แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
เขื่อนปิดล้อมนิคมฯ ตัดสัมพันธ์ชุมชน ให้ต่างคนต่างอยู่
ตัวเลขความเสียหายของภาคอุตสาหกรรมในปีก่อน ทำให้แผนบริหารจัดการน้ำปีนี้มีทิศทางชัดเจนว่า พื้นที่เศรษฐกิจจำเป็นต้องได้รับการปกป้อง
เครื่องจักรจึงเดินหน้าเต็มกำลัง เพื่อสร้างเขื่อนป้องน้ำท่วมรอบ 6 นิคมอุตสาหกรรม ‘บางปะอิน สหรัตนนคร บางกระดี โรจนะ บ้านหว้า(ไฮเทค) นวนคร’ ตามแผนโครงการให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม สร้างภาพลักษณ์ และเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุน
แต่การสร้างเขื่อนป้องกัน ปิดล้อมเฉพาะพื้นที่จะเป็นวิธีที่ดีหรือไม่นั้น ในทัศนะของ นางอัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร ประธานคณะกรรมการวิศวกรหญิงไทย ภายใต้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และอดีตผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า การสร้างเขื่อนนั้นเป็นเรื่องจำเป็น
หากปีนี้น้ำมา อย่างน้อย "เขื่อน" จะได้ช่วยป้องกันโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมได้ ด้วยเป็นระบบป้องกันน้ำท่วมที่ดี มีการพิสูจน์แล้วว่า สามารถป้องกันน้ำท่วมได้จริง
“ขณะนี้นิคมอุตสาหกรรมเริ่มสร้างเขื่อนกันไปบ้างแล้ว เพราะเรามีความพร้อมอย่างมากในเชิงเทคนิค ทั้งรูปแบบ โครงสร้างทางวิศวกรรม บริษัทรับเหมา และตั้งเป้าไว้ชัดเจนว่า ทุกเขื่อนต้องแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม...ก่อนที่น้ำจะมา” เธอบอก
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อนิคมอุตสาหกรรม ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวภายใต้บริบทของพื้นที่ ชุมชนจึงเป็นสิ่งที่เธอไม่ได้มองข้าม และก่อนที่จะเริ่มทำโครงการ ทางนิคมฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุย ให้ข้อมูลกับมวลชนถึงความจำเป็นที่ต้องมีการก่อสร้าง
...ทำแล้วจะกระทบกับเขาอย่างไรบ้าง เราบอกหมด
อดีตผู้ว่าการนิคมฯ เห็นว่า โดยส่วนใหญ่ผู้ที่อาศัยอยู่โดยรอบนิคมฯ ก็มีความใกล้ชิดกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทำงาน หรือทำธุรกิจเสริมให้กับนิคมฯ
“และอย่างที่ทราบ ขณะนี้รัฐบาลก็ได้มีแผนโครงสร้างที่จะป้องกันน้ำท่วมในจังหวัดอยุธยา ปทุมธานีระยะยาว ให้ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3,800 ตารางกิโลเมตร ไล่ตั้งแต่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา นั่นหมายความว่า ถ้ารัฐบาลทำได้ตามแผนพื้นที่เศรษฐกิจทั้งหมดจะได้รับการดูแล ทั้งเรื่องระบบระบายน้ำ คูคลอง ระบบปั้ม ระบบเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 200 กิโลเมตร”
ส่วนการสร้างเขื่อนจะเรียกความเชื่อมั่นจากธุรกิจได้มากน้อยเพียงใดนั้น ผู้คร่ำหวอดในแวดวงอุตสาหกรรมไทย มองว่า การสร้างระบบเขื่อนอย่างเดียว ไม่สามารถสร้างความมั่นใจได้มากพอ เนื่องจากประสบการณ์ปีก่อนพบว่า เมื่อปริมาณน้ำมีมาก มาแรง และการผันน้ำไม่ได้มีการบริหารจัดการ จนระดับน้ำสูง เอ่อล้นข้ามเขื่อนได้
ดังนั้น รัฐจึงต้องมีมาตรการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ด้านนอกควบคู่ไปด้วย ทั้งการระบายน้ำในเขื่อน การหน่วงน้ำ การหาพื้นที่รับน้ำ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงลง
เธอยังเปรียบเทียบให้ฟังด้วยว่า
“เหมือนกับคนที่มีกระสอบทราย ปั้มน้ำ ติดบ้านก็ย่อมมีความมั่นใจในระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะให้มั่นใจมากยิ่งขึ้น รัฐก็ต้องออกมาตรการที่ชัดเจนว่าจะทำอะไร และเสร็จเมื่อไหร่ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ"
ขณะที่ในมุมมองของ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ นักวิชาการที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) มองว่า ก่อนที่จะสร้างเขื่อนรอบนิคมอุตสาหกรรมนั้น ต้องมีการประเมินในขั้นต้น หรือรันโมเดลเสียก่อนว่า จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างในภาพรวมบ้าง
เราต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่เฉพาะนิคมฯ เท่านั้นที่ปกป้องตัวเอง ชุมชน จังหวัดก็ตั้งคัน ยกถนน ปกป้องตนเองเหมือนกันหมด
ถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นมีการรันโมเดล ไม่มีการประเมินในขั้นต้น แล้วจะไม่มีใครบอกได้ว่า ถ้าในปีนี้น้ำมาเท่ากับปีก่อน "น้ำ" จะไปอยู่ที่ไหน
ตรงนี้ยังไม่มีใครรู้
แต่โดยหลักการธรรมชาติของน้ำต้องการที่อยู่ ถ้าเราไม่ให้เขาท่วมนิคมอุตสาหกรรม น้ำก็ต้องเข้าไปในพื้นที่ที่อ่อนแอที่สุด นั่นคือชุมชน ดังนั้น ดร.เสรี จึงเห็นว่า จุดนี้ชุมชนได้รับผลกระทบอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญที่ควรบอกได้คือ ระดับไหน น้ำจะสูงขึ้นเท่าไหร่ และจะระบายอย่างไร สิ่งเหล่านี้รัฐต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้
นอกจากนี้ เขายังชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการทำรันโมเดลด้วยว่า จะช่วยให้เห็นภาพรวมในการเตรียมการช่วยเหลือ จะใส่เครื่องสูบลงไปในพื้นที่เท่าไหร่ และชุมชนจะเข้ามามีส่วนรวมได้อย่างไรบ้าง
ขยับมาที่นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยา รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ได้สะท้อนแง่คิดต่อกรณีสร้างเขื่อนรอบนิคมฯ ไว้อย่างน่าสนใจเช่นกันว่า
"การปล่อยให้มีการสร้างเขื่อนรอบนิคมฯ เป็นการบริหารจัดการที่ผิดพลาด และเป็นเช่นนี้มาโดยตลอดแทบทุกรัฐบาล เนื่องจากไม่เคยคำนึงถึงแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ปล่อยให้นิคมอุตสาหกรรมเข้ามาขวางทางน้ำ และทำลายชีวิตของคนท้องถิ่น"
นักประวัติศาสตร์ ถอดบทเรียนสมัยรัชกาลที่ 5 ให้ฟังด้วยว่า เดิมพื้นที่อันเป็นที่ตั้งนิคมฯ ล้วนเป็นทางผ่านน้ำ มีคู คลอง ชลประทานคอยระบาย และหักเหน้ำตามธรรมชาติ ไม่เคยเกิดปัญหาน้ำท่วม พื้นที่บริเวณนี้จึงถูกกำหนดให้เป็นที่ตั้งของพื้นที่เกษตรกรรม
แต่เมื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม ทั้งโรจนะ บางปะอิน ไปจนถึงนวนคร ล้วนขวางทางน้ำทั้งสิ้น
“รัฐบาลไม่เคยแคร์ที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน แคร์แต่พื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่อุตสาหกรรม ทั้งที่แต่เดิมสังคมเราเป็นสังคมเกษตรกรรม ทำอย่างนี้ชาวบ้านมีแต่ตายกับตาย"
ความคิดที่จะสร้างเขื่อนสูง 5-6 เมตรเพื่อป้องกันน้ำท่วมเฉพาะเขตอุตสาหกรรม เขาจึงมองว่า เป็นการทำลายทางน้ำแต่เดิม ชะลอน้ำให้ไหลลงทะเลช้า และจะทำให้น้ำกระจายไปท่วมชาวบ้านอีกด้วย
ถ้ารัฐบาลยืนยันว่า จะรักษาแต่เขตอุตสาหกรรม โดยไม่คำนึงถึงที่อยู่อาศัยและวิถีชีวิตของชาวบ้านก็จบ!!
อาจารย์ศรีศักร์ ย้ำอีกว่า การจะสร้างเขื่อนเฉพาะตัว แล้วเทน้ำไปทำลายคนอื่น เป็นความบัดซบ และเลวที่สุด โดยเฉพาะการหนุนให้เปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรม เป็นสังคมอุตสาหกรรม “สังคมอุตสาหกรรมทำให้เกิดถนน เกิดไฮเวย์ ที่เป็นเครื่องบล็อกทางน้ำชั้นดี และเป็นต้นเหตุที่ทำให้น้ำท่วมสูงและท่วมขังนาน ผมว่ามันเป็นความมักง่าย ในการจะป้องกันเฉพาะหน้าแค่จุดเดียว โดยไม่คำนึงถึงส่วนรวม”
นอกจากกีดขวางทางน้ำแล้ว การเกิดของโรงงาน และนิคมอุตสาหกรรม ทำให้คนร้อยพ่อ-พันแม่ไปอยู่รวมกัน ซึ่งเป็นการทำลายชีวิต อาชีพและวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น โดยเฉพาะริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกทำลายมาเป็น 10 ปี น้ำท่วมขังมาโดยตลอด เพราะพื้นที่กลายเป็นถนนคู่ขนาน ไม่มีช่องทางระบายน้ำ
“การทำเขื่อนสูงเช่นนี้ ยิ่งทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ทิศทางน้ำได้เลย”
และผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็ คือ “ชาวบ้าน” ฉะนั้น ต้องหัดใช้ชาวบ้านรู้วิธีที่จะอยู่กับน้ำ และลุกขึ้นมารวมตัวกันรักษาความเป็นท้องถิ่นของตนเอง รวมตัวเป็น “กลุ่มประชาสังคม”
อาจารย์ศรีศักร ชี้ทางออก และว่า หากจะแก้ปัญหาให้ถูก ก็ควรจะย้ายเขตอุตสาหกรรมไปอยู่ที่สูง แทนการป้องกันโดยการสร้างกำแพงสูง แล้วส่งผลกระทบทำลายชีวิตคนอีกจำนวนมาก ส่วนการที่รัฐบาลจะอ้างว่าจะมีการชดเชย เยียวยาให้กับชาวบ้านบริเวณโดยรอบนิคมฯ อย่างเหมาะสม ก็เป็นเพียงการหลอกลวงชาวบ้าน ใช้เงินไปซื้อประชาชน ไม่แตกต่างจากการนำเงิน 5,000 บาท ไปแจก
"เรื่องการจัดการน้ำ และรักษาชุมชน หากไม่ให้อำนาจท้องถิ่นมาจัดการตนเอง ประชาชนก็จะจมน้ำตายวันยังค่ำ ไม่ว่าจะชดเชยเท่าไหร่ก็ไม่มีทางเพียงพอ"
ชาวบ้านทุกวันนี้จึงเสียเปรียบ เพราะไม่เคยรวมตัวกัน อีกทั้ง ถูกยุให้แตกแยก จากชุมชนที่เคยมีความเป็นปึกแผ่น มีสำนึกที่จะตายร่วมกัน กลายเป็นต่างคนต่างอยู่ และเกิดช่องว่างที่ทำให้ “ทรราชย์” และ “นายทุน” เข้าไปแทรกแซงได้
"ครั้งนี้ หากชาวบ้านไม่รวมตัวให้เกิดความเข้มแข็ง เพื่อรักษาถิ่นอาศัยและวิถีชีวิตของตนเองก็จงรับกรรมไป" อาจารย์ศรีศักร กล่าวทิ้งท้าย
เขื่อนกั้นน้ำรอบพื้นที่ 6 นิคมฯ
การก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม 6 แห่ง ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 4,833 ล้านบาท 1.นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน การก่อสร้างเขื่อนจะมีความยาวโดยประมาณ 11 กิโลเมตร ภายใต้งบประมาณ 728 ล้านบาท โดยเริ่มก่อสร้างในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 และจะแล้วเสร็จในวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 2.สวนนิคมอุตสาหกรรมบางกะดี ความยาวเขื่อนประมาณ 8.5 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 272 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 และจะเสร็จสิ้นในวันที่ 31 สิงหาคม 2555 3.เขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ การก่อสร้างเขื่อนความยาวประมาณ 77.6 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 2,233 ล้านบาท โดยมีแผนก่อสร้างในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 และจะแล้วเสร็จในวันที่ 30 กันยายน 2555 4.นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ก่อสร้างเขื่อนความยาวประมาณ 13 กิโลเมตร งบประมาณ 500 ล้านบาท มีแผนเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 มีนาคม 2555 เสร็จสิ้น 31 สิงหาคม 2555 5.สวนอุตสาหกรรมนวนคร ก่อสร้างเขื่อนความยาวประมาณ 18 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 700 ล้านบาท เริ่มดำเนินการวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 แล้วเสร็จ 31 สิงหาคม 2555 6.นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ก่อสร้างเขื่อนความยาวประมาณ 13 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท โดยมีแผนการก่อสร้างจะเริ่มในเดือนเมษายน 2555 และกำหนดเสร็จสิ้นวันที่ 31 สิงหาคม 2555 |