แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
ขบวนการล้มหลักประกันสุขภาพ ฮุบประโยชน์ หรืออำนาจเก่าตีรวน ?
ระบบสุขภาพกำลังสั่นคลอนด้วยการตั้งอยู่ของ “ขบวนการล้มหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ที่หยั่งรากลงลึกและค่อยๆ แข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ
ระยะเวลาเพียงสัปดาห์เศษ ปรากฏร่องรอยความน่าจะเป็น
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ส่อถูกยึด!?
พลุดอกแรกถูกจุดโดยเครือข่ายภาคประชาชน “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ” เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา
“พบความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เพื่อช่วยให้ธุรกิจเอกชนซึ่งเกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลผลประโยชน์ต่อไปได้ พบการเล่นการเมืองในสปสช.เพื่อแย่งชิงอำนาจจากภาคประชาชน” จอน อึ๊งภากรณ์ ประธานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เปิดประเด็น
ขยายความด้วยข้อมูลจาก สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ที่ระบุว่า ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวของกลุ่มสมาคมยาข้ามชาติ กลุ่มโรงพยาบาลเอกชน เครือข่ายแพทย์ สภาวิชาชีพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ผนึกเข้ากับฝ่ายการเมือง เพื่อล้มระบบบัตรทอง เนื่องจากสูญเสียอำนาจบริหาร-ตัดสินใจ-งบประมาณ
วาทะกรรม “ล้มระบบบัตรทอง” หมายถึงการแสวงหาผลประโยชน์จากกองทุนสปสช. ที่มีเงินหมุนเวียนหลักแสนล้านบาท
คำถามคือ เป็นจริงอย่างที่ถูกตั้งข้อครหาหรือไม่ ?
ท่ามกลางความคลุมเครือที่ยังไร้ข้อพิสูจน์ ท่าทีของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพกลับได้รับแรงสนับสนุนจาก “ชมรมแพทย์ชนบท”
คล้อยหลังเพียง 2 วัน คือวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดหน้าชกด้วยการสำทับการมีอยู่จริงของ “ขบวนการล้มหลักประกันสุขภาพ”
“ขบวนการนี้เคลื่อนไหวมาแล้ว 3 ปี โดยเริ่มต้นจากการเปิดวอร์รูมขึ้นที่ห้องผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อวางแผน กำหนดทิศทาง จากนั้นได้ขยายเอาฝ่ายการเมือง-บริษัทยาข้ามชาติ ซึ่งจะได้รับประโยชน์หากแผนการสำเร็จมาเข้ามาเป็นแนวร่วม”
นพ.เกรียงศักดิ์ ลงลึกในรายละเอียดว่า แผนการล้มหลักประกันสุขภาพ แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน หรือบันได 4 ขั้น เริ่มจาก 1.ฝ่ายการเมืองจะเปิดทางให้กลุ่มแพทย์ที่ไม่เห็นด้วยกับระบบและฝ่ายการเมืองเข้ายึดครองบอร์ดสปสช. เพื่อจัดคนเข้าสู่อนุกรรมการชุดต่างๆ
2.เปลี่ยนตัวผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช. โดยเอาตัวแทนฝ่ายการเมืองเข้าไปแทนเพื่อยึดครอง สปสช. และลดบทบาทการปฏิรูปและตรวจสอบระบบบริการ
3.ของบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกับที่ระบบประกันสังคม-สวัสดิการข้าราชการได้รับ เพื่อสร้างเงื่อนไขภาระงบประมาณให้รัฐบาล
ขั้นตอนสุดท้ายคือ สร้างกระแสสังคมให้ยุบเลิกหรือแก้ไขสาระสำคัญของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
คำถามที่ตามมาคือ เป็นจริงอย่างข้อครหาหรือไม่ ?
