แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
สภาพัฒน์หนุน”ทวายโปรเจกต์” หลังชะลอแผนพัฒนาภาคใต้
หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ได้มีการศึกษา "โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้" โดยว่าจ้างบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี ลงพื้นที่เพื่อพิจารณาศักยภาพและความคิดเห็นของประชาชน
โดยผลการศึกษาพบว่าโอกาสพัฒนา "อุตสาหกรรมหนัก" ตามนโยบายภาครัฐ ทั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรมหนัก ปิโตรเคมี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ การสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา จังหวัดสตูล และสะพานเศรษฐกิจหรือแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ล้วนเกิดขึ้นได้ยากในระยะเวลาสั้นๆ
เมื่อแนวโน้มการบุกเบิกโครงการใหญ่ๆในภาคใต้ไม่สดใส สภาพัฒน์จึงหันมาสนับสนุนการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จากท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรม ณ เมืองทวาย ประเทศพม่า ซึ่งมีความเป็นไปได้มากกว่า
นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวว่า การว่าจ้างบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี เพื่อศึกษาว่าภาคใต้ควรพัฒนาไปทิศทางใด และไปเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม ว่าโครงการใดเกิดปัญหาต่อต้าน มีความไม่พร้อมหรือไม่ ซึ่งสภาพัฒน์มีโมเดลการพัฒนาภาคใต้เดิมอยู่ จึงให้ทางบริษัทไปดูศักยภาพอีกครั้ง
จากนั้นก็จะต้องแปลงผลการศึกษาไปสู่แผนปฏิบัติ ซึ่่งจะสอดคล้องไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ที่มุ่งสู่การพัฒนาที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน รวมถึงการมุ่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์
โดยแผนพัฒนาภาคใต้แบ่งออกเป็นกลุ่มจังหวัด โดยทางฝั่งอ่าวไทยที่เราจะเน้น คือ
1. พัฒนาฐานอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร เช่น ปาล์มน้ำมัน ไบโอดีเซล
2. พัฒนาการปลูกข้าว เลี้ยงปศุสัตว์
3. พัฒนาเกษตรยั่งยืน ปลอดสารพิษ
4. พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งท่องเที่ยวสีเขียว
ขณะที่ฝั่งอันดามัน จะเน้นทิศทางการพัฒนาที่รักษาการท่องเที่ยวทางทะเล ให้เป็นท่องเที่ยวระดับโลก ขณะที่ภาคใต้ชายแดน จะมุ่งการคุ้มครองความปลอดภัย สร้างความเป็นธรรม การสร้างภูมิคุ้มกันต่อกลุ่มเสี่ยง สร้างความมั่นคงอาชีพแก่ผู้มีรายได้น้อย รวมถึงพัฒนาความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจไทย-อินโดนีเซีย-มาเลเซีย (ไอเอ็มทีจีที)
นายชาญวิทย์ กล่าวว่า จากการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา พบว่าภาคใต้มีศักยภาพมากมาย แม้แต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็ลงทุนได้ เพราะเชื่อมโยงกับแหล่งวัตถุดิบ คือก๊าซในอ่าวไทยที่เราไปร่วมมือกับมาเลเซีย ภาคใต้มีทะเลน้ำลึกฝั่งอันดามัน ที่สามารถพัฒนาท่าเรือขนาดใหญ่ได้ แต่พอถามความต้องการชาวบ้านและประชาชน ปรากฎว่าเขาไม่อยากได้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กลัวเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ตามผลการศึกษาโครงการที่จะดำเนินการได้ทันที ประกอบด้วย 1.การพัฒนาเกษตรยั่งยืน พัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและภูมิสังคม เพราะถ้าส่งเสริมผิดทางก็จะทำลายทรัพยากรในพื้นที่ เราจึงเน้นด้านประมงและปศุสัตว์ เพื่อรองรับการแปรรูปที่จะเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น รวมทั้งปลูกพืชอาหาร พลังงานเศรษฐกิจ
2.การพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ยึดแนวทางอุตสาหกรรมนิเวศน์ ให้เกิดความยั่งยืนควบคู่การรักษาสิ่งแวดล้อม เราแยกกลุ่มตามศักยภาพแต่ละพื้นที่ ด้านฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และ พัทลุง จะมองไปทางด้านยางพารา ปาล์มน้ำมันและแปรรูปเกษตร
ส่วนทางฝั่งอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา ตรัง ระนอง จะเน้นอุตสาหกรรม ปาล์มน้ำมัน เทคโนโลยีชีวภาพด้านปาล์ม อุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เชื่อมโยงการท่องเที่ยว
ด้านจังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พัฒนาให้เป็นฐานสู่อุตสาหกรรมส่งออก เช่น อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล แปรรูปเกษตร และอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงความร่วมมือของไทย-มาเลเซีย
3.พัฒนาการท่องเที่ยวและการพักผ่อนที่มีมาตรฐานระดับโลก เน้นให้จังหวัดภูเก็ตเป็นหัวหอก
4.เชื่อมโยงการพัฒนาสองฝั่งทะเลอ่าวไทยกับอันดามัน ตอนนี้เรามีถนนอยู่แล้ว จะเชื่อมให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเวลาขนส่งสินค้าและ
5. การพัฒนาคนและยกระดับมาตรฐานสังคม ให้สอดคล้องกับการประกอบอาชีพ ส่งเสริมสถานศึกษาเฉพาะด้าน สร้างความเข้มแข็งของสถาบันอุดมศึกษา และยกระดับฝีมือแรงงาน
รองเลขาธิการสภาพัฒน์ บอกอีกว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ด้าน พลังงาน ปิโตรเคมี เหล็ก โครงสร้างพื้นฐาน จะต้องสร้างกระบวนการยอมรับของประชาชนก่อน คงยังไม่เริ่มดำเนินการในขณะนี้ ถามว่าแล้วแนวทางมีกลไกอะไร เรามีคณะกรรมการบริหารงานนโยบายกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (กนจ.) จะเอาแนวคิดผ่านกรรมการเหล่านั้น โดยสภาพัฒน์เป็นฝ่ายเลขานุการของอนุกรรมการ
ในส่วนของนโยบายรัฐบาล ที่เคยหาเสียงและแถลงต่อรัฐสภาเอาไว้ เช่น โครงการสะพานเศรษฐกิจหรือแลนด์บริดจ์ ก็คงต้องผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา หากพบว่าทำได้ ก็ต้องเดินหน้าโครงการ เพราะถือเป็นเรื่องที่ทางการเมืองหาเสียงเอาไว้ แต่หากไปไม่ได้ก็คงต้องหยุดชะลอไว้ก่อน
ขณะที่โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ต้องทำความเข้าใจประชาชนในพื้นที่ก่อน ไม่ใช่เดินหน้าสร้างท่าเรืออย่างเดียว ต้องมองถึงการพัฒนา "พื้นที่หลังท่า" ด้วย เพราะต้องมีอุตสาหกรรมมารองรับ มีพื้นที่การลงทุน ไม่ใช่มองท่าเรืออย่างเดียว โดยไม่มองกลไกการค้า ถ้ามองครบ ต้องมองการใช้ประโยชน์ด้วย ที่ผ่านมาภาคใต้มีท่าเรือในจังหวัดสงขลา ภูเก็ต ซึ่งแต่เดิมคิดเรื่องการขนส่งสินค้า ก็หันมาเน้นท่องเที่ยวด้วย ไม่เน้นท่าเรือโดดๆ
นายชาญวิทย์ กล่าวว่า ในเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่ภาคใต้ ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายอย่างชัดเจน ในแผนพัฒนาเราได้เขียนกว้างๆถึงแผน "พลังงานสะอาด" ไว้เท่านั้น เพราะในข้อเท็จจริงแล้ว สภาพัฒน์กำลังพิจารณาโครงการของรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อขยายการให้บริการประชาชนทั่วประเทศ ตอนนี้เราใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซถึง 70% แต่หากคำนึงถึงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าที่มีความมั่นคงของประเทศแล้ว เราใช้วัตถุดิบอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไปก็จะมีปัญหากระทบคนทั้งประเทศ เช่นใช้ก๊าซ ถ้าเกิดท่อก๊าซรั่ว ก็มีปัญหาแน่
ส่วนการใช้วัตถุดิบแหล่งอื่นผลิตไฟฟ้า เช่น ถ้าใช้ฟอสซิล หรือน้ำมัน ต้นทุนสูงกระทบต่อราคาไฟฟ้า หรือใช้พลังงานน้ำ แม้จะต้นทุนต่ำ แต่การสร้างเขื่อนถูกต่อต้านหนัก เราจึงต้องสร้างความเข้าใจประชาชนถึงประโยชน์ เพื่อจะได้มีโอกาสจะสร้างการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งผลิตต่างๆมากขึ้น ตอนนี้เราซื้อไฟฟ้าจากลาว พม่า เขาผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้แล้ว แต่เรื่องความมั่นคงเราก็ยังมีปัญหา เพราะต้องสร้างสายส่งเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน ถ้ามีทางเลือกเพิ่มเติมก็จะช่วยให้เกิดความมั่นคงได้
"ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็ต้นทุนต่ำ แต่มีผลกระทบมหาศาล ที่ผ่านมามีกลุ่มหนึ่งผลักดัน อีกกลุ่มต่อต้าน จึงยังไม่ชัดเจนไปทางทิศทางไหน แผนผลิตไฟฟ้าของประเทศ เดิมกำหนดไว้ในปีพ.ศ. 2563 ตอนนี้ก็ขยับไป 3-4 ปี เพราะมีการต่อต้านและเกิดปัญหาที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่น ก็เลยมีปัญหาต่อต้านมาก"นายชาญวิทย์ระบุ
สำหรับโครงการลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูงเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างไทย-จีน ในรายละเอียดยังไม่ได้ศึกษาว่าจะใชระบบรางแบบไหน จะส่งผู้โดยสารหรือสินค้าอย่างเดียว ขณะที่ทางการถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ก็มีแผนจะก่อสร้างทางรถไฟเช่นกัน จึงจะต้องพิจารณาว่ามีเส้นทางไหนบ้าง คงต้องดูอีกขั้น เช่น เรื่องความซ้ำซ้อนต่างๆ ไม่ใช่สรุปแค่ขั้นนี้เท่านั้น
นายชาญวิทย์ กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้หรือเซาท์เธิร์นซีบอร์ด จะเกิดหรือไม่ ต้องดูหลายเรื่่องเดินคู่กัน เช่น ท่าเรือน้ำลึก ถ้าจะเกิดต้องเดินคู่กันด้วย ไม่ใช่อะไรเกิดอย่างเดียวก่อน เช่น สร้างท่าเรือ แล้วจะต้องมีนิคมอุตสาหกรรม มีสถานที่ขนส่งสินค้า และการยอมรับทางสิ่งแวดล้อม สภาพัฒน์ไม่ได้ไม่สนับสนุนเลย แต่การสร้างรูปแบบไหน จะเหมาะกับภาคใต้ เช่น ท่าเรือจะเป็นฟีดเดอร์หรือไม่ หรือวิ่งจากไทยไประยะไกลๆ ซึ่งเราก็ไม่ใช่ทางผ่านที่จะทำได้อย่างเหมาะสมคุ้มค่า ดังนั้น การจ้างบริษัทที่ปรึกษาไปดูแล้วพบว่าศักยภาพที่ภาคใต้สามารถดำเนินการได้ทันที คือด้านการเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูป ท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ เป็นลักษณะนี้ทั้งหมด
ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่อุตสาหกรรมหนักจะลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก มีการมองว่าหลายอย่างควรชะลอไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับการยอมรับจากประชาชน ดังนั้น การพัฒนาประเทศโดยมุ่งสู่แหล่งตะวันตก เชื่อมโยงกับท่าเรือน้ำลึกทวาย ประเทศพม่า ซึ่งจะมีทั้งนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึก เราก็ควรส่งเสริมมากขึ้น เพราะท่าเรือทวายห่างจากชายแดนไทยไปร้อยกว่ากิโลเมตร และต่อไปจะมีการสร้างถนนมอเตอร์เวย์และทางรถไฟเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งได้อย่างสะดวก ถือเป็นทิศทางที่เราไปได้
นอกจากนั้น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 สภาพัฒน์มีการกล่าวถึงยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงเศรษฐกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งด้านการค้า การลงทุน ซึ่งโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ก็เป็นหนึ่่งในแผนที่เรามองไว้ ถ้านโยบายต่างประเทศมีความชัดเจนก็ถือว่าเป็นโอกาสสำคัญที่จะเดินหน้าได้ทันที เพราะขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ก็เริ่มเข้าไปลงทุนในพม่ากันแล้ว อย่างสิงคโปร์นั้น เน้นการค้าขายที่ไม่ทะเลาะกับใคร ขณะที่พม่าตอนนี้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เราคิดว่าความร่วมมือก็ยิ่งน่าจะดีขึ้นไปด้วย และล่าสุดทางประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐ ก็มีท่าทีในลักษณะเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับพม่ามากขึ้น คิดว่าประเทศไทยก็ควรเดินไปในทิศทางเช่นเดียวกัน
หากโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายเดินหน้า และทางพม่ามีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ประเทศไทยก็คือประตูการค้าหรือเกตเวย์เชื่อมโยงเข้าไปได้ดีที่สุด ไม่เพียงเท่านั้นพม่ายังเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของไทย และยังมีการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยจำนวนมาก เพียงแต่ว่าอนาคตต้องดูเรื่องการเปิดด่านถาวรจะต้องมีการหยิบยกมาพิจารณา ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับ
"ตอนนี้เรากำลังพิจารณาว่า เมื่อท่าเรือทวายมีการพัฒนาขึ้นอย่างจริงจังแล้ว เราจะหาทางใช้ประโยชน์อย่างไร"นายชาญวิทย์ระบุ
แม้สภาพัฒน์จะสนับสนุนนโยบาย "โก เวสต์" ผลักอุตสาหกรรมหนัก มุ่งสู่ฝั่งตะวันตกของประเทศ เพื่อลดแรงเสียดทานในพื้นที่ภาคใต้ แต่โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ก็ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการก่อสร้าง ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมหนักในประเทศไทยขณะนี้จึงแทบจะหยุดชะงัก สูญเสียโอกาสในการแข่งขัน
แน่นอนว่า สุดท้ายขึ้นอยู่กับรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะมีทางออกในเรื่องนี้อย่างไร จะหักด้านพร้าด้วยเข่าเดินหน้าลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ตามนโยบายรัฐ หรือเลี่ยงไปหาแหล่งทรัพยากรยังประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นทางสองแพร่งที่น่าจับตามอง
ไทยรุกคืบสู่ประตูการค้าภูมิภาคโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย (Dawei) ตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพม่า มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นท่าเรือน้ำลึกที่มีร่องน้ำลึกถึง 50 เมตร ประกอบด้วยท่าเรือพาณิชย์ ที่สามารถรองรับเรือน้ำหนัก 3 แสนตัน และท่าเรืออุตสาหกรรม สามารถรองรับปริมาณส่งสินค้าได้ 175 ล้านตันต่อปี ทวายโปรเจกต์ ยังมีการจัดเตรียมพื้นที่หลังท่า 170 ตารางกิโลเมตร สำหรับพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งบริเวณโครงการเป็นที่ตั้งของแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน จึงเหมาะสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคอล และเม็ดพลาสติก อีกทั้งพม่า มีสินแร่อุตสาหกรรมคุณภาพสูง มีความพร้อมที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กและอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากทวายจะเชื่อมการขนส่งสินค้าทางทะเลแล้ว ยังมีทางหลวงเชื่อมต่อประเทศไทยผ่านจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีระยะทางระหว่างทวาย-กาญจนบุรี 230 กิโลเมตร เป็นทางขนาด 2 ช่องจราจร และมีแผนจะขยายเป็น 4 และ 8 ช่องจราจรในอนาคตและยังมีแผนพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟเชื่อมต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อขนส่งพลังงาน เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ อีกทั้งทวายยังมีท่าอากาศยานที่มีทางวิ่งคอนกรีตขนาดมาตรฐาน และมีความพร้อมที่จะพัฒนาสนามบินพาณิชย์ระดับนานาชาติ เพื่อตอบสนองการลงทุนในอนาคต สำหรับประเทศไทยน้ัน ฐานการผลิตที่อยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี กรุงเทพฝั่งตะวันตก จะได้รับประโยชน์จากยุทธศาสตร์ประตูสู่ตะวันตก ทำให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องคือธุรกิจโลจีสติกส์ โดยที่ประเทศไทยจะเป็นฮับโลจีสติกส์ในการนำเข้าและส่งออก ประการต่อมาคืออุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป หรือ อะโกร อินดัสตรี ที่ประเทศไทยวางเป้าหมายในการเป็นผู้ผลิตอาหารสำคัญของโลกและมีการแปรรูปอาหารที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวจะมีการเปิดพื้นที่ใหม่ๆทันที และประเทศไทยจะเปิดเส้นทางการค้าใหม่ของโลก เหมือนประเทศปานามา ที่เป็นแลนด์บริดจ์และเป็นศูนย์กลางทางการขนส่งสินค้า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยและพม่า ได้ลงนามบันทึกความตกลง(เอ็มโอยู) ที่จะร่วมพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย และโครงการถนนเชื่อมต่อทวาย-กทม. เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2551 โดยมีบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เข้าไปลงทุนเช่าที่ดินเพื่อพัฒนาท่าเรือทวายเป็นระยะเวลา 60 ปี โดยได้รับสิทธิสัมปทานในการบริหารท่าเรือและพื้นที่ต่อเนื่องในลักษณะสร้าง-บริหาร-โอน ครอบคลุมทั้งการสร้างถนนไฮเวย์กาญจนบุรี-ทวาย ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 3 ปี ระยะทาง 160 กิโลเมตรมูลค่า 2,000 ล้านบาท การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก และสร้างนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นโครงการใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้และในทศวรรษนี้ โดยใช้วงเงินทั้งหมด 4 แสนล้านบาท |