แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
สมาคมสันนิบาตเทศบาลฯ ร้อง รบ.เยียวยาผลกระทบเพิ่มค่าครองชีพ
ส.ส.ท. เตรียมเข้าพบ นายกฯ 1 ส.ค. รับทราบแนวทางแก้ผลกระทบเพิ่มค่าครองชีพ แจงเป็นนโยบายเบียดบังงบฯท้องถิ่น สร้างภาระแต่ไม่อุดหนุน ชี้กระทบการบริการสาธารณะแก่ปชช.
นายทนงศักดิ์ ทวีทอง เลขาธิการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) กล่าวกับ สำนักข่าวอิศรา ภายหลังที่ยื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี 3 ครั้ง (ช่วงเดือนเมษายน 1 ครั้ง แต่เรื่องก็เงียบหายไป และเดือนกรกฎาคม 2 ครั้ง) ต่อกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มเงินเดือนหรือค่าครองชีพให้ข้าราชการและลูกจ้างตามโครงการเบิกจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว ตั้งแต่ 1 มกราคม 2555 ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้กับข้าราชการและลูกจ้างทุกส่วนราชการ ยกเว้นข้าราชการและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยในวันที่ 1 สิงหาคม 2555 จะได้เข้าพบนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อชี้แจงถึงปัญหาความเดือดร้อนจากนโยบายดังกล่าว และรับทราบผลการพิจารณา ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ได้เรียกร้องงบประมาณเพื่อเงินเดือนของตนเอง แต่เรียกร้องงบประมาณเข้าองค์กรเพื่อดูแลประชาชนในปกครอง
นายทนงศักดิ์ กล่าวว่า การจัดตั้งงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องถือปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 35 ที่ระบุว่า การจ่ายเงินเดือน ประโยชน์ตอบแทนอื่นและเงินค่าจ้างของข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น และลูกจ้างที่นำมาจากเงินรายได้ที่ไม่รวมเงินอุดหนุนและเงินกู้หรือเงินอื่นใดนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ละแห่งจะกำหนดสูงกว่าร้อยละ 40 ของเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่ได้
ดังนั้นการที่รัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มค่าครองชีพ 9,000 บาท และ 15,000 บาท ประกอบกับการจัดสรรเงินอุดหนุนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหลักเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจนและไม่แน่นอน แม้ว่ายอดเงินงบประมาณท้องถิ่นจะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่เป็นงบที่ได้มาแล้วต้องใช้จ่ายออกไป เป็นรายจ่ายผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ซึ่งงบประมาณจะสูงกว่าเงินอุดหนุนทั่วไปมาก
"งบประมาณที่ต้องใช้จ่ายออกไปตามภารกิจของรัฐบาลในหลายโครงการ ค่าอาหารเสริมนม และอาหารกลางวัน คอมพิวเตอร์พกพา และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประกอบกับโครงการที่เป็นนโยบายของรัฐบาลได้นำวงเงินมารวมอยู่ในสัดส่วนของอปท. ร้อยละ 27.27 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดความเป็นอิสระในการใช้จ่ายงบประมาณ จึงส่งผลกระทบกับรายได้ที่จะต้องใช้จ่ายในการบริการสาธารณะให้กับประชาชน รวมทั้งมีผลกระทบกับค่าใช้จ่ายในการบริหารงานบุคคล ซึ่งสูงกว่าร้อยละ 40"
เลขา ส.ส.ท. กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2556 ตั้งงบไว้ 236,500 ล้านบาท แต่ต้องใช้จ่ายไปกับภารกิจรัฐบาลประมาณ 1 แสนล้านบาท และภารกิจอื่นๆ จึงเท่ากับว่าท้องถิ่นมีสิทธิ์ใช้เงินในอำนาจหน้าที่เหลือประมาณ 60,000 ล้านบาท นโยบายดังกล่าวหากไม่มีแนวทางแก้ไขมารองรับ เท่ากับว่าเป็นนโยบายที่เบียดบังงบประมาณท้องถิ่น
"สำหรับนโยบายเรื่องค่าครองชีพให้ลูกจ้าง ข้าราชการทั่วประเทศในกระทรวงต่างๆ รัฐบาลจัดงบประมาณให้ แต่ในส่วนท้องถิ่น ไม่ได้จัดให้ ทั้งที่เป็นเงินที่รัฐบาลสั่งให้จ่าย ผมว่าเรื่องนี้ไม่ยุติธรรมและเป็นเหตุที่ต้องออกมาเรียกร้อง" เลขา ส.ส.ท. กล่าว และว่า ตามปกติแล้วแต่ละกระทรวงจะมีตัวเลขชัดเจนถึงจำนวนราชการและงบประมาณที่ต้องใช้ในการเบิกจ่ายค่าครองชีพ แต่ส่วนท้องถิ่นเป็นเรื่องแปลกที่ไม่มีตัวเลขเหล่านี้
"อยู่ดีๆ ท้องถิ่นต้องรับภารกิจ มาปรับค่าใช้จ่ายในท้องถิ่น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานบุคคลเพิ่มขึ้นจากเดิม 38% กลายเป็น 42% และส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในการบริการสาธารณะแก่ประชาชน นี่คือความเดือดร้อนของผู้ปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นนโยบายมีหลายแห่งที่ยังไม่ได้ปรับจ่าย เนื่องจากยังไม่สามารถจัดสรรงบประมาณได้ และหากจัดสรรได้ก็จะกระทบต่อค่าใช้จ่ายสาธารณะในท้องถิ่นอยู่ดี"
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม การจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย จึงเรียนมาเพื่อขอความกรุณาจาก ฯพณฯ ได้พิจารณาหาแนวทางแก้ไข ให้กับ อปท. โดยเฉพาะส่งผลกระทบกับรายได้ที่จะต้องใช้จ่ายในการบริการสาธารณะให้กับประชาชน และปัญหาค่าใช้จ่ายด้านบุคคลที่สูงเกินกว่าร้อยละ 40 ดังนี้
1. ขอให้พิจารณาจัดสรรงบประมาณซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลหรือการสั่งการ เรื่องการเพิ่มเงินเดือน หรือค่าครองชีพ ให้กับข้าราชการและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่นเดียวกับข้าราชการส่วนกลางและภูมิภาค เนื่องจากการเพิ่มค่าครองชีพนี้ส่งผลกระทบให้ อปท.จำนวนมากมีรายจ่ายด้านบุคคลเกินกว่าร้อยละสี่สิบ โดยขอให้จัดสรรงบประมาณจากงบกลางให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง
2. เงินอุดหนุนเฉพาะกิจที่รัฐบาลจัดสรรให้แก่ อปท. มีสัดส่วนมากเกินไป และอาจทำให้ อปท. ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นซึ่งกำหนดการใช้จ่ายด้านการบริหารงานบุคลากรของ อปท. ไว้ไม่เกินร้อยละ 40 ดังนั้น จึงควรเปลี่ยนรายการเงินอุดหนุนเฉพาะกิจบางรายการมาเป็นเงินอุดหนุนทั่วไป เช่น โครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการศึกษา, โครงการสร้างหลักประกันผู้สูงอายุ, การสวัสดิการทางสังคมให้แก่ผู้พิการ, โครงการ อสม. เชิงรุก, โครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับ อปท. ต่อไป
3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลามีภาระการใช้จ่ายเงินที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาล ในการจ่ายค่าเบี้ยเสี่ยงภัยให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานคนละ 2,500 บาทต่อเดือน แต่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ อปท. เพียงคนละ 1,500 บาทต่อเดือน ยังขาดอีกคนละ 1,000 บาทต่อเดือน ขอให้รัฐบาลจัดสรรในส่วนนี้ให้ และขอให้ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังควรยกเลิกประกาศลดอัตราค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 2 เช่นเดียวกับพื้นที่อื่น เพื่อให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น
4. ขอให้พิจารณานำโครงการเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ “โครงการ อปท. เร่งด่วนจำนวน 13,819.55 ล้านบาท” เป็นเงินอุดหนุนทั่วไปตามอำนาจหน้าที่ เนื่องจากไม่มีรายละเอียดในการดำเนินการ
5. นโยบายของรัฐบาลที่จะลดภาษี หรือดำเนินการใดที่จะมีผลกระทบกับรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐบาลต้องจัดงบประมาณชดเชยให้ และนำโครงการที่เป็นนโยบายของรัฐบาลออกนอกสัดส่วนงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยโครงการหรือภารกิจนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังดำเนินการให้
6. งบประมาณที่จัดสรรเป็นเงินอุดหนุนเฉพาะกิจต้องจัดสรรในสัดส่วนที่เป็นธรรมแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุกรูปแบบ
7. งบประมาณในการถ่ายโอนภารกิจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรัฐบาลต้องจัดงบประมาณให้ และเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน โดยจัดงบประมาณเพิ่มให้ ไม่ใช่ดำเนินการแบบในปัจจุบัน โดยใช้งบประมาณในสัดส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น งบประมาณในการบำรุงรักษาถนน ซึ่งเป็นภารกิจถ่ายโอนจากกรมทางหลวงชนบท