เมื่อสภาสูงเวลานี้ดูเหมือน ฝ่ายเลือกตั้งเริ่มจะรุกคืบมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้หลายคนมองว่าคะแนนเสียง 3ใน 5 คือ"88 เสียง"นั่น ทุกอย่างก็ไม่มีอะไรแน่นอนเหมือนกัน
เชื่อว่าก่อนหน้าการลงมติของวุฒิสภาว่าจะถอดถอนนายสุเทพหรือไม่ กระแสข่าวการล็อบบี้ต่างๆ คงเกิดขึ้นอย่างหนัก แต่จะเป็นการล็อบบี้เพื่อให้สุเทพโดนถอดถอนหรือรอดจากการถูกถอดถอน ถึงช่วงนั้นคงได้เห็นกันเอง
นอกจากนี้ ในอีกไม่ช้านี้วุฒิสภาก็จะต้องมีการลงมติเห็นชอบรายชื่อ"กรรมการป.ป.ช."คนใหม่หนึ่งคนที่จะมาแทน"เมธี ครองแก้ว"กรรมการป.ป.ช.ที่เพิ่งจะหมดวาระลง ตามที่กรรมการสรรหาป.ป.ช.ซึ่งมี"ไพโรจน์ วายุภาพ"ประธานศาลฎีกาส่งชื่อมาให้วุฒิสภา
แม้วุฒิสภาจะทำได้แค่ "เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ"ไม่ใช่ลงมติคัดเลือกเหมือนในอดีตหรือกรณีการเลือกกสทช.
ทว่าหากรายชื่อที่กรรมการสรรหาป.ป.ช.คัดเลือกและส่งมาให้ วุฒิสภาเห็นชอบ พบว่าเป็นชื่อที่สังคมไม่ยอมรับหรือมีข้อเคลือบแคลงในเรื่องความเป็นกลาง หรือเป็นรายชื่อที่ฝ่ายการเมืองฝายใดฝ่ายหนึ่งสนับสนุนหรือคัดค้าน
การลงมติเห็นชอบ-ไม่เห็นชอบของวุฒิสภา ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการจะได้ป.ป.ช.ไปทำหน้าที่สอบสวนเอาผิดคดีทุจริตโกงชาติ เพราะหากรายชื่อที่ส่งมาพบว่าเป็นคนของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองชัดเจนที่ส่งมาหวังให้เข้าไปเป็นกรรมการป.ป.ช. แล้วป.ป.ช.มีมติเห็นชอบมากกว่าไม่เห็นชอบ ก็จะทำให้สังคมกังขาการทำหน้าที่ของวุฒิสภาที่ลงมติเห็นชอบบุคคลดังกล่าวรวมถึงคงมีข้อเคลือบแคลงการทำงานของป.ป.ช.เป็นแน่แท้
จากการตรวจสอบของ"ทีมข่าวนโยบายสาธารณะ" พบว่า รายชื่อบุคคลที่ไปสมัครเป็นป.ป.ช.และถูกส่งไปให้กรรมการสรรหาแล้วมีด้วยกันดังนี้
กุลพัชร์ อิทธิธรรมวินิจ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, สุวัช สิงหพันธ์ อดีตรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, จรวยพร ธรนินท์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการและกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม, พลเดช ปิ่นประทีป อดีต รมช.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์- สุรสีห์ โกศลนาวิน อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, อภินันทน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช.คนล่าสุด, พล.ต.ต.เกริก กัลยาณมิตร อดีต ส.ว.สรรหาปี 50- ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง อดีตจเรตำรวจแห่งชาติที่จะเกษียณอายุราชการในปีนี้ และ จงจิตร์ หิรัญลาภ ผอ.ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ทางด้านอาคาร สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ต้องดูว่ากรรมการสรรหาจะคัดเลือกบุคคลใดเป็นป.ป.ช.คนใหม่แล้วเมื่อส่งชื่อไปแล้ว วุฒิสภาจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ หากไม่เห็นชอบก็ต้องส่งเรื่องกลับไปให้กรรมการสรรหาพิจารณาอีกครั้งว่าจะเอาอย่างไร
นอกจากนี้ยังพบว่าในช่วงปีหน้า ก็จะมีการรับสมัครและคัดเลือกกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แทนกกต.ชุดปัจจุบันที่จะหมดวาระลง 4 คน คือ อภิชาติ สุขัคคานนท์ ประธานกกต.-สดศรี สัตยธรรม-ประพันธ์ นัยโกวิทและสมชัย จึงประเสริฐ ส่วนวิสุทธิ์ โพธิแท่น กกต.อีกคนหนึ่งเพิ่งมาเป็นกกต.เมื่อปี 52 จึงยังไม่พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ทางวุฒิสภาก็จะต้องลงมติเห็นชอบ-ไม่เห็นชอบรายชื่อที่กรรมการสรรหากกต.ส่งมาให้วุฒิสภาเห็นชอบ เช่นเดียวกันกับกรณีกรรมการป.ป.ช.
รวมถึงยังมีวาระการเมืองอีกหลายเรื่องของวุฒิสภาที่น่าจับตามองอาทิ การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่เชื่อว่าไม่เกินช่วงปลายปีนี้ คงชัดเจนในรูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ไม่มีการล้มเลิกแน่นอน และแม้เสียงโหวตสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทางพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีอะไรน่าวิตก แต่ก็จะดีอย่างมากหากว่ามีเสียงเห็นด้วยจากสภาสูงมาช่วยทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีความชอบธรรมมากขึ้นด้วย
ด้วยเหตุนี้ การเมืองในวุฒิสภาโดยเฉพาะดุลอำนาจของสภาสูงที่เริ่มไม่เหมือนก่อนหน้านี้ จึงถูกจับตาไม่น้อยว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไร ท่ามกลางภาวะที่สว.ด้วยกันเอง มีความแตกต่างทางความคิด-ที่มาและแนวทางการเมืองออกเป็นหลายส่วนอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตาม "เกชา ศักดิ์สมบูรณ์"สว.ราชบุรี หนึ่งในหัวหอกกลุ่มสว.เลือกตั้งพยายามยืนยันกับ"ทีมข่าว"ว่า
"มันจบไปแล้วเชื่อพี่เถอะ ความขัดแย้งอะไรในวุฒิสภา เมื่อเลือกประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภาเสร็จสิ้น ทุกอย่างก็ไม่มีอะไร จะไปมีอะไร วันนี้ต่างคนก็ต่างทำหน้าที่ของตัวเองไป
....วันนี้วุฒิสภากลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประธานวุฒิสภามีการเลือกกันมาแล้วสามครั้ง ผมก็อยู่ทั้งสามครั้ง ตอนเลือกแข่งกันบ้างแต่พอจบก็คือจบ ไม่มีปัญหาการทำงานอะไรกัน ดุลอำนาจอะไรในวุฒิสภา มันอยู่ที่การทำงานมากกว่า รอดูตอนนั้นกันดีกว่า"
เมื่อถามถึงเรื่องการเตรียมถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ของวุฒิสภา "เกชา"บอกว่าต้องรอดูกันก่อน ทุกอย่างมีขั้นตอนตามระเบียบกฎหมาย ตอนนี้บอกไม่ได้หรอกว่าจะเป็นอย่างไร เพราะจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง การดูเอกสารต่างๆที่ส่งมา ต้องรอฟังคำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหา(สุเทพ เทือกสุบรรณ)ด้วย แต่มติ 3 ใน 5 ก็คือ 88 เสียง
ขณะที่"วันชัย สอนศิริ"สว.สรรหา หนึ่งในมือประสานของวุฒิสภาชุดปัจจุบัน วิเคราะห์ดุลอำนาจสภาสูงกับ"ทีมข่าวปฏิรูป"ไว้ว่า ยังไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง เหตุเพราะด้วยโครงสร้างของวุฒิสภาในรัฐธรรมนูญที่ออกมามาให้มีวุฒิสภาสองระบบคือเลือกตั้งและสรรหา สว.ทั้งสองส่วนก็จะถ่วงดุลกันเองไปในตัว ทำให้การจะครอบงำหรือเข้ามากุมเสียงกำหนดทิศทางอะไรในวุฒิสภาทั้งจากพวกสว.ด้วยกันเองหรือการเมืองจากภาคนอกเหมือนก่อนหน้านี้ที่เป็นสว.ระบบเดียวเช่นสว.แต่งตั้งทั้งหมดหรือสว.เลือกตั้งทั้งหมดทำไม่ได้
"หากจะคนคิดไปครอบงำหรือแทรกแซงวุฒิสภา เช่นหากเขาทำกับฝายสว.เลือกตั้ง ฝายสว.สรรหาก็ต้องรู้และต้องไม่เห็นด้วย หรือหากมีการแทรกแซงสว.สรรหา ก็แทรกได้เฉพาะพวกสรรหา สายเลือกตั้งก็เข้าไปครอบงำไม่ได้ ดุลอำนาจต่างๆ ในวุฒิสภาจึงมีการตรวจสอบกันเอง การกำหนดทิศทางอะไรต่างๆ ในวุฒิสภาจากคนภายนอกหรือคนข้างในให้เห็นอย่างเดียวกันหมดหรือทำอย่างเดียวกันเกิดขึ้นได้ยาก"
สว.วันชัย ไล่วิเคราะห์ผลเลือกประธานวุฒิสภากับรองประธานวุฒิสภาให้เห็นภาพว่าเกิดอะไรขึ้นกับวุฒิสภาและทำไมถึงบอกว่า ดุลอำนาจในสภาสูง ยังไม่มีอะไรน่าวิตก
โดยเขาอธิบายว่า สว.สรรหา มาจากการเลือกของกรรมการสรรหาที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ทำให้พวกสรรหาไม่มีฐานการเมืองหรือต้องอิงการเมืองเหมือนสว.เลือกตั้ง และมาจากหลากหลายเช่นสาขาวิชาชีพ นักวิชาชีพ ตัวแทนองค์กรวิชาการ เรียกได้ว่าเป็นสว.ผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ มารวมกันไว้เป็นสว.สรรหา 74 คน
เมื่อพวกสว.สรรหาไม่ได้อิงการเมืองในพื้นที่ แล้วมีที่มาเหมือนกัน ก็ทำให้การรวมตัวกันทำได้ง่าย แล้วส่วนใหญ่ก็ผู้ใหญ่กันทั้งนั้น มันแตกต่างกับพวกสว.เลือกตั้ง ที่เขาต้องอิงฐานการเมืองในพื้นที่ไม่มากก็น้อย
....สว.เลือกตั้งมี 76 คน สรรหาตอนนี้เหลือ 70 คน
ดูแค่นี้ก็เห็นแล้วว่าสรรหา น้อยกว่า แต่เหตุที่ท่านนิคมชนะก็ด้วยปัจจัยหลักคือ สว.เลือกตั้งเองครั้งนี้เขาก็คิดตรงกันว่า ไม่ได้แล้ว เหลืออีกแค่ปีกว่า สว.เลือกตั้งก็หมดวาระแล้ว ที่ผ่านมา สรรหาก็ได้เป็นประธานมาตลอด แล้วแนวคิดแบบนี้พวกสว.สรรหาด้วยกันเองหลายคนก็เห็นด้วย คือคิดว่า คุณนิคมได้ไปก็อยู่ในตำแหน่งอีกแค่ปีกว่าๆ ถึงตอนนั้นเลือกกันใหม่ สว.สรรหาก็ยังกลับมาได้อีก เพราะยังเหลือเวลาอีกหลายปีกว่าจะพ้นวาระ
...แล้วพอมาเลือกรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง หลายคนสงสัยทำไม สุรชัยได้
ที่วิเคราะห์ได้ก็คือ ก็เหมือนกันกับตอนเลือกประธานวุฒิสภา พวกสว.เลือกตั้งหลายคน ก็คงเห็นด้วยว่า หากให้สว.เลือกตั้งเป็นรองประธานวุฒิสภาอีกคน ก็เท่ากับว่า สว.เลือกตั้งได้เป็นหมดเลยทั้งประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภาอีกสองคน ทั้งสว.เลือกตั้ง สว.สรรหา ที่เห็นว่าต้องให้สว.สรรหาเป็นรองประธานวุฒิสภาบ้าง ก็เลยเทคะแนนไปให้คุณสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อย่างที่เห็น
"ถามว่าดุลอำนาจในวุฒิสภาเป็นอย่างไร ผมว่าไม่มีอะไรเปลี่ยน ยังเหมือนเดิม อย่างที่ฝ่ายการเมืองหรือใครคิดจะครอบงำวุฒิสภา เพื่อหวังใช้ประโยชน์การเมือง เพราะถ้าเทไปทางสว.เลือกตั้ง ไปคุยอะไรกันได้ แต่มันก็มีสว.สรรหาเป็นตัวคอยถ่วงดุลเอาไว้ ก็มีตั้ง 70 เสียงตอนนี้ ต่อให้ทั้งหมดเห็นไม่ตรงกัน แต่ก็จะมาแทรกแซงไม่ได้ทั้งหมดแน่นอน
หรือกลับกัน คิดจะไปครอบงำสว.สรรหา สว.เลือกตั้งก็คอยดุลเอาไว้อีก คนที่คิดจะครอบงำวุฒิสภาก็ทำไม่ได้หรอกที่จะมาทำอะไรกับสว.ทั้งสองฝั่งได้ ก็ต้องเลือกทางหนึ่งจะไปสว.เลือกตั้งหรือสว.สรรหา มันก็ได้แค่ส่วนหนึ่งไม่ได้คุมได้ทั้งหมดหรือคุมเสียงส่วนใหญ่
มันก็มีระบบดุลอำนาจกันไม่เหมือนในอดีตที่เป็นสว.ระบบเดียวเลย การจะทำเหมือนแบบเดิมในอดีตที่จะมาคิดใช้วุฒิสภาเป็นเครื่องมือการเมืองก็ทำไม่ได้เหมือนเดิม เพราะสว.เขาก็ตรวจสอบกันเองเข้มข้น ว่า เออใครไปอิงการเมืองอะไรหรือเปล่า"
เมื่อถามถึงการที่อาจมีบางฝ่ายหวังใช้วุฒิสภาดำเนินการกับสุเทพ เทือกสุบรรณให้ต้องโดนวุฒิสภาถอดถอนเพื่อให้หายไปจากการเมือง หรือหวังจะให้สว.ช่วยเหลือให้สุเทพรอดพ้นจากการถูกถอดถอน การล็อบบี้คงต้องเกิดขึ้นแน่นอน ?
คำถามนี้"วันชัย"ตอบว่า เวลานี้กระบวนการถอดถอนสุเทพ ถือว่าเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 27 สิงหาคม ยังอีกเวลาอีกเดือนกว่าวุฒิสภาถึงจะนัดลงมติ(18 กันยายน 2555) ต้องให้ทุกอย่างผ่านไปตามกลไกลเช่น มีการแถลงเปิดคดีจากฝ่ายป.ป.ช.-การแถลงคัดค้านข้อกล่าวหาของสุเทพ –การนัดแถลงปิดคดีด้วยวาจาของทั้งสองฝ่าย –การตั้งคำถามในสำนวนคดีนี้จากสว.ผ่านกรรมาธิการที่วุฒิสภาตั้งขึ้นเพื่อให้ไปถามป.ป.ช.และสุเทพ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาลงมติลับว่าจะถอดถอนนายสุเทพหรือไม่
"คงต้องรอให้ถึงช่วงวันใกล้ลงมติก่อน ว่าจะมีการล็อบบี้อะไรเกิดขึ้นหรือไม่ แต่เวลานี้ยังไม่มีข่าวความเคลื่อนไหวลักษณะดังกล่าวออกมา"คำกล่าวทิ้งท้ายของวันชัย สอนศิริ
ทั้งนี้ "ทีมข่าว"ได้รับข้อมูลมาจากฝายกฎหมายของวุฒิสภาแจ้งถึงกรอบแนวทางขั้นตอนการดำเนินการของวุฒิสภาในกรณีถอดถอนสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกจากตำแหน่งว่า เมื่อผ่านการประชุมวุฒิสภาในวันที่ 27 สิงหาคมนี้ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรกของคำร้องนี้ซึ่งป.ป.ช.ส่งมาให้วุฒิสภาแล้ว และวุฒิสภาก็จะกำหนดวันแถลงเปิดสำนวนของป.ป.ช.และตัวสุเทพ ซึ่งก็คือวันศุกร์ที่ 7 กันยายน ซึ่งวันดังกล่าวจะเป็นการแถลงเปิดสำนวนของป.ป.ช.และคำแถลงคัดค้านของสุเทพ โดยไม่มีการซักถาม
จากนั้นที่ประชุมวุฒิสภาจะพิจารณาว่าควรมีการซักถามประเด็นใดเพิ่มเติมหรือไม่ หากที่ประชุมมีมติให้ซักถามในประเด็นปัญหาใด ให้ตั้งคณะกรรมาธิการซักถามขึ้นมาคณะหนึ่ง แล้วต้องแจ้งมติให้คู่กรณีทราบโดยพลัน และต้องกำหนดให้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อซักถามภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ที่ประชุมวุฒิสภามีมติ
เสร็จสิ้นขั้นตอนดังกล่าวแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนการนัดประชุมวุฒิสภาเพื่อรังฟังแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาของทั้งสองฝ่ายที่เบื้องต้นกำหนดไว้วันที่ 17 กันยายน 55
