แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
1 เม.ย.ค่าแรง 300 รัฐหวังกู้หน้าค่าครองชีพ - พลังงาน
ขณะที่ภาครัฐก็พยายามออกแรงกดราคาสินค้า แต่ดูเหมือนว่าจะ "เอาไม่อยู่" ต้องปล่อยให้ข้าวของและน้ำมันขยับราคาตามต้นทุนที่แท้จริง โดยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เบนเข็มหันมาใช้มาตรการเพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชนแทน
โดยวันที่ 1 เม.ย. 2555 จะเป็นวันแรกที่ผู้ใช้แรงงานใน 7 จังหวัดเขตกรุงเทพและปริมณฑล ได้รับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 ต่อวัน และตามแผนที่วางไว้ จะมีการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท เต็มพิกัดทุกจังหวัดทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค. 2556
แม้จะถูกมองว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลัง "บีบคอ" นายจ้างให้ควักกระเป๋าจ่ายเงินเพิ่มขึ้น แต่ในซีกผู้บริหารกระทรวงแรงงานมองว่า ถ้าปล่อยให้ผู้ใช้แรงงานกินค่าจ้างรายวันในอัตราเดิมต่อไป คนกลุ่มนี้ต้องได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าครองชีพไปเต็มๆ
เพราะเมื่อมองจากต้นทุนในการดำเนินชีวิตของผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ จะพบว่า มีค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มคิดเป็นสัดส่วน 32.8% ของรายจ่ายทั้งหมด รองลงมาคือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนบ้าน หรือเครื่องใช้ภายในบ้าน 20.8%
ที่ตามมาติดๆ คือค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าน้ำมัน สัดส่วน 19.1% ที่เหลือคือค่าใช้จ่ายส่วนตัวเช่น เสื้อผ้า รองเท้า หนังสือ ยารักษาโรคและโทรศัพท์มือถือประมาณ 9.6%
ถ้าคำนวณตามสัดส่วนตัวเลขดังกล่าว จะเห็นว่า แม้ผู้ใช้แรงงานจะได้รับการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทไปแล้ว แต่เงินจำนวนนี้ก็ต้องจ่ายเป็นค่าอาหารและเครื่องดื่มในแต่ละวันอย่างต่ำ 100 บาท
รวมถึงต้องจ่ายเป็นค่าเดินทางและค่าน้ำมันหรือก๊าซอีกประมาณ 60 บาท แต่ถ้าต้นทุนของทั้งสองส่วนนี้ถีบตัวสูงขึ้นอย่างในปัจจุบัน จำนวนเงินที่เหลือในกระเป๋าของผู้ใช้แรงงานก็มีแต่หดลงๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อตรวจสอบตัวเลขเงินเฟ้อซึ่งสะท้อนค่าครองชีพที่แท้จริง ที่กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศไปล่าสุด จะพบว่า ในเดือนก.พ.2555 เงินเฟ้อทั่วประเทศสูงขึ้น 3.35% เป็นการสูงขึ้นของราคาอาหารและเครื่องดื่มถึง 7.18% ไม่ว่าจะเป็น ข้าว แป้ง นม เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ ล้วนสูงขึ้นกราวรูด
จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหตุใด "ดัชนีราคาอาหารบริโภคสำเร็จรูป" หรือพูดง่ายๆคือ "แกงถุง" ในท้องตลาด ที่ต้องใช้ข้าว ปลา อาหาร ไข่ไก่ และผักต่างๆเป็นวัตถุดิบ จะขยับตัวพุ่งพรวดไปถึง 9.19% เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ใช้แรงงานนิยมที่นิยมซื้อแกงถุงกลับไปล้อมวงกินที่บ้านแทบจะสำลักตักเข้าปากไม่ลง
ถ้าอาหารสำเร็จรูปกลุ่มนี้ปรับขึ้นไปแล้วส่วนใหญ่จะไ่ม่ยอมปรับลดลงมาที่เดิมง่ายๆ แม้ต้นทุนสินค้าจะลดลงสู่ภาวะปกติก็ตาม นั่นหมายความว่าผู้ใช้แรงงานต้องเผชิญชะตากรรมของแพงไปอีกพักใหญ่
นายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยอมรับว่า ค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างมากในขณะนี้ ทำให้ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่แทบไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ บางส่วนต้องกู้ยืมเงินนอกระบบมาใช้แล้ว เพราะเงินที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเป็นค่าอาหารและน้ำดื่มในแต่ละมื้อรวมๆแล้วเกือบ 60 บาท ยังไม่นับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าน้ำมัน ส่วนคนที่มีลูกเมียต้องเลี้ยงก็ยิ่งเป็นภาระหนักอึ้ง
"ถ้าเงินค่าแรงไม่ถึง 300 บาทต่อวัน ก็คงอยู่ไม่ได้ในสถานการณ์เช่นนี้ อยากให้ทุกฝ่ายเห็นใจผู้ใช้แรงงานด้วย ตอนนี้ผู้ใช้แรงงานอยากจะพาลูกเมียไปดูหนังอย่างคนทั่วไปยังไม่ได้เลย ถ้าใครอยากมีเงินใช้ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ถ้าไม่ดิ้นรนกู้นอกระบบ ทำงานได้เงินมาเท่าไหร่ก็ใช้ชีวิตอยู่ไม่ได้"นายสง่าระบุ
อย่างไรก็ตาม การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ถูกสังคมมองว่า เป็นการขึ้นเพื่อกลบเกลื่อนผลงานการแก้ปัญหาค่าครองชีพของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้ราคาอาหารและพลังงานแพง ซึ่งนายสง่า ยืนยันว่า ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ถือเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาแล้ว และเมื่อเป็นรัฐบาลก็ได้ประกาศนโยบายดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎร ถือเป็นเงื่อนไขผูกพันที่จะต้องดำเนินการตามที่สัญญากับประชาชนเอาไว้
นอกจากนั้น การปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้ยังคำนึงถึงปัจจััยด้าน "คุณภาพชีวิต" ของผู้ใช้แรงงานเป็นหลัก แตกต่างจากเงื่อนไขเดิมที่คณะกรรมการไตรภาคีเคยใช้เป็นมาตรฐานในการพิจารณา พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้มีการเข้าไปครอบงำการทำหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งมีทั้งตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ โดยคณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาเรื่องนี้ได้อย่างเป็นอิสระอยู่แล้ว ไม่มีการก่าวก่ายจากกระทรวงแรงงาน
"คณะกรรมการไตรภาคีคงเห็นความจำเป็นเช่นเดียวกับรัฐบาล ที่จำเป็นต้องทำให้ลูกจ้างและผู้ใช้แรงงานอยู่ได้ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ เพราะที่ผ่านมาการคิดค่าแรงขั้นต่ำไม่เคยนำเรื่องคุณภาพชีวิตมาคำนวณกันเลย ทำให้คนจนก็จนอยู่วันยังค่ำ ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทครั้งนี้ จะทำให้สังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลต่อความเป็นอยู่โดยรวมปรับตัวสูงขึ้นด้วย"เลขานุการรมว.แรงงานระบุ
ขณะที่ผลลัพท์ที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ คือเมื่อปรับรายได้ขั้นต่ำให้ 300 บาทแล้ว ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศต้องอยู่ดีกินดี ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลต่อสภาพสังคมที่ดีตามไปด้วย เพราะคนเหล่านั้นก็สามารถที่จะกลับไปให้ความสุขกับลูกเมีย มีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น ปัญหาสังคมที่เลวร้ายที่เคยเกิดขึ้น ก็น่าจะบรรเทาเบาบางลง
นายสง่า ยืนยันว่า การดำเนินการปรับขึ้นค่าแรง ได้ทำอย่างเป็นขั้นตอนตามกฎหมาย โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 มีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคี เพื่อกำหนดอัตราค่าจ้างข้นต่ำจังหวัดทั่วประเทศปี 2555 มีมติเห็นชอบการปรับค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2555โดยปรับค่าจ้างแบบนำร่อง 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีค่าจ้างขั้นต่ำอัตราสูงสุด ปรับจากวันละ 221 บาท เป็นวันละ 300 บาท เพิ่มขึ้น 79 บาท หรือ 35.7%
พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ปรับขึ้นจากวันละ 215 บาท เป็น 300 บาท เพิ่มขึ้น 85 บาท หรือ 39.5%
พร้อมมีมติให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดที่เหลืออีก 70 จังหวัด ซึ่งมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ก็ให้ปรับขึ้นเป็นวันละ 300 บาทเท่ากันหมด โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 สำหรับ 7 จังหวัด ที่ได้มีการปรับขึ้นไปก่อนหน้านั้นให้คงอัตราค่าจ้างไว้ที่ 300 บาทไว้ระยะหนึ่งก่อน
"ในปี 2557 และปี 2558 ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัดไว้ที่วันละ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่หากเศรษฐกิจของประเทศมีความผันผวนอย่างรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของลูกจ้าง ทางคณะกรรมการค่าจ้างสามารถพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้่างขั้นต่ำในปี 2557 และปี 2558 ได้ตามความเหมาะสม"นายสง่าระบุ
เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่า ผู้ประกอบการทั่วประเทศได้รับทราบประกาศการปรับค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว และเชื่อว่าทุกฝ่ายรู้หน้าที่ตัวเองเป็นอย่างดีว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร แต่ทางกระทรวงแรงงานโดยกรมสวัสดิการสังคม ก็คงมีเจ้าหน้าที่ในการออกไปสุ่มตรวจว่าผู้ประกอบการปฏิบัติต่อแรงงานตามกฎหมายหรือไม่ ขณะเดียวกันเราก็มีศูนย์ร้องเรียนค่าจ้าง 300 บาท เพื่อให้ลูกจ้างมาร้องทุกข์ได้
ขณะนี้กลุ่มธุรกิจที่มีการร้องว่าได้รับผลกระทบมาก คือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี เพราะแต่เดิมธุรกิจเหล่านี้ไม่ค่อยมีระบบในการว่าจ้างแรงงาน แต่ขณะนี้ต้องปรับปรุงตัวเองและปฏิบัติตามกฎหมายก็ทำให้ต้นทุนของเค้าสูงขึ้นมาก แต่การปรับค่าจ้างครั้งนี้จะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีได้ยกระดับพัฒนาตัวเองด้วยและแรงงานก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
“บริษัทใหญ่ๆจะได้ประโยชน์จากประกาศขึ้นค่าแรงของรัฐบาลมากกว่า เพราะรัฐบาลจะมีการลดสิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ จาก 30% เหลือ 23% ในปี 2555 และในปี 2556 ก็จะลดอีก 3% ซึ่งเป็นการลดภาษีทั้งกิจการ ทำให้ต้นทุนค่าแรงที่ขึ้นไปไม่กี่บาทได้รับการชดเชย เสมือนไม่เกิดอะไรขึ้นกับต้นทุนของผู้ประกอบการใหญ่ๆเลย"นายสง่าระบุ
ขณะนี้จึงเป็นเวลาที่สังคมไทยต้องร่วมกันนับถอยหลังไปสู่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า เมื่อขยับขึ้นแล้วจะทำให้ผู้ใช้แรงงานมีภูมิต้านทานกับค่าครองชีพที่สูงลิบลิ่วได้หรือไม่ และจะปรับตัวอย่างไรต่อไปหากต้นทุนในการดำเนินชีวิตยังทะยานต่อ เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังไม่มีวี่แววว่าจะลดลง
ในอนาคตหากรัฐบาลเลือกที่จะปล่อยให้ราคาสินค้าปรับขึ้นตามต้นทุนได้เช่นนี้ต่อไป ก็อาจมีเสียงเรียกร้องจากบรรดาผู้ใช้แรงงานว่า รายได้ 300 บาทต่อวันนั้นไม่เพียงพอ ถือเป็นปัญหาหนักอกที่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง ไม่ใช่ปล่อย "ลอยตัว" ราคาสินค้า แต่ "ลอยแพ" ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสังคมร้อนระอุตามมาแน่นอน