แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
แปลงโฉม“แป๊ะเจี๊ยะ”เป็น“บริจาค”ระวัง“จุดอ่อน” รัฐบาลปู!!
กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ อีกครั้งหนึ่ง สำหรับนโยบายการรับนักเรียนในปีการศึกษา 2555 ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) "นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช" ที่มอบนโยบายให้กับผู้อำนวยการโรงเรียนประจำจังหวัดทั่วประเทศ ผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ และผู้อำนวยการโรงเรียนประถมศึกษาในกรุงเทพมหานคร ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ เมื่อเร็วๆ นี้
ได้ประกาศเสียงดังฟังชัดว่าจะแปลงโฉม "แป๊ะเจี๊ยะ" เป็น "เงินบริจาค" แทน โดยให้โรงเรียนประกาศให้ชัดเจนถ้าจะเปิดรับบริจาค และโรงเรียนอาจจะจัด "ห้องเรียนพิเศษ" ให้กับนักเรียนที่ผู้บริจาค
โดยมองว่าเรื่องการบริจาคเงินเพื่อแลกกับการเข้าเรียน เป็นเรื่องธรรมดาของโลก เพราะคงไม่มีใครที่ยอมบริจาคเงินให้โรงเรียนโดยที่ไม่ได้อะไร และที่ผ่านมาก็มีการบริจาคเงินให้โรงเรียนกันอยู่แล้ว พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกคนต้อง "ยอมรับ" ความจริงในข้อนี้
ทั้งยกตัวอย่างย้อนไปถึงสมัยดึกดำบรรพ์ในยุคกรีกโบราณ ที่การจัดการศึกษาจัดโดยการบริจาคของคนที่พอมีฐานะเช่นกัน!!
หลังจากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ประกาศนโยบายนี้ออกไป ปรากฏว่ามีทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และเสียงคัดค้านมากมาย..
อย่างไรก็ตาม นโยบายบริจาคเงินเพื่อแลกกับการเข้าโรงเรียนชื่อดังของนายสุชาติ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะตั้งแต่นายสุชาติเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ใหม่ๆ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางในการรับนักเรียนเข้าเรียนในชั้น ม.1 และ ม.4 ในปีการศึกษา 2555 โดยระบุว่าควรจะต้องเปิดโอกาสให้โรงเรียนขอรับบริจาคเงิน เพราะงบประมาณที่ ศธ.สนับสนุนโรงเรียนยังไม่เพียงต่อการพัฒนาการศึกษา
พร้อมทั้งบอกด้วยว่า ถ้าผู้ปกครองบริจาคเงินแล้วไม่ให้สิทธิเข้าเรียน ก็คงไม่มีใครบริจาค โดยอ้างอิงถึงการเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนชื่อดังทั้งหลาย ที่ผู้ปกครองก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินหลักแสนบาทเช่นกัน!!
ซึ่งครั้งนั้น แนวคิดนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม จนนายสุชาติต้องยอมถอย กระทั่งเรื่องเงียบไป แต่จู่ๆ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ก็หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาในการมอบนโยบายให้กับผู้อำนวยการโรงเรียนชื่อดัง
และถ้าย้อนกลับไปไกลกว่านั้น ในช่วงที่ "นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ก็เคยมีแนวคิดที่จะหยิบเอาการจ่าย "แป๊ะเจี๊ยะ" ที่ผู้ปกครองต้องแอบๆ จ่ายใต้โต๊ะให้กับโรงเรียน เพื่อแลกกับการเอาลูกหลานเข้าเรียน ให้ขึ้นมาจ่ายบนโต๊ะอย่างถูกต้อง
แต่สุดท้ายแนวคิดนี้ของอดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ก็มีอันต้องพับไป เพราะเกรงว่าเรื่องนี้จะถูก "ฝ่ายค้าน" นำไปใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
ล่าสุด นโยบายของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนปัจจุบัน ที่ต้องการให้ผู้ปกครองบริจาคเงินให้โรงเรียน และให้โรงเรียนเปิดห้องพิเศษสำหรับรองรับนักเรียนที่ผู้ปกครองบริจาคเงิน ก็มีอันต้องพับไปเช่นกัน เมื่อทาง "ชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติ" เตรียมยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และยกเลิกนโยบายดังกล่าวโดยด่วน รวมทั้ง จะเดินหน้าร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ
โดย "นายอำนวย สุนทรโชติ" ประธานชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติ เห็นว่านโยบายดังกล่าวจะเป็นการจำแนกคนด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งขัดหลักคุณธรรม และขัดรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญ เป็นการส่งเสริมให้เงินตรามีอำนาจเหนือความดีงาม โดยได้ส่งเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาตีความว่าการบริจาคเงินเพื่อแลกที่เรียน ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 30 หรือไม่
การล่าถอยของนายสุชาติในครั้งนี้ อ้างว่านโยบายดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าผู้ปกครองที่บริจาคเงินให้กับทางโรงเรียน ลูกหลานจะต้องได้เข้าเรียน
ซึ่งขัดกับคำให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านั้นอย่างสิ้นเชิง!!
วิธีคิด และคำพูดของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนปัจจุบัน นอกจากจะสร้างความสับสนให้กับผู้รับนโยบาย ไม่ว่าจะเป็น "นายชินภัทร ภูมิรัตน" เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และผู้อำนวยการโรงเรียนชื่อดังแล้ว ก็ยังสร้างความสับสนให้กับพ่อแม่ และผู้ปกครองอย่างมากมายอีกด้วย
เพราะไม่มีใครรู้ว่าเจตนารมณ์ที่แท้จริงของนายสุชาติคืออะไรกันแน่!!
จนเลขาธิการ กพฐ.ต้องขอเข้าพบนายสุชาติ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยยบายดังกล่าว เนื่องจาก สพฐ.เอง มีระเบียบในการรับบริจาคของโรงเรียน ซึ่งเป็นแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ทำมาตั้งแต่ปี 2554 โดยกำหนดให้มี "ห้องเรียนพิเศษ" ที่สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเรียนได้สูงกว่าห้องเรียนปกติ
ขณะเดียวกัน ก็มีความต้องการเข้าเรียนใน "โรงเรียนดัง" ทั้งหลายมากมายเกินกว่าที่ห้องเรียนพิเศษเหล่านี้จะรับได้ การขยายห้องเรียนพิเศษจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการระดมทรัพยากรเพิ่มเติมได้อย่างถูกต้อง แต่การเข้าเรียนในห้องเรียนพิเศษ ก็ยังคงต้องผ่านการสอบ และการบริจาคเงิน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเมื่อบริจาคเงินแล้ว จะเข้าเรียนได้ทันที
ขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนดังหลายแห่งก็ยัง "งง" กับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.และยืนยันจะเดินหน้ารับนักเรียนโดยยึดตามประกาศการรับนักเรียนของ ศธ.ปีการศึกษา 2555
อย่างผู้อำนวยการโรงเรียนราชวินิต มัธยม "นายบุญธรรม พิมพ์ภาภรณ์" ที่ไม่แน่ใจว่าแนวทางการบริจาคตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการ ศธ.จะเข้าหลักเกณฑ์ใด อีกทั้ง โรงเรียนเองมีการแบ่งโควตาในการรับนักเรียนอย่างชัดเจน แบ่งเป็น โควตานักเรียนโรงเรียนราชวินิต ประถม 180 คน โควตาลูกหลานข้าราชบริพาร 80 คน ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขการก่อตั้งโรงเรียน และเปิดสอบอีก 100 คน ถ้ามีที่นั่งเหลือ จึงจะเปิดให้ "ผู้มีอุปการคุณ" ที่บริจาคเงินให้โรงเรียน แต่ต้องมีหลักฐานชัดเจน และกำหนดชัดเจนว่าบริจาคเพื่ออะไร ซึ่งในส่วนนี้จะอยู่ในขั้นตอนหลังการรับนักเรียนปกติเรียบร้อยแล้ว
หรือ "นางจำนงค์ แจ่มจันทรวงษ์" ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา ที่มองว่านโยบายของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ปฏิบัติได้ยาก เพราะแผนการรับนักเรียนได้กำหนดรายละเอียด และเงื่อนไขพิเศษไว้แล้ว
อย่างไรก็ตาม หากนายสุชาติยังไม่ล้มเลิกแนวคิดที่จะให้ผู้บริจาคเงินเพื่อแลกกับการเข้าเรียนเสียก่อน ก็เป็นไปได้ว่าจะต้องพบกับ "วิบากกรรม" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากนโยบายดังกล่าวถูกมองว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 วรรคสาม ซึ่ง "นางวิสา เบ็ญจะมโน" กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และประธานอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และความเสมอภาคของบุคคล มองว่านโยบายการบริจาคเงินเพื่อแลกกับการเข้าเรียน ถือว่าผิดหลักสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นการตัดโอกาสเด็กที่มีความสามารถ แต่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่เอื้อ ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
และในมาตรา 49 วรรคแรก ประกอบกับมาตรา 10 วรรคแรก และมาตรา 13 (1) แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ยังได้บัญญัติรับรองว่าบุคคลมีสิทธิเสมอกันในการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยรัฐมีหน้าที่จัดให้โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แสดงว่ารัฐต้องสนับสนุนงบประมาณในการจัดการศึกษาให้เพียงพอ ไม่ใช่ให้โรงเรียนไปเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองอีก
นอกจากนี้ แนวทางการบริจาคเงินเพื่อแลกกับการเข้าโรงเรียนดัง ยังขัดกับพันธะกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 20 (1) ที่บัญญัติรับรองสิทธิของเด็กในอันที่จะได้รับการศึกษาโดยให้เปล่าอย่างน้อยในระดับประถมศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 3 (1) และข้อ 28 (ก) ที่บัญญัติให้รัฐภาคีต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นอันดับแรก และได้รับการศึกษาบนพื้นฐานของโอกาสที่เท่าเทียมกันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
อีกทั้ง ยังขัดกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 (1) และ (3) ในการสนับสนุน และพัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานการศึกษา ที่ต้องดำเนินการภายใต้หลักความเสมอภาค
ฉะนั้น หากมองหนทางข้างหน้าที่นายสุชาติจะเดินต่อไปเกี่ยวกับนโยบายการรับนักเรียนแล้ว ก็คงมีไม่มากนัก ดังนั้น การที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กลับลำได้ทัน
ก็นับเป็นโชคดีของนายสุชาติ และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
เพราะหากยังคงดันทุรังเดินหน้าต่อไป "กระทรวงศึกษาธิการ" อาจจะกลายเป็น "จุดอ่อน" ของรัฐบาล ที่ฝ่ายค้านจะหยิบยกขึ้นมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ!!