๑๐ ปี การขับเคลื่อนกองทุนสื่อสร้างสรรค์ ภาคประชาชน
• เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๔๖ กว่า ๗๖ องค์กรได้ร่วมกันเริ่มต้นผลักดันร่างกฏหมายกองทุนสื่อเด็ก โดยมีทั้งงานวิจัยการจัดตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ การรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 20 ครั้งทั่วประเทศ
• ร่างพระราชบัญญัติ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. ....ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๓ และผ่านการพิจารณาของกฤษฏีกาแล้ว แต่มีการยุบสภาก่อน และต่อมาในสมัยรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้นำร่างกลับมาผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อ๒ เมษายน ๒๕๕๕ และกำลังจะเข้าสู่สภา
• เครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนหลายเครือข่าย ที่ร่วมขับเคลื่อนมาตั้งแต่ต้น เห็นว่าร่างกฏหมายที่กำลังจะเข้าสภานี้จะมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น หากให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอกฏหมาย และเพื่อให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ที่รัฐธรรมนูญได้ระบุว่าประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฏหมายได้
ดังนั้นเครือข่ายภาคประชาชน จึงได้รวบรวมรายชื่อ มากกว่า 1 หมื่นรายชื่อ เพื่อเสนอ
ร่างพระราชบัญญัติ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. .... ฉบับเครือข่ายประชาชน
๑ . แนวคิด - ภารกิจของกองทุนฯ
• กองทุนนี้ต้องมีเป้าหมายเน้นไปที่ เด็ก –เยาวชนและครอบครัว เพราะเป็นโจทย์ใหญ่ร่วมกันของสังคม ที่พบว่าเด็กเยาวชนใช้เวลาอยู่กับสื่อมากกว่าอยู่ในห้องเรียน แต่สื่อสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาเด็กเยาวชนและครอบครัวมีน้อยมาก เด็กเยาวชนขาดทักษะการเท่าทันสื่อ และขาดพื้นที่สร้างสรรค์ ทำให้เกิดปัญหาสังคมมากมายตามมา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้กระบวนการสื่อสร้างสรรค์เพื่อสร้างการเรียนรู้ของเด็กเยาวชนและครอบครัว และคนในชุมชน ให้ได้เรียนรู้สิ่งดีๆ เปลี่ยนแปลงตนเอง พัฒนาชุมชน สังคมให้ดีขึ้น
• กองทุนต้อง ให้ นิยาม "สื่อ" ในมุมที่กว้าง รวมไปถึงสื่อโดยเด็กเยาวชน ครอบครัว และชุมชน ไม่ใช่สื่อโดยผู้ประกอบวิชาชีพสื่อเท่านั้น
• กองทุน ไม่ใช่เรื่องของ"เงิน" เพื่อการผลิตสื่อ แต่เป็นการสร้างและบูรณาการให้ทุนทางสังคมทุกด้านทั้งด้านความคิด จินตนาการ ทรัพยากรอื่นๆ มาร่วมสนับสนุนการใช้สื่อเพื่อสร้างการเรียนรู้อย่างยั่งยืนแก่เด็กเยาวชนและครอบครัว
• กองทุนต้องให้ความสำคัญกับการ สร้างนวัตกรรม บูรณาการกับภาคส่วนต่างๆ และระดมสรรพกำลังและทุนทางสังคมให้มามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบสื่อสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน ไม่ควรเน้นภารกิจในการตรวจสอบและปราบปรามสื่อร้ายเพราะมีกลไกอื่นกำกับดูแลอยู่แล้ว
๒.โครงสร้าง กองทุนฯต้องเน้นการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่างๆ
• เพื่อให้เกิดการการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ กองทุนต้องมีโครงสร้างและรูปแบบการบริหารจัดการแบบก้าวหน้า มีความคล่องตัว มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมในสัดส่วนที่เหมาะสม มีโครงสร้างที่สะท้อนความมีธรรมาภิบาล และมีกลไกที่ให้ภาคประชาชนในท้องถิ่นเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
• โครงสร้างกรรมการ อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง มาจากตัวแทนภาคประชาชน ที่ทำงานด้านสื่อ ด้านเด็กเยาวชน ด้านการเรียนรู้การศึกษาฯ โดยการสรรหา
• มีกลไกการมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประชาชนสามารถเสนอแนะต่อทิศทางการบริหารจัดการและการดำเนินงานของกองทุนได้ โดยผ่านกลไก "สภาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์" และ "สมัชชาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์"
๓. ความเท่าเทียมในการเข้าถึงกองทุน
• ให้ประชาชนทุกกลุ่ม ที่มีเป้าหมายใช้สื่อเพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนครอบครัว ชุมชน ทั้งในระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง รวมถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เช่น กลุ่มคนพิการ, กลุ่มแรงงาน, กลุ่มชาติพันธุ์, กลุ่มคนชายขอบ ฯลฯ มีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากกองทุนนี้อย่างเท่าเทียม ไม่เฉพาะวิชาชีพสื่อมวลชนหรือภาคธุรกิจเท่านั้น
• กองทุนต้องทำให้เกิดการกระจายทรัพยากร และ การเข้าถึงของภาคส่วนต่างๆ ทำให้เกิดระบบการสนับสนุนที่ต่อเนื่อง และครอบคลุมถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายอย่างเท่าเทียม
------------------------------------