แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
ศึกชิง "นักศึกษา"ม.รัฐ-เอกชน นับวันยิ่งเดือด!
กลายเป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนานสำหรับ "สถาบันอุดมศึกษาเอกชน" ในประเทศไทย ที่ผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนมักออกมาบ่นน้อยอกน้อยใจว่าไม่ได้รับการเหลียวแลจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และรัฐบาลเท่าที่ควร ทั้ง ๆ การจัดตั้งสถานศึกษาเอกชนในประเทศไทย เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามาแบ่งเบาภาระในการจัดการศึกษาของภาครัฐ
แต่เมื่อภาคเอกชนตอบสนองนโยบายของรัฐบาล และจัดตั้งสถานศึกษาเอกชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาล และผู้ที่เกี่ยวข้อง กลับไม่ได้ส่งเสริม หรือสนับสนุนให้สถานศึกษาเอกชนเหล่านี้เติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นนโยบายต่างๆ ที่จะส่งเสริมให้สถานศึกษาเอกชนเลี้ยงดูตัวเองได้อย่างดี มีคุณภาพมาตรฐาน รวมถึง การยกเว้นภาษีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนเรียกร้องกันมานมนาน
และปัญหาที่บรรดาผู้บริหารสถานศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาเอกชนหลายแห่งออกมาบ่นเสียงดัง ๆ โดยหวังจะให้รัฐบาล และ ศธ.ได้ยินในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ก็คือการ "แย่งชิง" นักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
ปัญหาการแย่งนักศึกษาระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และเอกชน เกิดขึ้นทุกปี และดูเหมือนจะค่อยๆ ดุเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างการรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2555 ที่ผ่านมา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) "นายชวลิต หมื่นนุช" ในฐานะเลขาธิการสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) ออกมายอมรับว่าในปีนี้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนรับนักศึกษาได้น้อยกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา เนื่องจากมหาวิทยาลัยรัฐเพิ่มช่องทางในการเข้าเรียนต่อมากขึ้่น ไม่ว่าจะเป็นระบบโควตา ระบบรับตรง ระบบรับตรงผ่านเคลียร์ริ่งเฮาส์ และระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์ โดยเฉพาะระบบรับตรงผ่านเคลียร์ริ่งเฮาส์ ทำให้เกิดปัญหาได้มากพอสมควร เพราะเมื่อมหาวิทยาลัยรัฐรับตรงเสร็จแล้ว จะรู้ตัวเลขนักศึกษาที่แน่นอนก่อนเปิดรับสมัครแอดมิสชั่นส์กลาง แต่ขณะนี้มีการเพิ่มที่นั่งในมหาวิทยาลัยรัฐผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรภาคพิเศษ หรือศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง
ปัญหาเหล่านี้ ทำให้เลขาธิการ สสอท.มองว่ามหาวิทยาลัยเอกชนได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาเอกชนขนาดเล็ก เพราะคนส่วนใหญ่ยังมีค่านิยมเลือกเรียนมหาวิทยาลัยรัฐ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยรัฐที่เก่าแก่ และมีชื่อเสียง ขณะเดียวกันก็มีมหาวิทยาลัยเอกชนใหม่ๆ เกิดมากขึ้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับจำนวนนักศึกษาที่จะเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาที่ยังมีเท่าเดิม และแนวโน้มจะลดลง เพราะรัฐบาลส่งเสริมให้หันไปเรียนด้านอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น ฉะนั้น ถ้าไม่มีนักศึกษาเข้าเรียน ก็อาจทำให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนขนาดเล็กบางแห่งต้อง "ปิด" ตัวลง!!
พร้อมกันนี้ เลขาธิการ สสอท.ยังได้เรียกร้องให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ยกเลิกระบบรับตรงผ่านเคลียร์ริ่งเฮาส์ หรือเปิดศูนย์นอกสถานที่ตั้งให้น้อยลง เพื่อกระจายเด็กมาเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนบ้าง!!
สอดรับกับการที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ "นางมัทนา สานติวัตร" ก็ยอมรับว่าจำนวนนักศึกษาในปีนี้ลดลงเช่นกัน แต่สถาบันอุดมศึกษาขนาดเล็กจะลำบากกว่า เพราะต้องยืนด้วยขาตัวเอง ด้วยเงินค่าเทอมของนักศึกษา ฉะนั้น ถ้ายังเป็นเช่นนี้ต่อไป อาจทำให้มหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งเกิดสภาวะล้มหายตายจาก หรือต้องขายกิจการ หรือมีสถาบันต่างชาติเข้ามาแทนที่ ดังนั้น มหาวิทยาลัยเอกชนคงต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องมีการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ เพื่อเอาตัวรอดให้ได้
หลังโดนข้อกล่าวหาจากทางสถาบันอุดมศึกษาเอกชน "นายสมคิด เลิศไพฑูรย์" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธาน ทปอ.ออกมาตอบโต้ โดยระบุว่าไม่เฉพาะสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีจำนวนนักศึกษาลดลง แต่มหาวิทยาลัยรัฐเองก็รับนักศึกษาได้ไม่ตามเป้าเช่นกัน เพราะพบว่ามีผู้สละสิทธิ์มากขึ้นในมหาวิทยาลัยรัฐ รวมถึง มธ.ด้วย ทำให้มีมหาวิทยาลัยบางแห่งตามกวาดนักศึกษา โดยเปิดรับตรงอีกรอบหลังจากแอดมิสชั่นส์กลางเสร็จสิ้นลง
ฉะนั้น ประเด็นที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเอกชนเรียกร้องให้ ทปอ.ยกเลิกระบบรับตรงผ่านเคลียร์ริ่งเฮาส์นั้น ประธาน ทปอ.เห็นว่าระบบรับตรงผ่านเคลียร์ริ่งเฮาส์ไม่ใช่ปัญหา และการยกเลิกก็ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหา ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง ไม่ว่ารัฐ หรือเอกชนอยู่รอดได้ ก็ต้องแข่งขันกันด้วย "คุณภาพ" โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาเอกชนขนาดเล็กคงต้องปรับตัวขนาดใหญ่ โดยเปิดสอนเฉพาะสาขาวิชาที่ถนัด ไม่ใช่เปิดทุกสาขาวิชาเหมือนที่เป็นกันอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ทำให้ปัญหาเหล่านี้ทำท่าจะลุกลามบานปลาย และกลายเป็นปัญหาเรื้อรังหากไม่รีบแก้ไขนั้น เนื่องมาจากในอดีต "มหาวิทยาลัยรัฐ" มีเพียงไม่กี่แห่ง ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะจำนวนนักเรียนที่จบชั้น ม.6 ในแต่ละปีมีจำนวนมากกว่า "ที่นั่ง" ในมหาวิทยาลัยรัฐ และการที่รัฐบาลจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยรัฐเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการเหล่านั้น ก็จำเป็นต้องใช้ "งบประมาณ" มหาศาล ฉะนั้น แทนที่รัฐบาลจะต้องจัดสรรเม็ดเงินจำนวนมากมายเพื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพิ่ม จึงมีนโยบายให้ภาคเอกชนมาลงทุนจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เพื่อรองรับความต้องการของผู้ที่อยากจะเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา
แต่เมื่อภาคเอกชนขยับขยายเข้ามาลงทุนจัดตั้้งสถาบันอุดมศึกษามากขึ้น ในส่วนของมหาวิทยาลัยของรัฐก็กลับเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยรัฐที่จัดตั้งขึ้นใหม่ มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล หรือสถาบันอุดมศึกษาอีกมากมาที่ถูกยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏ 40 แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ยังไม่นับรวม "วิทยาเขต" ของมหาวิทยาลัยรัฐหลาย ๆ แห่ง ที่ถูกยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยอย่างเต็มตัว
ทำให้จากเดิมที่ที่นั่งในมหาวิทยาลัยมีน้อย และไม่เพียงพอต่อความต้องการ กลับกลายเป็นจำนวนที่นั่งมีมากเกินความต้องการของผู้ที่จบชั้น ม.6 จนทำให้สถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐ และเอกชน เปิดศึก "แย่งชิง" นักศึกษากันอย่างดุเดือด...
ปัจจุบัน สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง ไม่ว่าจะรัฐ หรือเอกชน ต่างฝ่ายต่างงัดสารพัดกลยุทธ์ออกมา เพื่อ "ดึง" นักศึกษาให้เข้ามาอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาของตนเองให้ได้มากที่สุด!!
อย่างสถาบันอุดมศึกษาเอกชนหลายๆ แห่ง จากเดิมที่เคยนั่งรอ..นอนรอ ให้เด็กๆ ที่พลาดหวังจากมหาวิทยาลัยของรัฐ เดินเข้ามาหาเอง ก็ต้องวิ่งออกไปหานักศึกษาถึงโรงเรียน โดยตั้งทีมแนะแนวออกไปแนะนำสถาบันของตนเอง และบางแห่งถึงขั้นไปเคาะประตูบ้าน เพื่อเชิญชวนให้พ่อแม่ และผู้ปกครองส่งลูกหลานเข้ามาเรียน โดยใช้ "กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา" ที่รัฐบาลจัดสรรให้กับสถาบันอุดมศึกษา เป็นกลยุทธ์สำคัญในการดึงดูดนักศึกษา
ขณะที่มหาวิทยาลัยรัฐเองก็ใช่ว่าจะยอมอยู่เฉย เพราะได้ตั้งทีมออกมาแนะแนวตามโรงเรียนเช่นกัน นอกจากนี้ ยังเปิดรับนิสิตนักศึกษาในช่องทางต่างๆ มากมาย ทั้งในระบบโควตา ระบบรับตรง ระบบรับตรงผ่านเคลียร์ริ่งเฮาส์ และระบบแอดมิสชั่นส์ รวมถึง ยังเปิดหลักสูตรพิเศษ และหลักสูตรนานาชาติที่ผุดขึ้นอีกมากมายเพื่อดึงนักศึกษาเข้าเรียน
ทำให้แวดวงอุดมศึกษาของไทยในเวลานี้ กลายเป็นสมรภูมิรบระหว่างสถาบันอุดมศึกษารัฐ และเอกชน และระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของรัฐด้วยกัน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนด้วยกัน
ซึ่งแน่นอนว่าสถาบันที่จะอยู่รอดได้ในอนาคต จะต้องเป็นผู้ที่สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ และได้รับการยอมรับจากสังคม ส่วนสถาบันอุดมศึกษาที่ไร้คุณภาพ และไม่เป็นที่ยอมรับ ก็จะค่อยๆ ทยอยปิดตัวเองลง..
ยิ่งขณะนี้เหลือเวลาเพียง 2 ปีกว่า ๆ เท่านั้น ที่ประเทศไทยจะมีเวลาเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ "ประชาคมอาเซียน" ในปี 2558 เมื่อถึงเวลานั้น การแข่งขันในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมถึง การศึกษา จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น และไม่ใช่การแข่งขันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาภายในประเทศด้วยกันแล้ว แต่จะเป็นการแข่งขันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของประเทศในกลุ่มอาเซียน
เพราะฉะนั้น หากสถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐ และเอกชน ยังมัวแต่แย่งชิงนักศึกษา ไม่รีบปรับตัว เร่งสร้างคุณภาพมาตรฐานด้านการเรียนการสอน และการผลิตบัณฑิต ให้เป็นที่ยอมรับทั้งใน และต่างประเทศแล้ว
ก็อย่าหวังว่าจะได้นักศึกษาเข้าเรียนตามเป้าเลย...
ท้ายที่สุด สถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐ และเอกชน ที่ "ไร้" คุณภาพเหล่านั้น ก็จะค่อยๆ ล้มหายตายจากไป!!