แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
ค้านส่งแรงงานข้ามชาติท้องกลับประเทศ ชิ้ริดรอนสิทธิมนุษยชน พรากแม่-ลูก
วงเสวนา เห็นพ้องให้ รมว.แรงงาน ยกเลิกนโยบายส่งแรงงานข้ามชาติหญิงท้องกลับประเทศ ชี้ชัดอนุสัญญาสิทธิเด็ก-พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก กระทบสถาบันครอบครัว บีบให้แรงงานทำแท้ง แนะมีมาตรการคุ้มครองสิทธิแรงงาน-ตั้งศูนย์คุ้มครองเด็กในรง.
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant working group) และองค์กรภาคีเครือข่าย จัดงานเสวนา “เรื่อง นโยบายส่งกลังแรงงานหญิงข้ามชาติท้องกลับประเทศ กับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทย : หรือกระทรวงแรงงานเกาไม่ถูกที่คัน” ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมี นางสาวทัตติยา ลิขิตวงษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด.) นายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ และ นางสาวทัศนัย ขันตยาภรณ์ ตัวแทนจากองค์การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสาธารณสุข (PATH) ร่วมเสวนา
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมา นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) จัดทำร่างระเบียบให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยที่ตั้งครรภ์อายุ 3 เดือน กลับไปคลอดบุตรที่ประเทศต้นทาง และสามารถกลับเข้ามาทำงานได้ตามเดิม ซึ่งวิธีการนี้มีหลายฝ่ายมองว่าอาจะเป็นการริดรอนสิทธิมนุษยชนและไม่ใช่แนวทางในการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กและการค้ามนุษย์ อย่างแท้จริง
นางสาวทัตติยา กล่าวถึงผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวที่จะออกมานั้น มีผลต่อสถาบันครอบครัวโดยตรง เริ่มตั้งแต่การแยกภรรยาที่ตั้งครรภ์กับสามี ไปจนถึงอันตรายที่จะเกิดกับทั้งแม่และเด็กระหว่างการเดินทาง และในประเด็นถัดมา คือเมื่อคลอดลูกแล้วต้องปล่อยให้ลูกอยู่ในประเทศและแม่ต้องกลับมาทำงาน เด็กจะไม่ได้กลับการดูแลที่ดีพอ ทำให้เด็กที่อยู่ในวัยเจริญเติบโตจะไมได้รับการดูแลและมีพัฒนาการตามวัย อาจทำให้เด็กมีความบกพร่องได้
“ทั้งนี้ ส่งผลต่อเรื่องการทำแท้งให้เพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน เพราะแรงงานต่างชาตินั้นต้องการที่จะมาหารายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัว รวมทั้งไม่มีความรู้ในการวางแผนครอบครัว แต่เมื่อนโยบายนี้เกิดขึ้น ทางเลือกของแรงงานน้อยลงจนทำให้ถูกบีบให้ไปทำแท้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศแน่นอน นอกจากนี้ สิ่งที่พบอีกอย่างคือ การที่เด็กไม่ได้รับการดูแล เด็กต่างชาติที่อยู่ในประเทศต้นทางก็จะไม่ได้รับการศึกษาและไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ ไม่นานก็จะเข้าสู่ตลาดแรงงานไทยเป็นแรงงานนอกระบบเพิ่มมากขึ้น”นางสาวทัตติยา กล่าว และว่า นโยบายนี้จะขัดกับอนุสัญญาสิทธิเด็กหลายประเด็น เช่น การคุ้มครอง การดูแล การเลี้ยงดู และส่งเสริมพัฒนาการตามวัย นอกจากนี้ยัง ขัดกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ที่หากมีการแยกเด็กจากครอบครัวจะส่งผลต่อมาตรฐานขั้นต่ำในการดูแลเด็ก พร้อมมองว่า แม้นโยบายดังกล่าวมีเจตนาดีที่จะแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก แต่อยากให้ทางกระทรวงแรงงานกลับไปทบทวนอีกครั้ง ดูว่า แก้ถูกที่ ถูกทางหรือไม่ และผลกระทบที่ตามมาจะใหญ่กว่าปัญหาหรือไม่
ด้านนายอดิศร กล่าวถึงบริบทของแรงงานข้ามชาติว่า ปัจจุบันไม่ใช่แค่การเข้ามาเป็นแรงงานเพียงอย่างเดียว โดยระยะหลังพบว่ามีการข้ามวัฒนธรรมโดยการแต่งงาน เช่น คนไทยแต่งงานกับคนชาติอื่น นั่นคือ หากมีการส่งหญิงตั้งครรภ์กลับประเทศ ก็เหมือนเป็นการส่งให้คนไทยกลับประเทศอื่นแบบผิดกฎหมาย นอกจากนี้มองว่า ในส่วนของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการคัดกรองยังไม่จริงจังกับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์เท่าที่ควร โดยปีที่ผ่านมานำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้เพียงไม่กี่คดี ขณะเดียวกันนโยบายที่ เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ ยังไม่มีมิติของการคุ้มครอง คือเราคิดแต่จะเอาคนมาทำงาน แต่ลืมให้ความ คุ้มครอง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อแรงงานข้ามชาติและอาจเป็นปัจจัยหลักของกระบวนการค้ามนุษย์
“ข้อเสนอเบื้องต้นคือ อยากให้ยกเลิกนโยบายดังกล่าว และเข้าไปแก้ให้ถูกจุดซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเมืองไทยมีกลไกการคุ้มครองแรงงานค่อนข้างชัด แต่สิ่งสำคัญคือกระบวนการบังคับใช้ต้องเกิด เช่นเรื่องการคุ้มครองชั่วโมงการทำงาน และเรื่องค่าจ้างไม่เป็นธรรม ทั้งนี้มองว่ามาตรการอย่างเร่งด่วนที่ต้องมีคือ เรื่องการยึดเอกสารประจำตัว และการดูแลคุ้มครองสิทธิแรงงาน นอกจากนี้ เรื่องของแรงงานเด็ก อาจต้องมีทบทวนให้มีการส่งเสริมตั้งศูนย์คุ้มครองเด็กในอุตสาหกรรมแรงงาน รวมถึงประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการให้เด็กได้รับการศึกษาด้วย”
ส่วนนางสาวทัศนัย กล่าวถึงข้อกังวลของนโยบายนี้ว่า สิ่งที่กังวลคือตัวเลขของเด็กที่จะถูกส่งกลับบ้าน ซึ่งท้ายที่สุดอาจนำไปสู่ปัญหาที่วนเวียนทั้งเรื่องการค้ามนุษย์ ปัญหาสิทธิมนุษยชน และเรื่องแรงงาน ทั้งนี้ อาจส่งผลกระทบต่อไปยังกระทรวงสาธารณสุขที่จะไม่อนุญาตให้แรงงานหญิงข้ามชาติฝากครรภ์ ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือ เด็กที่เกิดมาจะติดเชื้อ สุขภาพไม่ดีและสุดท้ายแรงงานเหล่านี้ก็ต้องอยู่ในประเทศไทย และเราจะต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขด้วย
" ไม่อยากให้รมว.แรงงาน เห็นเรื่องการปลดล็อคการค้ามนุษย์เป็นเพียงแฟชั่น หรือเป็นเพียงความพยายามในสร้างผลงาน และอยากให้ดูบริบทโดยรวม และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกกระทรวง"