จับตายคนร้าย... (อาจ) ไม่ใช่ความสำเร็จ!
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
การปิดล้อมตรวจค้น ยิงปะทะ และจบลงด้วยการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังเช่นล่าสุดในเหตุการณ์ “จับตาย 6 ศพ” ที่บ้านเลขที่ 192/3 ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งภาพที่ปรากฏดูประหนึ่งว่าเป็นความสำเร็จของฝ่ายความมั่นคงนั้น น่าคิดไม่น้อยว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นความสำเร็จจริงหรือไม่
แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารที่ร่วมกันปฏิบัติการที่ควนโนรี ได้ใช้ความอดทนอดกลั้น เจรจา และปฏิบัติตามกฎการปะทะอย่างเคร่งครัดพอสมควร แต่ก็ยังมีเหตุผลหลายประการที่น่านำมาใคร่ครวญและแสวงหาทางออกร่วมกัน...
ประการหนึ่ง เป็นเพราะผู้ตายล้วนเป็นคนไทยร่วมประเทศเดียวกัน หาใช่อริราชศัตรูจากต่างแดนไม่
ประการหนึ่ง เป็นเพราะทั้ง 6 คน รัฐยังไม่อาจจาระไนได้แน่ชัดว่าเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบที่เคยก่อคดีอุกฉกรรจ์ทั้งหมด
และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง เป็นเพราะการจะเอาชนะในสงครามที่ปลายด้ามขวานได้ ต้องใช้ความ “เข้าถึง-เข้าใจ” ไม่ใช่ใช้อาวุธประหัตประหารกัน โดยเฉพาะคนที่อยู่ข้างหลังผู้ที่ถูกตีตราว่าเป็น “คนร้าย” เหล่านี้ รัฐมักเมินเฉยที่จะเข้าไปช่วยเหลือเยียวยา หรือแม้แต่จะสร้างความเข้าใจ เพราะถือว่าเป็นครอบครัวของฝ่ายตรงข้าม หรือเป็นพวกเดียวกับฝ่ายก่อความไม่สงบที่สร้างปัญหาให้กับรัฐ
แนะทำความเข้าใจครอบครัวผู้เสียชีวิต
นิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดยะลา ประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดยะลา และอดีตรองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา มองว่า การที่รัฐจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือดูแลครอบครัวของผู้สูญเสียจากการถูกวิสามัญฆาตกรรม ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นในพื้นที่ใดก็ตาม
“เขาจะผิดหรือจะถูก แต่ครอบครัวของเขาเป็นคนละส่วนกัน ฉะนั้นเมื่อเกิดความสูญเสียขึ้น รัฐก็ควรเข้าไปดูแลครอบครัวของเขาด้วย ที่สำคัญผู้เสียชีวิตบางคนอาจมีสถานะเป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อต้องเสียชีวิตไป ความเดือดร้อนของครอบครัวก็จะตามมาทันที”
นิมุ บอกว่า รัฐต้องแยกระหว่างคนที่กระทำความผิดกับคนที่เป็นเครือญาติ แน่นอนว่าคนผิดก็ต้องดำเนินการกันไปตามกฎหมาย แต่ครอบครัวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วย หรือบางครอบครัวไม่รู้เรื่องเลยด้วยซ้ำว่าสมาชิกในครอบครัวไปทำอะไรที่ผิด อย่างน้อยก็น่าจะได้รับการดูแลหรือทำความเข้าใจบ้าง
