เมื่อฟิลิปปินส์เร่งเครื่องรับประชาคมอาเซียน ลุยเจรจากลุ่มแยกดินแดน (2)
คมวาทะ..."เรารักความยึดมั่นของท่านต่อหลักการของประชาธิปไตยและกระบวนการทางประชาธิปไตย และเราจะไม่ทอดทิ้งท่านให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว" อดีตรองประธานาธิบดีจอร์จ เฮช ดับลิว บุช (บุชผู้พ่อ) กล่าวในระหว่างพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีของมาร์คอสเมื่อ มิ.ย.1981 (พ.ศ.2524)
"We love your adherence to democratic principles and to the democratic process, and we will not leave you in isolation." U.S. Vice-President George H. W. Bush during Ferdinand Marcos inauguration, June 1981
การเจรจาคือครรลองของประชาธิปไตย
การเจรจาเป็นกลไกสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ของกระบวนการสันติภาพ ถ้าหากรัฐต้องการความเป็นเอกภาพที่คำนึงถึงปัจจัยด้านความยุติธรรมและความเสมอภาคของชนทุกกลุ่มภายในสังคมของตนอย่างแท้จริง จากบทเรียนก่อนหน้านี้ การเจรจาซึ่งดำเนินมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลของ เฟอร์ดินานด์ มาร์คอส จนถึงขั้นลงนามในสัญญาที่สำคัญอย่างเช่น "สัญญาตรืโปลี พ.ศ. 2519" (The 1976 Tripoli Agreement) ทำให้สังคมฟิลิปปินส์พอจะมองเห็นแสงรำไรของสันติภาพ แต่การขาดความต่อเนื่องและความจริงจัง และปัญหาของประเทศเอง ทำให้เกิดอุปสรรคไม่ให้ข้อตกลงสันติภาพเกิดเป็นรูปธรรมขึ้นได้ สิ่งที่ตามมาก็คือเกิดความไม่สงบในสังคมฟิลิปปินส์ทั่วทั้งประเทศ รวมทั้งเกิดเงื่อนไขสงครามในภาคใต้ที่บานปลายต่อมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงือนไขส่วนหนึ่งมาจากในระดับชนชั้นปกครองในส่วนกลางและในท้องถิ่นเองที่มีความตะกละตะกรามและละโมบจนล้น ส่งผลให้ความเจริญเติบโตของสังคมฟิลิปปินส์เรียวลง
กลุ่มการเมืองและกลุ่มธุรกิจต่างๆ ในระดับชาติ รวมทั้งกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายซึ่งกลุ้มรุมภาคใต้ ต่างก็ช่วงชิงและต้องการหวงแหนอำนาจและผลประโยชน์ของตนไว้ตราบนานเท่านาน รัฐบาลก็ปล่อยให้พื้นที่ไกลปืนเที่ยงทางตอนใต้เต็มไปด้วยปัญหาหมักหมม ไร้การพัฒนา ประชาชนอยู่อย่างถูกปล่อยปละละเลยและล้าหลัง ความยากจน ความเจ็บป่วย ไม่ได้รับการเหลียวแล ทำให้ภาคใต้เต็มไปด้วยเชื้อร้ายต่างๆ นานา
เมื่อมองในอีกด้านหนึ่ง ในทางทฤษฎีแล้ว การเกิดขึ้นและความเบ่งบานของขบวนการแบ่งแยกดินแดน (separatist movement) ไม่ว่าที่ไหนในโลก ถือเป็นปรากฏการณ์หลังยุคอาณานิคม (post-colonialism) แท้ที่จริงเป็นการลุกขึ้นของขบวนการของประชาชน (People’s movement) ที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนและพื้นที่หรือดินแดนของตนที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ (Ancestral Domain) ในเมื่อรัฐไม่ได้ยื่นมือเข้าไปตั้งแต่แรก มิหนำซ้ำการปฏิบัติของฝ่ายรัฐหลายครั้ง กลับเป็นการตอกย้ำความไม่เข้าใจราวมองเห็นประชาชนเป็นศัตรู เหล่านี้กลายเป็นการบ่มเพาะปัญหาขัดแย้งภายในสังคม และในที่สุดก็กลายเป็นสงครามระหว่างรัฐกับฝ่ายประชาชน ซึ่งในทางทฤษฎีเรียกว่า "สงครามประชาชน" (people war)
