แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
เปิดชื่อ 60 แฟรนไชส์ 6 สถาบัน ตกมาตรฐาน
สกอ.ประเมินผลอุดมศึกษา เบื้องต้นพบ 6 สถาบันเปิด “แฟรนไชส์” กว่า 60 ศูนย์จัดการเรียนการสอนไม่ได้มาตรฐาน
“เป็นบัณฑิตดีกรีปริญญาสมัยนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย วลีที่ว่า ‘จ่ายครบ จบแน่’ อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป เมื่อค่าเทอมหลักแสน อาจต้องแลกมากับปริญญาเก๊ๆ หนึ่งใบ”
.........................
จากกรณีมีรายงานข้อมูลการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษา ที่แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) อย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 พบว่า มหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลและมหาวิทยาลัยเอกชน จำนวน 96 สถาบันจากทั้งหมด 150 สถาบัน มีการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง รวมกันทั้งสิ้น 687 ศูนย์ฯ
ซึ่งในรายงานฉบับดังกล่าวนั้น ยังพบอีกว่า ปัจจุบันมีศูนย์การศึกษานอกสถานที่ตั้ง เพีย 32 สถาบัน จำนวน 45 ศูนย์เท่านั้นที่ได้รับการรับรองจาก สกอ.แล้วว่า จัดการเรียนการสอนเป็นไปตามมาตรฐาน
ทั้งนี้ หากพลิกอ่านรายงานฉบับนี้ให้ละเอียด ก็จะพบรายชื่อศูนย์การศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ สกอ.ตรวจสอบแล้ว และเห็นว่า ไม่ผ่านมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวนทั้งสิ้น 6 สถาบันกว่า 60 ศูนย์ ดังนี้
1.มหาวิทยาลัยปทุมธานี ซึ่งเป็นมหาวิทยาเอกชนแห่งหนึ่งในภาคกลาง พบว่ าเปิดศูนย์การศึกษาไม่ได้มาตรฐานการจัดการเรียนการสอน จำนวน 13 ศูนย์ฯ โดยเปิดสอนนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และป.บัณฑิต อาทิ
- หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต และนิติศาสตรมหาบัณฑิต ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 8 จ.เชียงใหม่
- หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ศูนย์การศึกษาโรงเรียนนครพาณิชยการ จ.นครศรีธรรมราช ศูนย์ฯโรงเรียนไฮเทค-เทคโนโลยี จ. สระแก้ว
- หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาบริหารการศึกษา ศูนย์โรงเรียนนครพาณิชยการ จ.นครศรีธรรมราช ศูนย์ฯโรงเรียนขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ศูนย์โรงเรียนไฮเทค-เทคโนโลยี จ. สระแก้ว
- หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาชีพครู ศูนย์โรงเรียนเทคโนโลยีสว่างแดนดิน จ.สกลนคร และศูนย์โรงเรียนไฮเทค-เทคโนโลยี จ. สระแก้ว (ดูตารางประกอบ)
2.มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ สกอ.ไม่ได้มีการระบุถึงข้อมูล รายละเอียดของการจัดตั้งศูนย์แต่อย่างใด เพียงแต่ชี้แจ้ง ว่าจะไม่รับทราบ หรือรับรองมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนนอกสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแห่งนี้
3.มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สถาบันอุดมศึกษาของรัฐแห่งนี้ พบ 44 ศูนย์ฯไม่ผ่านมาตรฐาน โดยระบุว่า สาขาบริหารธุรกิจ (เน้นบัญชี) และสาขารัฐประศาสนศาสตร์ ที่จัดศูนย์การศึกษาขึ้นใน จ.จันทบุรี ชลบุรี กรุงเทพฯ ชัยภูมิ ชุมพร ตราด นครปฐม นนทบุรี น่าน ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา ระยอง สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี ทั้งหมดล้วน...ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานทั้งสิ้น
ขณะที่ สาขาการบัญชี สาขาวิทยาศาสตร์ สาขาศิลปศาสตร์ ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์สถานีบริการสารสนเทศทางวิชาการโรงเรียนสมุทรพิทยาคม จ.สมุทรปราการ และศูนย์สถานีบริการสารสนเทศทางวิชาการวิทยาลัยเทคนิค จ.สมุทรสาคร ก็ไม่ผ่านการรับรองเช่นกัน
แต่ในรายละเอียดไม่ได้ระบุว่า เป็นหลักสูตรปริญญาบัตรระดับใด
4.มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม พบ 3 ศูนย์การศึกษา ในหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจ วิชาเอกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ/วิชาเอกการจัดการทั่วไป และหลักสูตรบัญชีบัณฑิต สาขาการบัญชี ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การศึกษาสถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตสุโขทัย จ.สุโขทัย ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน
5.วิทยาลัยนานาชาติเซนต์เทเรซา (วิทยาลัยเอกชน) พบ 1 ศูนย์การศึกษา ที่อาคารสกุลไทย สุรวงศ์ กรุงเทพฯ ในหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต วิชาชีพครู
6.สถาบันรัชต์ภาคย์ (สถาบันเอกชน) พบ 3 ศูนย์ฯ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินคือ หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต วิชาชีพครู ที่ศูนย์การศึกษาโรงเรียนชัยภูมิบริหารธุรกิจ จ.ชัยภูมิ ศูนย์การศึกษาวิทยาลัยเทคนิคยะลา จ.ยะลา
และหลักสูตรศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาบริหารการศึกษา ศูนย์การศึกษาโรงเรียนหนองโตงวิทยา จ.สุรินทร์ (ขณะนี้แจ้งเปลี่ยนสถานที่เป็นโรงเรียนสุรินทร์ราชมงคล) ก็ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้สุ่มสอบถามไปยังมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่มีรายชื่อติดโผ ไม่ผ่านการรับรองดังกล่าว พบว่า ปัจจุบันยังมีศูนย์การศึกษาทางภาคเหนือ ยังคงเปิดสอนในหลักสูตรนิติศาสตร์ระดับปริญญาตรีและปริญญาโทอยู่จริง พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่ปลายสาย ยังยืนยันว่า หลักสูตรในศูนย์ฯแห่งนี้ได้มาตรฐาน
“ผู้จบการศึกษาจะได้ปริญญาบัตร ที่สามารถนำไปใช้สมัครสอบเนติบัณฑิตได้ ซึ่งที่นี้ได้เปิดสอนและมีบัณฑิตจบออกไปหลายรุ่นแล้ว ส่วนปีการศึกษานี้ จะเปิดภาคเรียนในวันที่ 16 มิถุนายน 2555 หากสนใจแนะนำให้มาคุยกันเพิ่มเติมหรือติดต่อได้ที่ศูนย์ฯ โดยตรง” เจ้าหน้าที่รายนั้น บอก
และเพื่อตอบข้อสงสัย ว่า เหตุใดศูนย์การศึกษาเหล่านี้ ยังสามารถเปิดการเรียนการสอน ขายแพ็คเก็จการศึกษาอย่างเป็นล่ำเป็นสันให้กับบัณฑิตรายใหม่ได้อีก รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ชี้แจงว่า เป็นเพราะข้อมูลดังกล่าว ทาง สกอ. ยังไม่ได้แจ้งเป็นลักษณ์อักษรไปยังมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง ให้ทราบว่า มีการจัดการเรียนการสอน ไม่ผ่านตามมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ
"ขณะนี้เรากำลังเร่งประเมินผลสถาบันอุดมศึกษาในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จก่อน จากนั้นจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ กกอ.อีกครั้ง"
เมื่อถามว่า แต่ข้อมูลดังกล่าวได้ถูกเปิดเผยผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในของ สกอ. ไปแล้ว รศ.นพ.กำจร ยอมรับว่า ใช่ แต่เป็นการเปิดเผยไปก่อน แบบไม่เป็นทางการ ยังไม่ได้มีการรับรองจาก กกอ. ทั้งนี้ก็เพื่อแจ้งข้อมูลให้กับประชาชนได้รับทราบ จะได้เลือกดูว่าจะเรียนที่ใดดี
ขณะเดียวกันก็เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้สถาบันการศึกษาที่มีรายชื่อดังกล่าว ปรับปรุง แก้ไข
รองเลขา กกอ. บอกว่า หากสถาบันการศึกษาแห่งนั้น ปรับปรุงได้ดีขึ้น ก็จะทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นไปด้วย
“เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการประจาน แต่เป็นการแจ้งข้อมูลให้สาธารณชนได้รับทราบ ซึ่งถ้าที่ไหนเห็นข้อมูลผ่านทางหน้าเว็บไซต์แล้ว ไม่เห็นด้วยหรือแก้ไขปรับปรุงแล้ว ก็ต้องรีบแจ้งเข้ามายัง สกอ.เราจะได้รีบแก้ข้อมูลให้ และจุดนี้เองจะเป็นตัวสะท้อนว่า สถาบันเหล่านี้มีความพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้น”
เมื่อถามต่อไปว่า ต้องใช้เวลาอีกนานหรือไม่กว่า สกอ.จะแจ้งเรื่องนี้ให้สถาบันอุดมศึกษาทราบได้ รศ.ดร.กำจร ตอบว่า ภายในต้นเดือนมิถุนายนนี้ คาดว่าจะดำเนินการได้
ส่วนถ้าแจ้งไปแล้ว ยังมีผู้ฝ่าฝืน เปิดศูนย์ฯ การเรียนการสอนไม่ได้มาตรฐานอีก รองเลขาธิการ กกอ. ระบุว่า คงต้องมีมาตรการต่อไป ซึ่งขณะนี้ สกอ. พยายามเริ่มจากเรื่องหลักสูตรก่อน มหาวิทยาลัยที่ออกไปเปิดนอกสถานที่ตั้ง ถ้าไม่ได้ระบุว่าหลักสูตรเป็นหลักสูตรนอกที่ตั้ง หรือพบเห็นหลักสูตรไม่ได้คุณภาพ สกอ.ก็จะไม่รับทราบ ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ก็จะไม่รับรองหลักสูตรให้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะสอนในระดับการศึกษาใดก็ตามในมหาวิทยาลัยดังกล่าว แต่ขณะนี้ยังไม่อยากพูดอะไรออกไปมาก
ส่วนการดำเนินการล่าช้าไปหรือไม่นั้น เพราะขณะนี้บางมหาวิทยาลัยที่มีรายชื่อติดโผ กำลังเดินหน้า "ขายแพ็คเก็จ" การศึกษาให้บัณฑิตรายใหม่อยู่ รศ.ดร.กำจร ตอบว่า เรื่องนี้เข้าใจดี เรากำลังพยายามเร่งอยู่ และจะให้ข้อมูลในส่วนของศูนย์การศึกษาที่ไม่มีปัญหาออกไปก่อน ส่วนด้านผู้เรียนนั้นก็ต้องแยกแยะ ตัดสินใจให้ดี ลองสอบถามรุ่นพี่ที่จบการศึกษาออกมาจากที่นั้นๆ ดูว่าได้ทำงานที่ไหนกันบ้าง ซึ่งก็จะเป็นตัวช่วยได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามในเรื่องคุณภาพการศึกษานั้น เราก็จะพยายามคุมต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามในช่วงท้ายด้วยว่า กังวลหรือไม่ว่า กรณีนี้จะเกิดปัญหาซ้ำรอยกับ ป.บัณฑิต รศ.ดร. กำจร ตอบสั้นๆ ว่า ปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ลดลงไปเยอะแล้ว เรื่อง ป.บัณฑิตทำให้คนระมัดระวังในการเปิดหลักสูตร หรือเลือกเรียนในหลักสูตรต่างๆ มากขึ้น ซึ่งปัญหาน่าจะค่อยๆ ลดลง
ตารางประกอบ
ที่มา: ข้อมูลการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษาอย่างเป็นทางการ ณ 31ธันวาคม 2554 http://www.mua.go.th/users/bhes/front_home/off-campus/18012555/data%20exed18012555.pdf)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: สกอ.ลุยสอบต่อศูนย์ศึกษาไร้มาตรฐานเพิ่มอีก 500 แห่ง เล็งชงรมว.ศธ.แก้ปัญหา ! http://www.thaireform.in.th/index.php?option=com_flexicontent&view=items&id=7581:-500-