“การสร้างความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าเขาเกิดผวา อาจจะเตลิดไป ทำให้บานปลายมากขึ้นไปอีก ฉะนั้นจึงอยากเรียกร้องให้รัฐทำเรื่องนี้ และหากได้ทำไปแล้วก็กรุณาประชาสัมพันธ์ด้วย เพราะอย่างน้อยจะได้ทำให้ญาติของผู้สูญเสียเกิดความรู้สึกที่ดี ได้รู้ถึงคุณธรรมจริยธรรมของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง”
จี้รัฐพิสูจน์ความผิด-อย่าแค่กล่าวหา
อีกสิ่งหนึ่งที่ นิมุ เน้นย้ำก็คือ รัฐควรพิสูจน์ให้ชัดเจนก่อนว่า ผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมดคือผู้กระทำผิดตามที่กล่าวหาจริงๆ
“ตอนนี้ยังมีคำถามอยู่บ้างว่าทั้งหมดเป็นคนร้ายทุกคนหรือไม่ รัฐควรเข้าไปชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่าคนเหล่านี้ทำอะไรมา เกิดอะไรขึ้นจึงมีการวิสามัญฆาตกรรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ครอบครัวของคนตายมีสิทธิตามกฎหมายอย่างไรก็ควรบอกเขาด้วย ที่สำคัญรัฐควรมองเฉพาะตัวคนที่กระทำผิด อย่าไปเหมารวมครอบครัวหรือคนแวดล้อม ใครมางานศพก็เป็นเครือข่ายไปด้วย อย่างนี้ไม่ถูกต้อง”
“อย่าลืมว่าการสร้างความรู้สึกที่ไม่ดี จะทำให้ภาพที่ประชาชนมองรัฐไม่ดีไปด้วย แต่ถ้ารัฐทำให้เกิดความเข้าใจ ชี้แจงได้ ก็อาจส่งผลให้คนที่ทำผิดอยู่หรือไม่แน่ใจในตัวเอง หันหน้าเข้าหารัฐมากขึ้น เพราะเชื่อว่ารัฐมีความจริงใจ และปัญหาก็จะคลี่คลายลงในที่สุด”
กังขา 6 ศพไม่ใช่คนร้ายทั้งหมด
ประเด็นที่ นิมุ ตั้งข้อสังเกตถึงการพิสูจน์ความผิดของผู้เสียชีวิตทั้งหมด เป็นกระแสความกังขาที่เกิดในพื้นที่เกิดเหตุอยู่เหมือนกัน
นายมะหามะ มะเด็ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ กล่าวว่า ไม่ได้เข้าไปในที่เกิดเหตุ แต่หลังจากเกิดเรื่องได้ทราบจากชาวบ้านว่ามีลูกบ้านเสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ 4 คน ก็ได้ตรวจสอบว่ามีใครบ้าง พบว่า 2 คนใน 4 คนเป็นเด็กนักเรียนปอเนาะ และอีก1 คนเป็นพ่อค้าขายของตามงานเลี้ยง ทั้งหมดมีนิสัยดี ช่วยเหลือพ่อแม่ ทำนามาตลอด ส่วนอีกคนคือ นายอาหามะดือราแม หะยีมะ หรือชื่อจัดตั้งในนาม “ปะดอ” คนนี้มีหมายจับจริง
“ตอนนี้ในความรู้สึกของชาวบ้านเขาก็เฉยๆ เพราะเป็นที่ชี้ชัดแล้วว่าทั้งหมดเป็นผู้ถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่สิ่งที่ขัดต่อความรู้สึกก็คือที่เจ้าหน้าที่ประกาศว่าเด็กมีอาวุธ ชาวบ้านไม่ยอมรับตรงจุดนี้ เพราะคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่ 3 คนนั้นจะมีอาวุธ เนื่องจากเป็นเด็กนักเรียนกับเป็นพ่อค้าขายของ”
“ในฐานะที่พวกเขาเป็นลูกบ้านของผม ยืนยันได้ว่าเด็กทั้ง 3 คนไม่มีอะไร ผมรู้จักพวกเขาดีทั้งครอบครัวเขาและตัวเด็กเอง พวกเขาไม่มีอะไรจริงๆ จึงอยากให้รัฐดูแลและให้ความช่วยเหลือครอบครัวของทั้ง 3 คนนี้ด้วย” นายมะหามะ กล่าว
ยอมรับ จนท.ประนีประนอมถึงที่สุด
ชาวบ้านในพื้นที่บ้านคลองช้าง ต.นาเกตุ ซึ่งเข้าไปร่วมสังเกตการณ์เหตุยิงปะทะและวิสามัญฆาตกรรม 6 ศพ กล่าวว่า อยู่ในที่เกิดเหตุตลอดเวลา เห็นว่าเจ้าหน้าที่พยายามใช้ความประนีประนอมมาก เพราะไม่อยากให้เกิดความสูญเสีย
