เมื่อฟิลิปปินส์เร่งเครื่องรับประชาคมอาเซียน ลุยเจรจากลุ่มแยกดินแดน (1)
คมวาทะ..."ความสำเร็จของทหารไม่ได้วัดที่ชัยชนะในสงคราม แต่อยู่ที่การได้ผดุงไว้ซึ่งสันติภาพภายในประเทศ เช่นเดียวกัน ทหารของเราจะได้รับการสดุดีอย่างเกริกก้องก็ใช่อยู่ที่จำนวนศัตรูที่พวกเขาฆ่าตายในห้วงเวลาแห่งความไม่ลงรอยกันไม่ แต่อยู่ที่จำนวนชีวิตที่พวกเขาสามารถรักษาไว้ได้จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั่นต่างหาก" - ประธานาธิบดีอากิโนแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์, ธันวาคม 2554
"The success of soldiers is measured not by the wars they’ve won but in maintaining the peace in our country and our soldiers are admired not in the number of enemies that they kill in times of discord but in the number of lives they save from conflict." - President Aquino of the Philippines, November 2011
ความนำ
ปัญหาท้าทายประธานาธิบดีหนุ่มแห่งฟิลิปปินส์ นายเบนิกโน อากิโนที่ 3 คือการแสดงเจตนาที่จะแก้ปัญหาของชาติที่หมักหมมมานานในสังคมฟิลิปปินส์ ไม่เพียงแต่ปัญหาความยากจน ปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่ยังรวมไปถึงปัญหาความแตกแยกภายในรัฐ เช่น ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ของประเทศ ไม่ต่างไปจากประเทศไทย โดยเฉพาะจากองค์กรจับอาวุธ "แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามิกโมโร" (The Moro Islamic Liberation Front หรือ MILF)
นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ก็ยังมีภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้าย (Terrorist groups) ตามการจัดของสหรัฐอีก 2 กลุ่มซึ่งเข้าข่ายกลุ่มก่อการร้ายคือ "พรรคคอมมิวนิสต์แห่งฟิลิปปินส์" (Communist Party of Philippines - CPP) และกลุ่ม "อาบูไซยาฟ" (Abu Sayyaf Group - ASG) ซึ่งจากรายงานระบุว่า ทั้งสองกลุ่มใช้ความรุนแรงเป็นวิถีในการจัดการกับปัญหา
เมื่อดูตามคำนิยาม ลักษณะของกลุ่มก่อการร้ายที่เห็นเด่นชัดคือมีการปฏิบัติการอย่างโหดเหี้ยมเกินกว่ามนุษยธรรมจะรับได้ เป็นต้นว่า การก่อวินาศกรรม การลักพาตัว การจับเป็นตัวประกัน การลอบยิงหรือลอบสังหาร การบังคับให้บุคคลสูญหาย การฆ่าตัดหัว การฆ่าข่มขืน หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อย่างเช่นในกรณีที่เกิดขึ้นในเมียนมาร์ที่ชาวโรฮิงญาถูกกระทำ ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปฏิบัติการที่กระทำต่อเป้าหมายที่เป็นพลเรือน
ในหลายกรณีจึงถือได้ว่า การก่อการร้ายมีรูปการณ์ของการคุกคามข่มขู่ให้ประชาชนทั่วไปเกิดความหวาดกลัว และเป็นการบีบบังคับรัฐบาลไปด้วยในตัว โดยกลุ่มก่อการร้ายจะไม่เต็มใจหรือไม่สนใจที่จะเปิดการเจรจาเพื่อยุติปัญหาแม้แต่น้อย เว้นแต่ในทางยุทธวิธีเท่านั้น
ในประเด็นนี้เมื่อมองไปยังกลุ่ม MILF ขบวนการต่อสู้ของคนพื้นเมืองทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ที่รู้จักในชื่อว่า "บังซาโมโร" (the Bangsamoro) หรือชนชาติโมโร กลุ่มนี้ก็ยังแสดงความต้องการเจรจามาตลอด และยังมี "ผู้ไกล่เกลี่ย" (mediator) ที่แน่นอนในระดับรัฐ เช่น รัฐบาลมาเลเซีย ลิเบีย ซาอุดิอารเบีย อินโดนีเซีย และในระดับองค์กร เช่น OIC (องค์กรความร่วมมืออิสลาม) และกลุ่ม ICG (The International Contact Group) มาทำหน้าที่ในฐานะ "คนกลาง"
รัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่ม MILF ได้เปิดการเจรจาเพื่อสันติภาพมาตั้งแต่ ค.ศ.1997 (พ.ศ.2540) มาเลเซียเข้ามาเป็น "ผู้ไกล่เกลี่ย" หรือเป็น "คนกลาง" ในการเจรจามาตั้งแต่ ค.ศ.2001 (พ.ศ. 2544) นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีก อาทิ The International Monitoring Team (IMT) ซึ่งเริ่มมีบทบาทตั้งแต่ ค.ศ.2005 (พ.ศ.2548) เป็นต้นมา โดยมีมาเลเซีย ลิเบีย บรูไน ญี่ปุ่น นอร์เวย์ และสหภาพยุโรป มีส่วนร่วมอย่างสำคัญ
ในปี 2009 (พ.ศ.2552) มีการจัดตั้งกลุ่ม The International Contact Group (ICG) ซึ่งมีลักษณะเป็นการร่วมมือกันระหว่างรัฐและองค์กรเอกชนเข้ามามีส่วนผลักดันให้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับ MILF อย่างจริงจัง [1] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไอซีจีได้ให้การสนับสนุนให้เกิดกลไกการเจรจา โดยมาเลเซียได้เสนอตัวเป็นคนกลางในการเจรจาสันติภาพระหว่างคู่กรณีอย่างแข็งขัน รวมทั้งครั้งที่ 27 หรือล่าสุดเมื่อ 24 เม.ย.ปีนี้ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์
กลุ่มไอซีจีประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น อังกฤษ ตุรกี และซาอุดิอารเบีย กับองค์กรเอกชนสากลอีก 4 องค์กรได้แก่ The Asia Foundation, Centre for Humanitarian Dialogue, Conciliation Resources และ Muhammadiyah (องค์กรศาสนาอิสลามในอินโดนีเซีย) ไอซีจีถือเป็นองค์กรจัดตั้งถาวรที่ปฏิบัติการอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก [2]
กระบวนการสันติภาพ
เหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ของฟิลิปปินส์โดยเฉพาะใน "มินดาเนา" ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 4 ทศวรรษ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายกบฏแบ่งแยกดินแดนในรูปขององค์กรติดอาวุธของคนพื้นเมืองพยายามยุติปัญหาการสู้รบด้วยการเจรจาหลายครั้ง แม้จะเคยประสบความสำเร็จ แต่ความรุนแรงก็ประทุขึ้นอีกครั้งแล้วครั้งเล่า เนื่องจากฝ่ายแบ่งแยกดินแดนมีหลายฝ่าย และมีเป้าหมายต่างกัน
เช่น กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร (The Moro National Liberation Front หรือเรียกย่อๆ ว่า MNLF) ซึ่งตอนแรกต้องการแบ่งแยกดินแดนไปเป็นรัฐอิสระ แต่ภายหลังการเจรจาก็ยอมยุติเข็มมุ่งเพื่อเอกราช ยอมรับหลักการของการปกครองตนเอง (autonomy) โดยยังคงเป็นส่วนหนึ่งของฟิลิปปินส์อยู่ แต่กลุ่ม MILF ซึ่งแยกตัวออกจาก MNLF ต้องการแยกตัวเป็นอิสระ ก่อตั้งรัฐเอกราชที่มีอำนาจอธิปไตยของตนเอง
ต่อประเด็นนี้ ศ.ดร.อับฮูด ไซยิด ลิงคา ซึ่งเคยเดินทางมาบรรยายในรายการสัมมนาที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เมื่อหลายปีก่อน ในฐานะผู้แทนคนหนึ่งของคณะกรรมการเพื่อสันติภาพของกลุ่ม MILF กลับเห็นแย้งว่า "นับตั้งแต่เริ่มมีการ 'พูดคุยสันติภาพ' (peace talk) ในปี 1997 (พ.ศ.2540) วาระของฝ่าย MILF ไม่เคยรวมถึง 'รัฐเอกราชของชนชาติโมโร' (an independent Bangsamoro state) แต่อย่างใด หากแต่พูดถึงรูปแบบของการปกครองตนเองสูงสุดสำหรับ 'บังซาโมโร' และในเรื่องการแบ่งปันทรัพยากรที่มีในแผ่นดินแห่งมาตุภูมิของชนชาติโมโร (the Bangsamoro Homeland) อย่างเหมาะสมระหว่างรัฐของชาวโมโรกับรัฐบาลกลาง" (MindaNews/7 November 2010) [3]
การพูดเช่นนี้ ศ. อับฮูด คงไม่ได้ต้องการพูดกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ แต่ต้องการพูดกับชาวมินดาเนามุสลิมมากกว่า ทำนองแก้ต่างให้ฝ่าย MILF สามารถเปลี่ยนอุดมการณ์มาขออยู่ร่วมกับมะนิลา เนื่องจากไม่ต้องการสงครามยืดเยื้อซึ่งรังแต่สร้างความเสียหายให้ทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะต่อประชาชนของตน
การเจรจารอบใหม่ระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับฝ่าย MILF เป็นไปได้ก็เนื่องจากฝ่าย MILF ได้ตกลงที่จะยุติการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธซึ่งเคยวางเป้าหมายอยู่ที่การแยกตัวเป็นรัฐเอกราช (an independent state) โดยหันมาขอเป็น "รัฐย่อยของชนชาติโมโร" (The Bangsa Moro sub-state) ที่มีความสัมพันธ์แบบ "อสมมาตร" หรือไม่เท่ากัน (asymmetrical relationship) ภายใต้การปกครองแบบสาธารณรัฐเดี่ยวระบบรัฐธรรมนูญที่มีประธานาธิบดี (Unitary presidential constitutional republic) แทน [4]
ทำไมถึงต้องเจรจา?
ทางฝ่าย MILF มักจะกล่าวว่า ชาวโมโรและคณะผู้แทนของตน "พูดได้ แต่เขาไม่รับฟังหรอก" (the Moro people and their representatives can speak, but are not listened to) ทำให้เห็นความกระตือรือร้นว่า ใครกันแน่ที่เป็นฝ่ายเพรียกหาสันติภาพ เป็นฝ่ายกบฏแบ่งแยกดินแดนหรือฝ่ายรัฐบาลกันแน่? (สรุปจากคำกล่าวของ ดาตูไมเคิล โอ มัสตูรา สมาชิกอาวุโส คณะกรรมการสันติภาพของฝ่าย MILF ในหัวข้อ Bangsamoro History and Quest for Future Status ในปาฐกถาซึ่งจัดโดย "ศูนย์เสริมสร้างพลังประชาชนในการปกครอง" (The Center for People Empowerment in Governance - CenPEG) ร่วมกับสถาบันอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ (The UP Institute of Islamic Studies - UPIIS) เมื่อ 23 มี.ค.2011 (พ.ศ. 2554) ณ มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ดิลิมัน กรุงเกซอนซิตี้ [5]
เมื่อพูดแล้วไม่ฟังกัน หรือ "พูดไปสองไพเบี้ย" ไม่ได้เป็นสาระสักเท่าไร บ่อยครั้งกลับนำไปสู่การประจันหน้าที่รุนแรงยิ่งขึ้น มีเลือดตกยางออกเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นการพูดคุยกัน (peace talk) จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน และจะต้องไปให้ถึงขั้นของการเจรจาทำความตกลงกันให้ได้ (negotiation) การเจรจาต้องการทั้งผู้พูดและผู้ฟัง แต่ผู้ที่มีบทบาทสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคู่เจรจาก็คือ "เจ้าภาพ" หรือ "คนกลาง" เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต้องการความไว้วางใจซึ่งกันและกันอย่างมาก เพื่อทำให้การเจรจาเกิดความสะดวกและสามารถบรรลุผลในแต่ละขั้นตอนได้ง่ายขึ้น
