ผ่า "องค์กร-ยุทธศาสตร์" ปฏิวัติปัตตานี อีกหนึ่ง "ทฤษฎีสงคราม" ที่ชายแดนใต้
เมื่อเร็วๆ นี้ "ทีมข่าวอิศรา" ได้นำเสนอข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงเกี่ยวกับปัญหา "ภัยแทรกซ้อน" ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะขบวนการค้ายาเสพติดและน้ำมันเถื่อนที่หลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นปัจจัยโหมไฟความรุนแรงในดินแดนปลายด้ามขวาน
และทีมทหารจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เชื่อว่ามีความเกี่ยวโยงกับกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนในหลายระดับ โดยเม็ดเงินจากธุรกิจผิดกฎหมายเหล่านั้นถูกใช้เป็น "ทุน" ในการขับเคลื่อนของกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนในระยะ 2-3 ปีหลัง
แต่กระนั้น ยังมีคณะนายทหารอีกชุดหนึ่งนำโดย พล.ท.สำเร็จ ศรีหร่าย ที่ปรึกษากองทัพภาคที่ 4 ซึ่งได้เก็บข้อมูลมาอย่างต่อเนื่องยาวนานจากการพูดคุยและสอบปากคำกลุ่มขบวนการและแนวร่วมทั้งที่ถูกจับกุม เข้ามอบตัว รวมถึงบรรดามวลชนของฝ่ายก่อความไม่สงบที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนรวมจำนวนหลายพันคน กระทั่งถอดออกมาเป็นโครงสร้างของ "ขบวนการปฏิวัติมลายูปัตตานี" ที่มีกลุ่ม "บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต" เป็นหัวหอก
ทีมงานของ พล.ท.สำเร็จ เชื่อว่าขบวนการปฏิวัติไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด เพราะงานของขบวนการปฏิวัติขับเคลื่อนด้วยศรัทธาทางเชื้อชาติและศาสนา โดยมีเป้าหมายเพื่อ "เอกราชปัตตานี" เท่านั้น
การจะเอาชนะสงครามในดินแดนแห่งนี้ ต้องทำ "สงครามทางความคิด" สลายเงื่อนไขที่ใช้ขับเคลื่อนขบวนการปฏิวัติ นั่นก็คือ ประวัติศาสตร์ และการตีความคำสอนทางศาสนาบางประเด็น โดยเฉพาะการชี้ขาดว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ "ดินแดนดารุลฮารบี" ซึ่งคนมลายูปัตตานีสามารถทำสงครามต่อสู้กับรัฐไทยและฆ่าคนไทยได้โดยไม่เป็นบาป!
จากการทำงานของทีม พล.ท.สำเร็จ พบว่า ขบวนการปฏิวัติมลายูปัตตานีมีโครงสร้างใหญ่ๆ ประกอบด้วย
1.มวลชน ซึ่งก็คือประชาชนชาวมลายูปัตตานี เป็นฐานรากอันสำคัญของขบวนการ
2.ทหาร หรือกลุ่มติดอาวุธ ได้แก่ "อาร์เคเค" (หน่วยรบขนาดเล็กที่ผ่านการฝึกรบแบบจรยุทธ์ 1 ชุดมี 6 คน) "คอมมานโด" ซึ่งผ่านการฝึกและมีตำแหน่งสูงกว่าอาร์เคเค และ "รือตูปัน" เป็นผู้ช่วยอาร์เคเคและคอมมานโดในการประกอบระเบิด
3.เปอร์กาเดส หมายรวมถึงกลุ่มที่ทำงานทางความคิดเพื่อสร้างมวลชนและกลุ่มผู้นำทางจิตวิญญาณ
4.เป้าหมาย คือการปฏิวัติเพื่อเอกราช
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ของขบวนการมีอยู่ 5 ข้อ ทุกฝ่ายที่ร่วมอยู่ในขบวนการต้องยึดหลักการนี้ กล่าวคือ
1.ยุทธศาสตร์ประชากร สร้างมวลชนและเก็บข้อมูลมวลชน ปลูกฝังให้ต่อต้านรัฐไทย
2.ยุทธศาสตร์สังคม ด้วยการพัฒนาศักยภาพบุคคล การศึกษา (เรียนสายศาสนาให้มาก เรียนสายสามัญให้น้อย) และอาชีพ
3.ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ วิธีการคือเก็บเงินสมาชิกวันละ 1 บาท ขอกรีดยางของสมาชิกสวนละ 1 ต้น และทำธุรกิจระดับหมู่บ้าน เช่น ให้มวลชนของขบวนการตัดเสื้อแล้วนำไปขายให้สมาชิกในราคาสูงกว่าท้องตลาดเพื่อนำเงินเข้าขบวนการปฏิวัติ เป็นต้น
4.ยุทธศาสตร์ข่าวสาร ให้สมาชิกหาข่าวความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด
5.ยุทธศาสตร์ป้องกันมวลชน เพื่อคงสภาพให้เกลียดรัฐไทย และรักขบวนการ ใช้การเข้าถึง พูดคุย แสดงศักยภาพด้วยการก่อเหตุรุนแรงให้เห็นว่ารัฐไทยไม่สามารถคุ้มครองประชาชนได้
การปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว มีกลไกขับเคลื่อน 2 กลไกใหญ่ ได้แก่
1.องค์กรทหาร เริ่มจากอาร์เคเค ซึ่งเป็นกองกำลังขนาดเล็กมีลักษณะเป็นหน่วยจรยุทธ์ ในอดีตใช้เวลาฝึกเพื่อจัดตั้งนานถึง 2 ปี มีทั้งการฝึกร่างกาย ฝึกยุทธวิธี และปลูกฝังอุดมการณ์ โดยในแต่ละพื้นที่จะมีอาร์เคเคกระจายกันออกไปทำงาน และมีสายการบังคับบัญชาสูงขึ้่นไป ได้แก่ รือกู (หมู่) พลาตง (หมวด) คอมปี (กองร้อย) เกอตัวโคปี (กองพัน) และเปิงลิมา แต่ในระบบการฝึกและปฏิบัติงานจะมีการ "ตัดตอน" ทุกระดับ เพื่อไม่ให้รัฐล่วงรู้ข้อมูลหากสมาชิกบางรายถูกจับกุม
2.องค์กรมวลชน เริ่มจาก "อาเยาะ" ทำงานในระดับหมู่บ้าน ทั้งขยายฐานมวลชน เก็บเงิน และคอยช่วยอำนวยความสะดวกให้กับอาร์เคเคเวลาก่อเหตุรุนแรง
ถัดจากอาเยาะคือ "ลีกาลัน" และ "คอมมิส" เป็นหัวหน้าอาเยาะ คุมพื้้นที่ใหญ่กว่าระดับหมู่บ้าน เหนือขึ้นไปจะเป็น "สะกอม" คุมพื้นที่ระดับอำเภอ และ "กัส" คุมพื้นที่ระดับจังหวัดหรือเขต ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 เขตหรือ 3 จังหวัด แต่การแบ่งพื้นที่จะแตกต่างจากการแบ่งเขตจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสของทางการไทย โดยพื้นที่ที่ "กัส" ควบคุมจะขยายไปถึง 4 อำเภอของ จ.สงขลาด้วย
องค์กรมวลชนแต่ละระดับจะปฏิบัติงานตามกรอบ 5 ยุทธศาสตร์ มีการส่งข้อมูลจากระดับล่างขึ้นไป และมีการสั่งการจากระดับบนลงมาตลอดเวลา เพื่อปรับแผนไปตามแนวโน้มของสถานการณ์ เช่น ในอดีตเลือกใช้กลุ่มเปอมูดอ (เยาวชน) และสตรี ในการปลุกม็อบต่อต้านทหาร แต่ภายหลังเมื่อเริ่มใช้ไม่ได้ผล ก็ปรับแผนใหม่ อย่างนี้เป็นต้น
ส่วนการสร้างฐานประชาชนซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญใน "สงครามแย่งชิงมวลชน" ที่ชายแดนใต้ มีอยู่ 3 ข้อ คือ 1.ให้ประชาชนมลายูเลือกข้างอยู่กับบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต 2.ให้ประชาชนมลายูหวาดระแวงเจ้าหน้าที่รัฐตลอดเวลา และ 3.ให้มวลชนมลายูสามารถอยู่กับภาวะการต่อสู้ในสงครามประชาชนได้
พล.ท.สำเร็จ ชี้ว่า เงื่อนไขสำคัญที่สุด ณ วันนี้ คือการตีความว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นดินแดน "ดารุลฮารบี" คือดินแดนที่คนศาสนาอื่นปกครอง และกดขี่พี่น้องมุสลิม ซึ่งจริงๆ แล้วตามหลักคำสอนทางศาสนาได้กำหนดหลักเกณฑ์เอาไว้กว้างๆ เช่น มุสลิมไม่สามารถไปละหมาดได้ เป็นต้น แต่แม้ในพื้นที่จริงไม่ได้มีสภาพเช่นนั้น ทว่ามีการตีความโยงไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน อาทิ กรณีกรือเซะ ตากใบ และประวัติศาสตร์บาดแผลในอดีต แล้วสรุปว่าดินแดนแห่งนี้เป็น "ดารุลฮารบี" มุสลิมสามารถทำสงครามและทำญิฮาดได้
"การจะทำให้สถานการณ์ที่ชายแดนใต้ยุติลงต้องปลดชนวนตรงจุดนี้ แต่ปัญหาคือไม่มีผู้นำศาสนาในพื้นที่กล้าชี้ขาด ส่วนผู้นำศาสนาจากนอกพื้นที่ก็ไม่ได้มีเชื้อชาติมลายู ทำให้คนในพื้นที่ไม่เชื่อถือศรัทธา อีกจุดหนึ่งคือการกวดขันตามโรงเรียนสอนศาสนาบางแห่งที่เป็นแหล่งบ่มเพาะความคิดอุดมการณ์ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการยังทำงานน้อยเกินไป ทำให้ยังมีแนวร่วมรุ่นใหม่ๆ หลั่งไหลเข้าขบวนการไม่หยุด"
หากเชื่อทฤษฎีของ พล.ท.สำเร็จ ดูเหมือนรัฐไทยต้องจัดกระบวนทัพเพื่อต่อสู้ใน "สงครามความคิด" กันใหม่ทั้งหมด!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกสวยๆ จากฝ่ายศิลป์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