ธนาคารอิสลามเดินหน้า "สินเชื่อรากหญ้า-แก้หนี้นอกระบบ"
เลขา เกลี้ยงเกลา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ในขณะที่รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพิ่งสร้างกระแสฮือฮาด้วยการ "คิกออฟ" โครงการล้างหนี้นอกระบบให้กับ "เหยื่อแก๊งปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยโหด" ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากคนจนหาเช้ากินค่ำทั่วประเทศ พร้อมดึงธนาคารรัฐ 6 แห่งรวมทั้ง "ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย" ร่วมปล่อยสินเชื่อเพื่อดูแลประชาชนที่คาดว่าจะร่วมโครงการราว 1 ล้านคนอย่างครบวงจรนั้น
ในส่วนของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (Islamic Bank of Thailand - I Bank) ได้เตรียมปล่อยสินเชื่อ 1,150 ล้านบาทใน "โครงการสินเชื่อรากหญ้า" (Islamic Micro Finance) เพื่อให้คนจนและผู้มีรายได้น้อยจากทุกศาสนาในห้าจังหวัดชายแดนใต้ได้เข้าถึงแหล่งทุน
โครงการสินเชื่อรากหญ้า เป็นโครงการสินเชื่อที่อยู่ภายใต้แผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล เพื่อให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนเงินทุนแก่คนจนและผู้ประกอบอาชีพสุจริตที่มีรายได้น้อย โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับ จ.นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล เพื่อเป็นทุนในการทำธุรกิจและขยายกิจการขนาดเล็กที่ไม่ขัดต่อหลักชารีอะฮ์ (หลักการที่ศาสนาอิสลามอนุญาต) พร้อมทั้งสร้างรายได้และส่งเสริมการออม
ธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มลูกค้าของธนาคารมีความเข้าใจธนาคารมากขึ้นว่า ธนาคารอิสลามไม่ได้ให้บริการเฉพาะลูกค้าที่เป็นมุสลิมเพียงกลุ่มเดียว ทำให้ในภาพรวมของธนาคารมีลูกค้าทั้งพุทธและมุสลิมมาใช้บริการมากขึ้น ทั้งในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ และในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะเดียวกันทางธนาคารก็ได้พัฒนาระบบการบริหารงานและการให้บริการที่มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น สามารถเป็นที่พึ่งพิงของนักธุรกิจได้
“สินเชื่อของธนาคารมีครบทุกประเภท ทั้งวงเงินกู้สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ตลอดจนระดับรากหญ้า สำหรับในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ธนาคารกำลังทำโครงการสินเชื่อรากหญ้า หรือสินเชื่อจุลภาค เพื่อต่อยอดโครงการต้นกล้าอาชีพของรัฐบาล สนับสนุนให้ประชาชนได้ประกอบอาชีพและมีรายได้ เปิดโอกาสให้คนจนในระดับรากหญ้าที่ต้องการเงินกู้จำนวนน้อยๆ เพื่อทำธุรกิจในครัวเรือนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ และป้องกันปัญหาเงินกู้นอกระบบไปในตัว"
"ยากจน-คนดี"แต่ขาดเงินทุน
หลักการของธนาคารอิสลาม จะพิจารณาให้สินเชื่อจากความ "ยากจน เป็นคนดี ตั้งใจทำงาน แต่ขาดแคลนทุน" โดยลงลึกถึงกลุ่มชาวบ้านรากหญ้าอย่างแท้จริง ซึ่งโครงการนี้นำมาใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นแห่งแรก อีกทั้งเปิดโอกาสให้มีการกู้เงินอย่างถูกกฎหมายและเป็นไปตามหลักศาสนาอิสลาม เพราะธนาคารอิสลามไม่ได้หาประโยชน์จากลุ่มลูกค้าด้วยดอกเบี้ย เพียงแต่ยึดหลักลูกค้าได้ประโยชน์และธนาคารสามารถอยู่ได้เท่านั้น
โครงการสินเชื่อรากหญ้า ยังแยกย่อยออกเป็น "สินเชื่อธนาคารชุมชน" สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และ "สินเชื่อรีไฟแนนซ์หนี้นอกระบบ" เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินจากการกู้เงินนอกระบบของผู้ประกอบอาชีพค้าขายและผู้ประกอบการรายย่อย เรียกว่านำร่องแก้ปัญหา "เงินกู้ดอกโหด" รับกระแสของรัฐบาล
"ทุกสินเชื่อเราให้วงเงินขั้นต่ำ 5,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย" ธีรศักดิ์ กล่าว
ใช้แบบสอบถามสกรีนลูกหนี้
สำหรับมาตรฐานการพิจารณาว่าใครควรเป็นผู้ที่ได้รับสินเชื่อจากธนาคารนั้น ไม่ได้ทำกันแบบใช้ดุลยพินิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีหลักเกณฑ์ที่น่าสนใจยิ่ง
"เรามีแบบสอบถามที่สามารถวัดความยากจนของแต่ละครอบครัวได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ สำหรับครอบครัวนอกเขตเทศบาลก็เช่น ในบ้านมีเครื่องใช้ไฟฟ้ากี่ชนิด มีลูกเยอะหรือไม่ มีลูกเล็กกี่คน ส่วนครอบครัวในเมืองจะเป็นคำถามลักษณะว่า บ้านที่อาศัยเป็นบ้านเช่าหรือบ้านของตนเอง กู้เงินนอกระบบหรือไม่ สาเหตุที่คำถามไม่เหมือนกันเพราะปัญหาของแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน คนในหมู่บ้านยากจนเพราะไม่มีช่องทางหาเงิน ส่วนชาวบ้านในเมืองหาเงินได้ แต่ประสบปัญหาเรื่องดอกเบี้ยหรือเงินกู้นอกระบบ"
"แบบสอบถามเหล่านี้จะทำให้ทราบข้อมูลพื้นฐานของแต่ละครอบครัวที่ขอกู้ จากนั้นจะให้ผู้ประสานงานลงพื้นที่เข้าไปในชุมชนเพื่อไปดูสภาพความเป็นจริงของครอบครัวที่ยื่นโครงการประกอบการพิจารณา โดยจะพิจารณาคนที่ลำบากมากที่สุดก่อน และโปรแกรมการกู้ก็จะไม่เหมือนกัน หากเกินกว่าในโปรแกรมต้องมีผู้ค้ำประกัน และดูความสามารถในการส่งคืนว่าจะส่งได้ครั้งละเท่าไหร่ในอัตราคงที่ และใช้เวลามากน้อยแค่ไหน แต่ธนาคารอิสลามมีความยืดหยุ่นให้กับลูกค้าอยู่แล้ว”
“กลุ่มที่มีความกังวลว่าธนาคารทั่วไปจะไม่ดูแลคือกลุ่มแม่บ้าน ที่มีการรวมกลุ่มกันของผู้หญิงสัก 5-6 คนที่อยากทำอาชีพสักอย่างที่ทุกคนมีความสามารถเหมือนกัน เช่น มีกลุ่มที่เขาเย็บและปักฮิญาบได้ แต่ไม่มีเงินไปซื้อผ้า คนกลุ่มนี้ธนาคารอิสลามมีโปรแกรมเข้าไปดูแลผ่านโครงการสินเชื่อธนาคารชุมชน”
นำร่องนราฯ-จ้างบัณฑิตในพื้นที่ช่วยงาน
ธีรศักดิ์ บอกด้วยว่า โครงการเงินกู้สินเชื่อรากหญ้า จะนำร่องใน จ.นราธิวาส เป็นจังหวัดแรก เนื่องจากทางธนาคารยังไม่พร้อมเรื่องเครือข่าย และจะทะยอยขยายไปยัง จ.ยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูลตามลำดับ โดยจะประเมินผลใน 90 วันเพื่อปรับปรุงโครงการต่อไป
"โครงการเงินกู้สินเชื่อรากหญ้าจะสามารถช่วยเหลือคนจนทั้งไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่ที่มีความตั้งใจประกอบอาชีพ หรือทำงานอยู่แต่ขาดเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งประชาชนกลุ่มเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบธนาคารปกติได้" ธีรศักดิ์ กล่าว และว่า
"ทางธนาคารเตรียมแต่งตั้งผู้ประสานงานธนาคารขึ้นในแต่ละพื้นที่ คือตำบลละ 1 คนเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างประชาชนกับธนาคาร ซึ่งกลุ่มผู้ประสานงานจะเป็นบัณฑิตในพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน และผู้นำศาสนา โดยการหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อกำหนดกลุ่มที่จะร่วมทำงานให้ธนาคาร ถือว่าเป็นการสร้างงานให้กับประชาชนในพื้นที่อีกทางหนึ่งด้วย"
เล็งรับจำนำทองแบบอิสลาม
การปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบนั้น ธนาคารอิสลามไม่เป็นห่วงว่าหนี้จะสูญ เพราะตระหนักถึงความเป็นลูกค้าที่ดีของคนในพื้นที่นี้
"คนในพื้นที่ยึดหลักศาสนาและรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร จะไม่กังวลและไม่มีผลกระทบกับธนาคาร ที่ผ่านมาเราได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในพื้นที่อย่างมาก เมื่อมีปัญหาอะไรก็จะคุยกันก่อน เป็นความแตกต่างของธนาคารอิสลามกับธนาคารอื่นๆ ขณะนี้ธนาคารอิสลามเป็นธนาคารเดียวที่ยังยืนหยัดปล่อยสินเชื่อเยอะที่สุด ในขณะที่ธนาคารอื่นปล่อยเพียงประปราย"
“ผมได้รับข้อมูลจากนักธุรกิจในนราธิวาสว่า ธนาคารอิสลามยังปล่อยสินเชื่ออย่างสม่ำเสมอ เขาไม่อยากให้หยุด จากโครงการยิ้มสู้กู้วิกฤตที่ได้ดำเนินการไปนั้น มีประชาชนในพื้นที่ร่วมขอสินเชื่อกว่า 5-6 พันล้านบาท ธนาคารเราเป็นของรัฐ และดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลที่ท่านรองนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ อยากเห็นพี่น้องในพื้นที่มีรายได้ครอบครัวละ 120,000 บาทต่อปี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับโครงการสินเชื่อจุลภาคนี้ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ตอกย้ำความต้องการของประชาชนในพื้นที่ หลังจากนี้ทางธนาคารจะดำเนินโครงการใหม่ๆ ต่อไปอีก เช่น การรับจำนำทองแบบอิสลาม”
ธีรศักดิ์ ยังเผยด้วยว่า ในปีหน้าธนาคารอิสลามมีแผนขยายสาขาอีก 18 สาขาในพื้นที่ภาคใต้ และรวมทั้งประเทศจำนวน 35 สาขา จ้างงานคนในพื้นที่อีก 200 อัตรา ผู้สนใจสามารถสมัครได้ที่สาขาใกล้บ้านและในเว็บไซต์ของธนาคาร
ด้านสาขาของธนาคารอิสลามฯในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น สาขาจะบังติกอ อ.เมือง จ.ปัตตานี นายมัณโซ เจ๊ะแว เจ้าหน้าที่อาวุโสธุรกิจและการตลาด กับ นายอาหามะ ตาหา ผู้ช่วยผู้จัดการธุรกิจและการตลาด กล่าวว่า ลูกค้าของธนาคารที่มาใช้บริการมีทั้งพุทธและมุสลิม โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ทำธุรกิจแล้วมีเงินทุนหมุนเวียนไม่พอ จึงต้องกู้ยืมเงินนอกระบบ เมื่อผ่อนส่งไม่ไหวจึงมาขอสินเชื่อจากธนาคาร โครงการสินเชื่อที่กำลังจะคลอดออกมาใหม่จึงเป็นทางออกและตัวเลือกที่ลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการ เพราะเป็นสินเชื่อที่มุ่งช่วยเหลือผู้ที่ต้องการเงินทุนจริงๆ
เป็นเรื่องดีๆ ท่ามกลางสถานการณ์ร้ายๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ปัจจุบัน!