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือข้อครหาข้างต้นได้แบ่งคู่ขัดแย้งออกเป็น 2 ฝ่าย
หนึ่งคือ เครือข่ายภาคประชาชนซึ่งเห็นสอดคล้องกับชมรมแพทย์ชนบท อีกหนึ่งคือตัวละครซึ่งถูกผลักให้เป็นฝ่ายขบวนการล้มหลักประกันสุขภาพ อันประกอบด้วย ฝ่ายการเมือง (นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข - พรรคเพื่อไทย) สภาวิชาชีพ (แพทยสภา) เครือข่ายแพทย์ (โรงพยาบาลเอกชน) บริษัทยาข้ามชาติ และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข
ว่ากันตามข้อเท็จจริงโดยให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ประเด็นขบวนการล้มหลักประกันเกิดขึ้นภายหลังบอร์ดสปสช.ชุดก่อนหมดวาระลง และมีการแต่งตั้งบอร์ดสปสช.ชุดใหม่
โครงสร้างบอร์ด สปสช.ประกอบด้วยผู้แทนภาคประชาชน5 คน ผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข 5 คน ผู้แทนหน่วยงานราชการ 8 คน ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 4 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน รมว.สาธารณสุข1 คน รวมทั้งสิ้น 30 คน
แน่นอนว่าเสียงของผู้แทนราชการ-อปท. จะเทตาม รมว.สาธารณสุข นั่นหมายความว่า รมว.สาธารณสุขกุมเสียงทั้งสิ้น13 เสียง
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2545 (กำเนิดสปสช.) จนถึงปี 2554 (ก่อนได้บอร์ดชุดใหม่) ซีกของภาคประชาชน-ผู้ทรงคุณวุฒิ (ซึ่งมีสัมพันธ์เชิงลึกกับชมรมแพทย์ชนบท) สามารถผนึกเสียงกับรมว.สาธารณสุขได้ นั่นหมายความว่า “ขั้วอำนาจเก่า” ยึดครองสปสช.มาอย่างยาวนานและผูกขาด
ทว่า เมื่อนายวิทยา เข้ามาดำรงตำแหน่ง กลับตรงกันข้ามกล่าวคือทั้ง 13 เสียง ควบรวมกับเครือข่ายแพทย์เอกชน-สภาวิชาชีพได้เหนียวแน่น ขณะที่สัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิก็ถูกแพทย์เอกชนแทรกตัวยึดกุมได้สำเร็จ บอร์ดสปสช.ชุดใหม่จึงเข้าข่ายแต่งตั้งอย่าง “ล้างบาง-พลิกขั้ว”
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “กลุ่มอำนาจเก่า” จะออกมาตีรวน
นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา หนึ่งในจำเลยที่ถูกตั้งข้อครหา วิเคราะห์ว่า กระแสข่าวเรื่องขบวนการล้มระบบหลักประกันสุขภาพเกิดขึ้นเนื่องจาก นพ.วินัย สวัสดิวรเลขาธิการ สปสช. ใกล้หมดวาระ ซึ่งแน่นอนว่าหลายฝ่ายมีความประสงค์จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ สอดคล้องกับการเลือกบอร์ด สปสช.ที่ผ่านมาชัดเจนว่ามีการเปลี่ยนขั้วอำนาจจากเดิมที่กลุ่มชมรมแพทย์ชนบท-ภาคประชาชนสามารถยึดกุมคะแนนเสียงไว้ได้ เมื่อมีการเปลี่ยนตัวบุคคลปัญหาจึงเกิด
"กลุ่มคนที่เคยได้เป็นเขากลับไม่ได้เป็น มันก็เลยมีอะไรขึ้นมา ที่ผ่านมาความคิดมันวนอยู่แคบๆ ในคนกลุ่มเดิม จึงอยากให้รอดูความคิดของคนกลุ่มใหม่ คนที่ไม่ได้รับตำแหน่งก็ควรให้โอกาสไม่ควรตีรวน" " นพ.อำนาจระบุ พร้อมแสดงความมั่นใจว่า บอร์ดสปสช.ที่พลิกขั้วไปแล้วจะสร้างผลงานให้ประจักษ์ภายใน 6 เดือน
อย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้น ประเด็นนี้ต้องว่ากันตามข้อเท็จจริงโดยให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะเมื่อนำแผน “บันได 4 ขั้น” ที่ชมรมแพทย์ชนบทมาสอบทานกับสถานการณ์ ใช่ว่าความน่าจะเป็นจะเป็นศูนย์
“ฝ่ายการเมืองจะเปิดทางให้กลุ่มแพทย์ที่ไม่เห็นด้วยกับระบบและฝ่ายการเมืองเข้ายึดครองบอร์ดสปสช. เพื่อจัดคนเข้าสู่อนุกรรมการชุดต่างๆ” คือบันไดขั้นที่ 1 ตามที่ชมรมแพทย์ชนบทระบุ และเมื่อตรวจสอบรายชื่อบอร์ดสปสช.ชุดใหม่ โดยดูความเหมาะสมและเทียบเคียงกับบอร์ดชุดก่อนๆ ยิ่งพบความไม่ชอบมาพากลหลายตำแหน่ง
สรุปองค์ประกอบและผลงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้การเป็นประธานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 3 ยุคสมัย
นอกจากนี้ จับสัญญาณจากการประชุมบอร์ดสปสช.ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเดิมแล้วนายวิทยา ในฐานะประธานบอร์ดสปสช. (โดยตำแหน่งรมว.สาธารณสุข) ได้กำหนดวันประชุมวันที่ 6 ก.พ.2555 แต่ทว่ากลับเลื่อนมาให้เร็วขึ้นร่วมสัปดาห์ โดยทำหนังสือถึงบอร์ดสปสช.ทุกคนเรียกประชุมด่วน
คำถามคือ เหตุใดจึงต้องเร่งจัดประชุมท่ามกลางกระแสฉาว “ขบวนการล้มหลักประกันสุขภาพ”
ก่อนหน้าการประชุมเพียง 1 วัน คือวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา มีวาระการประชุมเพื่อพิจารณาหลุดรอดออกมาให้ทราบโดยทั่วกันว่า การประชุมวันที่ 24 ม.ค.นี้ มีวาระเสนอให้บอร์ดสปสช.แต่งตั้งอนุกรรมการ 13 คณะ 217 คน และท้ายที่สุด ที่ประชุมบอร์ดสปสช.ก็เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ครบถ้วน ทว่าใช้เวลาถกกันนานถึง 5 ชั่วโมง
แม้นายวิทยา จะยืนยันว่า อนุกรรมการทั้ง 217 คน บางรายอาจจะไม่ได้อยู่ในสายงานแพทย์ แต่ก็มีความรู้ความสามารถ จึงอยากให้ดูที่ผลงาน ที่เมื่อพิจารณารายเป็นบุคคลและสัดส่วนการดำรงตำแหน่ง ยิ่งชัดเจนว่ามีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและตัวบุคคลอย่างผิดรูปผิดฝา
นายนิมิตร์ เทียนอุดม บอร์ด สปสช.สัดส่วนภาคประชาชน บอกว่า เหตุที่บอร์ด สปสช.ใช้เวลาประชุมยาวนาน เนื่องจากภาคประชาชนไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งที่ไม่มีความชัดเจน ไม่มีการระบุคุณลักษณะ ที่สำคัญมีการนำคนนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับวงการแพทย์มาดำรงตำแหน่ง อย่างไรก็ตามที่ประชุมหาทางออกด้วยวิธีการเปิดให้ลงคะแนนเสียงเพื่อยึดตามมติเสียงข้างมาก จึงเข้าข่ายพวกมากลากไป
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวภายหลังรับทราบรายชื่ออนุกรรมการฯ ทั้ง 217 คนว่า การแต่งตั้งสะท้อนว่าแผนของขบวนการล้ม สปสช.ขั้นที่ 1 สำเร็จลุล่วงไปแล้ว เพราะชัดเจนว่าฝ่ายการเมือง เอกชน ธุรกิจ สามารถแต่งตั้งคนที่สามารถควบคุมได้มาดำรงตำแหน่งทั้ง 100%
จากนี้ชมรมแพทย์ชนบทจึงชอบธรรมที่จะเคลื่อนไหวมากขึ้น