นักวิชาการ ยันปีนี้ 'เอาอยู่' น้ำไม่ท่วม เหตุฝนตกน้อย –บริหารจัดการดี
ดร.รอยลชี้ ปริมาณน้ำฝนปีนี้เกินกว่าค่าเฉลี่ย 20% อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย แต่ยังมีพื้นที่เสี่ยง บริเวณลุ่มต่ำ แม่น้ำยม-แม่น้ำน่าน ด้าน กรมชลฯ ระบุ ปีนี้ปริมาณน้ำฝนน้อย ส่งผลให้น้ำในอ่างเก็บน้ำน้อย ขณะที่ช่วยเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ
วันที่ 24 มิถุนายน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม ราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “ปี 55 น้ำท่วมหรือเอาอยู่” โดยมี ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และคณะกรรมการ กยน. นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการผู้จัดการ ทีมกรุ๊ป นายเลิศชัย ศรีอนันต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน และนางอัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร ร่วมเสวนา ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ดร.รอยล กล่าวถึงปริมาณฝนปีนี้ อยู่ในเกณฑ์เดียวกับปี 2551 ในปริมาณ 1,500-1,600 มิลลิเมตร และน้อยว่าปี 2554 โดย อาจจะเกิดน้ำท่วมบ้างนิดหน่อย ในบริเวณพื้นที่เสี่ยง เช่น ริมน้ำ พื้นที่ลุ่มต่ำ ระหว่างลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำน่าน ซึ่งปกติเป็นปริมาณที่ท่วมอยู่แล้ว
" ในปีนี้ เรามีระบบข้อมูล โครงสร้าง และการจัดการที่ดีกว่าเดิม มีการสำรวจคลองแล้วเสร็จไปแล้ว 170 กม. สำรวจความลึกของคลองด้วยคลื่นเสียง และใช้เรือสแกนความลึกซึ่งสะดวกในการขุดลอกคลองเพื่อการระบายน้ำ นอกจากนี้ ในส่วนของการบริหารจัดการเริ่มมีการติดตั้งประตูระบายน้ำอัตโนมัติ รวมถึงมีการติดตั้งระบบโทรมาตรเพิ่มอีก 80 ตัว ในลุ่มน้ำที่สำคัญโดยมีความเสถียรและแม่นยำมากขึ้น เพราะใช้ระบบเรดาร์และโซล่าเซลล์ ฉะนั้นในส่วนของข้อมูลมีพร้อมเพื่อนำไปวิเคราะห์ต่อไป"
กยน. เผยรัฐเตรียมทำแผนจัดการน้ำระยะยาวปลายปี
ขณะที่ ดร.อานนท์ กล่าวถึงมาตรการเร่งด่วนว่า แม้จะทำได้ครบตามแผนระยะเร่งด่วน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัย 100% เพราะต้องมีการประเมินสถานการณ์ตลอด ฉะนั้นยังต้องลุ้นกันอยู่ ซึ่งหากสูงกว่าค่าเฉลี่ย 20% ก็ยังถือว่า ปลอดภัย ในส่วนของระบบการเตือนภัยนั้นสมบูรณ์และเป็นไปตามแผน แต่ในส่วนของกรมทางหลวงชนบท ที่รับผิดชอบดำเนินการจำนวนหนึ่งนั้นค่อนข้างจะล่าช้า เนื่องจากติดระบบการจัดการซื้อจัดจ้าง ไม่เอื้อกับงานลักษณะเช่นนี้ รวมทั้งผู้รับเหมามีจำนวนน้อย ในบางครั้งจึงต้องขอความร่วมมือจากทหาร
อย่างไรก็ตาม กรรมการ กยน. เชื่อว่า แผนการบริหารจัดการในปีนี้ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว และมีแนวทางที่ชัดเจนกว่า มีการประกาศให้ประชาชนได้เข้าใจว่าจะขอให้เป็นพื้นที่รับน้ำ และมีมาตรการในการช่วยเยียวยาและแก้ไข
สำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ดร.อานนท์ กล่าวว่า ปัจจุบันมียุทธศาสตร์ในการรับมือความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ โดยมีการคิดในแผนระยะยาว
“เราต้องมองทั้งระบบ ซึ่งการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้น่าจะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ โดยที่ประชาชน และทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมและทำความเข้าใจให้ตรงกัน หลักการที่แล้วมาอาจใช้ไม่ได้จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลง ดังกล่าวอาจส่งผลให้ผู้ได้รับผลกระทบแน่นอน จึงต้องมีการว่างให้ชัดว่าจะมีช่วยเหลือกันอย่างไร”
ขณะที่นายชวลิต กล่าวถึงแผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ในส่วนของกรุงเทพฯ ซึ่งจะมีแนวคันกั้นน้ำมากขึ้น มีการเลื่อนพื้นที่ปิดล้อม จกคลองมหาสวัสดิ์ขึ้นไปที่บริเวณคลองพระยาบันลือ ทำให้มีการขยายพื้นที่เป็น 4 ล้านไร่ จาก 1.9 ล้านไร่ แต่ที่เป็นประเด็น คือวิธีการป้องกันตัวเองด้วยพนังกั้นน้ำเราจะจัดการกับมวลชนอย่างไรไม่ให้พังพนังกั้นน้ำ หากปริมาณน้ำที่อยู่เหนือบริเวณคันใหม่ ในส่วนของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำท่วมสูงขึ้น
“ประเด็นสำคัญของกรุงเทพฯ คือบ้านเรือน และผู้อยู่อาศัย รวมทั้งถนน สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เป็นการสร้างขวางทางน้ำ โดยเฉพาะฝั่งตะวันออก การบริหารจัดการต้องมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานให้ดี ไม่ใช่หน่วยงานหนึ่งขุดลอกในขณะที่อีกหน่วยงานหนึ่งก็สร้างถนนทางเท้าโดยที่ไม่สนใจ”
กรมชลฯ ชี้ปีนี้น้ำน้อย มีพื้นที่กักเก็บน้ำเพิ่ม
ด้าน นายเลิศชัย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำฝนปัจจุบันว่า ปริมาณน้ำฝนทางภาคเหนือปัจจุบันน้อยกว่าปีที่แล้ว 20% แต่ก็ยังมากกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 21% ในขณะที่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์นั้นก็ยังน้อยกว่าปีที่แล้ว รวมถึงเขื่อนแควน้อยและเขื่อนป่าสักด้วย จึงเชื่อว่า เขื่อนจะมีพื้นที่รับน้ำมากกว่าปีที่แล้ว
สถานการณ์ของน้ำท่า นั้น ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมชลประทาน กล่าวว่า โดยรวมแล้วสถานการณ์น้ำในแม่น้ำหลักนั้นมีปริมาณน้อย แต่อาจจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพล สำหรับใช้ในการเกษตร และสำหรับการคาดการณ์ล่วงหน้า แนวโน้มของฝนอยู่ในปริมาณปกติ แต่ทั้งนี้ต้องมีการเฝ้าระวังในเรื่องของพายุซ้อนเข้ามาด้วย ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา ก็มีการคาดการณ์ว่าจะมี 1-2 ลูก ซึ่งจะทำให้มีฝนค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่หนักเท่ากับปีที่แล้ว
“สำหรับการเตรียมการ ในส่วนของการจัดการน้ำในเขื่อน มีการปรับ Rule Curve ใหม่ โดยเน้นการป้องกันอุทกภัยมากขึ้น แต่ปลายฤดูฝนก็ต้องมีน้ำเพียงพอสำหรับใช้ฤดูแล้งด้วย นอกจากนี้ ทางกรมชลประทาน กำลังดำเนินการในส่วนของการเตือนภัย ในระบบโทรมาตร ใน 10 ลุ่มน้ำ โดยร่วมกับทางมหาวิทยาลัยบูรพา ในการทำแบบจำลองการระบายน้ำ ซึ่งจะสามารถนำมาใช้ในการเตือนภัยได้”นายเลิศชัย กล่าว และว่า ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ทางกรมชลได้รับงบประมาณ ในการซ่อมแซม และทำคันกั้นน้ำแล้วเสร็จทั้งหมดแล้ว
สำหรับพื้นที่รับน้ำนอง นายเลิศชัย กล่าวว่า ในการเตรียมการรับกรณีที่น้ำมากเหมือนปีที่แล้ว อยู่ ที่ 2.14 ล้านไร่ โดยสามารถจุน้ำได้ประมาณ 5,000 ลบ.ซม. ซึ่งได้เสนอให้กับรัฐบาลและมอบหมายให้ ดร.รอยล พิจารณาดูความเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ เงินเยียวยาอยู่ที่ 5 พันกว่าบาทต่อไร่ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับพื้นที่ด้วยว่าจะมีการประกาศให้มีพื้นที่รับน้ำนองหรือไม่
“ขณะนี้ กรมชลประทานเตรียมพร้อมเครื่องผลักดันน้ำและเครื่องสูบ คาดว่าการระบายน้ำจะดีกว่าปีที่แล้ว ซึ่งหากมององค์รวม ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ถ้ามีการบริหรจัดการตามศักยภาพ น้ำท่วมปีที่แล้วก็อาจจะไม่เกิด ”
นายเลิศชัย กล่าวถึงคนในพื้นที่ด้วยว่า ต้องยอมรับความจริงว่าพื้นที่ที่เราอยู่เป็นอย่างไร ซึ่งหากอยู่ในพื้นที่รับน้ำนองก็ต้องดูว่าต้องทำอย่างไร ในส่วนของรัฐบาลเองก็ต้องมีการจัดการที่ประชาชนสามารถยอมรับได้ มีความจริงจังและช่วยเหลือเท่าที่ควรจะเป็น ในกรณีที่ยอมเสียสละ และประเด็นสำคัญที่ควรเร่งดำเนินคือ ผู้ที่บุกรุกลำน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมใน กรุงเทพฯ
ภาคเอกชนวอนรัฐมีระบบสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อเตรียมรับมือ
ในส่วนของภาคเอกชน นางอัญชลี กล่าวว่า นักลงทุนยังมีความเป็นห่วงอยู่บ้างว่าน้ำจะมามากน้อยเพียงใด และภาครัฐจะมีการจัดการภายนอกอย่างไร แต่ทั้งนี้ มีการป้องกันตนเอง โดยการสร้างเขื่อน ซึ่งปีนี้จึงได้ทำการปรับปรุง รื้อและสร้างให้มีความสูงมากกว่าเดิม โดยปัจจุบันก็สร้างเสร็จแล้วในบางแห่งประมาณ 70% และคาดว่าจะสร้างเสร็จในเดือน สิงหาคม โดยเชื่อว่า ถ้าน้ำมาในปริมาณเท่ากับปีที่แล้วจะสามารถป้องกันได้ แต่ก็ยังห่วงในเรื่องของการขนส่ง ในเรื่องของ คน วัตถุดิบ และ ผลิตภัณฑ์
“ระบบการสื่อสารการให้ข้อมูล ต้องให้มีระบบ น่าจะมีการตั้งคนที่จะเป็นผู้ให้ข้อมูลที่เที่ยงตรง และเป็นประโยชน์ในการเตรียมตัวในการบริหารจัดการล่วงหน้า มีความชัดเจนในการจัดการ และให้ระบบข้อมูล และการเตือนล่วงหน้า ฉะนั้น เมื่อเข้าใกล้หน้าฝนอยากจะให้ภาครัฐให้ข้อมูลที่ถี่ขึ้น และเป็นระบบเพื่อจะสามารถเตรียมการรองรับได้ ” นางอัญชลี กล่าว และฝากให้ทางภาครัฐจัดทำข้อมูลให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย สำหรับประชาชนและคนทั่วไป รวมทั้งมีคอลเซ็นเตอร์ สำหรับให้ข้อมูล และตอบคำถามประชาชน รวมถึงเว็บไซต์ที่จะสามารถให้ข้อมูล เพื่อให้ทุกคนมีความสบายใจ