ส่วนวันลงมติว่าจะถอดถอนหรือไม่ถอดถอนนายสุเทพ เคาะไว้แล้วว่าจะให้เป็นวันที่ 18 กันยายน 55 โดยมติที่ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง ให้ถือเอาคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3ใน 5 ของจำนวนสว.ที่มีอยู่ของวุฒิสภา คือไม่น้อยกว่า 88 คน
ก็ต้องคอยดูกันว่า การสู้คดีกันครั้งนี้ของสุเทพกับป.ป.ช.ผลจะออกมาอย่างไร ข้อมูลและการสู้คดีของฝั่งไหน จะดีกว่ากัน เพราะหากว่า สุเทพ แจงไม่ขึ้น ในข้อกล่าวหาของป.ป.ช. แล้ววุฒิสภายังลงมติไม่ถอดถอนออกจากตำแหน่ง เพราะคะแนนเสียงไม่ถึง ผู้คนก็คงสงสัยกันไม่น้อยถึงบรรทัดฐานของสภาสูงว่าเป็นอย่างไรกันแน่
แม้หลายคนจะมองว่าโอกาสที่สุเทพ จะโดนถอดถอนค่อนข้างเป็นไปได้ยาก ยิ่งหากไปดูก่อนหน้านี้ วุฒิสภาก็เคยพิจารณาคำร้องถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองมาแล้ว 3 ครั้ง
คือกรณีของสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ตุลาคม 2551ก็ปรากฏว่าวุฒิสภาก็มีมติด้วยคะแนนเสียง 76 ต่อ 49 เสียง ไม่ถอดถอน นายสมชาย ออกจากตำแหน่ง
หรือกรณี นายนพดล ปัทมะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ถูกป.ป.ช. ชี้มูลความผิด กรณีเห็นชอบให้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกก็ปรากฏว่า วุฒิสภาได้ลงมติถอดถอน 57 เสียง ไม่ถอดถอน 55 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ซึ่งเวลานั้นต้องใช้เสียง 90 เสียงขึ้นไปการถอดถอนถึงมีผล ทำให้นพดล ก็ไม่โดนถอดถอน ทั้งที่เรื่องเขาพระวิหารเวลานั้น กระแสสังคมไม่เห็นด้วยอย่างมาก นพดล ก็ยังไม่โดนวุฒิสภาถอดถอน
และล่าสุดก่อนหน้าคำร้องนายสุเทพ วุฒิสภาก็พิจารณาเรื่องการถอดถอน ภักดี โพธิศิริ กรรมการป.ป.ช.ที่ตอนนี้ก็ยังดำรงตำแหน่งอยู่ แต่กรณีของภักดีนั้นแตกต่างจากสมชาย-นพดลและสุเทพ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าการถอดถอนป.ป.ช. ต้องใช้เสียงสว. 3 ใน 4 ไม่ใช่ 3 ใน 5 ซึ่งผลการลงคะแนนออกมาว่ามีมติ 84 เสียงไม่ให้ถอดถอน ขณะที่เสียงให้ถอดถอนมีแค่ 56 เสียง
การทำหน้าที่ของวุฒิสภาต่อจากนี้ ทั้งการลงมติในสำนวนถอดถอนสุเทพ ออกจากตำแหน่ง-การประชุมวุฒิสภาเพื่อเห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบฯ 56 ในวันที่ 3-4 กันยายน 2555 ซึ่งเป็นงบที่ถูกวิจารณ์กันมากว่าตั้งงบแบบรั่วไหล ไม่รอบคอบ เปิดช่องให้มีการทุจริตได้ง่าย -การลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบการเลือกป.ป.ช.คนใหม่หรือการเตรียมเห็นชอบหรือจะไม่เห็นชอบรายชื่อว่าที่กกต.ในช่วงปีหน้า
ทั้งหมดล้วนเป็นบทพิสูจน์ การทำหน้าที่ของวุฒิสภาชุดนี้ได้เป็นอย่างดีว่า จะเป็นที่พึ่งหวังของสังคมได้หรือไม่ในการทำหน้าที่หรือจะแปรเปลี่ยนไปหลังผู้นำสภาสูง มาจากสายเลือกตั้งไม่ใช่สายสรรหาเหมือนก่อนหน้านี้