แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
ร่วมจ่าย 30 บาท วงจรหมุนกลับรักษาทุกโรค
หลังจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่มี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีมติให้เรียกเก็บเงิน 30 บาท จากประชาชนที่เข้าไปใช้บริการในโรงพยาบาลตามสิทธิโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไป ซึ่งล่าสุดแม้ นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะมีความเห็นในที่ประชุมนโยบายลดความเหลื่อมล้ำการบริการสาธารณสุข 3 กองทุน ให้บอร์ด สปสช.ทบทวนมติดังกล่าว เนื่องจากระบบและคุณภาพการให้บริการยังไม่พร้อมนั้น แต่ความเห็นของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้อาจไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ
การเรียกเก็บ 30 บาท จากผู้ที่ใช้สิทธิในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารอบนี้ แม้จะเป็นการปัดฝุ่นแนวทางเก่าที่เคยถือปฎิบัติมากก่อน แต่รอบนี้บอร์ด สปสช. ได้เพิ่มเติมเงื่อนไข คือ 1.เรียกเก็บเฉพาะผู้ที่ได้รับการสั่งจ่ายยา ซึ่งช่วง 6 เดือนแรก ให้เก็บเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลระดับจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยต่างๆ จากนั้นจะขยายออกไปยังโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลเครือข่าย สปสช.ทั่วประเทศ 2.ยกเว้นการเรียกเก็บในกลุ่มคนยากจน ซึ่งใช้ฐานข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย และผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูลตามมาตรา 5 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 อาทิ ผู้มีรายได้น้อยตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล พ.ศ.2537 ผู้นำชุมชน ได้แก่ กำนัน สารวัตรกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้มีอายุเกิน 60 ปี เด็กอายุไม่เกิน 12 ปีบริบูรณ์ ผู้พิการ พระภิกษุสามเณร ทหารผ่านศึก ทหารเกณฑ์ เป็นต้น ซึ่งมีอยู่ประมาณ 24 ล้านคน จากผู้มีสิทธิในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 47 ล้านคน 3.ให้ทุกโรงพยาบาลขยายบริการผู้ป่วยในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมทุกช่วงเวลาเพื่อความสะดวกของผู้เข้าใช้บริการ นอกจากนี้ ยังมีการปรับเปลี่ยนหน่วยบริการกรณีขอย้ายภูมิลำเนาจากเดิมเปลี่ยนได้ปีละ 2 ครั้ง เป็นปีละ 4 ครั้ง อีกทั้งขยายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการที่พิสูจน์ได้ว่าได้รับความเสียหายจากการรักษา กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จากเดิมจ่ายไม่เกิน 200,000 บาท เป็น 400,000 บาท กรณีพิการหรือสูญเสียอวัยวะ จากเดิมจ่ายไม่เกิน 120,000 บาท เป็น 240,000 บาท กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จากเดิมไม่เกิน 50,000 บาท เป็น 100,000 บาท ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม 2555
แนวทางดังกล่าวถือว่าเป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับประชาชนมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะทำให้ทุกฝ่ายสนับสนุน หรือดีใจไปกับเงื่อนไขที่บอร์ด สปสช.เสนอให้ ดังเช่น ศ.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่บอกว่า หากประเทศไทยมีการกระจายรายได้ที่ดี การเก็บเงินร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล 30 บาท จะไม่เกิดปัญหา แต่ปัจจุบันการเก็บเงินร่วมจ่ายดังกล่าวคงเป็นเรื่องยาก จึงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวมาโดยตลอด
“ที่สำคัญการเก็บเงินร่วมจ่าย 30 บาท ได้เงินเพียงจำนวนเล็กน้อยประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี ไม่สามารถนำไปแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศได้ เพราะแต่ละปีต้องใช้เงินมากถึงแสนล้านบาท บอร์ด สปสช.จะกลับมาเก็บ 30 บาท อีกก็ได้ แต่ต้องถามก่อนว่าเก็บแล้วได้อะไร ถามว่าทุกวันนี้ชาวบ้านเขาเข้าไปใช้บริการอย่างพร่ำเพรื่อหรือ ก็ไม่ใช่ เพราะคงไม่มีใครอยากเข้าไปเดินเล่นในโรงพยาบาลหากไม่ได้เจ็บป่วย” ศ.อัมมาร กล่าวและว่า สาเหตุที่บอร์ด สปสช.มีนโยบายให้เก็บ 30 บาท กับประชาชนที่ใช้สิทธิรักษาพยาบาลในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้จะมีเงื่อนไขว่าใน 6 เดือนแรก ให้เรียกเก็บเฉพาะผู้ที่ได้รับการสั่งจ่ายยาที่เข้าไปใช้บริการในโรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย จากนั้นค่อยขยายผลไปยังโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลในเครือข่าย สปสช.ทั่วประเทศ อีกทั้งยกเว้นการเก็บเงินกับคนยากจนและคนที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูลประมาณ 24 ล้านคน จาก 47 ล้านคน ที่มีสิทธิอยู่ในโครงการก็ตาม แต่ตั้งข้อสังเกตว่าการปัดฝุ่นนโยบายเก็บ 30 บาท ของบอร์ด สปสช.ชุดนี้ เป็นเพียงแผนการตลาดของรัฐบาล ที่อยากให้ประชาชนคนไทยจดจำว่านโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ริเริ่มจากพรรคการเมืองใด
ศ.อัมมาร กล่าวว่า รัฐบาลใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในโครงการรับจำนำข้าวของเกษตรกร แสดงว่ารัฐบาลไม่ได้ต้องการเม็ดเงินเล็กๆน้อยๆ ที่ได้จากการเรียกเก็บ 30 บาท ดังนั้นจึงไม่เห็นความจำเป็นที่รัฐบาลจะดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่หากรัฐบาลยังดึงดันที่จะเก็บเงิน 30 บาท ตามเงื่อนไขดังกล่าวจริง ข้อดีคือ รัฐบาลจะได้เงินเข้ามาอีกประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี แต่ข้อเสียคงมีมากกว่า กล่าวคือ ประชาชนที่ต้องจ่าย 30 บาท มีภาระเพิ่มขึ้นอีก นอกเหนือจากที่ต้องจ่ายค่าเดินทาง ค่าอาหาร แถมยังต้องเสียเวลารอคิวพบแพทย์ จนขาดโอกาสในการทำงานทั้งตัวผู้ป่วยและญาติไปติดตามไปด้วย ซึ่งหากรัฐบาลยังแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ ก็จะยิ่งทำให้เกิดปัญหามากขึ้น
“ผมพูดมาตลอดว่า นโยบาย 30 บาท ที่ดำเนินมาได้ทุกวันนี้ ต้องยกเครดิตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นโยบายนี้ประชาชนประทับใจกันทั้งประเทศ จะมีการเรียกเก็บหรือไม่เก็บค่าบริการ 30 บาท คนไทยก็ไม่มีวันลืมแน่นอน แต่ผมจะไม่เสนอแนะใดๆ กับรัฐบาลชุดนี้ เพราะมีคนเก่งจำนวนมาก หลายๆ นโยบายด้านสุขภาพเป็นเรื่องที่ดี เช่น นโยบายลดความเหลื่อมล้ำใน 3 กองทุนสุขภาพ นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินเข้าได้ทุกโรงพยาบาลไม่ถามสิทธิ ฯลฯ ที่ต้องให้การสนับสนุน แต่เรื่องการเก็บ 30 บาท นั้น ยังถือว่าเป็นเรื่องไร้สาระมาก"
ไม่ต่างจาก นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท ที่มีความเห็นว่า การเก็บ 30 บาท รอบนี้ เหมือนการ “พายเรือในอ่าง” กลับไปกลับมา ไม่ได้ประโยชน์ใดๆ แต่จะยิ่งเพิ่มช่องว่าง สร้างความแตกต่างระหว่างผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองกับผู้ป่วยที่ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่ไม่ต้องร่วมจ่ายใดเลยๆ ทั้งนี้โดยส่วนตัวเห็นว่า เรื่องนี้รัฐบาลต้องการสร้างโลโก้ทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้มีความจริงใจที่จะดูแลด้านสาธารณสุขที่ดีให้แก่ประชาชน เพราะแม้บอร์ด สปสช.ไม่มีนโยบายเก็บ 30 บาท ทุกวันนี้ในทุกโรงพยาบาลก็มีกล่องหรือตู้รับบริจาคอยู่แล้ว การที่รัฐบาลให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ อาจทำไม่ได้จริง เพราะเมื่อปลายปี 2554 โรงพยาบาลหลายแห่งประสบอุทกภัย เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เสียหายจำนวนมาก แต่รัฐบาลกลับปรับลดงบเหมาจ่ายรายหัวในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประจำปี 2555 ร้อยละ 5 และมีแนวโน้มว่าในปีงบประมาณ 2556 จะให้เท่ากับปีนี้อีก ซึ่งคาดการณ์ได้ไม่ยากว่า โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่พัฒนามา 10 ปี จะถดถอยจนกลายเป็นบริการอนาถาในที่สุด
เก็บแล้วต้องได้ประโยชน์ระยะยาว
ด้าน นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ให้ความเห็นว่า เมื่อ 10 ปีก่อน ที่เริ่มมีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค การให้ประชาชนร่วมจ่าย (Co-payment) ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเท่ากับเป็นการลดบริการที่ไม่จำเป็น แต่หลังจากมีนโยบายเลิกเก็บเงินดังกล่าวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และมาวันนี้จะมาเก็บเงิน 30 บาทอีกครั้ง อาจทำให้ประชาชนสับสนได้ อย่างไรก็ตาม หากบอร์ด สปสช.ยืนยันที่จะให้ประชาชนในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าร่วมจ่าย 30 บาท จริง ก็ควรจะมีเหตุผลที่เหมาะสม สามารถชี้แจงประชาชนได้ว่าเก็บไปเพื่ออะไร
นพ.พงศธร กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลในต่างประเทศที่มีรูปแบบการให้บริการด้านสุขภาพในลักษณะเดียวกันหรือใกล้เคียงกับประเทศไทย ก็มีการเก็บค่าบริการบางส่วนจากผู้เข้าไปใช้บริการในระบบร่วมจ่าย เช่น ไต้หวัน มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้บริการไม่เท่ากัน ซึ่งดูจากระดับฐานะของแต่ละคน ส่วนในอังกฤษ มีการเรียกเก็บเงินตามจำนวนยาหรือประเภทของยาที่โรงพยาบาลจ่ายให้แก่ผู้ป่วย เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายและการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมได้
“จากการศึกษาในประเทศไทย พบว่าผู้ป่วย 1 คน ใช้บริการที่โรงพยาบาลโดยเป็นผู้ป่วยนอก 3 ครั้งต่อปี ขณะที่ในต่างประเทศใช้สูง 7-8 ครั้งต่อปี ถ้ารัฐบาลไทยต้องการจะให้ประชาชนร่วมจ่าย 30 บาท ก็ควรทำให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว ซึ่งโดยส่วนตัวเสนอว่าให้เก็บค่าบริการ 30 บาท ตามจำนวนหรือประเภทของยา ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนปรับพฤติกรรมที่เคยมีการใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ ทำให้เกิดการใช้ยาที่เหมาะสมมากขึ้น เพราะในปัจจุบันเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าประเทศไทยมีมูลค่าการใช้ยาเพิ่มมากขึ้นทุกปี ส่วนจะเก็บทั้งในหรือนอกเวลาก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้มีอำนาจ สำหรับเงินที่ได้จากการเก็บ 30 บาท นั้น ให้โรงพยาบาลนำไปพัฒนาด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการให้บริการประชาชน” นพ.พงศธร กล่าวและว่า รู้ว่าบอร์ด สปสช.ดำเนินการเรื่องนี้แน่นอน ดังนั้นในเมื่อจะเก็บทั้งที ก็ควรทำให้สร้างสรรค์เพื่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวด้วย
ขณะที่นายสหรัฐ ศราภัยวานิช รักษาการประธานชมรมเพื่อโรคไต บอกว่า ในฐานะตัวแทนผู้บริโภคและผู้ป่วยที่ใช้สิทธิในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มองว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นทางการเมือง และค่อนข้างไร้สาระ เพราะการเก็บเงิน 30 บาท แม้จะเป็นเงินจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าข้าวแกง 1 จาน แต่สำหรับคนในชนบทที่มีชีวิตความเป็นอยู่ยากลำบากแร้นแค้น เงินเพียง 30 บาท ก็นับว่ามากโข
"ไม่มีใครอยากเข้าไปหาหมอ ถ้าเขาไม่ป่วยจริง ดังนั้นอย่ามาอ้างว่าต้องการเก็บ 30 บาท เพราะจะควบคุมไม่ให้ไปใช้บริการที่โรงพยาบาลอย่างพร่ำเพรื่อ คนที่ไม่มีเงิน เวลาไม่มีคือ ไม่มีจริงๆ เงิน 30 บาท จึงมีค่ามาก หากบอร์ด สปสช.ต้องการจะเก็บ 30 บาท ก็ควรจะไปพัฒนาระบบการให้บริการด้านสาธารณสุขดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะทุกวันนี้คนที่ไปหาหมอไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็เดินทางไปได้ พวกเขาจะต้องมีเงินสำหรับค่าเดินทาง ค่าอาหาร และต้องเสียเวลาพบหมอนานมากกว่าจะได้ตรวจโรคและรับยา ในเมื่อรัฐบาลประกาศว่าจะลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุขใน 3 กองทุนสุขภาพ การที่มีนโยบายนี้ถือว่าเป็นการดำเนินการที่สวนทางกับนโยบายอย่างมาก และยิ่งทำให้คนที่แทบจะเข้าไม่ถึงบริการยิ่งเข้าไม่ถึงมากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลระวังจะเสียคะแนนจากเรื่องนี้" นายสหรัฐ กล่าวและว่า ในส่วนของเครือข่ายผู้ป่วยและเครือข่ายผู้บริโภค ได้มีการหารือถึงประเด็นดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดได้มีหนังสือท้วงติงไปยังนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว
ทางฟากกลุ่มที่สนับสนุนให้เก็บเงิน 30 บาท จากผู้ป่วยในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากลับมีความคิดเห็นแตกต่างอย่างสิ้นเชิง โดย พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) บอกว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ สพศท.ได้มีการทำหนังสือขอหารือไปที่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2554 เพื่อขอให้ประชาชนร่วมจ่าย 30 บาท เนื่องจากก่อนหน้านี้บอร์ด สปสช.มีมติงดเก็บ 30 บาท จากประชาชนที่ไปใช้สิทธิในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งทำให้โรงพยาบาลทั่วประเทศเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน นอกจากนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน เนื่องจากมีภาระงานหนัก แต่ได้ค่าตอบแทนน้อย
“การที่บอร์ด สปสช.ชุดปัจจุบันมีมติเก็บ 30 บาท จากผู้ที่เข้าไปใช้บริการในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะทำให้โรงพยาบาลในเครือข่ายทั่วประเทศมีรายได้รวมประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี แม้จะเป็นเงินที่ไม่มาก แต่โรงพยาบาลสามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการได้ เช่น จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำมัน ค่าพนักงานรักษาความปลอดภัย ค่าพนักงานรักษาความสะอาด ฯลฯ มันเป็นเงินไม่มาก แต่สามารถทำให้งานราบรื่นได้ ก็เหมือนกับเงินจำนวนนี้ไม่ใช่น้ำมันเชื้อเพลิง แต่เป็นน้ำมันเครื่อง ความจริงชาวบ้านซึ่งเป็นคนจ่ายไม่ได้เดือดร้อนอะไรกับเงิน 30 บาท แต่ไม่เข้าใจว่าเอ็นจีโอจะออกมาคัดค้านทำไม พวกคุณไม่รู้หรอกว่า โรงพยาบาลย่ำแย่เพราะนโยบายของ สปสช.มาโดยตลอด อยากให้ลองไปสอบถามโรงพยาบาลขนาดเล็ก โรงพยาบาลชุมชน สถานีอนามัย ดูบ้าง จะได้รู้ว่าเกือบ 100% อยากให้เก็บเงิน 30 บาท มาก” พญ.ประชุมพร กล่าว
ในเมื่อตัวแทนจากแต่ละภาคส่วนยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากเรื่องนี้ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป!