ดึงชุมชนร่วมแก้งานวิจัยขึ้นหิ้ง โชว์ตัวอย่างกองทุนหมู่บ้าน-สมานฉันท์ผู้นำชุมชน
เวทีวช. ชี้งานวิจัยไทยขึ้นหิ้ง เหตุขาดทุนหนุน-ซ้ำซ้อน แนะดึงชาวบ้านร่วมต่อยอดพัฒนาท้องถิ่น โชว์เคทกองทุนหมู่บ้าน-สมานฉันท์ผู้นำชุมชน
วันที่ 24 -28 ส.ค. 55 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดงาน “การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2555” ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ โดยนางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ปฏิรูประบบวิจัย เพื่อพัฒนาประเทศยั่งยืน
นางนลินี กล่าวว่า งานวิจัยเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยมีประโยชน์ทั้งเชิงวิชาการ สังคม และเศรษฐกิจ ที่สร้างคุณค่าทางอุดมปัญญาและนวัตกรรม รวมทั้งช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้น รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมการวิจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านสังคม คุณภาพชีวิต การมุ่งพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก การพัฒนาระบบเครือข่ายการวิจัยแห่งชาติ รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างการบริหารการวิจัยแห่งชาติ
ประการสำคัญ คือ นโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนการส่งเสริมการวิจัยร่วมกับประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยนวัตกรรม เป็นอีกหนึ่งบทบาทที่ส่งเสริมการพัฒนาสังคมบนพื้นฐานความรู้ สร้างนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันอุดมศึกษาให้เกิดการวิจัยพัฒนาครอบคลุมทุกภาคส่วน
“เราตระหนักดีว่างานวิจัยเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนประเทศ เพราะการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ต้องอาศัยองค์ความรู้ เพื่อดำเนินงานได้ถูกต้องและยั่งยืน ประกอบกับโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ภัยธรรมชาติ ประชากร อาหาร และพลังงาน ซึ่งต้องอาศัยทุนทางปัญญาเพื่อแก้ปัญหา”
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า สำหรับระบบการวิจัยของประเทศ พบว่าประสบปัญหาหลายด้าน เนื่องจากการทำงานของไทยมีความซ้ำซ้อน ขาดทิศทางและการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งขาดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งในระดับนโยบาย การสนับสนุนทุนการวิจัย การดำเนินงานวิจัย
“ในอดีตพบว่าผู้ใช้ประโยชน์เข้าไม่ถึงงานวิจัย และนักวิจัยไม่สามารถนำผลการวิจัยไปดำเนินการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนา นั่นหมายถึงการขาดการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานวิจัย กับผู้ใช้งานวิจัย ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมได้ จนหลายคนเรียกว่า งานวิจัยขึ้นหิ้ง”
ดังนั้นแนวทางปฏิรูปการวิจัยของประเทศที่ควรคำนึงถึงเริ่มตั้งแต่ระดับนโยบาย โดยต้องกำหนดนโยบายและเป้าหมายที่ชัดเจน ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว โดยจัดลำดับความสำคัญของประเด็นที่มีผลกระทบในวงกว้าง ส่วนด้านการบริหารจัดการทุนวิจัย ควรสร้างเอกภาพจัดสรรทุนวิจัยของประเทศ โดยเฉพาะการลดความซ้ำซ้อน เพื่อประหยัดงบประมาณแผ่นดิน และสร้างงานวิจัยที่ต่อยอดจากงานเดิมให้เกิดความรู้ในระดับสูงขึ้น ขณะเดียวกันหน่วยงานต่าง ๆ ควรบริหารจัดการทุน และสร้างกลไกสนับสนุนในการนำความรู้ทางการวิจัยไปใช้ประโยชน์ให้มาก โดยส่งเสริมกระบวนการวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้ เพื่อใช้ประโยชน์และนำผลที่จะถ่ายทอดสู่กลุ่มเป้าหมายจริงจัง หากประโยชน์ที่ได้นั้นเป็นเชิงสังคม จะต้องให้ชุมชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมผลักดันความรู้ในการวิจัยลงไปสู่ชุมชนด้วย
นางนลินี กล่าวอีกว่า ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจควรผลักดันการวิจัยในเชิงพาณิชย์ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดนักวิจัยในสายพัฒนาชุมชนให้มากขึ้น และสร้างแหล่งเรียนรู้ เพื่อให้นักวิจัยใช้ประโยชน์ด้วยการจัดทำฐานข้อมูลด้านวิจัยที่เข้าถึงได้ง่าย และพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยอย่างน้อย 1 เท่าของจำนวนปัจจุบัน ที่สำคัญต้องมีการติดตามและประเมินผลงานวิจัย รัฐบาลและทุกฝ่ายจะได้ใช้ตัดสินใจประกอบการพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ภายในงานยังมีการนำเสนองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับชุมชนมากมาย หนึ่งในนั้น คือ งานวิจัย เรื่องรูปแบบการสื่อสารเพื่อส่งเสริมความสมานฉันท์ของผู้นำชุมชนในเขตจ.นนทบุรี ของผศ.ปราณี สุรสิทธิ์ มรภ.พระนคร มีเนื้อหาว่า ผู้นำชุมชนมีการเปิดรับข่าวสารจากสื่อมวลชนและใช้สื่อเฉพาะกิจในชุมชน ผู้นำมักใช้สื่อทางราชการมาชี้แจง ซึ่งมีความซับซ้อน ยากที่จะเข้าใจ ดังนั้นเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ชุมชน ผู้ส่งสารและผู้รับสารจึงต้องเข้าใจบทบาทของตนและวิเคราะห์ก่อนสื่อสารออกไป
ด้านงานวิจัย เรื่องการพัฒนาระบบกองทุนหมู่บ้าน ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ของอาจารย์ปัญจรัตน์ หาญพานิช และรศ.ผ่องพรรณ รัตนธนา วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก มีเนื้อหาว่า จากเดิมกองุทนมีการเก็บข้อมูลสมาชิก การเงิน โดยใช้มือทำ ซึ่งสร้างกระบวนการยุ่งยาก ซับซ้อน และเกิดความผิดพลาดและสูญหายด้านเอกสารได้ง่าย งานวิจัยจึงช่วยพัฒนาระบบด้านการบริหารจัดการและเก็บข้อมูลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถช่วยลดขั้นตอนและเวลาได้.