แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
มนุษย์เงินเดือนค่าครองชีพพุ่ง หลังประชานิยมเฟ้อ
หนึ่งใน "ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์" ของคนเดินดินกินข้าวแกงวันนี้ คือราคาค่าครองชีพที่สูงขึ้นตั้งแต่หลังเหตุการณ์อุทกภัยปลายปี 2554 เป็นต้นมา
ความเดือดร้อนสัมผัสได้อย่างชัด จากราคาข้าวแกงที่ขยับสูงขึ้นเป็น 35 บาท หากสั่งเพิ่มพิเศษก็พุ่งไปถึงจานละ 40 บาท
หากย้อนไปดูต้นเหตุของราคาอาหารที่ขยับสูงขึ้น เกิดจากวัตถุดิบที่ขาดแคลนหลังน้ำท่วมพืช สวน ไร่ นา และอีกส่วนเกิดจากปัญหาค่าขนส่งที่ทะยานแบบพรวดพราดจากราคาน้ำมันดีเซลทะลุ 30 บาทต่อลิตร
ขณะที่ "ระเบิดเวลา" ลูกใหญ่ ลูกต่อไป ที่จะสร้างปัญหาค่าครองชีพในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า คือนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และการขึ้นเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรี เป็น 15,000 บาท
ปัจจัยทั้งหมด ล้วนก่อให้เกิดผลทางจิตวิทยา ทำให้ราคาอาหารปรับตัวแบบ "วันเวย์" คือขึ้นแล้วไม่ลง และเมื่อราคาอาหารปรับขึ้น แน่นอนว่าครองชีพทั้งระบบย่อมปรับตามเป็นลูกโซ่ ที่สุดก็จะสะท้อนออกมาทางดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 2555 จะยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 3.9% ถือว่าเป็นอัตราที่สูงกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.8% โดยบางเดือนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้อาจได้เห็นเงินเฟ้อพุ่งสูงเกิน 4% แน่นอน
ดร.พิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคและจุลภาค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจัยที่จะผลักดันราคาสินค้าส่วนใหญ่มาจากการปรับสูงขึ้นของราคาพลังงานตามแนวทางของภาครัฐที่เคยประกาศไว้ ราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นตามโครงการจำนำ และต้นทุนค่าแรงงานในภาคเอกชนที่จะเพิ่มแบบก้าวกระโดดในเดือนเมษายน
"เมื่อปีก่อนปัจจัยผลักดันเงินเฟ้อมาจากหมวดอาหารและพลังงาน แต่ปี 2555 นี้จะเกิดจากราคาพลังงานและนโยบายของภาครัฐ ที่ส่งผลในทางอ้อมผ่านตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงขึ้น" ดร.พิมลวรรณกล่าว
อย่างไรก็ตาม รองกรรมการผู้จัดการฯ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า แม้ราคาอาหารจะปรับเพิ่ม แต่ก็เพิ่มในแบบที่ชะลอตัวกว่าปีก่อน ที่มีปัญหาเรื่องราคาผัก หมู และปศุสัตว์พุ่งสูงมากเพราะขาดแคลนผลผลิต จนทำให้ราคาอาหารรับประทานนอกบ้านขยับขึ้นเป็น 35-40 บาทต่อจาน และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ลดลง ทั้งที่ราคาอาหารสดหลายอย่างได้ลดลงไปแล้ว แต่อาหารจานเดียวยังไม่ลดระดับตาม
"ผู้ประกอบการไม่อยากลดราคากลับไปกลับมา เพราะเมื่อมองไปข้างหน้า เขาต้องจ่ายค่าจ้างแพงขึ้น ค่าขนส่งก็แพงเช่นเดียวกัน หากลดแล้วการปรับขึ้นราคาอีกในระยะใกล้ๆเป็นเรื่องที่อธิบายผู้ซื้อลำบาก" ดร.พิมลวรรณกล่าว
สำหรับนโยบายเพิ่มรายได้ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาค่าครองชีพแม้จะมีผลดี แต่ก็จะส่งผลตามมาอีกด้าน นำไปสู่ต้นทุนผู้บริโภคต้องมีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าราคาอาหารนอกบ้าน เสื้อผ้า สิ่งทอ ข้าวสาร ค่าเดินทาง ขนส่งต่างๆ
ดร.พิมลวรรณ ระบุว่า ไม่ใช่ทุกคนหรือทุกกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายเพิ่มรายได้ของรัฐบาล อย่างเช่น กลุ่มมนุษย์เงินเดือน ซึ่งเป็นคนชั้นกลางที่ทำงานบริษัท ไม่ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ ตรงกันข้าม กลับได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น เพราะเงินเดือนไม่ได้ปรับตามโครงสร้างใหม่ด้วย
ดังนั้น คนได้ประโยชน์จริงๆคือแรงงานและข้าราชการที่จบปริญญาตรี แต่เอกชนไม่ได้ปรับขึ้นเป็น 15,000 บาททุกบริษัท ขณะเดียวกันคนมีกิจการของตัวเอง หรือกลุ่มแรงงานนอกระบบ ก็ยังรายได้คงที่ ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร
“แม้เงินเฟ้อปีนี้สูง แต่คนส่วนหนึ่งจะมีรายได้สูงขึ้นด้วย ต่างจากปีที่แล้ว ที่เงินเฟ้อสูงแต่รายได้คงที่" พิมลวรรณกล่าว
ตัวแปรที่อาจมีผลต่อเงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปี 2555
ในส่วนของต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นนั้น รองกรรมการผู้จัดการฯ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เกิดจากกลไกหลักคือราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่เป็นผลจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาติตะวันตกกับประเทศอิหร่าน ทำให้น้ำมันตลาดโลกเฉลี่ยทั้งปีอาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดไว้ว่า น้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ 102 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือกรณีสูงสุดไม่เกิน 110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ดร.พิมลวรรณ กล่าวว่า โดยปกติแล้วถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างนี้ ราคาน้ำมันควรลดลงต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลได้แล้ว แต่เมื่อมีปัญหาร้อนระอุในอิหร่าน ทำให้ราคาน้ำมันไม่ลดลง ตอนนี้ราคาก็ยังคาอยู่ที่ประมาณ 110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และเมื่อมองสถานการณ์ไปข้างหน้า เชื่อว่าทางอิหร่านและชาติตะวันตกยังยันกันต่อไปอีกหลายเดือน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินสถานการณ์ว่า ราคาน้ำมันโลกอาจเกิดอาการช็อคได้เหมือนกัน ถ้าเหตุการณ์เกิดลุกลามกลายเป็นปฏิบัติการทางทหารระหว่างสหรัฐและอิหร่าน หรือถ้าอิหร่านปิดช่องแคบ ฮอร์มุซ ก็จะมีการเคลื่อนกำลังมาเผชิญหน้ากัน อาจทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น และถ้าโลกมีปัญหาค่าพรีเมียมน้ำมันก็จะเพิ่ม 20-30%
"ตอนนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ต่อไปคงเป็น 130 เหรียญสหรัฐ แต่ยังไงก็ไม่สูงกว่าราคาที่เคยสูงสุดในช่วงปี 2551 ที่เคยพุ่งไปแตะ 140 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ปีก่อนปิดที่ 120 เหรียญสหรัฐ" ดร.พิมลวรรณกล่าว
นอกจากนัน การที่รัฐบาลประกาศก่อนหน้านี้ว่า จะลดการอุดหนุนราคาพลังงานลง เช่น กลับมาเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และลดการอุดหนุนราคาก๊าซด้วยการเพิ่มราคาเอ็นจีวีเดือนละ 50 สตางค์ ถ้าทำเช่นนั้นจริงๆ ในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังสูง จะทำให้ต้นทุนพลังงานสูงมาก
"ยกตัวอย่างง่ายๆคือถ้ารัฐบาลขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี ส่วนแอลพีจีคงไว้ จะส่งผลทำให้แท็กซี่ขึ้นราคาค่าโดยสาร คนก็ต้องจ่ายแพงขึ้น ค่าอาหารค่าขนส่งก็จะแพงขึ้้น คนซื้ออาหารนอกบ้านรับประทานก็จะกระทบ" ดร.พิมลวรรณกล่าว
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปในครึ่งปีแรก ก่อนจะพุ่งเร็วในครึ่งปีหลัง เพราะผู้ประกอบการจะบวกต้นทุนเข้ามายังราคาสินค้าอย่างเต็มที่
แม้เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีจะสูงถึง 3.9% และเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรที่ขึ้นลงตามฤดูกาล) จะอยู่ที่ 3% แต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 4.3%
"ถามว่าเงินเฟ้อทั่วไปพุ่ง 3.9% สูงเกินไปหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าขึ้นกับการเติบโตของเศรษฐกิจด้วย ถ้าเศรษฐกิจโตช้า เงินเฟ้อ 3.9% ก็ถือว่าสูงเกินไป แต่ปีนี้หลายภาคส่วนมีรายได้เพิ่มขึ้น เกษตรกรปลูกข้าวแล้วเข้าโครงการจำนำมีรายได้เพิ่ม มากกว่าเงินเฟ้อ เช่น เกษตรกรปลูกข้าวมีรายได้ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน เพิ่มขึ้น 40-50% ถือว่ามากกว่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเพียง 4%” ดร.พิมลวรรณกล่าว
ขณะที่นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)นั้น ตามปกติแล้วธปท.จะดูจากเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นเกณฑ์ แต่ล่าสุดอาจมีการเปลี่ยนนโยบายมาดูเงินเฟ้อทั่วไปซึ่งปกติแล้วจะสูงกว่า ก็จะทำให้ธปท.ไม่มีแรงกดดันให้ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้
โดยดอกเบี้ยอาจจะทรงตัวหรือลดลงจนถึงไตรมาสสาม ส่วนไตรมาสสี่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจเพิ่มสูงเกิน 4% ตามผลของการปรับขึ้นค่าจ้างต่างๆ ทำให้นโยบายการเงินอาจต้องปรับเพิ่มดอกเบี้ยขึ้นช่วงปลายปี
ส่วนโครงการใหญ่ๆตามนโยบายรัฐบาลและการขาดดุลการคลังจำนวนมากเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ จริงแล้วไม่ได้ทำให้เงินเข้าระบบในทันที กว่าจะมีการประกวดราคาก่อสร้าง เสียเวลาพอสมควร เงินที่จะอัดฉีดจากพ.ร.ก.กู้เงินในปีนี้คงไม่มากเท่าไหร่
ดังนั้น จะเห็นว่านโยบายการดูแลค่าครองชีพ กับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะสวนทางกัน ถ้ารัฐปรับค่าจ้างมากขึ้น ก็คงไม่มีเหตุผลที่จะบอกผู้ประกอบการให้ตรึงราคาสินค้าไว้ต่อไป ตอนนี้ผู้ประกอบการจะบอกว่าคนได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการก็น่าจะปรับราคาขึ้นได้เช่นกัน
"เมื่อมองจากมุมของรัฐบาล คงคิดว่าเงินเฟ้อไม่ใช่เรื่องใหญ่ถ้ารายได้คนสูงขึ้น และรัฐบาลอาจมีสินค้าธงฟ้าเข้ามาช่วย"ดร.พิมลวรรณระบุ
ส่วนข้อเสนอของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คืออยากให้รัฐบาลมีนโยบายที่สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และดูผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนเป็นหลัก หากขึ้นราคาพลังงานมากเกินไป ประชาชนแบกรับไม่ไหวก็ควรมีการทบทวน และต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกควบคู่ไปด้วย