ปลูกป่า 10 ล้านไร่ต้นน้ำ- กลางน้ำ –ปลายน้ำ งบฯ หมื่นล้านปรับสมดุลระบบนิเวศ
แผนจัดการน้ำ กำหนดเวลา 3-5 ปี ฟื้นฟู อนุรักษ์ป่า เพื่อการเก็บรักษาน้ำในพื้นที่ต้นน้ำ เป็นแก้มลิงในพื้นที่กลางน้ำ และป้องกันการทลายของชายฝั่ง วงเงิน 10,000 ล้านบาท
จากการตรวจสอบ"เอกสารประกอบ โครงการการเสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบก่อสร้าง ระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย” ภายใต้ งบประมาณ 3.4 แสนล้านบาท ที่บริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศมาขอรับเพื่อไปออกแบบกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) ซึ่งได้เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2555 และจะปิดรับลงทะเบียนในวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 นั้น ล่าสุดวันที่ 12 กรกฎาคม มีบริษัททั้งในประเทศ และต่างประเทศ ที่สนใจมาลงทะเบียนขอรับข้อเสนอกรอบแนวความคิด รวม 97 ราย
สำหรับแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาว นอกจากการสร้าง“ฟลัดเวย์” ความยาว 250 กม.เหนือเขื่อนเจ้าพระยา-อ่าวไทย ทางฝั่งตะวันออกและหรือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ควบคู่กับการพัฒนาเส้นทางคมนาคม, การกำหนดสร้างอ่างเก็บน้ำ 21 อ่าง ใน 5 ลุ่มน้ำ และการกำหนด พื้นที่แก้มลิง 2 ล้านไร่ ในพื้นที่ 12 จังหวัดแล้ว
การฟื้นฟู อนุรักษ์ป่า และระบบนิเวศ ก็เป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการนั้น จะมีการใช้พื้นที่อีก 10 ล้านไร่ ในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลาย น้ำ เพื่อปรับอัตราการไหลน้ำหลากสูงสุด ก่อนจะไหลลงสู่น้ำหลักของพื้นที่ลุ่มน้ำด้วย
สำหรับ “โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและดิน ฝายแม้ว ฯลฯ เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่สมดุล” อยู่ภายใต้ งบประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นแบ่ง 3 พื้นที่ ได้แก่
1. พื้นที่ป่าต้นน้ำ และป่าในที่สูง ที่จะดำเนินการบนพื้นที่ประมาณ 8 ถึง 10 ล้านไร่ ในจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก อุทัยธานี เพชรบูรณ์ เป็นต้น โดยจะเน้นดำเนินการบนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม พื้นที่ที่มีความลาดชันสูง พื้นที่เกษตรที่สูง เป็นต้น การดำเนินการบนพื้นที่ดังกล่าวข้างต้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านการป้องกัน การเก็บรักษาน้ำ และการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศให้กับพื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่ภูเขา
2.พื้นที่ป่ากลางน้ำ และป่าในพื้นที่ราบ จะดำเนินการบนพื้นที่ประมาณ 500,000 ไร่ ในจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง เช่น จังหวัดสุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี เป็นต้น โดยจะเน้นดำเนินการบนพื้นที่ป่าพรุ พื้นที่ป่าบุง และป่าคาม พื้นที่ชุ่ม (Ramsar sitcs) พื้นทีเกษตรกรรมบางส่วน เป็นต้น การดำเนินการบนพื้นที่ดังกล่าวข้างต้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งการเป็นแก้มลิงธรรมชาติการบรรเทาน้ำท่วม การฟื้นฟูคุณภาพน้ำ และการรักษาสมดุลระบบนิเวศให้กับพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งชุมชน
3.พื้นที่ป่าปลายน้ำและป่าในพื้นที่ชายฝั่งทะเล จะดำเนินการบนพื้นที่ประมาณ 1 ล้านไร่ ในจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ปลายน้ำ เช่น จังหวัด สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม โดยจะเน้นดำเนินการบนพื้นที่ป่าชายเลน พื้นที่ป่าชายหาด เป็นต้น การดำเนินการบนพื้นที่ดังกล่าว จะก่อให้เกิดประโยชน์ ทั้งการช่วยบรรเทาความแรงของน้ำ การช่วยป้องกันการพังทลายชายฝั่ง การช่วยปรับปรุงฟื้นฟูคุณภาพน้ำ และการรักษาสมดุลระบบนิเวศชายฝั่ง
ทั้งนี้ มีรายงานว่า สำหรับหน่วยงานที่จะดำเนินการ จะประกอบไปด้วย กรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งองค์กรเอกชน และมูลนิธิต่างๆ เช่น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เป็นต้น โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป และใช้เวลาดำเนินการประมาณ 3 ถึง 5 ปี
รูป พื้นที่ดำเนินการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและดิน
หมายเหตุ- เอกสารโครงการ การเสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ โดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) มี ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน