แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
ศธ. ไร้เขี้ยวเล็บออกกฎเหล็ก คุมแฟรนไชส์กำมะลอ
จากข้อมูลการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง หรือ "ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง" ของสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เกือบ 200 แห่ง ที่ สกอ.ได้สรุปข้อมูลอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงปลายปี 2554 ที่ผ่านมา พบว่ามีถึง 96 สถาบัน ที่จัดการศึกษานอกที่ตั้ง โดยจัดตั้งศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งมากถึง 687 ศูนย์ แบ่งเป็น มหาวิทยาลัยรัฐ 11 แห่ง 185 ศูนย์ มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล 11 แห่ง 106 ศูนย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ 29 แห่ง 166 ศูนย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 5 แห่ง 16 ศูนย์ และมหาวิทยาลัยเอกชน 40 แห่ง 214 ศูนย์
ในจำนวนศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งทั้งหมดนี้ คณะกรรมการการการอุดมศึกษา (กกอ.) รับทราบว่าเป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพียง 32 แห่ง 45 ศูนย์เท่านั้น
จริงๆ แล้ว "ปัญหา" ที่เกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษาเกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมักจะไปจัดตั้งศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งในพื้นที่ หรือจังหวัดที่ตนเองไม่จัดตั้งมหาวิทยาลัย หรือจัดตั้งวิทยาเขต
ทั้งนี้ โดยวัตถุประสงค์หลักจริงๆ ของการจัดตั้งศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง เพราะต้องการขยายโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเข้าไปให้ถึงประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ต้องการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา แต่อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกล และไม่สะดวกในการเดินทางไปเรียนในมหาวิทยาลัยแม่
ซึ่งช่วงแรกๆ รัฐบาลจะใช้วิธีจูงใจให้มหาวิทยาลัยรัฐไปจัดตั้งเป็น "วิทยาเขต" ในจังหวัดที่ยังไม่มีมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ได้จัดตั้ง มก.วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม มก.วิทยาเขตสกลนคร มก.วิทยาเขตสุพรรณบุรี มก.วิทยาเขตศรีราช จ.ชลบุรี, มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) จัดตั้ง มม.วิทยาเขตนครสวรรค์ มม.วิทยาเขตกาญจนบุรี มม.วิทยาเขตอำนาจเจริญ, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) จัดตั้ง มอ.วิทยาเขตปัตตานี มอ.วิทยาเขตภูเก็ต มอ.วิทยาเขตตรัง เป็นต้น
หรืออย่างมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ที่ในอดีตมีวิทยาเขตอยู่มากมายหลายแห่ง แต่ปัจจุบันยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยไปเกือบหมดแล้ว อย่าง มศว. วิทยาเขตบางเสน หรือมหาวิทยาลัยบูรพา มศว. วิทยาเขตพิษณุโลก หรือมหาวิทยาลัยนเรศวร มศว. วิทยาเขตมหาสารคาม หรือมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มศว วิทยาเขตสงขลา หรือมหาวิทยาลัยทักษิณ
ในช่วงนั้น วิทยาเขตต่างๆ เริ่มมีมากขึ้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้มากขึ้น ขณะที่รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณในการจัดตั้งวิทยาเขตค่อนข้างสูง ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยเอกชนเริ่มเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐมากขึ้น ประกอบกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ในจังหวัดต่างๆ ที่ยังไม่มีสถาบันอุดมศึกษา รวมถึง วิทยาลัยครูที่ได้ยกฐานะขึ้นเป็นสถาบันราชภัฏ และมหาวิทยาลัยราชภัฏในปัจจุบัน ส่วนสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ถูกยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทำให้รัฐมองว่าการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาขึ้นใหม่ไม่จำเป็น เพราะแต่ละแห่งต้องใช้งบประมาณหลายพันล้านบาท ขณะที่สถาบันอุดมศึกษามีค่อนข้างเพียงพอแล้ว
ขณะที่รัฐไม่มีนโยบายสนับสนุนให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ เพราะเห็นว่าในปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษาในทุกสังกัดเกือบ 200 แห่ง เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้การขยายตัวของสถาบันอุดมศึกษาไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ต้อง "ปรับเปลี่ยน" รูปแบบไป โดยใช้วิธีการจัดตั้งศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งแทน โดยอาจใช้สถานที่โรงแรม ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน หรือศาลากลางจังหวัด เป็นต้น เป็นที่พบปะระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาแทน หรือถ้าสถาบันใดมีงบประมาณมากหน่อย ก็อาจเช่าอาคาร หรือสร้างอาคารสำหรับจัดการเรียนการสอนเลย แต่บางสถาบันก็อาศัยเช่าห้องแถว หรือปั๊มน้ำมัน จนกลายเป็นข่าวใหญ่โตมาแล้ว
ปัญหาศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งซึ่งผุดเป็นดอกเห็ด กระทั่งบางแห่งถึงขั้นตั้งประจันหน้ากับสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ โดยมีเพียงถนนขั้นกลางเท่านั้น ด้วยความที่ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งผุดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ สกอ.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษาเกือบ 200 แห่ง ไม่สามารถดูแลให้มีคุณภาพมาตรฐานได้อย่างทั่วถึง
จึงทำให้สถาบันอุดมศึกษาหลายๆ แห่งอาศัย "ช่องโหว่" เหล่านี้ "แอบ" ไปเปิดศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งที่ไม่ได้รับการรับรองจาก สกอ.หรือที่เรียกกันว่า "ศูนย์เถื่อน" รับนักศึกษาจำนวนมาก
ที่เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นข่าวครึกโครมไปทั่ว คือกรณี "มหาวิทยาลัยอีสาน (มอส.)" ที่มีนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต (ป.บัณฑิต) วิชาชีพครู นำใบ ป.บัณฑิต ที่ซื้อมาจาก มอส.นำมายื่นขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จนเป็นที่มาของการสืบสาวเรื่องราวต่างๆ จนกระทั่งต้องพบความจริงที่น่าตกใจ!!
เนื่องจาก มอส.ขออนุญาต สกอ.ในการรับนักศึกษาหลักสูตร ป.บัณฑิต ในปีการศึกษา 2554 เพียง 200 คน ในมหาวิทยาลัยแม่ แต่กลับรับนักศึกษานับพันคนเข้าเรียนในศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศูนย์เถื่อน เนื่องจาก มอส.แจ้งขอเปิดศูนย์นอกที่ตั้งที่ได้รับอนุมัติจาก สกอ.เพียง 4 ศูนย์ แต่จากรายชื่อศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งของ มอส.ที่ได้จากการสอบข้อเท็จจริง มีมากกว่า 100 ศูนย์ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นศูนย์เถื่อนที่ สกอ.ไม่เคยรับรู้มาก่อน อีกทั้ง ยังแอบรับนักศึกษาในหลักสูตรอื่นๆ ทั้งปริญญาตรี โท และเอก นอกเหนือจากหลักสูตร ป.บัณฑิต วิชาชีพครู มากมายนับไม่ถ้วน
จนในที่สุด สกอ.ต้องออกคำสั่งให้สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศรายงานการจัดตั้งศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งเข้ามา เพื่อให้ สกอ.ตรวจสอบ และหากศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งใดที่ไม่ได้มาตรฐานตามที่ สกอ.กำหนด ให้ยุบเลิกทันที ส่วนศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งใดที่ขออนุญาตถูกต้อง แต่มาตรฐานไม่เป็นไปตามที่กำหนด จะต้องปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐาน ไม่เช่นนั้นจะต้องยุบเลิกเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังออกประกาศห้ามไม่ให้สถาบันอุดมศึกษาในสังกัดจัดตั้งศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 เป็นต้นไป!!
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการจัดตั้งศูนย์เถื่อนที่แพร่ระบาดไปทั่วประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หากจะถามว่า "ใคร" ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ คงต้องบอกว่าทุกฝ่ายมีส่วนที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน...
เริ่มจาก "ผู้บริหาร" มหาวิทยาลัย ที่จะต้องมีความรู้สึกผิด ชอบ ชั่ว ดี ไม่ควรมองการจัดการศึกษาเป็น "ธุรกิจการศึกษา" ที่คิดแต่จะแสวงหาผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว เอารัดเอาเปรียบนักศึกษา โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะตาม
ขณะที่ "สภามหาวิทยาลัย" ซึ่งมีอำนาจหน้าที่สูงสุดในการกำหนดนโยบาย และทิศทางของมหาวิทยาลัย จึงควรจะต้องกำกับดูแลผู้บริหาร และมหาวิทยาลัย ให้มีคุณภาพมาตรฐาน และเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่มีแค่หน้าที่เซ็นรับเบี้ยเลี้ยงในการประชุม 1-2 เดือนต่อครั้ง เท่านั้น
ส่วน "สกอ." และ "ศธ." ในฐานะที่กำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ควรจะต้องติดตามการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดอย่างใกล้ชิด และทำงานการตรวจสอบในเชิงรุก หากมีสิ่งใดไม่ชอบมาพากล ก็ควรจะต้องเข้าไปดำเนินในทันที นอกจากนี้ ควรจะต้องกำหนดระเบียบ และกฎเกณฑ์ อย่างเข้มงวด รวมทั้ง ควรกำหนด "บทลงโทษ" ที่เด็ดขาด และนำมาใช้อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้ผู้ที่คิดจะใช้ช่องโหว่ของระเบียบ และกฎเกณฑ์ต่างๆ ทำมาหากินกับนักศึกษา
สำหรับ "นักศึกษา" หากไม่สะดวก หรือไม่สามารถเดินทางไปเรียนยังมหาวิทยาลัยแม่ได้ และจำเป็นต้องเรียนในศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง ควรจะต้องตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งดังกล่าวขออนุญาตจัดตั้งถูกต้องหรือไม่ และหลักสูตรที่เปิดสอนในศูนย์นั้นๆ ได้รับการรับรองจากสภามหาวิทยาลัย สกอ.และสภาวิชาชีพหรือไม่
จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ล่าสุด "นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช" รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ประกาศชัดเจนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สกอ.ในฐานะที่กำกับดูสถาบันอุดมศึกษา รวมถึง ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง หรือในส่วนของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ซึ่งกำกับดูแลมาตรฐานวิชาชีพครู ปรับปรุงกฎระเบียบ และขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่นักศึกษามากที่สุด
และเพื่อป้องกันไม่ให้สถาบันอุดมศึกษา หรือผู้บริหารบางราย อาศัยช่องว่าง และช่องโหว่ ไปทำมาหากินกับนักศึกษาอย่าง "ไร้ยางอาย" ที่สุด
ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่ทั้งมหาวิทยาลัย, สภามหาวิทยาลัย, สกอ., ศธ.รวมถึง สภาวิชาชีพต่างๆ จะต้อง "ยกเครื่อง" ระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ รวมทั้ง บทลงโทษต่างๆ ให้เกิดความชัดเจน เป็นรูปธรรม และปฏิบัติได้จริง เพื่อยกคุณภาพมาตรฐานการศึกษา และศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งทั่วประเทศ
ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้!!