เปิดโครงการ พักชำระหนี้ นายกฯ แนะ ปชช.มีวินัย-ใช้จ่ายตาม ศก.พอเพียง
กระทรวงการคลังเปิดโครงการพักชำระหนี้ ไม่เกิน 5 แสนบาท 3 ปี ช่วยเกษตรกรวินัยดี –ผู้มีรายได้น้อย หวังประชาชนมีคุณภาพดีขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจคาดเติบโตร้อยละ 0.4-0.7 ต่อปี
วันที่ 2 พฤษภาคม นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดโครงการ “พักชำระหนี้ 3 ปี” โดย เจตจำนงในการจัดตั้งโครงการนี้ของรัฐบาล เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี และสามารถจัดการเพื่อให้รายได้สอดคล้องกับรายจ่าย และมีเงินเหลือเก็บ เพื่อพัฒนาต่อยอดกิจการต่อไปได้ ซึ่งจากโครงการชำระหนี้ครั้งนี้จะมีประชาชนได้ประโยชน์ 4 ล้านครอบครัว
“โครงการนี้ไม่ใช่การปลดหนี้ แต่เป็นการพักชำระหนี้ชั่วคราว โดยรัฐบาลจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 3 ปี เพื่อให้คุณภาพชีวิตของประชาชนกลับมาเป็นปกติสุข ในขณะเดียวกันประชาชนเองก็ต้องกลับมาดูบัญชีครัวเรือน เพื่อดูว่าส่วนใดที่ไม่จำเป็นหรือสามารถที่จะลดได้ก็ควรทำ เพื่อให้มีเงินเหลือจากการใช้หนี้และเป็นเงินเก็บส่วนตัว นำไปพัฒนาและเพิ่มรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว โดยยึดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง” นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าว และเชื่อว่าหากความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น จะช่วยให้เศรษฐกิจกลับมามั่นคงได้
ด้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงโครงการพักชำระหนี้เป็นการพักชำระหนี้แก่ลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดีในกลุ่มเกษตรกรรายย่อย และผู้มีรายได้น้อยที่มีมูลหนี้คงค้างไม่เกิน 5 แสนบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยเปิดโอกาสให้ลูกหนี้เลือก 2 แบบ คือพักเงินต้นพร้อมกับลดอัตราดอกเบี้ยให้ 3% หรือ ลดดอกเบี้ย 3% โดยไม่พักเงินต้น ซึ่งทั้งสองกรณีสามารถกู้เพิ่มได้ตามศักยภาพของหนี้ในอัตราดอกเบี้ยปกติ โดยจะเริ่มพักชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2555 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2558 ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2555 ถึง วันที่ 20 สิงหาคม 2555
ส่วนกลุ่มเป้าหมายลูกหนี้ที่เข้าข่ายโครงการพักชำระหนี้ฯ นั้น รมว.คลัง กล่าวว่า มีจำนวนประมาณ 3.8 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้คงค้างประมาณ 4.6 แสนล้านบาท แบ่งเป็นลูกค้าจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จำนวน 2.9 ล้านราย คิดเป็นมูลค่าหนี้ 3.9 แสนล้านบาท ธนาคารออมสิน 8.4 แสนราย มูลหนี้ 6.4 หมื่นล้านบาท ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) 7.8 พันราย มูลหนี้ 1.4 พันล้านบาท และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IBank) จำนวน 3.5 พันราย มูลหนี้ 450 ล้านบาท
“รัฐบาลคาดว่าผลจากโครงการชำระพักหนี้ฯ ครั้งนี้ จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 0.4-0.7 ต่อปี หรือ 4.4 – 7.7 พันล้านบาทต่อปี ทั้งนี้จะมีการดูแลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการนี้อย่างรอบคอบ โดยหากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ต้องออกจากโครงการทันที รวมทั้งมีการช่วยเหลือผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของสถาบันการเงิน ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อปี นอกจากนี้ทางกระทรวงการคลังจะแต่งตั้งคณะกรรมการทำหน้าที่ติดตามและดูลการใช้เงินของลูกหนี้ที่ประหยัดได้จากการเข้าโครงการนี้ด้วย”
ด้านนางวันเพ็ญ โพธิ์นิ่ม อายุ 28 ปี แม่ค้าขายเสื้อผ้าตลาดนัดซอยเรวดี กล่าวกับศูนย์ข้อมูลข่าวสารนโยบายสาธารณะว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เข้าร่วมโครงการ โดยเลือกแบบที่ลดดอกเบี้ย 3% โดยไม่พักเงินต้น เนื่องจากยังมีกำลังส่งเงินต้น ทั้งนี้โดยปกติแล้วต้องจ่ายเงินต้นเดือนละ 1,700 บาท ดอกเบี้ยอีก 300 บาท ซึ่งโครงการช่วยหักดอกเบี้ยแม้จะไม่มากแต่ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายและช่วยให้เหลือเก็บได้เดือนละ 3,000 บาท
“มีความคิดที่จะขยายร้านเพิ่มมานานแล้ว แต่เงินลงทุนยังไม่พอ เนื่องจากเงินลงทุนค่อนข้างสูง และที่ผ่านมากำไรก็ได้ไม่มาก เพราะถ้าขายแพงก็ขายไม่ได้ เลยตัดสินที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะคิดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยลง และนำส่วนนั้นมาเป็นเงินเก็บเพื่อลงทุนต่อไป”
ขณะที่ นางสะอาด สินประดิษฐ์ อายุ 50 ปี เกษตรกรจังหวัดลพบุรี ผู้เคยเข้าร่วมโครงการนี้มาแล้ว กล่าวว่า ตนได้เข้าร่วมโครงการนี้ในปี 2553 แต่ต้องหยุดโครงการเนื่องจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมจึงมาเข้าร่วมโครงการนี้ใหม่อีกครั้ง โดยเลือกแบบที่พักทั้งเงินต้นและลดดอกเบี้ย 3%
“โครงการนี้เป็นโอกาสที่ดีของเกษตรกร เพราะกว่าจะรวมเงินทุนได้ก็ใช้เวลานาน และเมื่อรวมได้ก็ต้องไปใช้หนี้ แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการ มีการจัดการนำส่วนที่จะต้องนำไปใช้หนี้ มาฟื้นฟูความเป็นอยู่ในครอบครัวให้เข้มแข็งและนำไปลงทุนต่อยอดอาชีพการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งทำให้มีรายได้เข้าบ้านทุกวันและมีเงินเก็บเฉลี่ยวันละ 500 บาท ช่วยลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ”