ลูกจ้างเฮ กฤษฎีกาตีความ สมัครใจออก ได้เงินว่างงานเท่าเลิกจ้าง
ลูกจ้างที่สมัครเข้าร่วมโครงการสมัครใจร่วมใจจาก กฤษฎีกาชี้ได้เงินทดแทนว่างงานในอัตราเดียวกับว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้าง ในอัตราร้อยละ50 ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 180 วัน
จากกรณีสํานักงานประกันสังคมได้มีหนังสือถึงสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอหารือ กรณีลูกจ้างซึ่งเข้าร่วมโครงการสมัครใจลาออกหรือเกษียณอายุก่อนครบกําหนด (Early Retire) มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ เพราะเหตุ เลิกจ้างหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง
ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๙) ได้พิจารณาข้อหารือของสํานักงานประกันสังคมแล้ว มีความเห็นว่า โครงการสมัครใจลาออกหรือเกษียณอายุก่อนครบกําหนดอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน โดยต้องพิจารณาจากถ้อยคําที่ปรากฏอยู่ในโครงการของนายจ้างแต่ละรายเพื่อให้ทราบเจตนาของนายจ้างนั้น
สําหรับกรณีตามข้อหารือนี้เป็นกรณีที่นายจ้างกําหนดโครงการสมัครใจร่วมใจจาก ขึ้นเพื่อให้ลูกจ้างสมัครเข้าร่วมโครงการฯ เมื่อลูกจ้างได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการฯ ลูกจ้างจะต้องออกจากงานและนายจ้างจะจ่ายเงิน ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ เงินสําหรับวันลาพักผ่อนประจําปีคงเหลือ และเงินบําเหน็จให้แก่ลูกจ้างเพื่อเป็นการตอบแทนการออกจากงาน
โครงการสมัครใจลาออกหรือเกษียณอายุก่อนครบกําหนด จึงมีลักษณะเป็นการทําข้อตกลงร่วมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่จะระงับความผูกพันตามสัญญาจ้าง ด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่ายซึ่งมีผลทําให้สัญญาจ้างสิ้นสุด โดยนายจ้างได้รับประโยชน์เป็นการลดจํานวน ลูกจ้าง และลูกจ้างได้รับผลประโยชน์ตอบแทนต่าง ๆ ตามที่นายจ้างเสนอให้ กรณีจึงไม่อาจนําความหมาย ของการเลิกจ้างตามมาตรา ๑๑๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาใช้กับ กรณีดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่ใช่เป็นการใช้อํานาจของนายจ้างแต่เพียงฝ่ายเดียวในการบอกเลิกสัญญาจ้าง
เมื่อการที่ลูกจ้างออกจากงานตามข้อตกลงในโครงการดังกล่าวเป็นการที่ผู้ประกันตน ต้องหยุดงานเนื่องจากนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง จึงเป็นกรณี "ว่างงาน" ตามบทนิยามในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้ประกันตนย่อมมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนตามมาตรา ๗๘ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
และเมื่อได้วินิจฉัยในเบื้องต้นแล้วว่า โครงการสมัครใจลาออกหรือเกษียณอายุก่อนครบกําหนดมีลักษณะเป็นการทําข้อตกลงร่วมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่จะระงับความผูกพันตามสัญญาจ้าง ด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่ายซึ่งมีผลทําให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลง กรณีจึงมิใช่นายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้างหรือลูกจ้างเป็นฝ่ายลาออก หรือเป็นการสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกําหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และเลิกจ้างตามกําหนดระยะเวลานั้น แต่เป็นกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงหรือชัดแจ้ง ซึ่งต้องตีความเพื่อให้ประโยชน์ทดแทนแก่ผู้ประกันตนโดยคํานึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายประกอบเจตนาของนายจ้างที่จัดให้มีโครงการดังกล่าว เมื่อพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันและให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้าง ประกอบกับโครงการ สมัครใจลาออกหรือเกษียณอายุก่อนครบกําหนดเป็นกรณีที่นายจ้างต้องการลดจํานวนลูกจ้างลง มีเจตนารมณ์ดังนั้น
ลูกจ้างที่ออกจากงานตามโครงการสมัครใจลาออกหรือเกษียณอายุก่อนครบกําหนดจึงควร ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราเดียวกับการว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้างตามข้อ ๑ (๑) แห่งกฎกระทรวงกําหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. ๒๕๔๗
ที่มา:http://app-thca.krisdika.go.th/Naturesig/CheckSig?whichLaw=cmd&year=2555&lawPath=c2_0940_2555
ลูกจ้างที่สมัครเข้าร่วมโครงการและได้รับคัดเลือกควรได้รับ เงินทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้างตามข้อ ๑ (๑) แห่งกฎกระทรวงกําหนดหลักเกณฑ์ และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. ๒๕๔๗ ที่กําหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ เงินทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้างในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายวันครั้งละไม่เกิน หนึ่งร้อยแปดสิบวัน