สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา : ฝนตกน้อย ส่งผลน้ำเจ้าพระยายังต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(23 ส.ค. 55) มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 475 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (รับน้ำได้สูงสุด 3,590 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 6.58 เมตร ส่วนที่เขื่อนเจ้าพระยา ระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ 16.50 เมตร(รทก.) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 188 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (รับน้ำได้สูงสุด 2,840 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาต่ำกว่าตลิ่ง 9.04 เมตร ในขณะที่มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเกณฑ์เฉลี่ยประมาณ 386 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (รับน้ำได้สูงสุด 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจุดนี้ยังเป็นจุดวัดปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะไหลผ่านเข้าสู่กรุงเทพฯและปริมณฑลด้วย) แนวโน้มสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำยังคงอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา(23 ส.ค.) มีดังนี้
เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 6,402 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 4,983 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 4,500 ล้านลูกบาศก์เมตร
เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง มีปริมาณน้ำ 41 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 60 ล้านลูกบาศก์เมตร
เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 246 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 26 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 600 ล้านลูกบาศก์เมตร
และ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 127 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 600 ล้านลูกบาศก์เมตร
แนวโน้มสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ เพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในเกณฑ์น้อย เนื่องจากฝนตกทางตอนบนของภาคเหนือค่อนข้างน้อย ทำให้กรมชลประทาน ต้องปรับแผนการจัดการน้ำใหม่ ให้สอดคล้องกับสภาวะฝนที่ตกลงมา เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ในอ่างฯให้ได้มากที่สุด สำหรับใช้เป็นน้ำต้นทุนในช่วงฤดูแล้งหน้าที่จะมาถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ จึงขอให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย เพื่อลดความรุนแรงจากปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต