อัมมาร์ ยกจำนำข้าวเวิร์ค!?! (คอร์รัปชั่น) โปร่งใส - ยั่งยืน
ในช่วงที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 4 สมัยสามัญทั่วไปกำลังดุเดือด โดยเฉพาะ "ศึกซักฟอก" โครงการรับจำนำข้าว ที่ฝ่ายค้านพุ่งเป้า เตรียมถล่มเต็มที่ โดยอ้างเหตุผลว่า "ใช้เงินมากกว่า 1 แสนล้านบาท แต่ถึงมือเกษตรกรแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น"
ในประเด็นนี้ ดร.อัมมาร์ สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เคยกล่าวไว้ก่อนแล้ว ในเวทีเสวนาโต๊ะกลม "นโยบายอุดหนุนและตรึงราคา : ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย" ณ ห้องภาพยนตร์ F401 ชั้น 4 อาคารอเนกประสงค์ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ว่า ขณะนี้ระบบบริหารจัดการของโครงการจำนำข้าวเรียกได้ว่า "ลงตัว" แล้ว สามารถดำเนินการไปได้อย่าง "ยั่งยืน" และเป็นการ "คอร์รัปชั่น" ที่ "โปร่งใส"
"นี่คือเสน่ห์ของระบบขายข้าว ที่ต้องยกย่องรัฐบาลนี้ว่า จัดระบบนี้ได้อย่างโปร่งใสและยั่งยืน แต่เป็นการใช้คำว่าโปร่งใสในลักษณะที่ผิด" ดร.อัมมาร์ กล่าวด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ชมแฝงประชด
ก่อนจะร่ายยาวให้ฟังถึงเส้นทางจำนำข้าวที่ นักวิชาการขาประจำ ต้องออกมา "ยกย่อง" ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลดูดข้าวจากตลาดโลกกว่า 10 ล้านตันไปเก็บเอาไว้ เมื่อตลาดโลกไม่มีข้าว ราคาก็กระเพื่อมสูงขึ้น แต่บัดนี้ รัฐบาลเริ่มระบายข้าวในสต็อก พร้อมๆ กับโกยข้าวเข้าสต็อกด้วย ทำให้ข้าวของประเทศไทยในตลาดโลกมีตัวเลขสุทธิเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการกดราคาให้ต่ำลง...
"การสต็อกข้าว 10 ล้านตัน เสมือนเติมน้ำเข้าไปในเครื่องสูบน้ำ ข้าวจะเป็นเชื้อให้ดำเนินการต่อไปได้ เมื่อซื้อฤดูใหม่ ก็จะระบายข้าว ซึ่งต่างจากปีที่แล้วที่ไม่ได้ระบายเลย จึงมีผลช่วยให้พยุงและดันราคาข้าวในตลาดไม่ให้ลดลง 50-100 ดอลลาร์/ตัน ปีที่แล้วรัฐบาลไทยยอมเสียสละให้เวียดนามและอินเดียให้ขายข้าวได้ และเป็นการเสียสละที่สามารถอ้างได้ว่า ช่วยให้ชาวนาดีขึ้น"
ในส่วนการระบายข้าว ที่ปกติจะต้องขนข้าวออกจากโกดัง แต่ ดร.อัมมาร์ บอกว่า ระบบของรัฐบาลนี้ ไม่เป็นอย่างนั้น แม้จะมีคนออกมายอมรับว่ามีการระบายข้าวออกมาบางส่วนจริง แต่ก็ไม่เป็นที่ชัดเจน
เพราะมีความพยายามปกปิดปริมาณการระบายข้าว ด้วยเพราะไม่อยากให้สรุปได้ว่า มีข้าวอยู่ในสต็อกเท่าไหร่...
ทั้งๆ ที่ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่า มีสต๊อกข้าวอยู่กว่า 10 ล้านตัน
นักวิชาการอาวุโส จากทีดีอาร์ไอ พยากรณ์ว่า ข้าว 10 ล้านตันจากโครงการแรกจะ "แช่" อยู่อย่างนั้น !!! กลายเป็นข้าว 2 ปี ไม่ใช่ข้าวปีเดียว !!! นั่นเพราะข้าวใหม่ที่ออกมาได้ราคาดีกว่าจะตรงเข้าสู่ตลาด โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินซื้อข้าวเหล่านั้นในราคา 15,000 บาทแต่จ่ายจริงอาจ 13,000 บาท (ขึ้นอยู่กับความชื้นและคุณภาพข้าว) สิ่งที่ปรากฏและสิ่งที่เป็นจริงเป็นคนละอย่างกัน และขณะนี้ก็มีกระบวนการดังกล่าวมาก่อนแล้ว
กระบวนการ "ส่งออก" และ "การจัดการกระดาษ"
การนำ "ข้าวใหม่" ไปขายในตลาดโลกนั้น รัฐบาลจะอ้างและทำเอกสารเสมือนว่านำ "ข้าวเก่า" ออกมาขายตามทฤษฎีปกติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ภาคเอกชนจะรู้ดีว่า... ข้าวเก่าขายไม่ได้ราคา สู้เอาข้าวใหม่ไปขายไม่ได้ จึงเกิดขั้นตอนในการจัดการ "กระดาษ" ที่เป็นเอกสารหลักฐาน เพื่อให้ข้าวที่ออกไปนั้น เปรียบเสมือนเป็นการระบายข้าวเก่า โดยที่ตลาดโลกและเอกชนจะมีรายได้และได้ประโยชน์
แต่รัฐบาลจะขาดทุน!!
เพื่อให้ลงลึกถึงขั้นตอนในการจัดการกระดาษ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ฉายภาพอย่างละเอียดให้เห็นอีกว่า ข้าวใหม่จากเกษตรกรจะเดินทางไปยังผู้ส่งออกหรือผู้ค้ารายอื่นในตลาดเสรี แต่ในตลาดจะระบุว่า เกษตรกรนำข้าวมาขายในโครงการ โดยใช้การจัดการใบเสร็จ แต่มีธุรกรรมหลังใบเสร็จ ส่วนข้าวเก่าก็จะแช่อยู่อย่างเดิม
เรียกได้ว่า เป็นการโกงที่มีใบเสร็จ
ในแง่บัญชีรัฐบาล หากกล่าวถึงผลกำไร-ขาดทุนทั้งหมดทั่วประเทศ ความสูญเสียในแต่ละรอบโครงการกว่า 8 หมื่นล้านบาท เมื่อปิดบัญชีคำนวณคร่าวๆ กว่า 3 แสนล้านบาท สิ่งที่ต้องระวัง คือ รัฐบาลจะปิดบัญชีโครงการไม่ได้ เนื่องจากมีข้าวหาย โดยอาจเป็นข้าวเก่าที่เน่าเสียและถูกนำไปทิ้ง
ซึ่งกรณีเช่นนี้ในอดีต รัฐบาลทักษิณ เคยทำมาแล้ว
"ขณะนี้รัฐบาลใช้เงินไป 2.7 แสนล้านบาท จากที่ขอไว้ 3 แสนล้านบาท แต่ตอนนี้กลายเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อซื้อข้าวครั้งต่อๆ ไป" ดร.อัมมาร์ เปิดข้อมูล และว่า รายได้จากการขายข้าวจะเกิด ธุรกรรมกระดาษ แม้จะสร้างรายได้ และมีกระบวนการประมูลขายข้าวออกจากโรงสี แต่จะไม่มีใครกล้ามาประมูล เพราะข้าวในสต็อกเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์การคลังสินค้า (อคส.)
ท้ายที่สุดแล้วโรงสีเท่านั้นจะเป็นผู้ชนะการประมูล เพราะรู้ขั้นตอนทั้งหมด ขณะเดียวกันผู้จัดการกระดาษ ก็จะระบุว่า ข้าวระบายออกไปแล้ว ทุกอย่างจะสอดคล้องกันเป็นระบบ
ฉะนั้น เมื่อมองในระยะยาว นักวิชาการอาวุโส เห็นว่า โครงการจำนำข้าว จึงมีความยั่งยืนและไปได้นาน เพราะมีต้นทุนต่องบประมาณ แต่การระบายข้าวจะส่งผลต่อข้าวในตลาดโลก และจะทำให้ราคาข้าวเสื่อมลงไปเรื่อยๆ...
ถามว่า แล้วรัฐบาลจะแก้ไข หรือ "กลับลำ" อย่างไรได้บ้าง เมื่อมองเห็นแต่ผลเสียที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ดร.อัมมาร์ ตอบทันทีว่า ไม่มีคำแนะนำ เพราะรัฐบาลยืนยันว่าจะทำต่อและจะแก้ไขเอง
"เขาสบายแล้วและผมพยากรณ์ไว้เลยว่า เขาจะทำต่อไป บอกหรือแนะนำไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ถ้าแก้ไขตอนนี้ก็อาจประสบปัญหาหนัก เพราะหากปล่อยให้ข้าวทะลักออกมา ราคาก็จะดึงลง ซึ่งไม่ดีแน่"
นโยบายจำนำข้าว ก็เหมือนเป็นการเตะกระป๋องให้เดินหน้าไปเรื่อยๆ "ผมยืนยัน การล้มเลิกนโยบาย คือ แนวทางที่ดีที่สุดในระยาว แต่ตอนนี้ระบบมันทำงานแล้ว เวิร์คแล้ว"
นักวิชาการอาวุโส บอกว่า การที่รัฐบาลมักอ้างเสมอว่านโยบายจำนำข้าว เป็นโครงการช่วยชาวนาที่ยากจน แต่ที่จริงๆ แล้วชาวนาที่ยากจนกลับไม่ได้ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้เลย งบประมาณ 3 แสนล้านบาทจากนโยบายจำนำข้าวไปไม่ถึงชาวนาที่ยากจน เมื่อนโยบายยังต้องอาศัยกลไกตลาด อาศัยโรงสี และพ่อค้าทำให้ผลประโยชน์ส่วนใหญ่รั่วไหลไปสู่ผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้
ในเงิน 100 บาทที่รัฐบาลใช้โดยสุทธิแล้ว 63 บาท ตกอยู่กับเหล่าพ่อค้าและโรงสี ไม่ใช่คนจน
อีกที่เหลือ 37 บาทตกอยู่กับเกษตรกร-ชาวนาจริงๆ
และหากแยกย่อยลงไปถึงชาวนาแล้ว สมัยนี้ชาวนามีวิวัฒนาการ สถิติตั้งแต่ปี 2551 พบว่า กว่าครึ่งของชาวนาจนจริง 30% (คำนวณจากกลุ่มคนระดับล่างสุดของประชากรทั้งประเทศ) แต่เงินในส่วน 37 บาทนี้ กลับตกอยู่กับคนกลุ่มที่จนจริงๆ เพียง 17%
รัฐบาลต้องไม่ลืมการยกระดับราคาข้าวจะกระเทือนไปถึงคนยากจนในภาคอื่นๆ ด้วย รัฐบาลจะเห็นแค่ชาวนที่ยากจนไม่ได้ ในกลุ่มของชาวนามีกลุ่มที่ร่ำรวยอยู่ 13% (คำนวณจากกลุ่มบนของประชากรทั้งประเทศ) เช่น กลุ่มชาวนาภาคกลาง ซึ่งเป็นผู้ประโยชน์จากนโยบาย 41%
ฉะนั้น โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่ทำให้คนยากจนลำบากขึ้นอย่างแท้จริง แม้จะมีคนยากจนที่ได้ประโยชน์ แต่ก็น้อยมาก เขาไม่แปลกใจที่คนที่ได้ประโยชน์จะหนุนโครงการนี้อย่างเต็มตัว
ท้ายที่สุดแล้ว ดร.อัมมาร์ ย้ำชัดว่า ทางที่ดีที่สุด ควรจะ "ยกเลิก" นโยบายนี้เสีย แต่คงไม่สามารถยกเลิกอย่างสิ้นเชิงได้ทันที เพราะจะทำให้ระบบข้าวและราคาข้าวในตลาดมีปัญหา แต่หากรัฐบาลคิดว่ามีความจำเป็นจะต้องใช้นโยบายลักษณะนี้ในการแก้ปัญหาเรื่องราคาข้าว ก็ควรหันกลับไปหา "นโยบายประกันราคาข้าว" ด้วยเพราะเป็นนโยบายที่มีการรั่วไหลน้อยกว่า
"ปัญหาของประเทศไทยขณะนี้ ไม่ได้ต้องการ "คนดี" แต่ต้องการ "ความคิดที่ดี" มาทำงานการเมือง และอยู่ในระบบการเมือง ตั้งแต่นโยบายประชานิยมเข้ามา ทำให้ความคิดที่ดีหายไปมาก เหลือแต่ความคิดที่ฉาบฉวย ชั่วคราว ซึ่งคนที่นำนโยบายเหล่านี้เข้ามาไม่ใช่คนเลว แต่เขาอยากได้รับเลือกตั้งและระบบนี้ก็สนับสนุนเขา ฉะนั้น การหาเสียงเลือกตั้งจึงไม่สนับสนุนให้เกิดความคิดที่ดี"
นักวิชาการเกียรติคุณ ทิ้งท้ายว่า รัฐบาลนี้ไม่เหมือนทักษิณ 1 ซึ่งเป็นรัฐบาลพรรคเดียว สัญญาอะไรไว้ก็สามารถทำได้แทบทั้งหมด สมควรได้รับการชนะการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ แต่รัฐบาลนี้สัญญาว่าจะปราบคอร์รัปชั่น กลับดูงึกงัก กระท่อนกระแท่นในการปฏิบัติ เป็นการทำลายเสียงของรัฐบาลเก่า และข้อนี้เขาต้องแก้โจทย์เอาเอง...