แน่นอนมีการตัดสินใจใช้ความรุนแรง (violence) เป็นเครื่องมือต่อรอง ซึ่งในทางปฏิบัติถือเป็นทางเลือกที่ผิดกฎหมาย และไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเป็นการก่อการร้าย เนื่องจากกระทบกระเทือนต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์ และเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย ปัญหาจึงเบ่งบานและบานปลาย ยากที่จะยุติลงได้โดยการเมินหน้าหรือหันหลังให้กับการเจรจา
ในสมัยรัฐบาลเผด็จการของมาร์คอส มีความพยายามอย่างเด่นชัดที่จะลดเงื่อนไขของสงครามแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ โดยอาศัยช่องทางการเจรจา แต่เนื่องจากไม่ได้มีความจริงใจที่จะยุติปัญหาที่เป็นไปเพื่อประชาชนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง หากเพื่อเสถียรภาพของรัฐบาลที่ก่อศัตรูไปรอบด้าน การแก้ปัญหาไม่ใช่เพื่อชัยชนะในตัวของมันเอง หากแต่เป็นไปเพื่อกลุ่มผลประโยชน์ในแวดวงของรัฐบาลเท่านั้น จึงไม่ได้อำนวยประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่ขัดแย้งซึ่งมีทั้งชนมุสลิมมินดาเนา คริสตังมินดาเนา และชนเผ่าลูมาดดั้งเดิมของมินดาเนาแต่ประการใด
สถานการณ์ทางการเมืองสมัยมาร์คอส
รัฐบาลของนายเฟอร์ดินานด์ มาร์คอส ก่อปัญหารุมเร้าที่ยากจะแก้ไข มิหนำซ้ำยังเรื้อรังมาถึงสมัยหลังๆ ซึ่งกลุ่มทหารมีบทบาทอยู่เบื้องหลังความรุนแรงและการคอร์รัปชั่นมากมาย ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องมาจากระบอบประชาธิปไตยที่ถูกทำลายลงในสมัยของเขานั่นเอง รัฐบาลของนายมาร์คอสได้สลัดวิถีประชาธิปไตย โดยการประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วทั้งประเทศ (21 ก.ย. 1972 / พ.ศ. 2515) ภายใต้ข้ออ้างว่าฟิลิปปินส์กำลังถูกคุกคามโดยพวกคอมมิวนิสต์และกบฏแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ มาร์คอสยกเลิกกลไกของระบอบรัฐสภาและคว่ำบาตรการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย หนังสือพิมพ์ถูกปิด นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามถูกขุมขู่ คุกคาม และกวาดล้าง ฯลฯ
กล่าวได้ว่ามาร์คอสได้สร้างศัตรูทางการเมืองทั้งจากนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม นักวิชาการ ศิลปินและปัญญาชนมากมายทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกับประชาชนเจ้าของประเทศ ซึ่งพากันเรียกเขาว่า "จอมเผด็จการฟาสซิสต์" แม้ว่าในช่วงการปกครองแบบเผด็จการของเขา มาร์คอสจะประกาศสร้างสรรค์คุณค่าทางสังคมและการเมืองใหม่เรียกร้องให้คนจนและคนรวยร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อเป้าหมายร่วมกันของสังคม เขาประกาศวิสัยทัศน์ทางการเมืองหรือนโยบายที่เรียกว่า "บาฆง ลีปุนนัน" (Bagong Lipunan) หรือ "สังคมใหม่" (New Society) ทำนองเดียวกับประธานาธิบดีซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซีย ซึ่งฆ่าคนนับล้านในการก้าวสู่อำนาจได้ประกาศ "แบบแผนใหม่" หรือ "โอรฺเด บารู" (Orde Baroe) แต่จินตนาการที่ไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย ไม่สามารถนำพาสังคมฟิลิปปินส์สู่ความมั่งคั่งและความสันติสุขที่ยั่งยืนได้จริงๆ
กระนั้นก็น่าแปลกที่ว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินในระยะแรกไม่ได้มีปฏิกิริยาอะไรจากมวลชนราวกับพวกเขายอมรับโดยดุษณี แต่ทั้งโลกต่างตกตะลึงว่าชาวฟิลิปปินส์ยอมรับการกระทำเช่นนี้ได้อย่างไร เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐผู้หนึ่งกล่าวหยามฟิลิปปินส์ว่าประกอบด้วยพลเมืองที่เป็น "พวกขี้ขลาดตาขาว 40 ล้านคนกับลูกสุนัขอีกตัวหนึ่ง" ("of 40 million cowards and one son of a bitch") และเรียกร้องให้ชาวฟิลิปปิโนลุกขึ้นต่อต้านผู้หาญทำลายเสรีภาพ แต่ที่จริงชาวฟิลิปปิโนไม่ได้พอใจสิ่งที่มาร์คอสทำ
