แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
ยุคแห่งการแย่งชิงเศรษฐกิจ...พม่าไม่ใช่ของตาย (ไทย) อีกต่อไป
ประเทศพม่า หรือสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า หลังจากที่ปิดประเทศมาเป็นเวลานาน เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จึงสร้างแรงกระเพื่อมต่อหลายประเทศทั่วโลกได้ไม่น้อย
จะเห็นว่า ทุกวันนี้ถนนทุกสาย มุ่งตรงมายังประเทศพม่า ณ ดินแดนแห่งนี้
ประเทศไทยเอง ซึ่งมีพรมแดนประชิดติดต่อกันสองพันกว่ากิโลเมตร ย่อมต้องได้รับผลพวง ได้รับโอกาสในเรื่องของการลงทุน ในประเทศพม่า แต่หลายคนอาจยังมีคำถามว่า พม่าจะเปลี่ยนจริงหรือไม่ ?
.... เพราะการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความไม่แน่นอนเสมอมาของประเทศพม่านั้น ได้กลายเป็นสาเหตุของความไม่ไว้วางใจ ซึ่งเรื่องนี้ รศ.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่า พม่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงจริง แต่ขอให้มองการเปลี่ยนในหลายมิติ นอกเหนือจากเรื่องของโอกาสและการพัฒนาแล้ว ต้องมองถึง "ปัญหา" ที่พร้อมจะติดตามมาควบคู่ไปด้วย
ประเด็นสำคัญที่ทำให้หลายประเทศทั่วโลกต้องจับตามองความเคลื่อนไหวของ "ฤๅษีแห่งเอเชีย" ก็เพราะว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายของนักวิชาการที่ติดตามข้อมูลของประเทศนี้มาโดยตลอด
ใครจะคาดคิดว่า กองทัพพม่าที่ครองประเทศมายาวนานกว่า 50 ปี จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงประเทศ
และ ที่สำคัญกว่านั้นคือ พม่าอาจเรียกได้ว่า เป็นประเทศไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่ยังคงความมั่งคั่งทางทรัพยากรในการลงทุนไว้เป็นอย่างดี ซึ่งนี้คือแรงดึงดูดสำคัญที่ทำให้นักลงทุนหมายปองประเทศนี้
รศ.สุเนตร ย้ำว่า สิ่งที่ไทยควรต้องคิดคือ ในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในพม่าขณะนี้จะกระทบต่อไทยแค่ไหนและกระทบอย่างไร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรามีการตระหนักรู้ และมีการเตรียมการตั้งรับ หรือไม่ อย่างไร เพราะแน่นอนที่สุดว่าต้องมีผลกระทบต่อบ้านเราทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้จะเป็นปัญหาที่จำกัดในประเทศพม่าก็ตาม
ทั้งนี้ การเมืองของพม่านั้นเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงอย่างมากและจะยังคงมีอิทธิพลต่อการพัฒนาการเมืองในพม่า ซึ่งแน่นอนว่า ปีนี้จนถึง 2015 กองทัพพม่าสามารถที่จะคุมสภาพได้ แต่หลังจากที่มีการเลือกตั้งซ่อมเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้บทบาทของนางออง ซาน ซู จี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี ได้เข้าไปนั่งอยู่ในสภา แม้จะเป็นเสียงเพียงน้อยนิดก็ตาม แต่ก็เป็นเสียงได้รับการขานรับจากประชาชนและนานาชาติ
ฉะนั้น นักวิชาการผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ สังคม และการเมืองพม่ามาอย่างช่ำชอง บอกว่า เราต้องคอยตามดูว่าในปี 2015 นั้นบทบาทนี้ส่งผลกระทบต่อการคุมสภาพของกองทัพทหารให้เปลี่ยนไปได้หรือไม่
"แต่ไม่ว่าการเมืองของพม่าจะเป็นอย่างไรต่อจากนี้ ขณะนี้ก็ถือว่าเป็นโอกาสของไทยในหลายมิติ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ภาครัฐควรมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมและชัดเจนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพม่าเสียที" ผอ.สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ฝากทิ้งท้าย
พม่า-ผ้าขี้ริ้วห่อทอง แนะใช้พรมแดนให้เป็นประโยชน์
“ผลพวงของการเปลี่ยนแปลงทำให้พม่าไม่ใช่ของตายของไทยอีกต่อไปแล้ว แต่จะกลายเป็นพื้นที่ที่ต้องเข้าแย่งชิงและแข่งขัน” นางสาวพรพิมล ตรีโชติ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ว่า ตอกย้ำอีกประเด็น ที่สามารถทำให้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องหันกลับมาศึกษาประเทศเพื่อนบ้านอย่างจริงจัง
ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นของตายอยู่หลังบ้านเหมือนแต่ก่อน !!
โดย เธอกล่าวว่า ที่ผ่านมานโยบายของภาครัฐไทยนั้นมองพม่าเป็นประเทศที่น่าหวาดระแวงและเป็นศัตรู จึงมองข้ามและไม่ให้ความสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เราปล่อยเขาทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะแท้จริงแล้วพม่านั้นเป็นผ้าขี้ริ้วห่อทอง เพราะเราไม่เคยศึกษาว่า ข้างบ้านเรามีขุมทรัพย์อะไรซ่อนอยู่และจะจับมือกับเขาได้อย่างไร
ในทางกลับกัน ผู้ที่เห็นโอกาสและให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของพม่ามาเป็นเวลานานกลับกลายเป็นนักลงทุนตามตะเข็บชายแดน ที่กลายเป็นแรงส่งสำคัญในการช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์และเป็นต้นทุนสำคัญให้กับไทย
"ไทยเองควรใช้ประโยชน์จากเส้นทางคมนาคมที่จะเชื่อมไปยังพม่า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนนเชื่อมต่อกับชายแดนพม่าที่ความจริงแล้วมีแผนในเรื่องมายาวนาน แต่ไม่ผลในทางปฏิบัติ"
พร้อมกับได้ยกตัวอย่าง บริเวณชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ไกลจากเมืองเนปิดอร์เพียง 120 กิโลเมตร ซึ่งหากสามารถเชื่อมต่อถนนเข้าไปได้จะทำให้มีสินค้าเข้า-ออกเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้บริเวณด้ามขวานทองระหว่างไทยและพม่า หากมีการจับมือกันเราจะสามารถใช้มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกร่วมกันได้ โดยเฉพาะบริเวณเมืองมะริดและด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันต์
โดยเฉพาะ หากเราสามารถเชื่อมต่อได้ เราจะสามารถนำสินค้าสดจากมะริดมาป้อนให้กับไทย บริเวณมหาชัย รวมถึงแนวอุตสาหกรรมในเขตนั้นได้อีกมหาศาล
“เราต้องหันมาดูว่าจะใช้พรมแดนสองพันกว่ากิโลเมตรให้มีประโยชน์อย่างไร เพราะทุกจังหวัดที่มีติดกับชายแดน เรามีผู้รู้เกี่ยวกับประเทศพม่าอย่างลึกซึ้งอยู่มากมาย แต่ไม่เปิดเผยตัว ฉะนั้นรัฐจะทำอย่างไรเพื่อให้เข้าไปถึงคนเหล่านี้ หรืออีกนัยหนึ่งคือจะทำอย่างไรคนเหล่านี้มีกลไกและแบบแผนในการสร้างความสัมพันธ์กับรัฐหรือมณฑลที่อยู่ใกล้เคียง... เราจะสามารถใช้ปราชญ์ท้องถิ่นให้เป็นประโยชน์ในการสร้างความสัมพันธ์ได้อย่างไร” อาจารย์พรพิมล ตั้งคำถาม เพื่อให้ช่วยกันหาคำตอบ
และอีกต้นทุนหนึ่งที่ประเทศอื่นไม่มีแต่ประเทศไทยมี นั่นคือ แรงงานพม่ากว่า 3 ล้านคนในไทย
ที่แม้หลายคนจะมีประสบการณ์ที่ไม่ดีต่อประเทศไทย แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มีความรู้สึกดี นั่นเป็นเพราะเราพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับพวกเขาได้เป็นจำนวนมาก หลายจังหวัดถึงกับให้คนเหล่านี้ดูแลร้าน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถให้เขาเหล่านี้เอื้อประโยชน์ให้เราได้อย่างไร
ในขณะที่เมื่อพูดถึงเรื่องการลงทุน อาจารย์พรพิมล มองว่า นักธุรกิจไทยไม่มีความกล้าที่จะเสี่ยงลงทุน สาเหตุอย่างหนึ่งมาจากว่า ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประเทศพม่าที่เพียงพอต่อการตัดสินใจ รวมทั้งโดยลักษณะของรัฐบาลพม่าเองนั้นจะยอมรับในการลงทุนแบบรัฐบาลกับรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไทยไม่ค่อยสนับสนุนหรือเป็นตัวหลักในการพาเหล่านักลงทุนเอกชนเข้าไปในพื้นที่
ดังนั้น นักลงทุนจึงเกิดความไม่ไว้ใจ และเลิกที่จะไม่เข้าในลงทุนในที่สุด
การเปลี่ยนแปลงของพม่า เป็นโอกาสการลงทุนของไทย
แต่ถ้าเรามองถึงเหตุการณ์ในปัจจุบัน พม่าแสดงถึงนัยการเปิดระบบเศรษฐกิจใหม่ ที่ถือเป็นโอกาสการลงทุนของไทย ซึ่งนักธุรกิจเอง ก็มองว่าประเทศพม่านั้นมีศักยภาพในการลงทุนหลายด้าน
จากคำบอกเล่าของ ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมประเทศไทย ที่ได้เดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านนี้อยู่หลายครั้ง ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะที่เมืองหลวง หรือเมือง เนปิดอว์ ที่เป็นแหล่งศูนย์รวมตึกอาคารที่มีความทันสมัยอยู่ที่เมืองนี้
“ประเทศพม่าได้มีการเปลี่ยนแปลงบทบาทครั้งใหญ่หลังการเลือกตั้งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2553 โดยวางบริบทในการเข้ามามีส่วนร่วมในเวทีระดับภูมิภาคมากขึ้น
ท่าทีของรัฐบาลใหม่ของพม่าแสดงถึงนัยการเปิดระบบเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเป็นโอกาสที่ไทยจะใช้ประเทศพม่าเป็นฐานการผลิตทั้งด้านอุตสาหกรรมและด้านการเกษตร”
สำหรับจุดแข็งของพม่าในการลงทุน ที่ดร.ธนิต เล็งเห็น คือ เรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ที่พม่าตั้งอยู่อยู่ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้ มีศักยภาพและมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศไทยในอนาคต
“การเปลี่ยนแปลงของพม่าเป็นโอกาสของไทย เป็นประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากร เป็นคำตอบของไทย เป็นอนาคตของเราภายใต้ทรัพยากรเราหดหายไปเรื่อยๆ ยุคนี้ไม่ใช่ยุคของการแย่งแผ่นดิน แต่เป็นการแย่งชิงทางเศรษฐกิจและการค้า “
ความที่พม่าด้วยอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้ง น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแร่ต่างๆ บวกกับมีแรงงานราคาถูกจำนวนมากกว่า 30-36 ล้านคนในการรองรับด้านการลงทุน
เหล่านี้ทำให้พม่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพ เหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายอุตสาหกรรมของไทยเข้าไปจองพื้นที่ในพม่าแล้ว
รอไม่เกิน 2 ปี โอกาสดีสำหรับลงทุน
ทว่า รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ก็ยังมองว่า พม่าในวันนี้ยังคงมีปัญหา หากจะลงทุนวันนี้ยังคงลำบาก แต่ถ้าหาก 2 ปีข้างหน้า แน่นอนว่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเรา เพราะปัจจุบันพม่ายังมีปัญหาในเรื่องของกระแสไฟฟ้าที่ยังไม่เพียงพอ ในแต่ละโรงงานต้องมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องต้นทุนโลจิสติกส์ และกฎหมายการลงทุนยังไม่ออกมาอย่างชัดเจน
“วันนี้เราต้องมองว่าถนนทุกสายมุ่งไปที่พม่า ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดที่พม่านั้น รวดเร็วและกว้างขวางหลายด้าน โดยเฉพาะเกี่ยวกับการลงทุน ซึ่งพม่าเองควรมีกติกาในเรื่องของ “นิติรัฐ” ที่กำหนดให้เป็นที่ยอมรับของสากล ฉะนั้นเราเองควรต้องประเมินศักยภาพความพร้อมของประเทศพม่าในการที่จะรับมือกับการลงทุนในรูปแบต่างๆ”
และแม้พม่า...เป็นแหล่งลงทุนที่มีศักยภาพในอนาคตของไทย แต่ท้ายที่สุด ก็คงต้องขึ้นอยู่กับไทยว่ามีความพร้อมที่จะเข้าไปลงทุนแล้วหรือยัง