เปลี่ยนความทุกข์เป็นรอยยิ้ม...
แวลีเมาะ ปูซู
นาซือเราะ เจะฮะ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
หลังจาก “ทีมข่าวอิศรา” ได้รายงานสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยของภาครัฐที่ยังไม่ครอบคลุมในหลายพื้นที่ ทำให้มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน และยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออีกเป็นจำนวนมากนั้น
ล่าสุด พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) พร้อมคณะได้เดินทางลงพื้นที่ ต.ปะกาฮารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี เพื่อมอบถุงยังชีพพระราชทานให้กับชาวบ้านผู้ประสบภัยหลายร้อยครัวเรือนที่ต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วมหนักถึง 8 หมู่บ้าน
นอกจากนั้น ยังได้ไปเยี่ยม นายบือซา อูมา ชาวบ้านที่อายุเกิน 100 ปี อยู่ที่บ้านเลขที่ 15 หมู่ 2 บ้านจางา และ นางตีเยาะ ดือราแม อายุกว่าร้อยปีเช่นกัน ที่บ้านเลขที่ 4 หมู่ 2 บ้านจางา เพื่อมอบถุงยังชีพและเวชภัณฑ์พระราชทานแก่ผู้สูงอายุทั้งสองคน พร้อมทั้งสั่งกำชับให้กองกำลังในพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือดูแลอย่างต่อเนืองไม่ให้ขาด
นอกจากนั้น ในระหว่างแจกของให้กับชาวบ้าน ซึ่งบรรยากาศมีแต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ พล.ท.พิเชษฐ์ ยังให้เจ้าหน้าที่สำรวจประชาชนที่มีปัญหาเรื่องทันตกรรม ฟันผุฟันหลอ เพื่อให้ไปพบกับทีมแพทย์ของแม่ทัพ จะได้รักษาและใส่ฟันให้ฟรีต่อไป ทั้งนี้ พล.ท.พิเชษฐ์ ได้หยอกล้อกับเด็กๆ ในหมู่บ้านอย่างเป็นกันเอง
ขณะเดียวกัน ยังได้มอบหมายให้ พล.อ.ต.หญิง นิตยา อิ่มอโนทัย หัวหน้าคณะทำงานภาคประชาสังคม กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ลงพื้นที่บ้านตาแปด ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลาเพื่อพบปะเยี่ยมเยียนประชาชน เพราะเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่น้ำยังคงท่วมสูง พร้อมเข้าไปเยี่ยมนักเรียนที่โรงเรียนปอเนาะตัสกีเราะห์ หรือปอเนาะตาแปด ที่มีโต๊ะครูตาบอด และกำลังเดือดร้อนเรืองน้ำอุปโภค อีกทั้งสั่งการไปยังกองกำลังทุกหน่วยให้สำรวจพื้นที่ที่ยังเข้าไม่ถึงและยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ เพื่อจัดความช่วยเหลือไปให้อย่างเร่งด่วน
พล.ท.พิเชษฐ์ กล่าวว่า หลังจากน้ำลด ได้เร่งให้เจ้าหน้าที่สำรวจความเดือดร้อนของประชาชนทุกพื้นที่ในสามจังหวัด เพื่อเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาในเบื้องต้น อีกทั้งสำรวจพื้นที่เพื่อหว่านอีเอ็ม (หัวเชื้อจุลินทรีย์) ดับกลิ่นรากไม้ที่เน่าเสียจากน้ำท่วมขังด้วย
สองผู้เฒ่าดีใจแม่ทัพเยี่ยมถึงบ้าน
นายบือซา อูมา พ่อเฒ่าวัยกว่า 100 ปี กล่าวว่า รู้สึกซาบซึ้งใจในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยและทรงพระราชทานถุงยังชีพมาให้กับพี่น้องในพื้นที่ โอกาสนี้ขอดุอา (ขอพร) ให้ทั้งสองพระองค์มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน และมีพระพลานามัยที่แข็งแรงพ่อเฒ่าบือซา ยังบอกอีกว่า รู้สึกดีใจมากที่ พล.ท.พิเชษฐ์ ลงพื้นที่มาดูแลช่วยเหลือชาวบ้านด้วยตัวเอง
“ดีใจจนพูดไม่ออก เป๊าะเป็นคนแก่ ไม่ต้องการอะไรมาก แค่อยากให้ลูกหลานมาใส่ใจในความรู้สึกก็พอแล้ว ยิ่งแม่ทัพภาคที่ 4 มาเยี่ยมถึงบ้าน ยิ่งดีใจจนบอกไม่ถูก” พ่อเฒ่า กล่าว
ขณะที่ นางตีเยาะ ดือราแม อายุกว่า 100 ปีเช่นกัน บอกว่า รู้สึกดีใจและทราบซึ้งมากที่ พล.ท.พิเชษฐ์ เข้ามาเยียมเยียนถึงบ้าน และขอขอบคุณที่ยังเป็นห่วงชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน
ลงพื้นที่ช่วยเด็กปอเนาะบ้านตาแปด
วันเดียวกัน พล.อ.ต.หญิง นิตยา ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเด็กนักเรียนปอเนาะตัสกีเราะห์ หรือปอเนาะบ้านตาแปด ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา และกล่าวว่า สภาพความเป็นอยู่ของเด็กนักเรียนควรจะดีกว่านี้ และคิดว่าควรเร่งให้ความช่วยเหลือทั้งด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ โดยเฉพาะเรื่องบ่อบาดาลที่กำลังเป็นปัญหาเดือดร้อนของเด็กๆ ในปอเนาะ เพราะทำให้ไม่มีน้ำใช้ ปอเนาะแห่งนี้มีเด็กนักเรียนมากถึง 80 คน แต่กลับต้องตักน้ำจากบ่อมาอาบ และอาจทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาวะตามมา คาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 3-4 วัน บ่อบาดาลก็จะเรียบร้อย
“จากการลงพื้นที่พร้อมกับแม่ทัพ ทำให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนามีความจำเป็นมาก และเป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่จะแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้” พล.อ.ต.หญิง นิตยา กล่าว
ด้าน ด.ช.ชำซู ดือราฮิง นักเรียนปอเนาะตัสกีเราะห์ ที่มาจาก ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่หน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลปัญหาให้ หลังจากเดือดร้อนมานาน ซึ่งเมื่อหน่วยงานรัฐเข้ามาขุดบ่อบาดาล ก็จะทำให้ชาวบ้านทั่วๆ ไปได้ประโยชน์ด้วย ไม่เฉพาะแต่เด็กปอเนาะเท่านั้น
ขณะที่ นายมานะ สาและ ผู้ใหญ่บ้านตาแปด กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่แม่ทัพภาคที่ 4 กำชับให้เจ้าหน้าที่เร่งเข้ามาให้ความช่วยเหลือประชาชน และปลื้มใจแทนลูกบ้านที่จะได้มีบ่อบาดาลใช้ โดย พล.ท.พิเชษฐ์ ยังได้ให้กำลังพลนำข้าวสาร อาหารแห้ง รวมทั้งเวชภัณฑ์มามอบให้กับชาวบ้านและเด็กๆ ในปอเนาะด้วย
เร่งฟื้นฟูสามจังหวัดกลับสู่ภาวะปกติ
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยที่ จ.ปัตตานี ระดับน้ำท่วมขังในพื้นที่ประสบภัย 8 อำเภอได้ลดลงจนเกือบปกติตั้งแต่เมื่อเย็นวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ ต.เขาตูม ต.เมาะมาวี ต.กอลำ อ.ยะรัง, ต.ม่วงเตี้ย อ.แม่ลาน, ต.ดาโต๊ะ ต.ยาบี ต.ตุยง ต.ดอนรัก อ.หนองจิก และ ต.ปะกาฮารัง อ.เมือง
ส่วนโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ยังมีอีก 20 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียนในเขต อ.เมือง 6 แห่ง อ.หนองจิก 10 แห่ง อ.แม่ลาน 1 แห่ง อ.ยะรัง 3 แห่ง ส่วน อ.สายบุรี ที่ก่อนหน้านี้ปิดการเรียนการสอนไป 6 แห่งนั้น ได้กลับมาเปิดการเรียนการสอนตามปกติแล้ว
ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ปัตตานี ได้สรุปพื้นที่ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 9 อำเภอ 48 ตำบล 208 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อนเพิ่มเป็น 18,180 ครอบครัว 84,641 คน ต้องอพยพ 80 ครอบครัว 450 คน ถนนเสียหาย 118 สาย สะพาน 6 แห่ง โรงเรียน 4 แห่ง วัดหรือมัสยิด 5 แห่ง สถานที่ราชการ 2 แห่ง และบ้านเรือนประชาชน 190 หลัง
ส่วนพื้นที่การเกษตรเสียหาย 18,092 ไร่ ปศุสัตว์ 21,458 ตัว บ่อปลา 66 บ่อ และกระชังปลา 500 กระชัง มูลค่าความเสียหายเฉพาะ อ.เมือง และ อ.ยะรังอยู่ที่ 23.9 ล้านบาท สำหรับอำเภออื่นๆ อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย
ที่ จ.นราธิวาส ภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลายลงเช่นกัน แม้จะมีฝนตกโปรยปรายในพื้นที่ 13 อำเภอของ จ.นราธิวาส เป็นช่วงๆ แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบทำให้น้ำท่วมขังบ้านเรือนหรือพื้นที่การเกษตรของราษฎรแต่อย่างใด
จากการสำรวจโดยทั่วไปพบว่า พื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมขังเหลืออีกเพียง 3 หมู่บ้านใน 3 อำเภอ คือ ชุมชนหัวสะพาน เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก บ้านแฆแบ๊ะ หมู่ 1 ต.นานาค อ.ตากใบ และบ้านท่าเรือ หมู่ 1 ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ รวมกว่า 200 หลังคาเรือน
สำหรับพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะในเขตชุมชนเมืองทั้ง 13 อำเภอ กลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่เทศบาลระดมกำลังเข้าเก็บกวาดสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอย รวมทั้งขุดลอกท่อระบายน้ำเพื่อป้องกันโรคระบาดที่มากับกระแสน้ำ ประเมินมูลค่าความเสียหายจากอุทกภัยใน จ.นราธิวาส อยู่ที่ประมาณ 125 ล้านบาท