แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
คลุมไอ้โม่งแถลงข่าว เรื่องเล็ก กลายเป็นเรื่องใหญ่ ละเมิดสิทธิเด็ก-เยาวชน !!
“นายแมน เยาวชนอายุ 17 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวมาแถลงข่าวต่อหน้าช่างภาพสื่อมวลชน หลังก่อเหตุยิงคู่อริต่างสถาบันเสียชีวิต พร้อมด้วยผู้โดยสารอีกหนึ่งราย ซึ่งถูกลูกหลงระหว่างโดยสารรถประจำทางสาย 59
แม้จะถูกอำพรางใบหน้าด้วยไอ่โม่งและแว่นตาดำขณะแถลงข่าวแล้วก็ตาม แต่คำถามคือ การกระทำดังกล่าวปฏิบัติตามกฎหมายด้านการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนเพียงพอแล้วหรือไม่ อีกทั้งเป็นประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนมากน้อยเพียงใด”
เพราะในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชน ที่กระทำความผิดนั้น สำหรับประเทศไทยมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ซึ่งโดยหลักการแล้วกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ พยายามไม่ให้มีการสัมภาษณ์หรือถ่ายภาพเด็กหรือเยาวชนที่กระทำความผิด แม้จะนำไปเผยแพร่หรือไม่ก็ตาม
กรณีนี้ มีคำอธิบายจากนายเจษฎา อนุจารี อุปนายกด้านจริยธรรม สภาทนายความ และในฐานะประธานคณะอนุกรรมการจริยธรรมและรับเรื่องร้องเรียน สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ว่า นอกจากในเรื่องการคุ้มครองสิทธิ แล้ว ยังมีเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ที่ไม่ให้มีการเปิดเผยตัวตนของเด็กหรือเยาวชนผู้กระทำผิด จนทำให้รู้ว่าพวกเขาหรือเธอเหล่านี้เป็นใคร
เขาบอกว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวเด็กหรือเยาวชนมาแถลงข่าวต่อช่างภาพสื่อมวลชนนั้น แม้เจ้าพนักงานจะพยายามใส่ไอ้โม่งคลุมหน้าไว้ทั้งหมด ไม่ให้เห็นแม้กระทั่งสีผิว แต่ในหลายๆ กรณี รวมถึงกรณีของนายแมน นักเรียนเทคนิคฯรายล่าสุด ที่ตกเป็นข่าวครึกโครมขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์นั้น ก็พบว่า ไม่ได้มีการบีบเสียง ซึ่งบางครั้งอาจยังมีคนจำเขาได้อยู่ดี
“การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในกรณีนี้เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ และกฎหมายวิธีพิจารณาคดีเด็กฯ ถือเป็นการละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิมนุษยชน” อุปนายกด้านจริยธรรมฯ ยืนยัน
พร้อมระบุด้วยว่า โดยหลักการในกระบวนการดำเนินคดีเด็กหรือเยาวชนนั้น ตำรวจไม่จำเป็นต้องเอาตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าว เพราะเขายังถือเป็นเพียงผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหาในคดีเท่านั้น
อีกทั้งศาลยังไม่ได้ชี้ว่า กระทำความผิดหรือไม่ อย่างไร ดังนั้น การดำเนินการให้มีการสอบสวนต่อสาธารณะ เท่ากับเป็นการปิดข้อต่อสู้ของจำเลยที่จะสู้คดีได้
ส่วนการที่เมืองไทยยังพบเห็นกระบวนการนำผู้กระทำความผิดมาแถลงข่าวอยู่บ่อยครั้งนั้น นักกฎหมายรายนี้ มองว่า นั่นเป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงสื่อมวลชน "ขาดสำนึก" ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง ทำให้มีการล่วงละเมิดตลอดเวลา
จุดนี้เองเขาเห็นว่า น่าจะต้องมีการดำเนินคดีเป็นตัวอย่าง
"แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่า...เรายังไม่ได้ทำอะไรกันเลย"!!
