เชิดชู “ครูช่างหัตถศิลป์ไทย” สืบสานเอกลักษณ์ชาติ สร้างงานท้องถิ่น
หัตถศิลป์ยังเห็นได้ในวิถีไทยทุกระดับ ตั้งแต่การผลิตกระทั่งอุปโภคใช้สอย ไม่เพียงมีคุณค่าเป็นเอกลักษณ์ชาติ มองระดับครัวเรือนแล้ว ยังเป็นรายได้จุนเจือครอบครัวชาวบ้านนอกจากวิถีเกษตรกรรมหลัก
หัตถศิลป์ไทยไม่เป็นรองชาติใด ทั้งคุณค่าและความงดงาม น่าเสียดายที่ถูกละเลยไปตามกาล ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ(ศ.ศ.ป.) จึงจัด “เทศกาลหัตถศิลป์ไทยเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษามหาราชินี” และมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ 40 ครูช่างหัตถศิลป์ไทย และหวังต่อยอดฝีมือไทยสู่ตลาดต่างประเทศ
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา พาไปสัมผัสแนวคิด 4 ครูช่าง ว่าภายใต้ความเจริญกระแสหลักอันเร่งรีบและบริโภคนิยม หัตถศิลป์ไทยในฐานะภูมิปัญญาท้องถิ่นอันละเมียดละไม จะดำรงอยู่ได้อย่างไร
ครูช่างหม้อห้อม :“ประภาพรรณ ศรีตรัย” สืบหัตถศิลป์เผ่าไทยพวน สู่ตลาดสากล
ประภาพรรณ ศรีตรัย ครูช่างผ้าหม้อห้อม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมศรีธรรมชาติ จ.แพร่ เล่าที่มาการรวมกลุ่มว่าเกิดจากความต้องการให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีเงินตั้งต้นกลุ่มระยะแรกปี 48 เพียง 30,000 บาท จากการสมัครสมาชิกหุ้นละ 100 บาท และเงินสมทบ ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มเป็น 81 คน ทุนหมุนเวียน 500,000 บาท สร้างรายได้ให้ทุกคนในชุมชน
ส่วนการบริหารจัดการกลุ่มจะแบ่งออกเป็นเครือข่าย เช่น กลุ่มย้อม กลุ่มตัดเย็บ กลุ่มจำหน่าย โดยให้ความสำคัญกับการแสดงความคิดเห็นเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของทุกคน ซึ่งได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นบรรพบุรุษไทยพวนในการทำผ้าหม้อห้อมสีธรรมชาติ ตั้งแต่ครั้งอพยพจากแคว้นเชียงขวาง ประเทศลาว มาสืบสานรุ่นต่อรุ่น และมีการพัฒนารูปลักษณ์จากผ้าผืนเป็นผ้าพันคอ เสื้อสูท กระเป๋า พวงกุญแจ ที่มีราคาเริ่มตั้งแต่ 10 บาทจนถึงหลายพันบาท
ครูประภาพรรณ ยังมองว่าคนไทยส่วนใหญ่ยึดติดกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยม มักกู้ยืมเงินมาใช้เพื่อความสะดวกสบาย ทางกลุ่มจึงไม่สนับสนุนการปล่อยเงินกู้แก่สมาชิก ซึ่งจะสร้างความลำบากภายหลัง แต่สนับสนุนให้อยู่แบบพอเพียงโดยการจัดการรายได้ในชุมชน แต่ก็มีปัญหาอยู่บ้างคือต้นห้อมซึ่งเป็นพืชล้มลุกที่นำกิ่งและใบมาหมักในหม้อเพื่อย้อมผ้าให้เป็นสีน้ำเงินได้นั้นใกล้หมดลง ศ.ศ.ป. จึงได้ร่วมกับท้องถิ่นส่งเสริมให้ปลูกต้นห้อมและสร้างบ่อพักบำบัดน้ำเสียจากการซักล้างผ้า 4 บ่อ เพื่อนำน้ำกลับมาใช้ในกระบวนการซักล้างผ้าหม้อห้อมใหม่อีกครั้ง ซึ่งช่วยประหยัดพลังงานน้ำได้ด้วย
“ชาวบ้านในชุมชนใส่ชุดที่ตัดด้วยผ้าหม้อห้อมแทบทุกกลุ่มอายุ เพราะมีเนื้อผ้าและสีสันที่สวยงาม สามารถใส่ได้ทุกโอกาส เรียกว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ดีทางหนึ่ง” ครูช่างหม้อห้อม กล่าวอย่างภาคภูมิ
ครูช่างผ้าไหม : “สมจิตร บุรีนอก” สรรเสริญแม่แผ่นดินต้นแบบแต่งกายไทย
ด้านครูช่างผ้าไหมจากเมืองสารคาม สมจิตร บุรีนอก กลุ่มทอผ้าไหมบ้านกุดรัง บอกเล่าด้วยสีหน้าที่ปลื้มปิติว่า กลุ่มต้องใช้เวลาถึง 20 ปี ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งปี 40 ด้วยเงินตั้งต้นเพียง 40,000 บาท สมาชิกแค่ 15 คน แต่ปัจจุบันมีทุนหมุนเวียน 570,000 บาท สมาชิกรวม 30 คน ซึ่งได้มุ่งมั่นพัฒนาลายผ้าไหมจนสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับผ้ามัดหมี่ลายสร้อยดอกหมากที่โดดเด่นในเรื่องความละเอียดของลวดลายและการถักทอได้
“กลุ่มได้รับความช่วยเหลือจาก ศ.ศ.ป.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการให้ความรู้ด้านการพัฒนาสินค้า และการตลาด จนสามารถสร้างมาตรฐานให้อยู่ระดับเกรดเอก่อเกิดรายได้หมุนเวียนในชุมชน”
ครูสมจิตร เล่าอีกว่าปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญให้คนในชุมชนมุ่งมั่นพัฒนาผ้าไหม เพราะพระราชินีทรงเป็นแบบอย่างการแต่งกายด้วยชุดไทย แม้ว่าหลายคนหวั่นว่าอนาคตจะไม่มีผู้สืบสานศิลปหัตถกรรมของชาติ แต่ที่บ้านกุดรังปัจจุบันมีนักเรียนท้องถิ่นและชุมชนใกล้เคียงเข้ามาเรียนรู้การทอผ้าไหมทุกกระบวนการ โดยเฉพาะการมัดหมี่ขึ้นลาย โดยเด็ก ๆ จะได้รับค่าขนมวันละ 60 บาท ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระทางบ้านได้
แต่สิ่งที่อยากฝากไว้คือ อยากให้องค์กรปกครองท้องถิ่นจับมือกับสถานศึกษาส่งเสริมให้นักเรียนแต่งชุดไทยทุกวันจันทร์และศุกร์ เพื่อให้เห็นคุณค่าผ้าไหมพื้นบ้าน อีกทั้งยังสร้างเงินหมุนเวียนในชุมชนด้วย
ครูช่างผ้าไหมผู้นี้ยังทิ้งท้ายอารมณ์ขันว่า “ชาวบ้านจะชอบผ้าทอสีสด เพราะใส่ไปนานๆก็จะซีดเอง” ขณะที่คนเมืองชอบสีอ่อน ๆ คลาสสิค และวัยรุ่นจะนิยมผ้าไหมสีผืนลายดอกใหญ่
ครูช่างเครื่องถม : “อุทัย เจียรศิริ” ผู้สร้างบุษบกทอง 10 ล้าน
อุทัย เจียรศิริ ครูช่างศิลปหัตถกรรมเครื่องถมเงินถมทอง กลุ่มอาชีพสหกรณ์สืบสานวัฒนธรรมไทย จ.นนทบุรี หนึ่งในช่างผู้สร้างบุษบกถมทองพระนาม ภปร. 72 พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยรัฐสภาทูลเกล้าฯ ถวาย เล่าถึงเส้นทางอาชีพว่าได้เรียนรู้มาตั้งแต่เด็กจากลุงซึ่งเป็นช่างฝีมือเก่าชาวนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดเครื่องถมไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อมามีโอกาสเข้าถวายงานพระราชินีที่ศูนย์ศิลปาชีพ พระราชวังสวนจิตรลดา จนกระทั่งออกมาสร้างสรรค์งานเอง โดยตั้งกลุ่มอาชีพสอนทำเครื่องถมเงินถมทองแก่ชาวชุมชน และนักเรียน นักศึกษาที่สนใจด้วย
“ผมจะจ้างช่างฝีมือชาวบ้านให้ผลิตเครื่องถมชนิดต่าง ๆ ให้ค่าตอบแทนรายชิ้น เช่น จ้างเขียนลวดลายชิ้นละ 300 บาท วันหนึ่งแต่ละคนทำประมาณ 2 ชิ้นเพื่อให้งานได้คุณภาพ หรือเหมาจ่ายรายเดือน ๆ ละหมื่นกว่าบาทด้วย ซึ่งถือเป็นการกระจายรายได้และความรู้ทางศิลปหัตถกรรมสู่ชุมชนโดยตรง”
