เปิดทีโออาร์ “ฟลัดเวย์” 1 ใน 8 อภิโปรเจกต์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จัดหนัก 1.2 แสนล้าน
5 หน่วยงานภาครัฐนั่งแท่นคุม “ฟลัดเวย์” ยิงยาว 250 กม.เหนือเขื่อนเจ้าพระยา-อ่าวไทย พร้อมพัฒนาเส้นทางคมนาคมควบคู่ ดีเดย์แล้วเสร็จ 3-5 ปี
1 ใน 8 โครงการออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแก้ไขปัญหาอุกทกภัย ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตามที่ระบุไว้ในทีโออาร์ ที่ขณะนี้เปิดให้บริษัทเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศมารับไปจัดทำกรอบแนวคิดคือ การจัดทำทางน้ำหลาก (Floodway) หรือทางผันน้ำ (Flood diversion channel) ขนาดไม่น้อยกว่า 1,500 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งการจัดทำทางหลวงระดับประเทศไปพร้อมๆ กัน วงเงินงบประมาณ 120,000 ล้านบาท
กำหนดพื้นที่ดำเนินการ คือ ทางน้ำหลากฝั่งตะวันออกและ/หรือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาถึงอ่าวไทย ความยาว 250 กม. เพื่อทำหน้าที่ระบายน้ำหลากที่เกินขีดความสามารถของแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทย
โดยงานที่ต้องดำเนินการ ประกอบด้วย 1.เลือกรูปแบบของทางน้ำหลาก จะเป็น Floodway หรือ Flood diversion channel โดยการเปรียบเทียบข้อดีและข้อด้อย ด้วยเกณฑ์อเนก ประกอบด้วย เกณฑ์ด้านวิศวกรรม เกณฑ์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ และเกณฑ์ทางด้านเศรษฐกิจ-สังคม สิ่งแวดล้อมและนิเวศ
2.เลือกแนวทางของน้ำ โดยการเปรียบเทียบข้อดี ข้อด้อย ด้วยเกณฑ์อเนก
3.วิเคราะห์ค่าใช้จ่าย และรายรับ รวมทั้งแนวทางการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้ได้รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมและเป็นไปได้
4.วิเคราะห์การจัดทำฟลัดเวย์ และการคมนาคม (logistic) ไปพร้อมกัน สำหรับรองรับการพัฒนาที่เกิดขึ้นในอนาคต
และ 5.เลือกรูปแบบการลงทุนที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศมากที่สุด
ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินการดังกล่าวนั้น เอกสารระบุไว้ว่าคือ กรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมประมง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมทรัพยากรน้ำ สฝ.ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทางหลวง ของกระทรวงคมนาคม กรมที่ดิน ของกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ของสำนักนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ สำหรับระยะเวลาดำเนินการเริ่มตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไปใช้เวลาดำเนินการ 3 ถึง 5 ปี
รูป: เส้นทางน้ำหลากที่จะจัดสร้าง
หมายเหตุ- เอกสารโครงการ การเสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ โดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) มี ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน