แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
"ระบบการจัดการภัยพิบัติ" ความเสี่ยงที่มากกว่าแผ่นดินไหว
เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่สุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ที่แม้จะไม่รุนแรงแต่ก็สร้างความตื่นตระหนกและความเสียหายให้กับประชาชนอยู่ไม่น้อย โดยขณะที่เกิดเหตุก็มีนักวิชาการหลายฝ่ายต่างวิเคราะห์สถานการณ์กันหลากหลาย รวมถึงมีการแจ้งเตือนออกมามากมาย จนทำให้ประชาชนสับสนและขาดความเชื่อมั่นในที่สุด
ซึ่งเหล่านี้อาจสะท้อนให้เห็นว่าระบบการจัดการเตือนภัยของไทยอาจจะยังไม่ได้อยู่ในขั้นที่ประชาชนจะให้ความเชื่อถือได้ ฉะนั้น เหตุการณ์นี้อาจจะช่วยกระตุ้นให้หลายฝ่ายหันกลับมาใส่ใจในเรื่องของระบบการเตือนภัยอีกครั้ง
ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับศูนย์ข้อมูลข่าวสารนโยบายสาธารณะ สำนักข่าวอิศรา ถึงความคิดเห็นต่อการจัดการ รวมทั้งระบบเตือนภัยหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวว่า สิ่งที่ภาครัฐควรจะทำขณะนี้ คือ ควรเร่งให้ความรู้ ทำความเข้าใจกับประชน เกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหว เพื่อที่ประชาชนจะได้ไม่ตื่นกลัวมากจนเกินไป รวมถึงหน่วยงานของรัฐเองก็ต้องทำความเข้าใจธรรมชาติด้วย ไม่ใช่ให้กลุ่มนักวิชาการที่ฉกฉวย สร้างความกลัวให้ประชาชนมากขึ้น ยิ่งการออกมาระบุ ชี้วัน ว่าเมื่อไหร่จะเกิดเหตุขึ้นนั้น ประชาชนก็จะยิ่งตื่นตระหนกไปกันใหญ่ เพราะเรื่องแบบนี้มันทำนายไม่ได้
“รัฐบาลเองต้องดูทั้งระบบและปรับปรุงบางอย่าง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เช่น การเตือนภัยเรื่องสึนามิ เมื่อศูนย์กล่าวการเตือนสึนามิจากต่างประเทศแจ้งมา เราต้องมาดูข้อมูลในท้องถิ่นของเราเองด้วย ว่าจุดที่มันเกิดจะกระทบอย่างไร หรือกระทบถึงไทยหรือไม่ ไม่ใช่เขาประกาศแล้วเราประกาศตาม ทั้งนี้ ก็เพราะหากประชาชนขาดความเชื่อถือ แล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง วันนั้นจะเป็นที่น่ากลัวที่สุด ในขณะเดียวกันประชาชนเอง เมื่อเขาเตือนมาต่อให้เกิดขึ้นจริงหรือไม่จริง ก็ต้องให้ความเชื่อมั่นมากที่สุดเพื่อความไม่ประมาท”
ทั้งนี้ เรื่องของภัยพิบัติถือว่าเป็นความมั่นคงของประเทศส่วนหนึ่ง ฉะนั้นจึงไม่ควรเอาการเมืองมายุ่งเกี่ยว โดยในเรื่องนี้ ศ.ดร.ธนวัฒน์ เห็นว่าการที่ฝ่ายค้านพยายามโจมตีรัฐบาลเรื่องการเตือนภัยสึนามินนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สร้างสรรค์ และจะยิ่งทำให้เรื่องไปกันใหญ่ เพราะถ้าประชาชนไม่เชื่อเครื่องมือของภาครัฐ ก็จะไม่มีใครฟังใคร ถ้าวันหนึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาเตือนภัยและเมื่อระบบของรัฐถูกโจมตีจนทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น ถ้าเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้นจริง ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที สิ่งที่เราต้องทำคือช่วยกันประคองระบบที่เริ่มต้น ให้ถูกพัฒนาให้มากขึ้น มันอาจจะไม่สมบูรณ์และถูกใจคน แต่เราต้องเชื่อมั่นและเพื่อความปลอดภัยของคนรุ่นต่อไป
สำหรับประเด็นนี้ รศ.ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) และ ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัย และฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นพ้องเช่นเดียวกันว่าควรต้องมองที่ประเด็นการรับมือ และเรื่องของระบบการจัดการมากกว่าสาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหว เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากแผ่นดินไหว แต่เกิดจากความละเลย ไม่ใส่ใจ ดังนั้น ต้องมีการแก้ไข
“การแก้ไขนั้นคงต้องมาดูกันที่เรื่องของโครงสร้างที่ถูกออกแบบมาไม่มีความมั่นคง ที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่า “สึนามิ” และ “แผ่นดินไหว” เสียอีก แม้แผ่นดินไหวครั้งนี้จะมีขนาดเล็กและไม่ส่งผลถึงอาคารใหญ่ แต่อาคารที่ไม่ได้มาตรฐานมีปัญหาอย่างแน่นอน ฉะนั้น รศ.ดร.อานนท์ จึงเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งวิธีการตรวจสอบทางวิชาการมีอยู่แล้ว ทางโครงสร้างทางวิศวกรรมรายละเอียดวิธีการทำก็มีอยู่แล้ว เหลือแต่เพียงแต่เราต้องหาเงินให้เขา หาทรัพยากรและ ปัจจัยต่างๆ ซึ่งปัญหาตรงนี้ต้องมองให้ออกว่า คนที่ต้องเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนอยู่ที่ใคร! ปัญหาบางเรื่องต้องขับเคลื่อนไปทางวิชาการ ถ้าความรู้ทางวิชาการยังไม่เคลียร์ ซึ่งความรู้ทางวิชาการเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดช่องว่างที่ทำให้เราเดินต่อไปไม่ได้” รศ.ดร.อานนท์ กล่าว
ทั้งนี้ รศ.ดร.อานนท์ เห็นว่าทั้งหมดเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ซึ่งไม่ได้มองว่าเป็นประเด็นด้าน วิทยาศาสตร์ ด้านธรณีศาสตร์ สักเท่าไร แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าการเดินหน้าดำเนินการก็ต้องทำควบคู่กันไป แต่สิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากในตอนนี้คือ ที่ผ่านมาเราไม่เคยให้ความสำคัญ เพียงแต่พูด และไม่มีการดำเนินการที่ชัดเจน เมื่อเหตุการณ์มาถึงระดับนี้แล้วเราต้องมาหารือกัน และวางแนวปฏิบัติ ซึ่งแนวทางปฏิบัติ ไม่ใช่จะทำเพียงแค่เฉพาะที่จ.ภูเก็ตเท่านั้น ทุกพื้นที่เราจะต้องขับเคลื่อนให้เกิดการดำเนินการ โดยทั้งหมดเป็นเรื่องของการนำเนื้องานลงไปทำให้เกิดขึ้นจริง
สำหรับการหารือในเชิงนโยบาย รศ.ดร.อานนท์ ชี้แจงว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 16 เม.ย. ที่ผ่าน ในที่ประชุม คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. ได้มีการหยิบยกเรื่องของการเตือนภัยมาหารือกันแต่เป็นในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งแผนปฏิบัติการจะเป็นเรื่องของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. ที่จะต้องไปร่างแนวทางการทำงาน เชื่อว่าคงมีแผนปฏิบัติการชัดเจน เพราะในเชิงปฏิบัติการไม่ใช่เรื่องไฮเทคมากเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องโครงสร้างที่จะทำอย่างไร
“แต่ปัญหาอยู่ที่เรื่องการบริหารจัดการ ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดขึ้น และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่แค่อยู่ในกระดาษ หรือแค่นำมาพูดกันอยู่ในวงวิชาการ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขในวงวิชาการ แต่ต้องแก้ไขด้วยการปฏิบัติ” รศ.ดร.อานนท์ กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง ก่อนชี้แจงต่อไปว่า บางส่วนที่ยังขับเคลื่อนไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาในระดับท้องถิ่นไม่ได้รับข้อมูลและการสนับสนุน โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ ดังนั้นเราต้องมีระบบที่ยื่นให้ เช่น ระบบสินเชื่อพิเศษ ทุนพิเศษ เพื่อการปรับปรุงอาคารป้องกันเกิดเหตุแผ่นดินไหว หรือมีคลัง วิศวกรอาสา สำหรับเข้าไปในพื้นที่เพื่อดำเนินการให้เสร็จและสร้างความเชื่อมั่น เพราะว่าถ้าเราโยนให้ทางท้องถิ่นทำกันเองอาจจะไม่ไหว
ในส่วนของการช่วยเหลือและการเตรียมการเบื้องต้นนั้น รศ.ดร.อานนท์ แนะนำว่า 1.ให้ประชาชนสำรวจดูตนเองว่าอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ ซึ่งถ้าอยู่ในรัศมีประมาณ 30-50 กิโลเมตร จากช่วงแนวรอยเลื่อนก็ถือว่าเป็นพื้นที่เสี่ยง และสำรวจความแข็งแรง ของอาคารส่วนบุคคลที่อยู่อาศัย หรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานเช่น ถนน สะพาน อ่างเก็บน้ำ รวมไปถึงสาธารณประโยชน์ทุกอย่าง แต่ปัญหาอยู่ที่อาคารที่เป็นที่อยู่อาศัยส่วนบุคคล ทางหน่วยงานที่เกี่ยวต้องควรที่จะทำคู่มือ ความรู้ การเตรียมตัวป้องกันภัย ให้ประชาชนรับทราบ เพราะขณะนี้ความรู้ที่มีอยู่ ไปกระจุกอยู่ที่มหาวิทยาลัย องค์กรต่างๆ แต่ยังไม่ถูกสื่อสารหรือเผยแพร่อกมา
“สิ่งที่ดีที่สุดที่ภาครัฐสามารถทำได้ทันทีคือ การสื่อสารความรู้ให้ประชาชนได้รับรู้ และเข้าใจ ต้องพยายามสร้างคำง่ายๆเพื่อให้ประชาชนเข้าใจร่วมด้วย อย่าทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก ดังนั้นต้องแยกให้ออกว่า เรื่องที่ออกสาธารณะต้องเป็นข้อมูลที่กลั่นกรองแล้วระดับหนึ่ง เช่น การดีเบตทางวิชาการเพื่อความก้าวหน้านั้น ต้องเป็นอีกวงหนึ่ง อย่านำมาปนกัน ทำอย่างไรก็ได้ สื่อสารออกมาให้ชาวบ้านสามารถช่วยตัวเองให้ได้ก่อน”
นอกจากนี้ ถ้าเกิดเหตุแผ่นดินไหวจริงๆ จนเกิดความเสียหาย ไม่มีที่อยู่อาศัย ชุมชนจะต้องมีการเตรียมความพร้อมที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะเหตุแผ่นดินไหวไม่เหมือนกับเหตุน้ำท่วม เพราะแผ่นดินจะไหวเมื่อไหร่เราไม่รู้ เหตุการณ์พร้อมที่จะเกิดได้ทุกเมื่อ แต่เราก็ไม่ต้องวิตกกังวลเพราะเรารู้อยู่แล้วว่าแผ่นดินไหวเกิดขึ้นได้ และรู้ว่าความรุนแรงจะเกิดในระดับประมาณเท่าไหร่ เนื่องจากรอยเลื่อนส่วนใหญ่ในประเทศไทย ที่เป็นศูนย์กลางแผ่นดินไหว ก็ไม่น่าจะเกิน 5 ริกเตอร์ ไปมาก
ขณะที่ นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีข้อเสนอแนะให้มีนักวิชาการเฉพาะทางจากทางกรมทรัพยากรธรณีไปช่วยทางจังหวัดในการทำแผนที่ในการเฝ้าระวัง เพราะการหาข้อมูลความรู้ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะสามารถทำได้
“มองว่า ถ้าเรารู้จักพื้นที่เสี่ยงโดยเฉาะในเขตชุมชนที่มีความเสี่ยง จะเป็นการแจ้งเตือนประชาชนที่ดีที่สุด เพราะเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องไปวิตกกังวลอะไร เพียงแต่ว่า เรื่องภัยพิบัติเป็นเรื่องที่ต้องแจ้งความจริง นำเสนอข้อมูลต่างๆให้ประชาชนรู้มากที่สุด นอกจากรู้ว่าจะเกิดแล้วต้องรู้ว่าถ้ามีสัญญาณอะไรขึ้นเราต้องปฏิบัติตัวอย่างไร แต่ไม่จำเป็นต้องวิตกเพราะโอกาสที่จะเกิดก็ไม่มากนัก และคิดว่าหลังจากนี้เหตุแผ่นดินไหวจะเป็นเพียงอาฟเตอร์ช็อกที่ค่อยๆจางลงไป”
ทั้งนี้ สิ่งที่ในส่วนของภาครัฐควรจะทำเพิ่มคือ ทำแผนที่เสี่ยงภัยแลนด์สไลด์ โดยเฉพาะที่ จ.ภูเก็ต ขอแนะนำให้ไปสำรวจก่อนและลองประเมินเบื้องต้น เพราะจากที่มีโอกาสผ่านไป จ.ภูเก็ต หลายครั้งและสังเกตเห็นการเปิดหน้าดินหลายแห่งน่าจะมีปัญหาควรที่จะต้องไปสำรวจข้อมูลรายละเอียดทางธรณีวิทยา ทางความมั่นคงของลาดเขาต่างๆที่ประชิดตัวชุมชนต่างๆ เพราะถ้าภัยทางธรรมชาติเกิดขึ้นอะไร ประชาชนจะเดือดร้อนมากที่สุด