“แต่เวลาผ่านไปหลายชั่วโมง ฝ่ายคนร้ายก็ยังไม่ยอมมอบตัว ผู้ใหญ่บ้านก็ได้พยายามพูดผ่านโทรโข่งให้ออกมามอบตัว แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการเด็ดขาด เมื่อเจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตาเข้าไป ฝ่ายคนร้ายก็ยังยิงตอบโต้ ทำให้เกิดความสูญเสียขึ้น” ชาวบ้านรายนี้ บอก และว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นแกนนำและแนวร่วมที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่จริงๆ เพียงแต่บางคนยังไม่มีหมายจับเท่านั้น
อย่างไรก็ดี เขาก็เห็นว่า รัฐน่าจะให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้ตาย เพราะแม้จะเป็นคนที่ผิดก็ไม่ควรเหมารวมไปถึงครอบครัว
“ผมอยากให้รัฐแยกแยะตรงจุดนี้บ้าง เล็กๆ น้อยๆ ก็น่าจะเข้าไปให้กำลังใจครอบครัวผู้เสียชีวิต ช่วยเหลือในสิ่งที่เขาเดือดร้อน เรื่องผิดถูกก็ให้กฎหมายว่าไป แต่เรื่องของความรู้สึก รัฐน่าจะเข้าไปดูแล”
ทหารแถลงพบปืน 4 กระบอก ระเบิด 1 ลูก
ด้านความเคลื่อนไหวของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ พ.อ.บรรพต พูลเพียร หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แถลงว่า จากเหตุการณ์ปะทะที่ควนโนรีจนฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 6 คนนั้น เจ้าหน้าที่สามารถยึดยุทโธปกรณ์ได้หลายรายการในที่เกิดเหตุ ได้แก่ 1.อาวุธปืน AK- 47 (อาก้า) จำนวน 1 กระบอก 2.อาวุธปืนเอ็ม 16 จำนวน 1 กระบอก 3.อาวุธปืนพกขนาด 11 ม.ม. จำนวน 2 กระบอก 4.ซองกระสุนปืนอาก้า 2 ซอง 5.ซองกระสุนปืน เอ็ม 16 จำนวน 1 ซอง และ 6.ระเบิดขว้าง 1 ลูก
พล.ต.ต.พิเชษฐ์ ปิติเศรษฐพันธ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี (ผบก.ภ.จว.ปัตตานี) ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกพื้นที่เตรียมความพร้อมและระมัดระวังตัวเองรวมทั้งหน่วยที่ตั้งมากเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการลอบทำร้ายและการก่อเหตุรุนแรงจากฝ่ายตรงข้ามเพื่อตอบโต้เจ้าหน้าที่ หลังจากเมื่อเวลา 01.30 น.วันที่ 18 พ.ย. คนร้ายลอบวางเพลิงเผาสำนักงาน อบต.มะกรูด อ.โคกโพธิ์ จนอาคารเสียหายบางส่วน
ขณะที่นายอำเภอโคกโพธิ์ ได้นำเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเข้าพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้าน
ด้าน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้เดินทางไปที่โรงพยาบาลปัตตานี เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมมอบกระเช้าและเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่เจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุปะทะที่ควนโนรี โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บทั้งหมด 4 นาย ประกอบด้วย ส.อ.ศรชัย ชัยชมพู อายุ 22 ปี ส.อ.เฉลิมพร โพธิ์ศรี อายุ 22 ปี ส.อ.ศาสตรา มิคคสังห์ และ ส.อ.สุรสีห์ บุญมาละ อายุ 28 ปี ทั้งหมดสังกัดหน่วยเฉพาะกิจสันติสุข