แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
เมื่อ "โอเน็ต" ตกซ้ำซาก..ได้เวลา "ปฏิวัติ" การศึกษาไทยทั้งระบบ!!
ทำให้หลายๆ ฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า "คุณภาพ" ของ "เด็กไทย" ตกต่ำลงอีก จากที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานอยู่แล้วในปัจจุบัน!!
สำหรับคะแนนเฉลี่ยทั่วประเทศใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งมีคะแนนเต็มวิชาละ 100 คะแนน มีค่าเฉลี่ยดังนี้ ภาษาไทย เฉลี่ย 41.88 คะแนน สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เฉลี่ย 33.39 คะแนน ภาษาอังกฤษ เฉลี่ย 21.80 คะแนน คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 22.73 คะแนน วิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 27.90 คะแนน สุขศึกษาและพลศึกษา เฉลี่ย 54.61 คะแนน ศิลปะ เฉลี่ย 28.54 คะแนน การงานอาชีพและเทคโนโลยี เฉลี่ย 48.72 คะแนน
โดยมีสุขศึกษาและพลศึกษาเพียงกลุ่มสาระฯ เดียว ที่ค่าเฉลี่ยเกินครึ่ง...
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนโอเน็ตชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประจำปีการศึกษา 2553 แล้ว จะพบว่าค่าเฉลี่ยที่ว่าต่ำอยู่แล้วของกลุ่มสาระฯ ต่างๆ ในปีการศึกษา 2554 ยังต่ำกว่าปีที่แล้วถึง 5 กลุ่มสาระฯ ได้แก่ ภาษาไทย เฉลี่ย 42.61 คะแนน สังคมศึกษาฯ เฉลี่ย 46.51 คะแนน วิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 30.90 คะแนน สุขศึกษาและพลศึกษา เฉลี่ย 62.86 คะแนน และศิลปะ เฉลี่ย 32.62 คะแนน
ส่วนกลุ่มสาระฯ ที่ค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2553 ได้แก่ การงานอาชีพและเทคโนโลยี เฉลี่ย 43.69 คะแนน ภาษาอังกฤษ เฉลี่ย 19.22 คะแนน และคณิตศาสตร์ เฉลี่ย 14.99 คะแนน
ที่สำคัญ เมื่อลองลงลึกถึงคะแนนต่ำสุด-สูงสุด ของแต่ละกลุ่มสาระฯ กลับพบสิ่งที่น่าตกใจกว่านั้น คือคะแนนต่ำสุดของทั้ง 8 กลุ่มสาระฯ อยู่ที่ "0" คะแนน ได้แก่ ภาษาไทย สังคมศึกษาฯ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ไม่เว้นแม้แต่ สุขศึกษาฯ ศิลปะ และการงานอาชีพฯ ที่คะแนนต่ำสุดก็อยู่ที่ "0" เช่นกัน
ส่วนกลุ่มสาระฯ ที่มีผู้ทำคะแนนได้เต็ม 100 คะแนน มีเพียงกลุ่มสาระฯ คณิตศาสตร์เพียงกลุ่มเดียว...
แม้ว่าผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) "นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์" จะออกมาแจกแจงกรณีคะแนนโอเน็ตเป็น "0" ในทุกกลุ่มสาระฯ เพราะพบว่ามีลักษณะการทำข้อสอบใน 3 กลุ่ม คือ 1.ไม่ทำเลย 2.ทำบางส่วนไม่ครบ 100 ข้อ และ 3.ทำทุกข้อ แต่ไม่ถูกสักข้อ
รวมถึง กรณีที่คะแนนเฉลี่ยโอเน็ตในปีนี้ ต่ำกว่าปีการศึกษา 2553 เป็นเพราะ สทศ.ปรับเปลี่ยนรูปแบบข้อสอบเป็น 5 ตัวเลือก และจับกลุ่มในการสอบ
บวกกับปีนี้เป็นปีแรกที่ สทศ.ได้วิเคราะห์ผลคะแนนโอเน็ตหาร้อยละของนักเรียนผ่านคะแนน "จุดตัด" หรือคะแนนขั้นต่ำ ในการทดสอบระดับชาติ โดยดูจากตัวข้อสอบ ให้ครูผู้สอนกำหนดจุดตัด และให้กรรมการออกข้อสอบกำหนดจุดตัด ซึ่งทำให้จุดตัดของกลุ่มสาระฯ ภาษาไทย อยู่ที่ 40 คะแนน มีนักเรียนผ่านคะแนนจุดตัด 213,388 คน หรือ 57.95% สังคมศึกษาฯ จุดตัด 30 คะแนน ผ่าน 246,931 คน หรือ 66.26% ภาษาอังกฤษ จุดตัด 25 คะแนน ผ่าน 83,438 คน หรือ 22.52% คณิตศาสตร์ จุดตัด 25 คะแนน ผ่าน 116,109 คน หรือ 31.20% วิทยาศาสตร์ จุดตัด 25 คะแนน ผ่าน 220,653 คน หรือ 60.17% สุขศึกษาฯ จุดตัด 45 คะแนน ผ่าน 294,836 คน หรือ 87.64% ศิลปะ จุดตัด 30 คะแนน ผ่าน 154,673 คน หรือ 42.37% และการงานอาชีพฯ จุดตัด 45 คะแนน ผ่าน 242,952 คน หรือ 66.55%
ฉะนั้น คะแนนขั้นต่ำเต็ม 100 คะแนน จึงไม่ใช่ 50 คะแนนเสมอไป...
ซึ่งคำชี้แจงเหล่านี้ ไม่แตกต่างจากคำ "แก้ตัว" ให้กับ "กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)" ที่เป็นหน่วยงานหลักในการจัดการศึกษาให้กับประชาชนคนไทย และคงไม่สามารถช่วยให้ "ผู้บริหาร" ศธ.ตั้งแต่ "รัฐมนตรี" ไปจนถึงผู้บริหาร 5 องค์กรหลัก "พ้น" จากความรับผิดชอบไปได้!!
"นายชินภัทร ภูมิรัตน" เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เอง คาดหวังกับคะแนนโอเน็ตของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปีนี้ ว่าจะเพิ่มขึ้น เพราะมีนโยบายก่อนหน้านี้ให้แต่ละเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ช่วยกันขับเคี่ยวเพื่อให้คะแนนโอเน็ตสูงขึ้นให้ได้ และการที่ค่าเฉลี่ยของกลุ่มสาระฯ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ สูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี ส่วนที่ค่าเฉลี่ยหลายกลุ่มสาระฯ ลดลง อาจเป็นเพราะมี "ตัวแปร" แทรกอยู่ เช่น เด็กไม่ตั้งใจทำข้อสอบ เพราะมีการสอบรับตรงเข้ามหาวิทยาลัยได้ก่อนการสอบโอเน็ตแล้ว เป็นต้น
แม้นายชินภัทร ภูมิรัตน จะมองว่าการเพิ่มขึ้นของค่าเฉลี่ยโอเน็ตของนักเรียนสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศ ในกลุ่มสาระฯ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่เรียนในระบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) แล้ว เลขาธิการ กพฐ.อาจต้องเปลี่ยนความคิด และต้องหันมาทบทวนบทบาทหน้าที่ในการจัดการศึกษาของ สพฐ.ใหม่อีกครั้ง!!
เพราะค่าเฉลี่ยโอเน็ตชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของนักเรียน กศน.ในปีนี้ กลับมีถึง 5 กลุ่มสาระฯ ที่ค่าเฉลี่ยโอเน็ตสูงกว่านักเรียนสังกัด สพฐ.ได้แก่ วิชาภาษาไทย กศน.เฉลี่ย 45.39 คะแนน สพฐ.เฉลี่ย 41.88 คะแนน ภาษาอังกฤษ กศน.เฉลี่ย 28.64 คะแนน สพฐ.เฉลี่ย 21.80 คะแนน สุขศึกษาฯ กศน.เฉลี่ย 56.12 คะแนน สพฐ.เฉลี่ย 54.61 คะแนน ศิลปะ กศน.เฉลี่ย 30.14 คะแนน สพฐ.เฉลี่ย 28.54 คะแนน และการงานอาชีพฯ กศน.เฉลี่ย 51.61 คะแนน สพฐ.เฉลี่ย 48.72 คะแนน
ซึ่ง "นายประเสริฐ บุญเรือง" เลขาธิการ กศน.ระบุว่า น่าจะเป็นเพราะ กศน.ได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อจ้างวิทยากรภายนอกเข้ามาสอนเสริมในกลุ่มสาระฯ ต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฯลฯ และยังได้กำหนดหลักเกณฑ์การพบกลุ่มของนักเรียน กศน.ใหม่ ทำให้มีความเข้มข้นในการเรียนการสอนมากขึ้น และเชื่อว่าค่าเฉลี่ยโอเน็ตของนักเรียน กศน.ที่สูงกว่านักเรียน สพฐ.จะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของ กศน.
ปัญหาค่าเฉลี่ยโอเน็ตตกต่ำ นอกจากจะถูกมองว่าเกิดจากการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐานแล้ว คุณภาพมาตรฐานของ "ข้อสอบ" ที่ออกโดย สทศ.เอง ก็ยังถูกจับจ้อง และวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายทุกปี ทั้งเรื่องมาตรฐานความ "ยาก" หรือ "ง่าย" ของข้อสอบในแต่ละปี ที่ "ไม่ได้" มาตรฐานเช่นกัน...
แม้ผู้อำนวยการ สทศ.จะชี้แจงในประเด็นนี้ว่า อาจเป็นเพราะ สทศ.ได้เปลี่ยนรูปแบบข้อสอบจากปรนัย 4 ตัวเลือก เป็นปรนัย 5 ตัวเลือก เพื่อลดการเดา ซึ่งทำให้เด็กได้คิดวิเคราะห์เพิ่มขึ้นนั้น
อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย "นายสธน วิจารณ์วรรณลักษณ์" บอกทันทีว่า การที่คะแนนโอเน็ตลดลง ไม่ควรโยนความผิดให้กับเด็ก เพราะโอเน็ตไม่สามารถสะท้อนมาตรฐานการศึกษาของประเทศ หรือความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้ เพราะกระบวนการออกข้อสอบโอเน็ตยังมีปัญหา และไม่ได้มาตรฐาน พร้อมกับแจกแจงถึงลักษณะของข้อสอบที่ดี จะต้องประกอบด้วยเนื้อหาข้อสอบที่ตรง หรือสอดคล้องกับหลักสูตรที่เรียน ไม่กำกวม และไม่เน้นวิเคราะห์มากจนทำให้นักเรียนสามารถเลือกคำตอบที่ถูกต้องได้หลายข้อ
ขณะที่ "นายสมคิด เลิศไพฑูรย์" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และนายกสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) ฟันธง..ว่า ส่วนตัวเชื่อว่าภาพรวมมาตรฐานการศึกษาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั่วประเทศต่ำกว่ามาตรฐาน โดยเฉพาะมาตรฐานนักเรียนในต่างจังหวัดต่ำกว่านักเรียนในกรุงเทพฯ แต่การที่ผลสอบออกมาตกในทุกกลุ่มสาระฯ หลักนั้น ทำให้ไม่มั่นใจว่าเพราะเหตุใด เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องดูให้ละเอียด รวมถึง การออกข้อสอบของ สทศ.เพราะการออกข้อสอบจะมี 2 ลักษณะ และหากต้องการวัดความก้าวหน้าของนักเรียน จะออกข้อสอบที่ยากกว่าข้อสอบวัดมาตรฐานความรู้อย่างแน่นอน ฉะนั้น การที่คะแนนโอเน็ตตกต่ำ คงต้องดูเรื่องข้อสอบด้วย
เสียงวิพากษ์เหล่านี้ ทำให้ "นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์" ประธานกรรมการบริหาร สทศ.บอกว่า สทศ.ยอมรับความวิจารณ์เรื่องข้อสอบบางข้อกำกวม ไม่ได้มองข้าม และเร่งปรับปรุงพัฒนาข้อสอบให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้วัดความสามารถของนักเรียนให้รอบด้านมากขึ้น พร้อมทั้งเสนอให้ ศธ.นำคะแนนโอเน็ตมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อให้นักเรียนตั้งใจสอบมากยิ่งขึ้น
ปัญหาความยากง่าย และความไม่ได้มาตรฐานของข้อสอบโอเน็ต รวมถึง ข้อสอบ GAT และ PAT น่าจะเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ที่ทำให้คุณภาพของเด็กไทยต่ำกว่ามาตรฐาน...
แม้ว่าเด็กๆ เองพยายามที่จะช่วยเหลือตัวเอง เพื่อเพิ่มความมั่นใจ และเพิ่มคะแนนในการสอบโอเน็ต GAT และ PAT ให้สูงขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการสอบในระบบรับตรงส่วนหนึ่ง และระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือระบบแอดมิสชั่นส์ โดยเด็กส่วนหนึ่งที่พอมีฐานะ ไปจนถึงมีฐานะดี ยอมที่จะ "จ่ายเงิน" ก้อนโตเพื่อ "กวดวิชา" โดยใช้เวลาว่างช่วงเย็นหลังเลิกเรียน วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และช่วงวันหยุดปิดภาคเรียน เพราะหวังว่าคะแนนสอบโอเน็ต GAT และ PAT จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างที่หวัง
ทำให้เงินสะพัดในแวดวงกวดวิชากว่า 3 หมื่นล้านบาท เมื่อปีที่ผ่าน...
นอกจากนี้ ยังทำให้ธุรกิจอื่นๆ ที่อยู่ในบริเวณของสถานที่ตั้งของสถาบันกวดวิชา อย่างธุรกิจหอพัก อพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียม และธุรกิจห้องเช่าต่างๆ เฟื่องฟูตามสถาบันกวดวิชา เพราะถูกจองคิวห้องยาวข้ามปี เนื่องจากเด็กๆ ในต่างจังหวัด ตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคใต้ แห่เข้ากรุงเทพฯ เพื่อกวดวิชาในช่วงปิดภาคเรียน
ท้ายที่สุด ผลสอบโอเน็ต GAT และ PAT ก็ไม่กระเตื้องอยู่ดี แถมกลุ่มสาระฯ หลักๆ ยังต่ำลงกว่าเดิมอีก!!
ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่หลายฝ่ายถกเถียงกันมาอย่างยาวนานเกี่ยวกับคุณภาพมาตรฐานของการศึกษาไทยทั้งระบบ และมีความพยายามที่จะยกคุณภาพมาตรฐานการศึกษาไทยให้สูงขึ้น กระทั่งต้อง "ปฏิรูป" การศึกษาไทยทั้งระบบถึง 2 ครั้ง แต่ก็ "ล้มเหลว" ถึง 2 ครั้ง 2 ครา
ล่าสุด "นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช" รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ประกาศแนวทางที่จะเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาใหม่อีกครั้ง แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไปท่ามกลางอุณหภูมิที่ร้อนระอุ
เห็นทีผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมือง ไล่ตั้งแต่รัฐบาล "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ไปจนถึงรัฐมนตรี ศธ.หรือฝ่ายข้าราชการประจำ ไล่ตั้งแต่ปลัด ศธ.ไปถึงเลขาธิการฯ องค์กรหลัก ผู้บริหารสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ คงต้องพร้อมใจกันลุกขึ้น "ปฏิวัติ" การศึกษาไทยทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่การศึกษาปฐมวัย ชั้นประถมศึกษา ชั้นมัธยมศึกษา ไปจนถึงการอุดมศึกษา
เพราะจะว่าไปแล้ว การศึกษาไทยในระดับต่างๆ บนเวทีโลกในขณะนี้ ยังคงย่ำอยู่กับที่ และหลายๆ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ระบบการศึกษาเคยตามหลังประเทศไทย กำลังไล่บี้มาติด และทำท่าจะแซงหน้าประเทศไทยไปในเร็วๆ นี้
อย่างน้อยการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติระบบการศึกษาไทย..
ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้!