การบริหารพื้นที่อนุรักษ์แค่ “คนกับเงิน”ไม่เพียงพอ
น.ส.ปริญญารัตน์ เลี้ยงเจริญ นักวิจัยอาวุโสทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลการศึกษา เรื่อง การประเมินช่องว่างทางการเงินของพื้นที่อนุรักษ์ในประเทศไทย ซึ่งได้รับสนับสนุนการวิจัยจาก Economy and Environment Program for Southeast Asia (EEPSEA) and Resource and Environment Economics Foundation of the Philippines Incorporated (REAP) ระบุ ภารกิจพิทักษ์ป่า พื้นที่อนุรักษ์ไทย การบริหารจัดการ “คนกับเงิน”ยังไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ สถานการณ์พื้นที่อนุรักษ์ของไทยในปี 2552 มีพื้นที่อนุรักษ์ 418 แห่ง มีพื้นที่ประมาณ 102,636 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของพื้นที่ทั้งหมด ครอบคลุมพื้นที่อนุรักษ์ 6 ประเภทคือ อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า สวนพฤษศาสตร์ สวนรุกขชาติ พื้นที่อนุรักษ์ที่มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 คือ อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 97,253 ตารางกิโลเมตร ปัญหาของพื้นที่อนุรักษ์ คือ มีการบุกรุกพื้นที่ทำการเพาะปลูกและการลักลอบล่าสัตว์ ปัญหาด้านการบริหารจัดการ ได้แก่ งบประมาณที่ได้รับและเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการพื้นที่ ขาดแคลนอุปกรณ์และเครื่องมือในการดำเนินการที่ทันสมัย สำหรับแหล่งเงินทุนในการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ นั้นมาจากหลายแหล่ง โดยรายรับหลักมาจากการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลส่วนกลาง ส่วนรายรับอื่น ๆ อาทิ รายรับจากการท่องเที่ยว และเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น
การศึกษานี้ต้องการดูปัจจัยที่ผลต่อความเหมาะสมของการบริหารจัดการคนและงบประมาณในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยการสำรวจจากแบบสอบถามและการสอบถามเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบางแห่ง เกี่ยวกับข้อมูลที่เป็นปัจจัยผลักดันและปัจจัยตอบสนอง ได้แก่ ข้อมูลทั่วไปของพื้นที่อนุรักษ์ จำนวนประชากรที่อาศัยภายในรัศมี 5 กิโลเมตรจากขอบเขตพื้นที่ และจำนวนประชากรที่อาศัยภายในพื้นที่อนุรักษ์ จำนวนสิ่งก่อสร้าง/สิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ จำนวนนักท่องเที่ยว ที่พักและกิจกรรมที่ดำเนินการในพื้นที่ จำนวนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน โครงสร้างรายรับ-รายจ่ายของพื้นที่อนุรักษ์
จากการส่งแบบสอบถามไปยังพื้นที่เป้าหมาย 181 แห่งมีตอบกลับมา 81 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 45 แบ่งเป็นอุทยานแห่งชาติ 53 แห่ง (รวมอุทยานทางบกและทางทะเล) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 28 แห่ง จำแนกตามขนาดพื้นที่ได้เป็น 3 ชั้น คือ เล็ก กลาง ใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ขนาดกลางหรือ ชั้นที่ 2 จำนวน 55 แห่ง ขนาดใหญ่หรือชั้นที่ 3 จำนวน 19 แห่ง ขนาดเล็กหรือชั้นที่ 1 จำนวน 5 แห่ง
ผลศึกษาพบว่า มีการกระจุกตัวของจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำในบางพื้นที่ แต่โดยรวมพื้นที่อนุรักษ์มีเจ้าหน้าที่ประจำเฉลี่ย 2 คน ต่อ 10 ตร.กม. และมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์เฉลี่ยเพียง 198 บาทต่อ 0.01 ตร.กม. หรือราว 198,420 บาทต่อ 10 ตร.กม. ซึ่งนับว่าน้อยมาก และเมื่อเปรียบเทียบขนาดพื้นที่กับจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำพบว่ายังมีช่องว่างอยู่มากในทุกขนาดพื้นที่อนุรักษ์ โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำรวม 4,481 คน ผลจากแบบสอบถามระบุจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ต้องการราว 7,306 คน จึงยังมีความขาดแคลนอีก 2,825 คน ส่วนค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายในการบริการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ต่อแฮกแตร์โดยรวมพบว่าในปี 2009 ได้รับงบประมาณในการบริหารจัดการพื้นที่รวม 421 ล้านบาท ขณะที่มีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่ประมาณการราว 935 ล้านบาท จึงยังมีช่องว่างงบประมาณที่ต้องการราว 514 ล้านบาท ทั้งนี้จากข้อจำกัดของข้อมูลที่ได้รับจึงพิจารณาเฉพาะงบบริหารจัดการที่ได้รับจากรัฐ ไม่รวมรายจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างเจ้าหน้าที่ประจำ
น.ส.ปริญญารัตน์ กล่าวว่า โดยสรุปผลการศึกษานี้ยืนยันปัญหาคนและเงินในการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ยังไม่เพียงพอ การจัดการพื้นที่อนุรักษ์อย่างยั่งยืนจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรด้านการเงิน เจ้าหน้าที่ นโยบายการพัฒนา การติดตามตรวจสอบ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสม การศึกษามีข้อเสนอแนะให้จัดสรรงบประมาณที่อ้างอิงคุณค่าของพื้นที่อนุรักษ์และการคุกคามที่เกิดขึ้นต่อพื้นที่เนื่องจากการมีงบประมาณที่จำกัด ส่งเสริมแนวทางปฎิบัติในการบริหารจัดการการเงินแบบพึ่งตนเอง โดยการสร้างแหล่งรายได้เพิ่มเติม โดยเฉพาะแหล่งรายได้จากการท่องเที่ยว การส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับป่าอนุรักษ์อย่างเหมาะสม และการจัดทำความร่วมมือกับองค์กรภายนอกทั้งในและต่างประเทศเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์อย่างยั่งยืน รวมถึงการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการอนุรักษ์พื้นที่ป่า ได้แก่การสร้างแรงจูงใจในการรักษาพื้นที่อนุรักษ์โดยการนำหลักการจ่ายค่าบริการสำหรับการดูแลรักษาระบบนิเวศมาใช้
ในส่วนจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่นั้น มีเสียงสะท้อนจากเจ้าหน้าที่หลายแห่งระบุว่า สิ่งที่ต้องการมากกว่าจำนวนเจ้าหน้าที่(ถ้าได้เพิ่มก็ดี)คือ อุปกรณ์และเครื่องมือ รวมถึงเทคโนโลยีที่ช่วยในการสนับสนุนประสิทธิภาพการทำงาน เช่น คอมพิวเตอร์หรือ GPS ระบุพิกัด การบันทึกข้อมูลการทำสถิติพื้นที่ที่ไปออกลาดตระเวนว่าจุดไหนอย่างไรสภาพข้อมูลพื้นที่เป็นอย่างไรและควรพัฒนาอย่างไรซึ่งจะช่วยให้เขาดูแลพิทักษ์พื้นที่ได้มากกว่านี้ ซึ่งเมื่อดูแนวโน้มการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ของประเทศพัฒนาแล้ว พบว่า แต่ละพื้นที่มีแนวโน้มงบประมาณในการบริหารจัดการลดลงเพื่อให้แต่ละพื้นที่บริหารจัดการแบบพึ่งตนเอง และมีจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่มาก แต่ให้ความสำคัญกับการนำเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจตรา พิทักษ์ป่า ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล.
ขอบคุณภาพจาก : http://www.op.mahidol.ac.th