การเจรจาเพื่อลดหรือยุติความขัดแย้ง เป็นหนทางที่จะได้มาซึ่งทรัพยากรมนุษย์เพื่อมาร่วมกันพัฒนาสังคมและประเทศได้อีกมากมาย แต่การจะทำเช่นนี้ ผู้นำในสังคมจะต้องเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์อย่างดีเยี่ยมและมีทัศนคติเชิงบวก
นายมาร์วิก เลโอเนน นักเจรจาหัวหน้าคณะของรัฐบาลฟิลิปปินส์ กล้าเปิดใจด้วยการแสดงทัศนะอันคมคายว่า "ส่วนตัวผมมองเห็นพวกเขา พวกโมโรหนุ่มสาว เนื่องจากเรามีคณะทำงานตามกฎหมายที่ดำเนินการโดยคนโมโรหนุ่มสาวระดับมืออาชีพ..." เขากล่าว "ผมได้เห็นผู้นำพวกโมโรชั้นเยี่ยมหลายต่อหลายคน ทั้งผู้นำทางสาธารณะและผู้นำในระดับบุคคล ซึ่งทุกคนล้วนแต่สามารถเป็นผู้นำที่ดีในอนาคตของเราได้อย่างแน่นอน"
นายเลโอเนน ยังได้แสดงให้เห็นถึงแนวการพัฒนาในพื้นที่ของเขตปกครองตนเองใหม่ ด้วยการมองในแง่ดีและอย่างเชื่อมั่นว่า "ศักยภาพทางเศรษฐกิจอันมหาศาลของมินดาเนา มีทั้งในแง่การท่องเที่ยว การประมง อุตสาหกรรมการเกษตร รวมทั้งศักยภาพในแง่ความสามารถด้านการปกครอง และยังหมายถึงศักยภาพในการขับเคลื่อนสู่ความเป็นมืออาชีพในฐานะทรัพยากรมนุษย์ของชาวโมโร ศักยภาพของพวกโมโรปรากฏให้เห็นทั้งในแง่ทักษะและความจัดเจนด้านเทคนิคและการบริหารจัดการอย่างเพียบพร้อม"
นายเลโอเนน กล่าวว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์มีความมุ่งมั่นและประสงค์จะลงนามในข้อตกลงสันติภาพขั้นสุดท้ายกับ MILF ให้ได้ภายในปี 2555 นี้
"เรามองไปข้างหน้าในทางที่ดีและอย่างระมัดระวัง เราหวังจะได้สัญญาสันติภาพในเร็ววันที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะยิ่งเรามีสันติภาพเร็วเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นผลดีแก่ประเทศชาติของเรามากขึ้นเท่านั้น" เขากล่าวทิ้งท้าย
นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมจึงต้องเปลี่ยนศัตรูเป็นมิตร ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำได้ด้วยการผลักดันการเจรจาสันติภาพให้บังเกิดขึ้นในเร็ววันที่สุด ทั้งนี้เพราะฟิลิปปินส์จำเป็นต้องบรรลุถึงการแก้ไขปัญหาทั้งมวล โดยเฉพาะความขัดแย้งภายใน ก่อนการมาถึงของ "ประชาคมอาเซียน" ทั้งทางด้านสังคม-วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และความมั่นคง ในอีกไม่ถึง 3 ปีข้างหน้านี้
-------------------------------------------(โปรดอ่านต่อตอนที่ 2)------------------------------------------
เชิงอรรถ :
[1] (โปรดศึกษาได้จาก http://www.c-r.org/our-work/philippines)
[2] โปรดดูเว็บไซต์ของ ICG ได้ที่ http://www.c-r.org/
[3] โปรดดู <http://www.mindanews.com/peace-process/2010/11/07/milf-peace-panel-member-to-media-educate-people-on-bangsamoro-aspirations/> Retrieved 29/07/55
[4] โปรดดู <http://www.mindanews.com/top-stories/2012/05/29/plebiscite-may-decide-fate-of-gph-milf-final-peace-pact-says-jaafar/> Retrieved 30/07/55
[5] โปรดดู <http://www.mindanews.com/for-the-record/2011/04/07/bangsamoro-history-and-quest-for-future-status/> Retrieved: 30/07/55
บรรยายภาพ :
1 ประธานาธิบดีเบนิกโน อากิโน
2 แผนที่สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
3 มหาวิทยาลัยมินดาเนาที่เมือง ตาวี-ตาวี