จุดเปลี่ยนการค้าโลก : ไทยจะก้าวเดินอย่างไร ?
ในภาวะปกติการค้าโลกจะขยายตัวปีละ 6-7% ทุกปี แต่ขณะนี้เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า โลกกำลังกลับเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา!!
หากไล่ดูตัวเลขเศรษฐกิจโลกปี 2554 จะเห็นว่า โตแค่ 2.5% ปีนี้อาจไม่ถึง 2.5% ด้วยซ้ำ ขณะที่ปีหน้า ก็น่าห่วงมากว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตขนาดนี้หรือไม่ เพราะเศรษฐกิจยุโรปคงติดลบแน่นอน ขณะที่สหรัฐฯ เศรษฐกิจยังมีอัตราการขยายตัวที่ค่อนข้างต่ำ
....ทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อระบบการค้าโลก อย่างแน่นอน
จุดเปลี่ยนการค้าโลก : ไทยจะเดินอย่างไร "ดร.ซุป" ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด เจาะลึกให้เห็นว่า สิ่งที่น่าจับตาต่อจากนี้ ไม่ว่าโลกจะเป็นอย่างไรก็ตาม ระบบการค้าโลก ระบบการค้าพหุภาคี จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยดึงเศรษฐกิจโลกให้พ้นภัย
มีกรณีศึกษาเกิดขึ้นแล้ว เมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่ไทยสามารถพ้นภัยมาได้ด้วยการส่งออกข้าว หรือเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ช่วงที่เศรษฐกิจโลกซบเซามากๆ การค้าโลกก็ฟื้นตัวก่อนใครเพื่อน
"การค้าโลกเมื่อ 2 ปีที่แล้วขยายตัว 13-14% ปี 2554 ตกมาอยู่ที่ 5% ขณะที่ปี 2555 อาจไม่ถึง 5% ซึ่งเท่ากับว่า การค้าโลกขยายตัวกระโดดเร็วมากกว่า การผลิตของสินค้าโลกมากกว่าการลงทุนของโลกเสียอีก"
ฉะนั้นระบบการค้าโลกพหุภาคีต้องไปรอดให้ได้ เลขาธิการอังค์ถัด กล่าวย้ำ พร้อมแสดงความเป็นห่วงการค้าพหุภาคี ที่ทำท่าจะมีปัญหาค่อนข้างมาก เพราะความเชื่อถือ ความเชื่อมั่นในระบบนี้กำลังสูญเสียไป
"คนส่วนใหญ่อยากได้ระบบการเจรจาพหุภาคี แล้วตกลงร่วมกัน แต่การเจรจาจบไม่ได้ ทำให้ประเทศต่างๆ หันไปใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีมากขึ้น รวมทั้งจะหันมาเจรจากันเองมากขึ้น เพื่อผลักดันเรื่องที่ตนเองต้องการนอกกรอบพหุภาคี"
3% ของการค้าโลก ถูกกีดกันทางการค้า
ข้อเท็จจริงนี้ มีรายงานขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ซึ่งติดตามการกีดกันการค้าการลงทุนมีมากแค่ไหน ในทุกๆ ครึ่งปี พบว่า การกีดกันทางการค้า การลงทุน คิดเป็นสัดส่วน 3% ของการค้าโลก แม้ตัวเลขนี้ดูไม่มาก แต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งมาตรการควบคุมการนำเข้า (Import License) มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) มาตรฐานการค้า ฯลฯ จนทำให้เกิดอุปสรรคทางการค้าโดยทั่วไป
ท่ามกลางความต้องการของโลก ที่ต้องการให้เคลื่อนไหวไปข้างหน้า รวมทั้งยังมีเรื่องกฎระเบียบใหม่ วิธีการค้าแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ นั้น
คำถามเราจะทำอย่างไรให้มีพิธีกรรมให้การเจรจาจบให้ได้ และก้าวไปข้างหน้า ?
ดร.ศุภชัย เชื่อว่า เรื่องของการเจรจาการค้าที่ต้องจบพร้อมกันหมด (Single Undertaking) ไปไม่รอดแน่นอน
ฉะนั้น Single Undertaking ต้องเปลี่ยนมาเป็นให้มีรูปแบบหลายๆ รูปแบบ คือ ไม่จำเป็นต้องเป็นการเจรจาการค้าที่ต้องจบพร้อมกันหมด ขณะที่สมาชิก WTO กว่าร้อยประเทศ อีกทั้งวิธีการเจรจาของสินค้าประเภทต่างๆ รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ก็วุ่นวายมาก ดังนั้น Single Undertaking เป็นอะไรที่ไม่สามารถปฏิบัติได้
ในอนาคต สิ่งที่ประเทศไทยต้องเตรียมตัวไว้ ก็เรื่องนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) กับเรื่องของการค้า,สิ่งแวดล้อมกับการค้าโลก และเรื่องความตกลงสิทธิพิเศษทางการค้า (Preferential Trade Agreement : PTA) รูปแบบใหม่ ซึ่งประเทศสำคัญๆ ต้องการดึงเรื่องที่เขาไม่ได้จากรอบการเจรจารอบโดฮา (DDA issues) ออกมาเจรจาข้างนอก
วิธีนี้ หากไทยไม่ตามไปเจรจาด้วยก็จะเสียเปรียบ
"เรามีความต้องการกระบวนการพหุภาคีในการแก้ไขปัญหา Global public goods ขณะเดียวกันเราก็ต้องใช้กฎระเบียบของเรามากขึ้นในประเทศ ยกตัวอย่าง เปิดเสรีการเงิน เราจะควบคุมอย่างไรไม่ก่อให้เกิดปัญหาควบคุมมากเกินไป ควบคุมมากไปก็ไม่ดี หรือไม่ควบคุมเลยก็ใช้ไม่ได้" ในฐานะที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการเจรจาพหุภาคี ดร.ซุป ยอมรับ มันขัดกับความรู้สึกที่ต้องการให้มีระบบการเจรจาพหุภาคีแข็งแกร่ง แต่เมื่อแนวโน้มแห่ไปทางนี้ ก็ช่วยไม่ได้ ที่เราต้องทำด้วย
แนะพึ่งพากฎระเบียบที่มีอยู่ให้มากที่สุด
ขณะที่เราต้องการมีเวทีโลกที่ช่วยกันเจรจา อีกทางหนึ่งเราต้องดูแลตัวของเราเองด้วยนั้น ดร.ศุภชัย เห็นว่า เราจำเป็นต้องพึ่งพากฎระเบียบที่มีอยู่ให้มากที่สุด เท่าที่ทำได้ โดยในระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการใช้พระราชบัญญัติที่สำคัญๆ อาทิ
- พ.ร.บ เครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) ทำให้ไทยมีแต้มต่อ ในเรื่องชื่อทางภูมิศาสตร์ ไทยเริ่มนำมาปฏิบัติมากขึ้นนำสินค้าบางตัวไปจดทะเบียนในยุโรป เช่น ข้าวหอมมะลิบางประเภท ผ้าไหม
"GI ในอนาคตไม่จบที่ WTO แน่นอน เพราะโลกแบ่งเป็น 2 ฟาก"
-ข้อตกลงทางการค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญา TRIPS กับระบบสุขภาพ มาตรา 31 เป็นเรื่องที่ดี แม้บางครั้งถูกบริษัทยาโจมตี แต่ก็ขอให้อดทน โดยกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุข ต้องทำงานด้วยกัน เนื่องจากการทำเรื่องสิทธิบัตรยา(CL) ไม่มีใครทำมาก่อน และมากมายเหมือนกรณีของไทย อินเดีย บราซิล ทำ
เลขาธิการอังค์ถัด บอกว่า ทุกครั้งที่เราขู่จะทำของพวกนี้ นำเรื่องข้อยกเว้น TRIPS มาใช้เรื่องสาธารณสุข ทำให้บริษัทยาตื่นขึ้นมา ราคายาลดได้ทุกครั้ง แม้เราจะผลิตยาเองหรือไม่ผลิตเองก็แล้วแต่ กระบวนการ คือ ลดราคายาได้
-พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ของไทย มีมาตั้งแต่ปี 2542 คนที่ได้ประโยชน์จริงๆ คือผู้บริโภค แต่การบังคับใช้ยากมาก ฉะนั้นต้องมีการดำเนินการเพื่อให้เห็นผลทางด้านกฎหมายบ้าง เพราะหากเราไม่บังคับใช้อย่างเฉียบขาดและเข้มข้น ไทยเองอาจจะเสียเปรียบ
"ต่อไปประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ต้องใช้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าร่วมกัน เป็นอันเดียวกันแน่นอน เพราะมีการลงทุนข้ามประเทศมากขึ้น มีการไปควบรวมกิจการมากขึ้น" ดร.ศุภชัย ชี้ทางออก และเห็นว่า ทางที่ดีอาเซียนต้องรวมกันทำกฎใหม่ขึ้นมา อาเซียนต้องรับซึ่งกันและกัน การเขย่งกันมากขนาดนี้ จะมีปัญหามาก เพราะปัญหาของอาเซียนไม่ใช่เรื่องกีดกันทางการค้าในเรื่องภาษี แต่อยู่ที่เรื่องระเบียบ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าต้องมาพร้อมๆ กับการประกาศเป็น AEC การแข่งขันทางการค้าร่วมกัน การควบคุมผู้บริโภคทั้ง 10 ประเทศร่วมกัน คืออะไรกันแน่"
-พ.ร.บ. ความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับประเทศไทยมีประโยชน์มาก เพราะเรามีแหล่งพันธุกรรมทางชีวภาพมากมาย ถูกขโมยไปใช้ ขณะที่ประเทศพัฒนาไม่ยอมให้มีการจดทะเบียน หรือเปิดเผยแหล่งที่มาทางชีวภาพ เพราะนี่คือรายได้สำคัญ
ดร.ศุภชัย เปิดเผยว่า หุ้นในสหรัฐฯ ที่ดีที่สุด ไม่ว่าเศรษฐกิจดีหรือเลว คือหุ้นของบริษัทยา เฉพาะยารักษาโรคมะเร็ง 50% ของยาพวกนี้ มาจากแหล่งพันธุกรรมในประเทศด้อยพัฒนา หรือแม้แต่ในอนาคตเรื่องเกี่ยวกับความสวยความงาม 80% ก็จะมาจากประเทศด้อยพัฒนา เช่น น้ำหอมทั้งหมดของฝรั่งเศสมาจากเกาะเล็กๆ ในประเทศแอฟริกาที่ยากจนที่สุด ซึ่งประเทศที่มีของพวกนี้กลับไม่ได้เป็นเจ้าของ การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Protection of Geographical Indication) หรือ "จีไอ" ก็ไม่มี
เตือนคิดให้หลายตลบ ก่อนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ TPP
-พิธีสารนาโกยา (Nagoya Protocol) ว่าด้วยการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม ต้องมีการจดทะเบียน หากมีการสกัดมาแล้ว ชื่ออะไร พันธุ์อะไร ประเทศต้นทางต้องยินยอม ไม่ใช่แอบขโมยกันเฉกเช่นปัจจุบัน
"พิธีสารนาโกยา สำคัญยิ่งกว่า การเจรจารอบโดฮาด้วยซ้ำ แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจารอบโดฮา แต่มันอยู่นอกการเจรจามาเรื่อย เป็นสิ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วไม่ต้องการ ดังนั้นแต่เราต้องดึงของพวกนี้กลับเข้ามาให้ได้ โลกต่อไปจะอยู่ได้ต่อเมื่อเราสามารถเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ของเรา ผลักดันกลับมาให้ประเทศพวกนี้เขารับบ้าง"
-ข้อตกลง ทริปส์ (TRIPS Agreement) ข้อตกลงทางการค้าด้านทรัพย์สินทาง เป็นประโยชน์กับประเทศพัฒนาแล้ว 100% เมื่อเรารับมาแล้ว เราต้องผลักกลับไปบ้างว่า ในข้อตกลงทริปส์ มีส่วนหลายส่วนที่เราจะเอามาเป็นประโยชน์บ้าง
สุดท้าย การเจรจา "ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคแปซิฟิค" (Trans-Pacific Partnership: TPPA) เลขาธิการอังค์ถัด มองว่า ประเทศไทยต้องระมัดระวังให้มาก คิดให้หลายชั้นหลายตลบ ก่อนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ TPP เพราะขณะนี้ TPP เป็น DDA บวกหลายบวก
"ผมไม่แน่ใจมีเรื่องหลายเรื่อง ไทยจะรับได้หรือไม่ เช่น ข้อตกลงทริปส์ กับเรื่องสาธารณสุข เนื่องจาก TPP จะย้อนกลับไปหมด เช่น เรื่องยาเรื่องเดียวก็ต้องคิดให้หนัก หากจะมีการประกันสุขภาพทั่วไปอย่างนี้ เราจะรับไหวหรือไม่ เพราะ TPP กลับไปย้อนหลัง มีการต่ออายุยา ขอจดสิทธิบัตรต่ออีก จะเป็นการคุ้มครองชนิดไม่มีวันจบสิ้น รวมถึงสิทธิแรงงาน การทำงานรัฐวิสาหกิจ TPP ต้องดูให้ดีด้วย"