แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
แรงกดดันผ่าน“โผทหาร” ร่องรอย”แบ่งก๊วน-แยกก๊ก”
อาจจะยังไม่จบง่ายๆ สำหรับการจัดทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารประจำปี ที่สั่นสะเทือนตั้งแต่ระดับหัวไปจนถึงหาง นับแต่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ได้นำ พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ ไปพบ นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเหมือนเป็น “ดูตัว” ที่ทำเนียบรัฐบาล ในฐานะที่ทั้งคู่ได้ถูกว่างตำแหน่งว่าที่ปลัดกระทรวงกลาโหม และ ผู้บัญชาการทหารอากาศคนใหม่
แม้จะมีการคาดการณ์ว่า พล.อ.อ.ประจิน จะไม่ได้ขยับขึ้นเป็น ผบ.ทอ. เพราะเป็นทายาทขั้วอำนาจเดียวกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว พล.อ.อ.ประจิน ถือเป็นนายทหารที่มีความสัมพันธ์อันดี กับ พล.อ.อ.สุกำพล ในฐานะที่เป็นรุ่นพี่ และ ผู้บังคับบัญชา ได้ทำงานใกล้ชิดกันมาก่อน ดังนั้นการขึ้นสู่ตำแหน่ง ผบ.ทอ.ในอีกไม่ช้า ด้วยคุณสมบัติที่เหนือกว่าคู่แข่งคนอื่นจึงไม่น่าจะมีการพลิกโผ
แต่สำหรับ “บิ๊กเล็ก” พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ที่จะข้ามห้วยจากกองทัพบก ไปเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ตามใบสั่งการเมือง เพราะคอนเน็กชั่นของเครือญาติที่อยู่ในขั้วพรรคเพื่อไทยแล้ว ยังมีชื่อของ “เจ๊แดง” เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
หากดูโปรไฟล์ และ ความสามารถของ “บิ๊กเล็ก” ก็ไม่ได้ขี้เหร่ที่จะกระโดดข้ามห้วยมาเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม เพียงแต่หลักการ และคุณสมบัติที่มีอยู่ รวมถึงวิธีการที่มาจากฝ่ายการเมือง ทำให้ระดับหัวของเหล่าทัพ ต้องพิจารณากันหลายยก ไม่เช่นนั้นเก้าอี้ปลัดกระทรวงกลาโหม จะกลายเป็นโควตาของรัฐบาลอย่างถาวร
แต่ดูเหมือนว่าต่างฝ่ายต่างไม่หันหน้าเข้ามาพูดคุยกัน โดยเฉพาะ รมว.กลาโหม ที่ยืนยันที่จะเลือก พล.อ.ทนงศักดิ์ โดยยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีผลักดัน ในขณะที่ พล.อ.เสถียร ยังคงผลักดัน พล.อ.ชาตรี และไม่คุยกับ รมว.กลาโหม เพื่อหาข้อยุติใด ๆ
ซึ่งปลัดกระทรวงกลาโหม ได้แจ้งให้เหล่าทัพส่งรายชื่อกลับมาใหม่ในวันที่ 3 กันยายน เดือนหน้า เพื่อเปิดช่องให้กองบัญชาการกองทัพไทย และ กองทัพบก เสนอตัวเลือกอื่นขึ้นมาเป็นทางเลือกที่สาม
ทำให้ชื่อของ พล.อ.อ.บุญยฤทธิ์ เกิดสุข รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร เสนาธิการทหาร พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก กลับมาได้ลุ้นอีกครั้ง เพราะความขัดแย้งในการเลือกคนมาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมคนใหม่ยังไม่จบลงง่ายๆ
ยังไม่นับ “คลื่นใต้น้ำ” ในส่วนของกองทัพบก โดยเฉพาะในการจัดทัพของกองทัพภาคที่ 1 ที่ปีนี้ดุเดือดเลือดพล่านกว่าทุกปี ถึงขนาดมีศึกใบปลิวโจมตี ทั้ง พล.ต.ไพบูลย์ คุ้มฉายา และ พล.ต.วลิต โรจนภักดี รองแม่ทัพภาคที่ 1 เพื่อนเตรียมทหารรุ่น 15 คู่ชิงเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 1 ทั้งเรื่องงาน และ เรื่องส่วนตัว
อีกทั้ง สองคนยังเหมือนกับตัวแทนของทหาร สายวงศ์เทวัญ และ บูรพาพยัคฆ์ ที่กำลังเติบโตไล่ตามกันมาและกลายเป็นคู่ชิงกันในหลายตำแหน่ง เพียงแต่ยุคหนึ่ง “บูรพาพยัคฆ์” ได้เปรียบกว่า เพราะผบ.ทบ.เป็นสาย “บูรพาพยัคฆ์” แต่เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว ก็ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบไปกว่าใคร
ที่สำคัญ ผบ.ทบ.ต้องการลดแรงกดดันจากกองทัพ และ ต้องการกระจายความชอบธรรมไปให้ทหารกลุ่มอื่นด้วย ทำให้ชื่อแม่ทัพภาคที่ 1 คนใหม่กลายเป็น “บิ๊กต็อก” พล.ต.ไพบูลย์ เพราะอาวุโสสูงสุด และ ได้รับแรงสนับสนุนจากการเมือง ในขณะที่ พล.ต.วลิต ขยับขึ้นเป็นพลโท ในตำแหน่งแม่ทัพน้อยที่ 1 โดยปีหน้ามีสัญญาใจว่าจะได้สไลด์กลับมาเป็นแม่ทัพใหญ่ 1 ปี
ซึ่งทำให้เก้าอี้ของรองแม่ทัพว่างลง ที่คาดว่าจะมีชื่อของ "บิ๊กอิ๊ด" พล.อ.ภาณุวัชร นาควงษม์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 ทหารเสือราชินีอีกคน ขยับเข้ามาในไลน์กองทัพภาคที่ 1 เพื่อชิงเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 1 ในอีก 2 ปีข้างหน้า กับ “บิ๊กโชย” พล.ต.กัมปนาท รุดดิษฐ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 อดีตทหารหมวกแดงอาร์ดีเอฟ ลูกหม้อกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์
กระนั้น ยังมีข่าวว่าการแต่งตั้งโยกย้ายทหารครั้งนี้ นับว่ามีการวิ่งเต้นกันมาก โดยลงไปถึงโผระดับล่างที่จะออกหลังโผนายพล ขนาดมีการนัดพบ “ดูตัว” กันที่บ้านรัฐมนตรีกระทรวงใหญ่ฯ ที่ไม่ได้ดูเรื่องทหาร เพื่อหวังพึ่งอำนาจการเมืองสนับสนุน เพราะคาดการณ์กันว่ารัฐบาลของ “พรรคเพื่อไทย” น่าจะอยู่ในอำนาจไปอีกนาน
แม้บัญชีรายชื่อโยกย้ายปีนี้จะดูนิ่ง ๆ ซึม ๆ ไม่มีข่าวหวือหวาเหมือนทุกปี แต่ในช่วงที่รัฐบาลเพื่อไทย ก็ได้ผ่านการจัดโผมาแล้ว 2 ครั้ง จาก 2 รมว.กลาโหม คือ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา และ พล.อ.อ.สุกำพล จนมีธรรมเนียมปฏิบัติว่า ตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม จะถูกเลือกจากฝ่ายการเมือง ไม่ว่าจะจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเอง หรือรับออร์เดอร์จากนายกรัฐมนตรี
แต่ก็เป็นเรื่องปกติที่เมื่อการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวเมื่อไหร่ความวุ่นวายก็มักเกิดขึ้นเมื่อนั้น เพราะนอกจะมีการวิ่งเต้นกันแล้ว ยังมีกลิ่นไม่ดีเรื่องเงินๆ ทองๆ ในการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ หรือ ซื้อขายเก้าอี้ตามมา
แม้จะมีความพยายามดึงเก้าอี้ตัวนี้กลับไปอยู่ในการพิจารณาของเหล่าทัพ หรือ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการโยกย้ายนายทหารระดับนายพล ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหมก็ตาม แต่ก็คงทำได้ยาก เนื่องจากกองทัพเองก็ถูกตีกรอบให้อยู่ในแถวในแนว โดยมีคดีเสื้อแดงค้ำคอ รอเวลาเช็คบิลอยู่ได้ทุกเวลา
ในฟากการบริหารจัดการในกองทัพ จึงต้องรักษาสมดุลให้ดี เพราะเมื่อใดที่เริ่มมีทหารไปวิ่งเต้นกับนักการเมืองได้ ก็เหมือนเป็นการเปิดประตูรับอำนาจภายนอกที่เหนือกว่า และ เป็นการปูทางให้เข้ามาจัดทัพการโยกย้ายมากขึ้นในอนาคต
โดยเฉพาะในกองทัพบก ที่พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งถูกจับตามองเกี่ยวกับการผลักดันเพื่อนตัวเองให้ได้ดี และ ใน 5 เสือทบ. ก็ยังไม่มีการกระจายรุ่นเท่าที่ควรจนกลายเป็นข้อครหาว่ากองทัพบกในยุคนี้ จะมีแต่ บูรพาพยัคฆ์ เตรียมทหารรุ่น 12 วงศ์เทวัญในสายของ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ผ่านการผลักดันของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผบ.ทบ. ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ มาก่อน
จนเกิดกระแสก่อตัวเล็กๆ ของนายทหารที่เคยผ่านหน่วยมหาดเล็กรักษาพระองค์ จากกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ต้นตำรับ “วงศ์เทวัญ” ของแท้ กลับไม่ต้องการไปรวมพวกกับ “วงศ์เทวัญ” กับ ร.11 รอ. ที่ตอนนี้ต่างได้ดี ขยับขึ้นเป็นใหญ่เป็นโตในกองทัพบก ไม่ต่างจากกลุ่มทหารเสือราชินี ที่ถูกฝากเลี้ยง ไว้ในแต่ละกองพล ก่อนขยับเข้ามาในกองทัพบก รอวันเข้าไลน์ 5 เสือ ทบ. ก่อนเติบโตขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกในอนาคต จนกลายเป็นสูตรสำเร็จในการวางทายาทรับไม้ต่อเมื่อคนเก่าเกษียณ
ในขณะที่การเมืองเอง ก็เฝ้ามองกองทัพอยู่ห่าง ๆ โดยไม่กล้าเข้าไปแตะโผในระดับล่างมากนัก รอเพียงเวลาให้ร่องรอยปริร้าวแจ่มชัดขึ้น
จะเหลือแค่เหล่าบรรดา “บิ๊กไฟว์” ทั้งหลายที่ต้องมานั่งจับเข่าคุยกัน และ กางบัญชีทำเนียบกำลังพล ดูว่าใครตกสำรวจ ไม่ได้รับการโปรโมทแต่งตั้ง พร้อมจัดสูตรคณิตศาสตร์ให้สมดุล เพื่อรักษากองทัพไว้ใช้ในยามวิกฤติต่อไป