ธกส. คลอด 'สมุดปกเขียว' ตีแผ่แผล 'จำนำข้าว'
ถึงตอนนี้ภาระหนี้สาธารณะของประเทศ 40% ยังไม่สูงก็จริงแต่ทีดีอาร์ไอได้ประเมินว่า โครงการรับจำนำข้าวและประชานิยมต่างๆ จะมีผลทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้น 4% ต่อปี เมื่อโฟกัสเฉพาะนโยบายรับจำนำข้าว เป็นนโยบายที่ทำให้ระบบข้าวอ่อนแอลง
ในทางปฏิบัติแล้ว การเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐก็ต้องสนองนโยบายรัฐบาล บรรดาผู้บริหารคงไม่สามารถแย้งความเห็นของผู้กุมอำนาจได้อย่างเต็มปากเต็มคำนัก เกี่ยวกับความเสียหายของนโยบายประชานิยมที่ใช้สถาบันการเงินของรัฐเป็นแขนขา
โครงการรับจำนำข้าวก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ถูกจับตามองว่า จะสร้างความเสียหายให้แก่ฐานะของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพราะตัวเลขที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินผลการดำเนินงานของโครงการรับจำนำในปีแรกออกมาว่า รัฐบาลจะขาดทุนจากโครงการนี้มากมายถึง 1 แสนล้านบาท
ขณะที่รัฐบาลประเมินว่าอย่างดีก็ขาดทุน 5-6 หมื่นล้านบาท
สิ่งที่กำลังเป็นประเด็นตามมาก็คือเมื่อไหร่จะถึงเวลาอันเหมาะสมที่รัฐบาลจะระบายข้าวในสต๊อกที่เก็บไว้เต็มโกดังและจะขายออกมาในราคาเท่าไหร่
เมื่อรัฐบาลรับซื้อมาในราคาสูง จะขายในราคาถูก ก็คงถูกมองว่าคาดการณ์ตลาดล้มเหลว แต่ในเวลานี้เมื่อเงยหน้ามองดูราคาในตลาดโลกจะเห็นว่าราคาข้าวกำลังลดลงอย่างหนักจากตลาดอินเดีย ขนาดประเทศเวียดนามยังต้องลดราคาลงตามเพื่อให้แข่งขันได้
แต่สำหรับประเทศไทยยังกลายเป็นคำถามโตๆ ว่า เมื่อขายข้าวแข่งไม่ได้ แล้วรัฐบาลจะระบายข้าวอย่างไร
จะขาดทุนมากมายแค่ไหน
ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เรื่องราวเหล่านี้กลับถูกระบุไว้ในสมุดปกเขียว “ข้อเสนอแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี” ที่ ธ.ก.ส. จัดทำขึ้น เพื่อชี้แจงแถลงไขถึงข้อห่วงใยในการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าว
สมุดปกเขียว ได้ระบุถึงปัญหาและอุปสรรคที่ ธ.ก.ส. ได้ประมวลผลจากการดำเนินงานในอดีต แบ่งออกเป็น
หนึ่ง ปัญหาจากเกษตรกร ที่มีการแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จ เช่น พื้นที่และผลผลิตเกินจริง, ขายสิทธิการเข้าร่วมโครงการให้ผู้อื่น, เปลี่ยนข้าวเปลือกจำนำในยุ้งฉางจากข้าวคุณภาพดีเป็นข้าวคุณภาพต่ำ, นำข้าวเปลือกไปจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต
สอง ปัญหาจากโรงสีที่สวมสิทธิเกษตรกร นำข้าวเปลือกโรงสีที่ได้จากการค้าปกติเข้าร่วมโครงการในนามเกษตรกร, ตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือกของเกษตรกรไม่ตรงตามข้อเท็จจริง เช่น ความชื้น น้ำหนัก คุณภาพ, นำข้าวเปลือกรับฝากไว้ไปหมุนเวียนออกขาย, นำข้าวสารนอกโครงการส่งมอบเข้าคลังกลางแทนข้าวสารตามโครงการ (เปาเกา), ส่งมอบข้าวสารเข้าคลังกลางไม่ตรงตามคุณภาพที่กำหนด
สาม ปัญหาจากโกดังกลาง นำข้าวคุณภาพต่ำมาสับเปลี่ยนข้าวสารดีในโครงการ, นำข้าวสารที่ฝากไว้ไปขาย, ไม่ดูแลรักษาคุณภาพข้าวตามสัญลักษณ์องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.)
