แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
กองทุนประกันภัย5 หมื่นล้าน สกัดเบี้ยพุ่ง-บริษัทเมินลูกค้า
กองทุนประกันอุทกภัย 5 หมื่นล้านบาท เป็นหนึ่งใน "มาตรการเร่งด่วน" เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเสียหายของประชาชนจากเหตุการณ์น้ำท่วม ที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นสิ่งที่ผูกติดกับประเทศไทยทุกๆปีนับจากนี้
ความเสียหายของบ้านเรือน ร้านค้า รถยนต์ และโรงงานอุตสาหกรรม ที่ทำประกันภัยไว้ในปี 2554 มีจำนวนทั้งสิ้น 7.4 แสนล้านบาท โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ประเมินว่าบริษัทประกันทั้งหมดอาจต้องจ่ายค่าเสียหายรวมกันถึง 2.1 แสนล้านบาท
ปัญหาจากการบริหารจัดการน้ำที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี ทำให้บริษัทประกันภัยทั้งในและต่างประเทศ ล้วนเข็ดขยาดไม่กล้าขายประกันให้กับลูกค้าใหม่ที่ต้องการซื้อความคุ้มครอง เพราะไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์มหาวิบัติจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ และภาครัฐจะมีวิธีรับมือดีพอหรือไม่
บริษัทประกันบางแห่งยอมขายตามความต้องการลูกค้า แต่ก็ตั้งราคาไว้สูงลิบลิ่ว เช่น ทุนประกันแค่ 1 แสนบาท แต่กลับคิดเบี้ยสูงถึง 5 พันบาทต่อปี ทั้งที่ตามปกติแล้วประกันภัยน้ำจะคิดเบี้ยแค่ 1% เท่านั้น ถือเป็นตัวสะท้อนสภาพปัญหาของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความเดือดร้อนประชาชนอย่างเห็นได้ชัด
นายคณานุสรณ เที่ยงตระกูล ผูอํานวยการสํานักงาน คปภ. จังหวัดอาวุโส จ.นนทบุรี กล่าวว่า บริษัทประกันส่วนใหญ่ขณะนี้ไม่อยากรับทำประกันน้ำท่วม เพราะคิดว่ามีความเสี่ยงสูง ขณะที่บริษัทประกันภัยต่อต่างประเทศก็ไม่ยอมรับเช่นเดียวกัน ทำให้บริษัทของไทยที่ยังพอมีศักยภาพต้องเพิ่มเบี้ยประกัน
ดังนั้น กองทุนประกัน 5 หมื่นล้านบาทที่ออกมาตามนโยบายของรัฐบาล จะช่วยเหลือตรงนี้ได้แน่นอน โดยให้ประชาชนที่ต้องการทำประกันส่งเบี้ยในราคาไม่แพงเกินไป ถือเป็นลักษณะของ "สวัสดิสงเคราะห์"จากภาครัฐ
“กองทุนตามนโยบายของรัฐ ถือว่ามีความจำเป็น ไม่เช่นนั้น ค่าเบี้ยประกันในบางพื้นที่จะสูงมาก เช่น บ้านคนที่รังสิต จะจ่ายแพงกว่าคนย่านสาธร หรือจังหวัดปทุมธานีจะถูกคิดเบี้ยเพิ่ม รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ยกเว้นเจ้าของโรงงานจะมีแผนการป้องกันน้ำ เช่น ทำผนังเขื่อนรอบโรงงาน สามารถให้ความมั่นใจกับบริษัทประกันได้ เพราะทำให้ความเสี่ยงลดลง" นายคณะนุสรณ์ระบุ
สำหรับปัญหาการเคลมประกันที่พบในพื้นที่ขณะนี้มี 2 ประเภท คือ ในกรณีของประกันน้ำท่วมบ้านเรือน ปรากฎว่าบริษัทที่รับประกันภัยไว้มาก ไม่สามารถส่งเจ้าหน้าที่ไปประเมินความเสียหายได้ทันท่วงที จนเกิดการร้องเรียนว่าล่าช้า ซึ่งสำนักงานคปภ.จังหวัดนนทบุรีมีนโยบายว่า หากมีการร้องเรียนบริษัทควรดำเนินการให้ได้ภายใน 3 วัน เพราะถือว่าประชาชนเดือดร้อนมานานแล้ว ต้องดำเนินการบรรเทาความเสียหายโดยเร็ว
นอกจากนั้น ยังพบปัญหาการตีราคาค่าเสียหายและค่าซ่อมแซมบ้านที่ต่างกัน ทำให้หาข้อสรุปการจ่ายสินไหมที่ลงตัวอยาก เพราะเจ้าของบ้านจะจ้างผู้รับเหมาที่ขณะนี้คิดค่าก่อสร้างแพงกว่าความเป็นจริง เมื่อเทียบกับราคากลางของสมาคมสถาปนิก สุดท้ายก็จะเกิดข้อโต้แย้งกัน ทางสำนักงานคปภ.ต้องเข้าไปไกล่เกลี่ย
“ยังมีกรณีบริษัทประกันในเครือธนาคารพาณิชย์ที่รับทำประกันภัยบ้านให้ลูกค้า ในช่วงที่ผ่านมาเคยไปตั้งโต๊ะในหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วม แต่ก็ปรากฎว่าไม่สามารถหาคนมาประเมินความเสียหายให้ลูกค้าได้ทันเช่นเดียวกัน"นายคณานุสรณ์กล่าว
สำหรับกรณีของประกันภัยรถยนต์ ขณะนี้ก็ทยอยจ่ายค่าสินไหมทดแทนทั้งรถยนต์ที่จมน้ำทั้งคันและท่วมเสียหายบางส่วน ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ กรณีรถยนต์ที่เกิดการเฉี่ยวชนก่อนเกิดเหตุน้ำท่วม แล้วนำไปซ่อมที่อู่รถยนต์ ปรากฎว่าอู่นั้นถูกน้ำท่วมเสียหาย ซึ่งทางสำนักงานคปภ.นนทบุรีตีความแล้วว่า กรณีเช่นนี้บริษัทประกันต้องเป็นผู้ชดใช้ เนื่องจากอู่รถยนต์ก็เป็นอู่่ในเครือของบริษัทประกัน และเมื่อเกิดน้ำท่วมบริษัทซึ่งทราบข้อมูลอยู่แล้ว ก็มีหน้าที่ต้องหาสถานที่เก็บรักษารถยนต์ให้ลูกค้าหรือยกขึ้นให้พ้นจากน้ำ ดังนั้น บริษัทควรเป็นผู้รับผิดชอบลำดับแรก ยกเว้นกรณีอู่ที่อยู่นอกเครือบริษัทประกัน
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของการตั้งกองทุนประกันภัย 5 หมื่นล้านบาทนั้น ทางนายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคปภ.ได้เชิญสมาคมประกันวินาศภัย และบริษัทประกันภัยทั้ง 67บริษัทมาหารือ เพื่อเตรียมการรองรับการจัดตั้งกองทุน โดยตั้งเป้ารับประกันภัยจากประชาชนให้มากที่สุด แต่คิดอัตราเบี้ยประกันภัยต่ำสุด โดยคิดเบี้ยประกันภัยตามพื้นที่เสี่ยงหรือหลักการโซนนิ่ง เพื่อให้สาธารณชนเข้าถึงความคุ้มครองได้อย่างทั่วถึง
ความเสียหายภาคธุรกิจและครัวเรือนที่มีการทำประกันภัย
หมายเหตุ : สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้หารือกับผู้บริหารประกันวินาศภัย 68 บริษัท พบว่ามีการทำประกันต่อต่างประเทศ 90%
นายประเวช กล่าวว่า กองทุนดังกล่าวจะให้ความคุ้มครองความความเสี่ยงภัยใน 3 ภัยธรรมชาติ ได้แก่ น้ำท่วม ลมพายุ แผ่นดินไหว และครอบคลุมกลุ่มทรัพย์สิน ได้แก่ บ้านที่อยู่อาศัย ธุรกิจเอสเอ็มอี และอุตสาหกรรม เบื้องต้นได้กำหนดจำนวนเงินจำกัดความรับผิด (Sub limit) สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยไว้ที่ ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ธุรกิจเอสเอ็มอี กำหนดความคุ้มครองไว้ 20% ของทุนประกันและสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย
ขณะที่ประกันภัยภาคอุตสาหกรรม กำหนดความคุ้มครองไว้ 10% ของทุนประกัน และสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย และเพื่อให้บริษัทประกันภัยสามารถรับประกันภัยได้ตามความต้องการของตลาด จึงให้มีการเอาประกันภัยต่อหรือรีอินชัวรันส์ เพื่อรองรับความเสียหายต่อเหตุการณ์
โดยวิธีบริหารกองทุนที่ตกลงร่วมกันเอกชนแล้วก็คือ หากเกิดความเสียหาย 2,000 ล้านบาทแรก บริษัทประกันภัยร่วมกันรับเสี่ยงภัย
ความเสียหาย 2,001 - 30,000 ล้านบาท รัฐบาลจะเข้าค้ำประกันกองทุนฯในการเป็นผู้รับเสี่ยงภัยสูงสุดจำนวน 28,000 ล้านบาท และถ้าเกิดความเสียหาย 30,001 - 500,000 ล้านบาท กองทุนฯจะทำประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัยต่อในต่างประเทศ โดยจะแยกระดับและวงเงินการเอาประกันภัยต่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เอาประกันภัย
ด้านนายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัย กล่าวว่า ในส่วนของภาคธุรกิจประกันภัย เห็นด้วยกับรูปแบบโครงสร้างกองทุนประกันภัยที่ตั้งขึ้น สำหรับความเสียหาย 2,000 ล้านบาทแรก ที่บริษัทประกันภัยต้องร่วมกันรับผิดชอบ สมาคมประกันวินาศภัยจะได้หารือและทำการศึกษาร่วมกับบริษัทประกันภัยที่เข้ารับประกันภัย ในการกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสม และความสามารถในการรับเสี่ยงภัยส่วนแรกไว้เองต่อไป
เมื่อทางสมาชิกสามารถได้ข้อยุติในเรื่องรายละเอียดความรับผิดชอบและเบี้ยประกันได้แล้ว ก็จะเริ่มทำการเปิดขายกรมธรรม์ให้ประชาชน
สำหรับครัวเรือน ที่มีแนวโน้มการทำประกันภัยเพื่อลดผลกระทบ ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซากทั้งสิ้น 383,128 ครัวเรือน ใน 38 จังหวัด และอีก 621,355 ครัวเรือน ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขณะเดียวกันประกันว่ามีรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 1 แสนคัน ในจำนวนนี้มีรถยนต์ที่ไม่สามารถซ่อมแซมและต้องซื้อใหม่จำนวน 3 หมื่นคัน โดยรถยนต์ส่วนใหญ่จะทำประกันภัยชั้น 1-3
กองทุนประกันภัยจึงถือเป็นการสร้างอำนาจต่อรองของภาครัฐที่จะช่วยเหลือประชาชนเพื่อลดความเสี่ยงกรณีที่เกิดความเสียหาย จะได้มีผู้คุ้มครองทางการเงิน ถือเป็นความหวังใหม่ของประชาชนในเขตพื้นที่รับน้ำ ที่จะได้รับการเยียวยาแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย แทนที่จะรับเงินจากภาครัฐแค่ 5,000 บาท
แต่ปัญหาที่หลายฝ่ายกังวลก็คือ หากแผนรับมือน้ำท่วมของภาครัฐยังสะเปะสะปะ และไม่เกิดขึ้นจริงจังในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ก็มีโอกาสที่วงเงินก้อนแรกของกองทุน 5 หมื่นล้านบาทที่ตั้งไว้อาจไม่เพียงพอก็เป็นได้