ผลการประชุม กยอ.ครั้งที่ 5/2555 กรณีเร่งด่วน 4 ประเด็น
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ครั้งที่ 5/2555 (กรณีเร่งด่วน 4 ประเด็น) ตามข้อเสนอของประธาน กยอ. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1. กำหนดนโยบายการลงทุนในระยะ 5 – 10 ปี โดยให้ความสำคัญกับการใช้แหล่งเงินกู้ในประเทศหลัก
2. ยกระดับความร่วมมือในการพัฒนาโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย
3. แนวทางการพัฒนาระบบรถไฟ ควรมีการดำเนินการควบคู่กันไปทั้งการปรับปรุงระบบรถไฟในปัจจุบัน และการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง
4. เร่งรัดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย เมื่อปี 2554 ผ่านโครงการสินเชื่อแบบผ่อนปรนของธนาคารแห่งประเทศไทย ในวงเงิน 300,000 ล้านบาท
สาระสำคัญของเรื่อง
สคช. แจ้งว่า ได้นำเสนอผลการประชุม กยอ. ครั้งที่ 5/2555 (กรณีเร่งด่วน 4 ประเด็น ตามข้อเสนอของประธาน กยอ.) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 กราบเรียนนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาเห็นชอบให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ทั้งนี้ โดยสรุปสาระสำคัญผลการประชุมกรณีเร่งด่วน 4 ประเด็นดังนี้
1. ประเด็นที่ 1 : นโยบายลงทุนของประเทศไทย นับตั้งแต่วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 ภาพรวมการลงทุนของประเทศไทยในรอบระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถบริหารให้เกิดการลงทุนที่สร้างรากฐานสำหรับอนาคตของประเทศได้ดีพอ ทั้งที่ประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง การออมสุทธิสูงแต่ยังไม่มีการนำเงินออมในระบบดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในการลงทุนเพื่อการพัฒนาโครงการสำคัญต่าง ๆ ของประเทศ ให้มีมาตรฐานและเพียงพอ ดังนั้น รัฐบาลจึงควรพิจารณากำหนดนโยบายการลงทุนในระยะ 5 – 10 ปีข้างหน้า โดยให้ความสำคัญกับการใช้แหล่งเงินกู้ในประเทศเป็นหลัก
2. ประเด็นที่ 2 : โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย มีความสำคัญในระดับภูมิภาค เนื่องจากเป็นการเชื่อมโยงพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของประเทศไปสู่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เห็นควรยกระดับความร่วมมือในการพัฒนาโครงการดังกล่าวขึ้นเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ทั้งนี้ ในระหว่างที่ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2555 และมีกำหนดพบหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลาดังกล่าว เห็นควรเสนอฝ่ายเมียนมาร์ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างไทย – เมียนมาร์ เพื่อให้มีกลไกในระดับรัฐบาลของทั้งสองประเทศในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม
3. ประเด็นที่ 3 : การลงทุนพัฒนาระบบราง ควรดำเนินการควบคู่กันไปทั้งการปรับปรุงระบบรถไฟที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง โดยควรมีการวางแผนเพื่อใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงของทั้งสองระบบในลักษณะสนับสนุนกัน ทั้งนี้ ในส่วนของการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงควรให้ความสำคัญกับการขนส่งสินค้าเพื่อช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศและสนับสนุนการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งกับท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันและฝั่งทะเลจีนใต้ เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายเสรีสินค้าและบริการภายใต้แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน
4. ประเด็นที่ 4 : การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในปี 2554 : การสนับสนุนสินเชื่อแบบผ่อนปรนของธนาคารพาณิชย์ยังมีผลการดำเนินงานในการอนุมัติสินเชื่อค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับการสนับสนุนสินเชื่อแบบผ่อนปรนผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน เป็นต้น ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการจัดสรรวงเงินสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ ในวงเงิน 300,000 ล้านบาท ให้กับธนาคารพาณิชย์ ภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ. 2555 แล้ว ดังนั้น เห็นควรขอความร่วมมือให้สมาคมธนาคารไทยช่วยเร่งรัดธนาคารพาณิชย์ในการอำนวยความสะดวกเพื่อปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม (SMEs) และรายย่อย