ขณะที่แหล่งข่าวจากศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ระบุว่า กฎหมายเกี่ยวกับเด็กเยาวชนมีหลักการใหญ่ที่สำคัญคือ การจับกุมต้องกระทำโดยละมุนละม่อม ห้ามใส่เครื่องพันธนาการ คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ประจานเด็กหรือเยาวชน
กรณีมีการนำเด็กหรือเยาวชนออกมาแถลงข่าวนั้น จะเข้าข่ายเป็นการประจานหรือไม่นั้น คำนี้ เขาบอกว่า สังคมต้องตัดสินเอาเอง เพราะยังไม่เคยมีคดีลักษณะนี้เกิดขึ้นให้ศาลต้องพิพากษาตัดสิน
“เห็นหน้าเห็นตาอาจเป็นการประจาน ปิดหน้าปิดตา แต่เปิดเผยให้รู้ชื่อ รู้เสียงจะเป็นการประจานหรือไม่ อย่างไร คงต้องตัดสินกันเอง”
อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้พิพากษาเขามองว่า การจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องกระทำ เพราะกฎหมายไม่ได้มีข้อกำหนดให้ต้องทำ ในทางกลับกันถึงแม้กฎหมายจะไม่ได้ห้าม แต่ทางออกที่ดีสุดของเรื่องนี้ก็คือ ไม่ควรมีการแถลงข่าวเกิดขึ้นเลย
ส่วนใครที่รู้สึกว่า เสียหายก็คงต้องไปดำเนินการฟ้องร้องตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
ขณะที่ นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ในฐานะที่ทำงานใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดในคดีอุกฉกรรจ์ เธอมองว่า การนำเด็กและเยาวชนออกมาแถลงข่าวนั้น แม้จะไม่ได้เปิดเผยใบหน้าค่าตา แต่บรรยากาศขณะนั้นย่อมถือว่า "คุกคาม" หรือทำให้พวกเขารู้สึกตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียด อึดอัด กลับเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ที่ตอกย้ำความผิดพลาดอีกครั้ง ซึ่งไม่เหมาะต่อกระบวนฟื้นฟู เยียวยา และพัฒนาเด็กเยาวชนให้กลับมาเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม
ก่อนจะตั้งข้อสังเกตุ ถ้าไม่ดำเนินการเรื่องนี้จะทำให้กระบวนการยุติธรรมเสียหายหรือไม่ อย่างไร
แน่นอน....ครึ่งหนึ่งของเรื่องนี้เกิดจากเด็กไปกระทำความผิด ทำร้ายผู้อื่นก่อน หลายคนจึงอาจมองว่า "ไอ้เด็กพวกนี้ถูกคุกคามบ้างคงไม่เป็นไร" แต่สำหรับคนที่ทำงานคลุกคลีกับเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดมาเป็นเวลานาน เธอบอกว่า การมองแบบนี้ใช้ไม่ได้กับเด็กและเยาวชน ซึ่งอายุยังน้อย บางครั้งเขาและเธออาจเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ด้วยความคึกคะนอง รู้เท่าไม่ถึงการณ์ วิธีการที่เราใช้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ทำให้คนอื่นเจ็บ ต้องอาย ต้องยอมรับ มันยากที่จะดึงพวกเขากลับคืนสู่สังคม
อย่างไรก็ตาม หากมองสังคมอย่างเข้าใจ เธอบอกว่า สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้และต้องนึกถึงคือ คนในพื้นที่ตรงกลางของสังคม ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง ไม่ได้เป็นญาติกับผู้กระทำผิด แต่เป็นคนที่ต้องการรับรู้ข่าวสาร หากอยากสบายใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตำรวจก็น่าจะแถลงข่าวด้วยการเล่าจากภาพนิ่งที่มีอยู่
วิธีการนี้ นอกจากจะช่วยปกป้องตัวตนของเด็ก สังคมได้รับรู้ข่าวสารแล้ว ยังไม่ทำให้กระบวนการยุติธรรมเสียหายด้วย
สำหรับทางแก้ไขปัญหา ผอ.ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาฯ ระบุชัดเจนว่า ส่วนหนึ่งต้องแก้ที่ตำรวจ ซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ถ้าตำรวจ เจ้าของคดี เจ้าของสน. ยังเข้าใจประเด็นของเด็กและเยาวชนไขว่เขว คงยากที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง
ดังนั้น สิ่งที่เธออยากเสนอคือ ประเทศไทยน่าจะมีหลักสูตรเรื่องนี้โดยเฉพาะเพื่อตอบคำถาม หักล้างวิธีคิดของตำรวจให้ได้ว่า เพราะเหตุใดการที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดถึงต้องเอ็นดู ต้องเมตตา...
ส่วนตัวเธอนั้น ตอบคำถามเรื่องนี้ได้นานแล้วว่า เพราะเด็กและเยาวชนยังมีชีวิตเหลืออีกมาก และต้องรับช่วงในการดูแลสังคมต่อจากเรา ฉะนั้น หากเหลือพื้นที่ในการแก้ไข ฟื้นฟู เยียวยา พัฒนาเขาไว้มากๆ จากที่จะขาดทุน ก็จะกลายเป็นกำไรของสังคม
“ยืนยันว่า เราไม่ได้ต้องการปกป้องหรือปล่อยให้คนกระทำความผิดลอยนวล เพียงแต่ต้องการให้มีวิธีจัดการผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กและเยาวชนอย่างถูกต้อง”
ส่วนที่ผ่านมาการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่เคยถูกฟ้องร้องหรือเอาผิดเลยนั้น เธอมองว่า สาเหตุที่ผู้เสียหาย นั่นคือพ่อแม่ไม่ไปฟ้องร้องเอาผิดใด เนื่องจากยังขาดทุนควรรู้พอสมควร อีกทั้งต้องมีความกล้าหาญเพียงพอที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคม เพราะส่วนหนึ่งลูกของตนก็ผิดจริง ลุกขึ้นมาก็กลัวว่าจะถูกด่า รู้มาก หัวหมอ ไม่สำนึก ซึ่งพ่อแม่เหล่านี้ต้องผ่านหลายด่านมาก ถ้าจะลุกขึ้นมาปกป้องลูกในมิติทางกฎหมาย โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์เรื่องเด็กในสังคมไทยยังไม่สุกงอมพอ
ฉะนั้น ทุกครั้งที่มีข่าวเด็กเยาวชน เราจึงอยากให้คณะกรรมการคุ้มครองเด็กระดับชาติ ระดับจังหวัด ซึ่งเป็นกลไกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ลุกขึ้นมาพูดหรือทำอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดกรณีตัวอย่าง ไม่ใช่เงียบเช่นนี้
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 76 เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดห้ามมิให้เจ้าพนักงานผู้จับกุมเด็กหรือเยาวชน หรือพนักงานสอบสวนจัดให้มีหรืออนุญาตให้มีหรือยินยอมให้มีการถ่ายภาพหรือบันทึกภาพเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด เว้นแต่เพื่อประโยชน์ในการสอบสวน มาตรา 130 ห้ามมิให้ผู้ใดบันทึกภาพ แพร่ภาพ พิมพ์รูป หรือบันทึกเสียง แพร่เสียงของเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือโฆษณาข้อความซึ่งปรากฏในทางสอบสวนของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือในทางพิจารณาคดีของศาลที่อาจทำให้บุคคลอื่นรู้จักตัว ชื่อตัว หรือชื่อสกุล ของเด็กหรือเยาวชนนั้น หรือโฆษณาข้อความเปิดเผยประวัติการกระทำความผิด หรือสถานที่อยู่ สถานที่ทำงาน หรือสถานศึกษาของเด็กหรือเยาวชนนั้น |
ที่มาภาพ: www.patrolnews.net www.kbeautifullife.com