สี่ ปัญหาบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าวตรวจและรับข้าวสารที่คุณภาพต่ำกว่าที่โครงการกำหนด
ห้า ปัญหาการระบายข้าวในโกดังกลาง ระบายข้าวล่าช้าทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพและค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสูง, มีภาระขาดทุนเนื่องจากข้าวคุณภาพต่ำและต้นทุนการรับจำนำสูง
หก ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญของ ธ.ก.ส. เนื่องจากประเมินว่า จะมีภาระขาดทุนตามโครงการรับจำนำเดิมสะสมค้างชำระจำนวนมาก, เผชิญกับความเสี่ยงในการจัดหาเงินทุนและการจัดการกับสภาพคล่องธนาคาร ภาระงานที่จะกระทบต่อการดำเนินงานปกติ และความเสี่ยงจากการปฏิบัติงาน
สาเหตุที่ ธ.ก.ส.ต้องแจกแจงประเด็นปัฐหาเหล่านี้ ก็ไม่มีอะไรมาก เพียงแค่สถานะของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกและการดำเนินงานต่อเนื่องจากการรับจำนำข้าวเปลือก เช่น การระบายข้าวประมาณ 13 โครงการก่อนหน้านี้ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2554 ยังมีผลขาดทุนสะสม 1.21 แสนล้านบาท
ทว่า แนวทางเหล่านี้ได้ส่งไปถึง “ท่านผู้นั้น” หรือไม่ ยังกลายเป็นคำถามใหญ่
แต่แล้วปัญหาเหล่านี้ก็กลับมาหลอกหลอน ธ.ก.ส.อีกครั้ง จากโครงการรับจำนำของฤดูกาลผลิต 2554/2555 และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2555 ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เพิ่งฟื้นคืนชีพมาใหม่ ซึ่งใช้งบประมาณรวม 2.69 แสนล้านบาท เป็นทุนของ ธ.ก.ส.เอง 9 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินที่รัฐบาลระดมจากสถาบันการเงินในประเทศ
จนถึงตอนนี้ทุนก็ยังไม่ได้กลับคืนมาเสียที เพราะรัฐบาลยังไม่ระบายข้าวออกสู่ท้องตลาด ด้วยนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ประกาศชัด “ไม่รีบ ถ้าไม่ได้ราคาก็ไม่ขาย”
ดูเหมือนรัฐบาลจะมีอำนาจต่อรองแต่ในความเป็นจริงนั้นรัฐบาลลืมไปว่า อีกไม่นานจะเริ่มการผลิตในฤดูนาปีรอบใหม่แล้ว และรัฐบาลก็ยังประกาศใช้นโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ดต่อไป
“จะเอาเงินจากไหนไปรับจำนำ จะเอาข้าวไปเก็บไว้ที่ไหน” นี่คือคำถามจาก ธ.ก.ส.
หนทางที่ ธ.ก.ส.เสนอไปถึงคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงโครงการรับจำนำข้าว คือ ขอให้มีการระบายข้าวเพื่อนำมาชำระคืนแก่ ธ.ก.ส. 9 หมื่นล้านบาท อย่างน้อยจะเป็นทุนตั้งต้นเพื่อรับใช้นโยบายรับจำนำต่อไป หาไม่แล้วคงต้องเป็นภาระหนักของรัฐบาลที่จะต้องระดมทุนเพิ่ม และกลายเป็นหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น
ถึงตอนนี้ภาระหนี้สาธารณะของประเทศ 40% ยังไม่สูงก็จริงแต่ทีดีอาร์ไอได้ประเมินว่า โครงการรับจำนำข้าวปละประชานิยมต่างๆ จะมีผลทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้น 4% ต่อปี
ถึงตอนนึคงปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคใดจะเข้ามาเป็นรัฐบาลต่างก็ใช้นโยบายประชานิยมด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งหากดำเนินนโยบายประชานิยมต่อเนื่องไป 15 ปี จะส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอีก 60% บวกกับของเดิมที่มี 40% ทำให้ประเทศไทย 15 ปีข้างหน้ามีสัดส่วนหนี้สาธารณะ 100% ของจีดีพี ใกล้เคียงกับกรีซที่กำลังมีปัญหาอยู่ขณะนี้
เมื่อโฟกัสเฉพาะนโยบายจำนำ สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ แห่งทีดีอาร์ไอ ระบุว่า เป็นนโยบายที่ทำให้ระบบข้าวอ่อนแอลง ต่อจากนี้ชาวนาจะหันไปปลูกข้าวโตไวไม่เน้นคุณภาพแล้ว เพราะอย่างไรเสียรัฐบาลก็รับจำนำข้าวทุกเมล็ดอยู่ดี แถมยังได้ราคาสูง 1.5-2 หมื่นบาทต่อตัน
สิ่งที่ตามมาคือ การพัฒนาตัวเองของชาวนา การพัฒนาพันธุ์ข้าว ความยั่งยืนของอาชีพ และความน่าเชื่อถือของข้าวไทยจะเสื่อมถอยลง กลายเป็นผลเสีย
ขนาดที่สมชัย เรียกว่า รัฐบาลกำลังทำบาปแก่ชาวนา
ถึงเวลาแล้วที่ต้องลองหยิบสมุดปกเขียวขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจังเพราะเป็นสิ่งที่จัดทำขึ้นจากหน่วยงานและบุคลากรที่คลุกคลีอยู่กับวงการข้าวและเห็นปัญหามาตลอดทุกปีที่ดำเนินการ
ขณะเดียวกันก็ถึงเวลาที่ควรหันมาดูแลสถาบันการเงินของรัฐ ที่เป็นแขนเป็นขาในการทำนโยบาย เป็นคนกลางที่ประสานระหว่างนโยบายรัฐและความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร ให้มีความเข้มแข็งสามารถทำหน้าที่ได้เต็มกำลัง ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดหนี้เน่าล้นมือ
ถ้าเห็นว่าการรับจำนำเป็นวิธีที่ดี ก็ถึงเวลาแล้วที่ต้องทบทวนและปรับปรุงนโยบายนี้ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
เพื่อให้ปีที่ 2 ของรัฐบาล เป็นปีที่สร้างความเข้มแข็งแก่ระบบเกษตรกรรมของประเทศอย่างแท้จริง