แนวทางที่ขัดต่อความต้องการของประชาชนที่มาร์คอสเลือกปฏิบัติ ด้านหนึ่งนำสังคมสู่อำนาจนิยมและเผด็จการทรราชย์ และในอีกด้านหนึ่งเป็นการทำลายจริยธรรมและธรรมาภิบาล เช่น เพื่อที่จะเอาใจทหารซึ่งเป็นฐานอำนาจของเขา ในระหว่างปี 1972-1976 (พ.ศ.2515 – พ.ศ. 2519) มาร์คอสได้ประกาศเพิ่มกำลังทหารภายในประเทศจาก 65,000 คน เป็น 270,000 คน หรือเกือบสามเท่า สิ่งที่กลายเป็นประเพณีปฏิบัติต่อมาก็คือ นายทหารระดับสูงได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานและกรรมการฯ ในองค์กรและหน่วยงานต่างๆ อาทิ บริษัทด้านสื่อฯ กิจการสาธารณูปโภค โครงการพัฒนาต่างๆ และบริษัทและวิสาหกิจเอกชนจำนวนมาก รัฐบาลมาร์คอสยังพยายามผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธภายในประเทศอีกด้วย
นอกจากนี้มาร์คอสยังได้ใช้นโยบายชาตินิยมเข้ายึดธุรกิจและที่ดินเอกชนของคนบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มคนจีนและเมสติโซ (ลูกผสมสเปน) จนเกิดลัทธิเศรษฐกิจที่เรียกว่า "ทุนนิยมเพื่อนฝูง" (crony capitalism) แล้วนำไปแจกจ่ายให้กับนักธุรกิจและชาวนาฟิลิปปิโน ซึ่งโดยมากก็ "ส้มหล่น" ไปตกอยู่ในมือของบุคคลที่เป็นเครือญาติ มิตรสหาย รวมทั้งแวดวงคนใกล้ชิดมาร์คอสเอง
นอกจากนี้ภายใต้ภาวะฉุกเฉินกลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนรายงานว่า มีการฆ่าด้วยวิธีการตั้งศาลเตี้ย 1,500 ราย องค์กรการาปัตตัน (Kerapatan) อันเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนท้องถิ่นระบุว่า เกิดกรณีอุ้มฆ่า (ไม่พบศพ) ถึง 759 ราย นักประวัติศาสตร์ด้านการทหารเขียนทั้งในหนังสือและปาฐกถาถึง "มรดกมืด" (Dark Legacy) ในสมัยเผด็จการมาร์คอสว่า มีการ "เก็บ" (ฆ่าแบบตั้งศาลเตี้ย) ถึง 3,257 ราย เหยื่อถูกทรมาน 35,000 ราย ถูกคุมขัง 70,000 ราย ในขณะที่หนังสือพิมพ์บาลัตลัตให้ตัวเลขผู้ที่ถูกคุมขังทั้งหมดสูงถึง 120,000 ราย
อะไรทำให้จินตนาการของมาร์คอสไม่เป็นไปดังที่เขาต้องการ ทั้งๆ ที่พยายามดำเนินนโยบายที่ฟังดูน่าจะชนะใจประชาชนได้ มาร์คอสกลับประสบปัญหาและอุปสรรคมากมายในการบริหารประเทศ กล่าวง่ายๆ ก็คือเขาไม่สามารถชนะใจประชาชนอย่างแท้จริง นักวิเคราะห์สถานการณ์มองว่า เขาไม่รู้หรือว่า "ระบอบมาร์คอส" (Marcos Regime) ที่เป็นเผด็จการนั่นเองที่เป็นอุปสรรคและมีปัญหาในตัวของมันเอง ผลก็คือรัฐบาลของมาร์คอสซึ่งครองอำนาจมายาวนานถึง 20 ปีสั่นคลอนอย่างหนัก และต้องปิดฉากลงด้วยสิ่งที่ประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์เรียกว่า "การปฏิวัติของพลังประชาชน" (The People Power Revolution) ณ ถนนเอดซา ในปี 1986 (พ.ศ.2529) นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มาร์คอสสามารถกดนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามได้นี่เอง เขาได้เข้าสู่โต๊ะเจรจากับกลุ่ม MNLF (กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร : The Moro National Liberation Front) ด้วยความช่วยเหลือของ "โอไอซี" (องค์กรความร่วมมืออิสลาม) และ พ.อ.มูอัมมาร์ กัดดาฟี ประธานาธิบดีลิเบียขณะนั้น จนสามารถลงนามใน "สัญญาตรืโปลี พ.ศ. 2519" (The 1976 Tripoli Agreement) แต่การบรรลุถึงรูปธรรมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากสถานการณ์รุนแรงที่กำลังก่อตัวอยู่ในขณะนั้น
การเจรจาสมัยรัฐบาลเผด็จการมาร์คอส
ราวต้นปี 1976 (พ.ศ. 2519) รัฐบาลนายมาร์คอสในช่วงประกาศภาวะฉุกเฉินได้บรรลุข้อตกลงกับ "แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร" (MNLF) ภายใต้การนำของ ศ.นูรฺ พี. มิซัวรี (Prof. Nur P. Misuari) อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ผู้ผันตัวเองเป็นผู้ก่อตั้งขบวนการชาตินิยมติดอาวุธของชนชาติโมโรในมินดาเนา หลังจากไปฝึกอาวุธในค่ายที่มาเลเซียตะวันออกมาแล้ว ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามใน "ข้อตกลงตริโปลี พ.ศ.2519" (The 1976 Tripoli Agreement) ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่ายหลายประการ
ข้อ 1 ในข้อตกลงนี้กล่าวถึง : การสถาปนารูปการปกครองตนเอง (autonomy) ในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ซึ่งอยู่ภายในอาณาเขตอธิปไตยและดินแดนในบูรณาการของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์
ในข้อ 2 กล่าวถึง : พื้นที่ปกครองตนเอง (the areas of the autonomy) สำหรับชาวมุสลิมในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ว่าควรประกอบด้วยจังหวัดและเมืองต่างๆ ได้แก่ 1. บาสิลัน 2. ซูลู 3. ตาวี-ตาวี 4. ซัมบัวงา เดล ซูรฺ 5. ซัมบัวงา เดล โนรฺเต 6. โกตาบาโตเหนือ 7. มากินดาเนา 8. สุลต่านกูดารัต 9. ลาเนา เดล โนรฺเต 10. ลาเนา เดล ซูรฺ 11. ดาเวา เดล ซูรฺ 12. โกตาบาโตใต้ และ 13. ปาลาวัน
ในหัวข้อ 3 ประกอบด้วยหัวข้อต่างๆ ซึ่งกำหนดรายละเอียดว่า จะมีรายการต่างๆ อะไรบ้างที่จะต้องยึดถือและพึงปฏิบัติ เป็นต้นว่า นโยบายต่างประเทศของเขตปกครองตนเองควรเป็นของรัฐบาลกลาง ด้านการป้องกันประเทศก็เป็นของรัฐบาลกลาง แต่จะยังต้องหารือกันต่อไปว่าจะหาทางออกให้กับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนฯ อย่างไร ที่สำคัญในพื้นที่ปกครองตนเองจะให้มีศาลเอกเทศคือศาลชารีอะห์ ฯลฯ ในหัวข้อนี้มีทั้งหมด 16 มาตรา โดยในมาตราที่ 14 มีการระบุสถานที่สำหรับการลงนามเมื่อทุกอย่างลงตัวแล้วคือ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
ส่วนข้อ 4 กล่าวถึงผลบังคับใช้ซึ่งต้องทำภายหลังการลงนามแล้ว สัญญานี้ทำขึ้น ณ กรุงตริโปลี ประเทศลิเบีย เมื่อ 23 ธ.ค.1976 (พ.ศ. 2519) เป็นภาษาอาหรับ อังกฤษ และฝรั่งเศส ทั้งสามฉบับมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน
-----------------------------------(โปรดอ่านต่อตอนที่ 3)-----------------------------------
บรรยายภาพ :
1 กองกำลัง "แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร" (MNLF) ภายใต้การนำของ ศ. นูรฺ มิซัวรี
2 เฟอร์ดินานด์ มาร์คอส ผู้นำฟิลิปปินส์ (เสื้อขาวซ้ายสุด) ซึ่งริเริ่มให้มีการเจรจากับกบฏแบ่งแยกดินแดนฯ ในปี ค.ศ.1976 (พ.ศ. 2519) ภาพคนกลางคืออดีตประธาธิบดีโรนัลด์ รีแกน (โดยมีนายจอร์จ บุช "ผู้พ่อ" เป็นรองประธานาธิบดี) และนางอีเมลด้า มาร์คอส อดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 แห่งฟิลิปปินส์ อยู่ขวามือ
3 พ.อ.มุอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบียผู้ให้ความสะดวกในการเจรจา ในชีวิตจริงเขาประสบชะตากรรมไม่ต่างจากนายมาร์คอส