แต่งานเครื่องถมต้องลงทุนสูง เนื่องจากใช้ทองคำแท้และเงินเป็นส่วนประกอบ กลุ่มอาชีพจึงต้องใช้เงินหมุนเวียนแต่ละเดือนราว 400,000 บาทเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าจ้างช่างฝีมือ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แต่ก็ถือว่าเป็นโอกาสทางอาชีพที่ดี เนื่องจากคู่แข่งน้อย เพราะผลิตยาก โดยกลุ่มอาชีพของครูอุทัยยังได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมพัฒนาชุมชน จ.นนทบุรี และสหกรณ์ จ.นนทบุรี ในการจัดหาช่องทางการตลาด โดยได้ไปออกร้านขายตามห้างสรรพสินค้าและงานจัดแสดงต่างๆเป็นระยะ ร่วมทั้งจัดหาคนเข้ามาเรียนรู้ด้วย ครูอุทัยบอกว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่มียังเด็กรุ่นใหม่สนใจสืบทอดงานเครื่องถมอยู่มาก
ครูอุทัยยังได้สร้างสรรค์ดัดแปลงรูปแบบของเครื่องถม ซึ่งเดิมเป็นของใช้ชั้นสูงในรั้วในวังให้เป็นของใช้สอยและเครื่องประดับต่างๆที่คนทั่วไปสามารถใช้ได้ตามสมัยนิยม เช่น แหวน กำไร กระเป๋าถือ แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ลวดลายโบราณไว้ สำหรับราคาของผลิตภัณฑ์เครื่องถมที่ขายอยู่นั้นมีตั้งแต่ 300 บาท เช่น แหวน ไปจนถึงหลักแสนหลักล้าน เช่น บุษบกพระนาม ภปร.ซึ่งรัฐสภาได้จ้างให้ครูอุทัยและช่างชุมชนร่วมกันสร้างขึ้นในราคากว่า 10 ล้านบาท แต่โดยเฉลี่ยสินค้าที่ขายได้ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 3,000 – 4,000 บาท
ครูช่างผ้าบาติก : “พิสิษฐ์ เทพทอง”วัฒนธรรมผ่านม่านจิตรกรรมใส่ใจธรรมชาติ
“ผ้าบาติกภูเก็ตขึ้นชื่อเรื่องลวดลายและสีสัน ”พิสิษฐ์ เทพทอง ครูช่างศิลปหัตถกรรมผ้าบาติก กลุ่มร้านยิ่งบาติก จ.ภูเก็ต กล่าวอย่างภาคภูมิว่าทุกวันนี้นอกจากผลิตผ้าบาติกจำหน่ายเป็นอาชีพหลักแล้ว ตนยังทำหน้าที่เป็นวิทยากรท้องถิ่นสอนการทำผ้าบาติกให้แก่คนงานในร้าน ชาวบ้านในพื้นที่และจังหวัดอื่น ๆ รวมทั้งนักศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต โดยมีร้านยิ่งบาติกเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน
ต้นทุนการผลิตผ้าบาติกไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับงานหัตถกรรมอื่น ๆ ครูพิสิษฐ์เริ่มต้นอาชีพด้วยทุนตั้งต้นประมาณ 20,000 บาท ซึ่งหากรวมค่าวัตถุดิบ ค่าใช้จ่าย และค่าจ้างแรงงานแล้ว เดือนหนึ่งจะใช้เงินหมุนเวียนประมาณ 100,000 บาท โดยจะให้ค่าจ้างช่างฝีมือในท้องถิ่นเป็นรายชิ้นๆละประมาณ 80 บาท ซึ่งสามารถขายได้อย่างต่ำเดือนละ 200 ชิ้นขึ้นไป ราคาขายตั้งแต่ 45 บาทถึง 1,500 บาท ซึ่งผ้าบาติกของกลุ่มร้านยิ่งบาติกจะเน้นการสร้างสรรค์ลวดลายแบบลายจิตรกรรม หรือนำภาพสะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่นอัตลักษณ์ชุมชนมาวาดผลิตออกมาในลักษณะผืนผ้า ผ้าเช็ดหน้า เสื้อเชิ้ต และเครื่องนุ่งหุ่มต่างๆ
“การสืบทอดศิลปะท้องถิ่นต้องควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ สีเคมีที่ใช้วาดลวดลายบนผืนผ้าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทางกลุ่มจึงมีบ่อพักน้ำเสียจากกระบวนการผลิตเพื่อบำบัดก่อนปล่อยทิ้ง”
เมื่อถามถึงการสืบทอดงานหัตถกรรมผ้าบาติก ครูพิสิษฐ์ บอกว่านอกจากที่ตนได้สืบทอดในชุมชน ยังหวังให้หน่วยงานท้องถิ่นสนับสนุนการจัดอบรมเยาวชนในพื้นที่รุ่นใหม่ ๆ ให้ได้เรียนรู้สืบทอดมากยิ่งขึ้น
......................................................
ท่ามกลางความเร่งรีบฟุ้งเฟ้อในสังคมเศรษฐกิจกระแสหลัก ที่สร้างหนี้สินแก่คนไทยมากมายทั้งโดยปัจเจกและหนี้สาธารณะที่ต้องแบกรับร่วมกัน งานหัตถศิลป์ไทยยังคงแทรกตัวทำหน้าที่สืบทอดเอกลักษณ์ชาติ พร้อม ๆ กับสร้างงานสร้างรายได้ให้ชุมชนบนพื้นฐานความพอเพียง
แต่การสืบต่อลมหายใจหัตถศิลป์ไทย ยังรอคอยการสนับสนุนจากหลายฝ่ายทั้งรัฐ เอกชนมากกว่านี้.
ล้อมกรอบ
รายชื่อครูช่างที่ได้รับเกียรติบัตรเชิดชูจากศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ
1.ครูสมคิด ด้วงเงิน เครื่องทองลงหิน 2.ครูอุทัย เจียรศิริ เครื่องถมเงิน-ถมทอง 3.ครูวิรัตน์ ปิ่นสุวรรณ เขียนลายเบญจรงค์ 4.ครูบานเย็น สอนดี จักสานใบลาน 5.ครูภารดี วงค์ศรีจันทร์ ผ้าด้นมือ 6.ครูอำพัน ฉัตรเฉลิมวุฒิ จักสานเชือกกล้วย 7.ครูศรี ลืมเนตร เครื่องปั้นดินเผา (เตาลุงศรี) 8.ครูสมเดช พ่วงแผน ถ้วยชามสังคโลก 9.ครูอมลวรรณ เอี่ยมสำอางค์ ทอฝ้าย 100% 10.ครูประภาพรรณ ศรีตรัย ผ้าหม้อห้อม 11.ครูสมจิตร บุรีนอก ผ้าไหม 12.ครูตีพะลี อะตะบูกริช 13.ครูอุไร แตงเอี่ยม เครื่องเบญจรงค์ 14.ครูนฤมล ทองสิริอนันต์ จักสานเชือกมัดฟาง,กก และรังไหม 15.ครูสลัด สุขขี จักสานเถาวัลย์แดง 16.ครูสมชัย ชำพาลี เครื่องดนตรีไทย 17.ครูบุปผา ล้วนวิลัย หัวโขน 18.ครูประนอม ทองประศาสน์ ผ้าไหม 19.ครูจรวยพร เกิดเสม จักสานผักตบชวา 20.ครูบุญสม ศรีสุข มีดอรัญญิก
21.ครูพิทยา ศิลปศร เครื่องกระดาษ 22.ครูณิศาชณ บุปผาสังข์ ออกแบบลวดลายผ้ามัดหมี่และผ้าลายขิด 23.ครูลำดวน นันทะสุธา ผ้าขิด 24.ครูยุทธ แสงหิ่งห้อย กลอง 25.ครูทิวารุ่ง กำหนดแน่ ผ้า 26.ครูนิพนธ์ ยอดคำปัน เครื่องทองโบราณ 27.ครูประคอง จันทะมาตย์ ผ้าไหมแพรวา 28.ครูมงคล ตั้งมงคลกิจการ เครื่องเงิน 29.ครูณิชาภัทร อัครอมรธรรม จักสานทองเหลือง 30.ครูศศิธร มงคลเรืองฤทธิ์ เครื่องเขิน 31.ครูพงษ์ลักษณ์ สุวรรณมาลี เครื่องเบญจรงค์ 32.ครูวิเชียร เถาพันธุ์ ปิดทองประดับกระจก 33.ครูศดานันท์ เนตรทิพย์ ผ้า 34.ครูจรรยา เวชวินิส จักสานปอเฮ 35.ครูธานินทร์ ชื่นใจ เครื่องรัก, จิตรกรรมไทย 36.ครูพิสิษฐ์ เทพทอง ผ้าบาติก 37.ครูละมัย โพธิ์ภาษิต ผ้าไหมมัดหมี่, ผ้าไหมยกดอก 38.ครูสำรวย กลับทอง จักสานละเอียด 39.ครูขวัญ พลเหิม เครื่องเงินลายโบราณ และ 40.ครูนราภรณ์ เกิดผล ผ้าทอ
.