แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
วิบากกรรมคนไทย 'น้ำมันลด ค่าไฟเพิ่ม' นักวิชาการแนะรัฐคุ้ยต้นทุนปตท.
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555ถือว่าประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะราคาพลังงานที่มีความผันผวนสูง โดยเร่ิมต้นจากราคาน้ำมันในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.ที่แพงลิบลิ่ว กระทบภาวะค่าครองชีพของประชาชน ทำให้ราคาข้าวแกงและสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆปรับขึ้นเป็นเงาตามตัว
กระทั่งในช่วงต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันในตลาดโลกค่อยๆลดลง ตามแรงถดถอยของเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซน ทำให้คนไทยได้หายใจหายคอกันอีกเฮือก ขณะที่แรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อที่หลายหน่วยงานกังวลนั้น ก็ผ่อนคลายลงเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม วิบากกรรมของคนไทยไม่ได้มีแค่เรื่องน้ำมันอย่างเดียว เพราะล่าสุดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ในฐานะ "เรคกูเรเตอร์" ที่ดูแลต้นทุนค่าไฟฟ้า ประกาศขยับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่าเอฟที อีก 30 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้บิลค่าไฟฟ้าของทุกครัวเรือนใน 3 เดือนนี้ขึ้นอีก 10%
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การปรับขึ้นค่าเอฟทีในครั้งนี้เป็นไปตามต้นทุนก๊าซที่ปรับตามราคาน้ำมันในช่วง 4 - 8 เดือน เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ใช้ก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนสูงมาก ดังนั้น เผื่อให้กฟผ.อยู่รอดไม่ขาดทุนหรือเจ๊ง ก็สามารถปรับค่าเอฟทีได้ในอัตราที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม คำถามที่ตามมาคือมีการพิจารณาต้นทุนอย่างยุติธรรมต่อประชาชนหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นได้เห็นการทำงานของกกพ.ก็เห็นว่าทำงานได้ดีมาก แต่ในฐานะประชาชนที่ใช้ไฟก็อยู่ให้กกพ.ดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป เนื่องจากต้นทุนที่เสนอมาอาจจะมีการใส่ตัวเลขบางตัวที่สูงเกินความจริง เพราะกฟผ.อาจรู้อยู่แล้วว่าเสนอไปทางหน่วยกำกับดูแลก็ต้องปรับลดลงมา จึงเสนอให้สูงไว้ก่อน
“ประเด็นของผมคือต้นทุนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลอยู่นั้น ได้พิจารณารอบคอบดีแล้วหรือไม่ ไมใช่ตัวเลขพองออกมา โดยไม่สอบต้นทุนดู ต้องไปถามกกพ.ว่ารีดไขมันได้เต็มที่แล้วหรือยัง เพราะเวลารัฐวิสาหกิจบอกตัวเลขในการปรับขึ้นมา ก็จะพองมาก อยู่ที่ว่ากกพ.จะตัดลดลงได้หรือไม่" ศ.ดร.บัณฑิตกล่าว
ทั้งนี้ กกพ.ได้หยิบยกเหตุผลในการปรับขึ้นค่าเอฟทีของกฟผ.ครั้งนี้ว่า ทางกฟผ.ต้องแบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงอยู่ 14,355ล้านบาท อีกทั้งในช่วงหลังน้ำท่วมที่ผ่านมา กฟผ.ก็ไม่สามารถปรับขึ้นราคาตามต้นทุนได้เนื่องจากต้องช่วยเหลือประชาชนในเรื่องค่าครองชีพ แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะสูงขึ้นก็ตาม
โดยทางกกพ.มีการคำนวณว่า หากกฟผ.ขึ้นราคาไฟฟ้าอีก 30 สตางค์ต่อหน่วยจะทำให้อัตราค่าไฟฟ้าที่ผู้บริโภคใช้อยู่เพิ่มขึ้นประมาณ 9-10%
สำหรับประเด็นที่กกพ.เคยถูกคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร้องเรียนว่า กฟผ.ต้องซื้อก๊าซธรรมชาติจากบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน)เพื่อมาผลิตไฟฟ้าในราคาที่แพงกว่าความเป็นจริง ทำให้ต้องขึ้นค่าเอฟทีกับประชาชน ขณะที่ทางกกพ.อ้างว่าไม่มีกฎหมายเข้าไปดูแลนั้น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน กล่าวว่า จริงๆแล้วหน่วยงานที่ต้องควบคุมดูแลต้นทุนค่าก๊าซคือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ทางกกพ.ไม่มีอำนาจในการพิจารณาหรือสั่งให้มีการลดราคาค่าก๊าซจากปตท.
ศ.ดร.บัณฑิต ระบุว่า หน่วยงานที่ีเกี่ยวข้องควรเข้าไปดูธรรมาภิบาลของปตท.และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะถ้าเมื่อไหร่ก็ตาม หากมีการดำเนินการไม่โปร่งใส ไม่ชัดเจน เมื่อทำอะไรไปแล้วผู้คนก็จะสงสัยตั้งข้องสังเกตตลอด แม้ครั้งนี้จะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาก็ตาม เพราะช่วงที่ผ่านมา เวลาขอสัมปทานก็แจกแจงว่าตนเองเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ แต่เมื่อต้องทำเพื่อสังคมก็บอกว่าเป็นบริษัทเอกชนต้องแสวงหากำไร ดังนั้น ทางกกพ.ก็ถือเป็นเรกูเรเตอร์กำกับดูแลด้านพลังงาน จะปัดความรับผิดชอบของตัวเองไม่ได้เช่นกัน
ที่ผ่านมาสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ เคยตีแผ่ต้นทุนค่าก๊าซเอ็นจีวีที่บริษัทปตท.ขายให้กับประชาชนนั้นสูงกว่าความเป็นจริง เนื่องจากมีการคิดค่าการตลาดที่สูงมาก หากมีการลดส่วนนี้ลงได้จะช่วยให้ราคาก๊าซที่ขายถูกลงได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบรับไปดำเนินการอย่างจริงจัง เนื่องจากมีทั้งผู้เสียประโยชน์และได้ประโยชน์จากการปรับราคาก๊าซ
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ มองว่า ในส่วนราคาน้ำมันในตลาดโลกนั้น ในระยะ 1 ปีนี้ ราคาคงจะไม่สูงขึ้นมากเหมือนในช่วงที่ผ่านมา แต่แนวโน้มราคาน้ำมันจะสูงต่อไปและมีความผันผวน ดังนั้น นโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลก็ต้องเดินให้ถูกทิศทางด้วย อย่างในขณะนี้ที่ราคาน้ำมันขายปลีกลดลง และรัฐบาลมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันถือว่าถูกต้องแล้ว เพราะต้องเร่งเคลียร์หนี้เก่าที่ไปพยุงราคาเอาไว้ในช่วงที่ผ่านมา
โดยจริงๆแล้วกองทุนน้ำมันมีการออกแบบไว้สำหรับช่วยลดราคาน้ำมันช่วงที่ผันผวน ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน เป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้นไม่ให้ราคาขึ้นลงแรงเกินไป เป็นการช่วยเกลี่ยราคาไม่ให้ "สวิง" ตัวมากกว่า แต่ที่ผ่านมารัฐบาลมีการนำกองทุนน้ำมันไปใช้ในการพยุงราคาด้วย ซึ่งถือเป็นการฝืนกลไกตลาดโลกและไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง ทำให้เกิดผลเสียต่อภาวะเศรษฐกิจ
ตัวอย่างที่ชัดคือ ในขณะนี้บริษัทน้ำมันขายปลีกต่างชาติหลายแห่งก็ปิดตัวเองกลับประเทศไปแล้ว เพราะถูกรัฐบาลบีบค่าการตลาด และสู้กับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจหลายอย่างเช่น ธุรกิจค้าปลีก ควบคู่ไปด้วยไม่ได้ สุดท้ายก็จะเกิดการผูกขาดเหลือบริษัทน้ำมันเพียงไม่กี่แห่งในตลาด ไม่มีการแข่งขันผู้บริโภคก็เสียเปรียบ
“กองทุนน้ำมันควรเข้าไปช่วยเหลือเฉพาะเวลาราคาผันผวน เช่น ราคาขึ้นเกิน 5% ต่อวัน อย่างนี้ก็ต้องเข้าไปแล้ว เพราะน้ำมันเรานำเข้าจากต่างประเทศ ผลิตเองไม่ได้ ซื้อมาเท่าไหร่ก็ควรสะท้อนราคาตามนั้น ถ้าจะสู้ราคาก็อยู่ได้ไม่นาน เมื่อนำเงินกองทุนไปพยุงราคา รัฐบาลนี้ได้ประโยชน์ แต่รัฐบาลหน้ามาก็ต้องมาแก้ไขอยู่ดี" ศ.ดร.บัณฑิตกล่าว
นอกจากนั้น หากรัฐบาลยังฝืนใช้นโยบายให้กองทุนเข้าไปพยุงราคาต่อไป ประเทศไทยจะเสียเปรียบมากเมื่อมีการเปิดเสรีทางการค้าของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพราะหมายความว่าเพื่อนบ้านจะสามารถเข้ามาใช้น้ำมันถูกในประเทศไทยได้สบายๆ
ด้านดร.พลายพล คุ้มครอง อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับรัฐบาลในการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง และควรใช้โอกาสนี้ในการปรับโครงสร้างพลังงาน เช่น การเงินจากน้ำมันเบนซิน เพื่ออุดหนุนราคาแก๊สโซฮอล์ หรือกำหนดให้การขาดทุนไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อไม่ให้การพยุงราคาฝีนกลไกตลาดโลก
นอกจากนั้น ยังเห็นด้วยกับการลอยตัวก๊าซแอลพีจีเพื่อให้ราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพราะการฝืนราคาต่ำไว้นานก็เป็นภาระกับกองทุนน้ำมัน แล้วรัฐบาลเลือกที่จะให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อนเป็นกลุ่มๆดีกว่า
ขณะที่ดร.พิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคและจุลภาค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันค่าใช้จ่ายพลังงานของประชาชนคิดเป็นสัดส่วน 9% ของค่าครองชีพทั้งหมด เมื่อมีการขึ้นราคาน้ำมันหรือค่าเอฟที ผู้บริโภคย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่นับผู้ผลิตสินค้า ที่ต้นทุนก็จะสูงขึ้น จำเป็นต้องปรับราคา สุดท้ายก็มีผลต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ ในช่วงตั้งแต่ต้นปี2555 ถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันสูงมากและผันผวนจนราคาสินค้าขยับตัว แต่ขณะนี้ราคาเริ่มลดลงแล้ว ย่อมจะช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายของประชาชนได้ระดับหนึ่ง ดังนั้น การขึ้นค่าเอฟทีอีก 30 สตางค์ของกฟผ.ในช่วงนี้ ก็อาจไม่เป็นภาระต่อผู้บริโภคมากนัก ถือเป็นการขึ้นค่าเอฟทีในจังหวะที่เหมาะสม
“เมื่อค่าครองชีพเริ่มลดลง ปัญหาเงินเฟ้อก็จะลดลงตามไปด้วย ราคาน้ำมันที่ต่ำลงในขณะนี้ทำให้เงินเฟ้อไม่เร่งตัวอย่างที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ไว้เดิมที่ 3.9% ในปีนี้ ก็น่าจะเหลือเพียง 3.5% เท่านั้น เพราะผลพวงจากน้ำมันที่ลดจะช่วยส่งผลต่อทิศทางในครึ่งปีหลังด้วย" ดร.พิมลวรรณกล่าว
ก่อนหน้าที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินตัวเลขเงินเฟ้อไว้สูง 3.9% เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่จะผลักดันราคาสินค้า ส่วนใหญ่มาจากการปรับสูงขึ้นของราคาพลังงาน ตามแนวทางของภาครัฐที่เคยประกาศไว้ว่าจะขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี ที่กระทบต่อภาคขนส่ง รวมถึงราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นตามโครงการรับจำนำข้าว ภาวะภัยแล้งทำให้ผลผลิตขาดแคลน และต้นทุนค่าแรงงานในภาคเอกชนที่จะเพิ่มแบบก้าวกระโดดในเดือนเมษายน เนื่องจากรัฐบาลมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท และขึ้นเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท
รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า สำหรับราคาสินค้าที่เคยปรับสูงขึ้นไปในช่วงที่ผ่านมานั้น คงปรับลดลงมายาก แต่ก็จะไม่แพงเหมือนในช่วงก่อน เพราะต้องยอมรับว่าภาวะเงินเฟ้อที่สูงยังคงมีอยู่ต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวแรงเป็นรูปตัววี (V Shape) คาดว่าจีดีพีปีนี้อาจโตได้สูงถึง 5%
เนื่องจากมีแรงกระตุ้นเข้ามาจากโครงการลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายของประชาชนหลังอุทกภัย
ดร.พิมลวรรณ ระบุว่า ในช่วงนี้รัฐบาลควรมีการสร้างนโยบายพลังงานที่ไม่ทำให้โครงสร้างบิดเบือนไปมาก เมื่อราคาน้ำมันโลกลดลงแล้วการดำเนินนโยบายที่อุดหนุนราคาก็น่าจะลดลงไปด้วย ถือเป็นจังหวะที่ดี เพราะหากรัฐบาลลดการอุดหนุนในช่วงที่ราคาขยับขึ้น ก็จะถูกโจมตีเรื่องค่าครองชีพเหมือนในช่วงที่ผ่านมาที่รัฐบาลพยายามขึ้นราคาก๊าซในช่วงที่ราคาน้ำมันแพง สุดท้ายก็ต้องชะลอการดำเนินการออกไป เพราะถูกแรงต่อต้านจากประชาชน
ผลกระทบของผู้บริโภคจากการขึ้นค่าไฟฟ้าอีก 30 สตางค์ต่อหน่วยในเดือนมิ.ย.- ส.ค.
หน่วย : บาทต่อหน่วย
ที่มา : คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน