แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
เปิดแผนแม่บทจัดการน้ำ- ฟื้นฟู สร้างอนาคตประเทศ ในอุ้งมือ "กยน.- กยอ."
ปลายเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ราวเดือนพฤศจิกายน 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ที่มี ดร.สุเมธตันติเวชกุล เป็นที่ปรึกษา และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มี ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมแบบบูรณาการ รวมถึงฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ
ล่าสุดคณะกรรมการ กยน. เปิดแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระยะเร่งด่วนและระยะยาว 8 แผน ประกอบด้วย
1.แผนงานฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศน์ โดยเป็นการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เพื่อดูดซับและชะลอน้ำ รวมถึงพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มเติมตามศักยภาพพื้นที่ พัฒนาแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม อาทิ การจัดทำโครงการอนุรักษ์ดินและน้ำ การส่งเสริมให้มีการปลูกป่าเศรษฐกิจ และจัดทำป่าชุมชน นอกจากนี้ยังจะมีการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
2.แผนงานการบริหารจัดการเขื่อนเก็บน้ำหลัก และจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศประจำปี เพื่อให้สามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปีได้ โดยจะพัฒนาแผนการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนที่สำคัญ จัดทำแผนการบริหารน้ำในกรณีต่างๆ (Scenario) และนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องสู่สาธารณชน
3.แผนงานฟื้นฟูและปรับปรุงประสิทธิภาพสิ่งก่อสร้างเดิมหรือตามแผนที่วางไว้ เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ทั้งการปรับปรุงคันกั้นน้ำ ขุดคลอง การดำเนินการตามแนวพระราชดำริ การเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำและบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่เฉพาะ
4.แผนงานพัฒนาคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์ และเตือนภัย เพื่อให้มีข้อมูลที่จำเป็นในการบริหารจัดการน้ำ และมีแบบจำลองเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงมีองค์กรในการเตือนภัยที่มีเอกภาพ ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการ โดยการจัดตั้งศูนย์คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ
5.แผนงานเผชิญเหตุเฉพาะที่ โดยเฉพาะระบบป้องกันบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ที่มีความสำคัญ โดยมีแนวทาง อาทิ การจัดเตรียมแผนคมนาคมเมื่อเกิดอุทกภัย การแก้ไขน้ำเน่าเสียจากน้ำท่วมขัง และจัดทำแผนช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ
6.แผนงานกำหนดพื้นที่รองรับน้ำนองในเขตเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่าง รวมถึงการกำหนดมาตรการชดเชยความเสียหายเป็นกรณีพิเศษสำหรับพื้นที่ที่ถูกกำหนดเป็นพื้นที่รับน้ำ
7.แผนงานปรับปรุงองค์กรเพื่อบริหารจัดการน้ำ ให้มีองค์กรบริหารจัดการแบบบูรณาการ ที่สามารถตัดสินใจได้อย่างฉับพลันในยามวิกฤติ ในลักษณะ Single command
8.แผนงานสร้างความเข้าใจ การยอมรับและการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอุทกภัยขนาดใหญ่ของทุกภาคส่วน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการต่อต้านการดำเนินงานของภาครัฐในการแก้ปัญหาอุทกภัยในภาพรวม
โชว์ 6 แผนเร่งด่วน ปรับปรุงระบบระบายน้ำ-พัฒนาคลังข้อมูล มี.ค. 55 เห็นผล
ส่วนแผนปฏิบัติการนั้น แบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ แผนปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วน มีทั้งสิ้น 6 แผนงาน ได้แก่
1.แผนงานบริหารจัดการเขื่อนเก็บน้ำหลักและการจัดทำแผนบริหารจัดการกักเก็บน้ำของประเทศประจำปี จะต้องมีการรายงานความก้าวหน้าต่อ กยน. ในเดือน ม.ค. 55
2.แผนงานฟื้นฟูและปรับปรุงประสิทธิภาพสิ่งก่อสร้างเดิมหรือตามแผนที่วางไว้ แบ่งเป็น
-การปรับปรุงคันกั้นน้ำ อาคารบังคับน้ำ ระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพในพื้นที่ทั่วไปนั้น จะใช้งบประมาณปี 2555 จำนวน 7,062.82 ล้านบาท
-การปรับทางระบายน้ำ ขุดคลอง ขจัดสิ่งกีดขวางในคูคลองและทางระบายน้ำ ใช้งบประมาณปี 2555 จำนวน 1,695.27 ล้านบาท
- การเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำและบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่เฉพาะ ใช้งบประมาณปี 2555 จำนวน 2,984.05 ล้านบาท
-การเสริมคันกั้นน้ำและการดำเนินการตามแนวพระราชดำริ ใช้งบประมาณปี 2555 จำนวน 868.2 ล้านบาท โดยทั้ง 4 เรื่องโครงการดังกล่าวต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จเดือน ม.ค.2555
3.แผนงานพัฒนาคลังข้อมูลและระบบพยากรณ์เตือนภัย ให้ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือน มี.ค.2555
4.แผนงานเผชิญเหตุเฉพาะพื้นที่ พัฒนาระบบป้องกันบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ที่มีความสำคัญ ให้ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือน มี.ค.2555
5.แผนงานกำหนดพื้นที่รับน้ำนองและมาตรการเยียวยา ระยะเวลาดำเนินการแล้วเสร็จเดือน มี.ค.2555
6.แผนงานปรับปรุงบริหารองค์กรเพื่อบริหารจัดการน้ำ ระยะเวลาดำเนินการแล้วเสร็จเดือน ม.ค.2555
คลอดแผนยั่งยืน บริหารน้ำตั้งแต่ต้นทาง-เตรียมพื้นที่ 2 ล้านไร่รับน้ำนอง
สำหรับแผนปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแบบบูรณาการและยั่งยืน จำเป็นต้องดำเนินการให้ครอบคลุมทุกลุ่มน้ำทั่วประเทศ โดยพื้นที่ต้นน้ำ ควรให้ความสำคัญกับแนวทางด้านการชะลอน้ำ พื้นที่กลางน้ำ ควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ และพื้นที่ท้ายน้ำ ควรให้ความสำคัญกับการเร่งระบายน้ำและการผลักดันน้ำ
การดำเนินการเพื่อแก้ไขและบรรเทาความเสียหายอันเนื่องมาจากปัญหาอุทกภัยที่ได้ดำเนินการภายใต้คณะกรรมการ กยน. นั้นประกอบด้วยแผนการดำเนินงานและกลุ่มโครงการที่สำคัญดังนี้
1.โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ตันน้ำ โดยการปลูกป่า สร้างฝายแม้ว และอนุรักษ์ฟื้นต้นน้ำ ฯลฯ ของแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน สะแกกรัง ท่าจีน ป่าสัก มีระยะเวลาในการศึกษา สำรวจ ออกแบบ 1-2 ปี งบประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบ
2.โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำป่าสัก เช่น โครงการแก่งเสือเต้น โครงการแม่วงก์ ฯลฯ ระยะเวลาในการศึกษา 1-2 ปี งบประมาณ 50,000 ล้านบาท โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบ
3.โครงการปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานเป็นแก้มลิงประมาณ 2 ล้านไร่ เพื่อใช้เก็บน้ำหลากชั่วคราวประมาณ 6,000-10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ในฤดูน้ำหลาก และสามารถใช้เป็นแหล่งปลูกข้าวนาปรังได้ปีละ 2 ครั้ง ระยะเวลาในการศึกษา ออกแบบ สำรวจ 1-3 ปี งบประมาณ 60,000 ล้านบาท มีกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบ
4.โครงการจัดทำน้ำหลากหรือฟลัดเวย์ หรือทางผันน้ำ ขนาดไม่น้อยกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมทั้งถนนและอาคารองค์ประกอบต่างๆ เพื่อรับน้ำหลากจากแม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาหรือทั้งสองฝั่ง ระยะเวลาในการศึกษาออกแบบ สำรวจ 1-2 ปี งบประมาณ 120,000 ล้านบาท มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม รับผิดชอบ
5.โครงการจัดทำผังการใช้ที่ดินและการใช้ประโยชน์ที่ดินในผัง รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อม (คันริมแม่น้ำและระบบระบายน้ำ) ของพื้นที่ชุมชน พาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ระยะเวลาในการศึกษา สำรวจ ออกแบบ 1-3 ปี งบประมาณ 50,000 ล้านบาท มีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบ
6.โครงการปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และคันริมแม่น้ำส่วนที่เหลือ จากกลุ่มโครงการที่ 3 และ 5 ใช้ระยะเวลาในการศึกษา สำรวจ ออกแบบ 1-2 ปี งบประมาณ 7,000 ล้านบาท มีกระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบ
7.โครงการจัดระบบฐานข้อมูล ระบบพยากรณ์ ระบบเตือนภัย รวมทั้งการจัดตั้งองค์กร กฎระเบียบที่จำเป็นและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ใช้ระยะเวลาในการศึกษา ออกแบบ สำรวจ 1-2 ปี งบประมาณ 3,000 ล้านบาท มีสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบ
20 ทุ่งรับน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด
ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า ในส่วนของพื้นที่รับน้ำ 2 ล้านไร่นั้น จะไล่ตั้งแต่พื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ลงมาตามลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ขณะเดียวกันจะดำเนินการควบคู่ไปกับการผันน้ำออกทางฟลัดเวย์ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก อย่างมีระบบ
ในเบื้องต้นมีพื้นที่รับน้ำด้วยกัน 20 ทุ่ง รวม 1.15 ล้านไร่ ประกอบด้วย 1.จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 7 ทุ่ง โดยผันน้ำเข้าจากแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน บึงบอระเพ็ด ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ลุ่มโกรกพระฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่รับน้ำ 559,289 ไร่ รวมความจุน้ำ 2,124 ล้าน ลบ.ม.
2.จังหวัดชัยนาท ทุ่งเชียงราก มีพื้นที่รับน้ำ 138,711 ไร่ รวมความจุน้ำ 416 ล้าน ลบ.ม.
3.จังหวัดสิงห์บุรี มี 2 ทุ่ง คือ ทุ่งดอนกระต่าย และทุ่งบางระจัน พื้นที่รับน้ำ 164,374 รวมความจุน้ำ 394 ล้าน ลบ.ม.
4.จังหวัดลพบุรี 2 ทุ่ง คือ ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก พื้นที่รับน้ำ 101,971 ไร่ รวมความจุน้ำ 176 ล้านลบ.ม.
5.จังหวัดอ่างทอง 2 ทุ่งคือ ทุ่งลาดกระเทียม/ห้วยจระเข้ และทุ่งวิเศษชัยชาญ พื้นที่รับน้ำ 66,900 ไร่ ความจุน้ำ 107 ล้านลบ.ม.
6.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 6 ทุ่ง ได้แก่ ทุ่งกุฎี-ผักไห่ ทุ่งบางบาล ทุ่งเสนาเหนือ-ใต้ ทุ่งเชียงราก ทุ่งลาดบัวหลวง-ทุ่งไผ่พระ และ ทุ่งมหาราช พื้นที่รับน้ำ 118,636 ไร่ ความจุ 447 ล้าน ลบ.ม.
“กยอ.” เคาะวงเงิน 2.6 ล้านล้าน เดินหน้าจัดการน้ำ-พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน-ธุรกิจประกันภัย
ในเวลาไล่เลี่ยกัน ฟากคณะกรรมการ กยอ. ได้มีมติเห็นชอบแผนแม่บท และแผนยุทธศาสตร์ในการใช้เงินฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ รวม 5 เรื่องหลัก ดังนี้
1.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กยอ. เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการ กยน. รวมถึงวงเงินดำเนินการ 350,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็นวงเงินในการวางระบบลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 300,000 ล้านบาท และวงเงินในการวางระบบ 17 ลุ่มน้ำ อีก 50,000 ล้านบาท
2.การปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการ มีการพิจารณาใน 2 มิติ คือ 1) การปรับโครงสร้างเพื่อป้องกันภาคการผลิตและการบริการจากความเสี่ยงจากภัยพิบัติและสถานการณ์วิกฤต สนับสนุนภาคธุรกิจ เตรียมระบบการป้องกัน ปรับตัว และรับมือต่อสถานการณ์ภัยพิบัติ และสถานการณ์วิกฤต โดยใช้แนวทางบิซิเนส คอนทินิวอิตี้ เมเนจเมนท์ (Business continuity Management) เพื่อลดความเสี่ยงและปกป้องห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมให้ดำเนินการต่อเนื่องได้ในสถานการณ์วิกฤต 2) การปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการ เพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมหลักอย่างยั่งยืน ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม รวมทั้งภาคบริการ
3.การพัฒนาเชิงพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ แบ่งเป็น 1) การพัฒนาพื้นที่ระดับประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกระจายกิจกรรมความเจริญทางเศรษฐกิจในภาพรวมประเทศและภาค โดยกำหนดเป็นนโยบายการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อให้เกิดการกระจายอย่างเหมะสมตามศักยภาพของพื้นที่ 2) กำหนดบทบาทและทิศทางการพัฒนาของประเทศ กระตุ้นการเติบโตและเชื่อมโยงของสาขาต่างๆ ทางเศรษฐกิจ 3) การพัฒนาพื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศให้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 4) การพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนและเมืองชายแดนให้มีบทบาทการเป็นประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน 5) การบรูณาการแผนพัฒนาพื้นที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้บรรลุประโยชน์ร่วมกัน
4.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระหว่างปี 2555-2559 มีวงเงินทั้งสิ้น 2,270,085 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 5 สาขา คือ 1.สาขาขนส่งทางบก วงเงิน 1,469,879 ล้านบาท 2.สาขาขนส่งทางอากาศและน้ำ วงเงิน 148,504 ล้านบาท 3.สาขาพลังงาน 499,449 ล้านบาท 4.สาขาการสื่อสาร 35,181 ล้านบาท และ 5.สาขาสาธารณูปการ 117,072 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในส่วนการพัฒนาระบบขนส่งทางบก จะแบ่งเป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และทางหลวงสายหลักเชื่อมโยงเมืองหลักในภูมิภาค พิจารณารูปแบบโครงการทางหลวงสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (แนวเส้นทางด้านตะวันออก) ให้รองรับการระบายน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ
ขณะที่โครงข่ายรถไฟ มีเป้าหมายพัฒนาให้เป็นระบบ หลักในการขนส่งสินค้าจากพื้นที่การผลิตหลัก ภายในประเทศเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนรถไฟฟ้าความเร็วสูง ดำเนินการ 4 เส้นทางหลัก คือ 1.กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 2.กรุงเทพฯ-หนองคาย และกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี 3.กรุงเทพฯ-หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 4.กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-ระยอง
นอกจากนี้ยังจะมีการเร่งรัดการพัฒนาโครงข่ายขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง สายสีม่วง และส่วนต่อขยายของสายสีน้ำเงินและสายสีเขียว และโครงการตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในช่วงปี 2553-2572 เป็นต้น
และ 5.การพัฒนาระบบการประกันภัย ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเชื่อมั่นและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัย การสร้างมาตรฐานและการให้บริการคุ้มครองสิทธิแก่ผู้เอาประกัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาระบบประกันภัยให้เข้มแข็ง และการจัดตั้งกองทุนด้านการประกันภัย วงเงิน 50,000 ล้านบาท