ดร.รอยล รับบริหารน้ำเขื่อนปีนี้ไม่ง่าย หวั่นต้น พ.ย.ขาดน้ำปล่อยคืนระบบ
ดร.รอยล เผยบริหารน้ำในเขื่อนปีนี้ไม่ง่าย หวั่นต้น พ.ย.น้ำเหลือน้อย ไม่พอปล่อยคืนสู่ระบบ-น้ำเค็มอาจหนุนถึงอยุธยา แนะ ลดพื้นที่นาปรัง
วันที่ 22 มิถุนายน คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาอุทกภัย 2554 วุฒิสภา จัดสัมมนาเรื่อง “ผ่าวิกฤตมหาอุทกภัย 2554 กับนโยบายเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย 2555 ของรัฐบาล” ณ อาคารรัฐสภา 2 โดยมี ดร.รอยล จิตรดอน คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ คณะทำงานของดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พลตำรวจโททวีศักดิ์ ตู้จินดา กรรมาธิการวิสามัญในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาอุทกภัย 2554 วุฒิสภา ร่วมเสวนา และมีผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชนเข้าร่วมรับฟังประมาณ 200 คน
ดร.รอยล กล่าวถึงการวิเคราะห์ปริมาณน้ำในปีนี้ว่า ได้มีการคาดการณ์จากปริมาณน้ำท่าในประเทศไทย และได้มีการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์สมดุลของน้ำ โดยมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นบล็อกๆ ซึ่งจะทำให้เห็นได้ชัดว่า ลุ่มน้ำใด หรือพื้นที่ได้มีปริมาณน้ำเกินสมดุล จะต้องเร่งระบายออกขณะที่การบริหารน้ำในเขื่อนนั้น
ดร.รอยล กล่าวว่าปีนี้จะเน้นบริหารในลักษณะกลุ่มเขื่อนมากขึ้น ขณะที่เขื่อนบางแห่ง เช่นเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะต้องบริหารจัดการให้สามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ซึ่งเดิมอยู่ที่ 1,000 ล้าน ลบ.ม. ให้เพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากเขื่อนนี้มีความสำคัญมากในการตัดยอดน้ำที่จะเข้าสู่กรุงเทพฯ
ดร.รอยล กล่าวยอมรับด้วยว่า การบริหารน้ำในเขื่อนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องคำนึงเรื่องน้ำท่วมน้ำแล้งควบคู่กันไป จากการคาดการณ์ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ เขื่อนสิริกิติ์จะมีน้ำเหลือในเขื่อนประมาณ 86% ขณะที่เขื่อนภูมิพล คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเหลือในเขื่อน 72% ซึ่งไม่น่าจะเพียงพอที่จะปล่อยคืนสู่ระบบ น้ำเค็มอาจหนุนขึ้นไปถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ ดังนั้นทางออกคือ ในช่วงเวลาดังกล่าวจะต้องลดพื้นที่ทำนาปรังลง แต่ทั้งนี้เชื่อว่าเกษตรกรจะไม่ยินยอมด้าน
ดร.สุรชัย กล่าวถึงการเตรียมป้องกันน้ำท่วม ที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้ว่า รัฐบาลได้ดำเนินการตามแผนระยะเร่งด่วนของ กยน. อาทิ ขุดลอกลำน้ำ ปรับระดับการเก็บน้ำในเขื่อน รวมถึงการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ต้นน้ำ ล่าสุดนายกรัฐมนตรีก็จัดทัวร์นกขมิ้นรอบ 2 เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการต่างๆ
ขณะที่การดำเนินโครงการภายใต้ พ.ร.บ.เงินกู้ 3.5 แสนบาทนั้น ดร.สุรชัย กล่าว ขณะนี้เงินจำนวนดังกล่าวได้ถูกจัดสรรให้กับคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) 10,000 ล้านบาท กระทรวงคมนาคม 25,000 ล้านบาท กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 940 ล้านบาท และนิคมอุตสาหกรรม 3,800 ล้านบาท ส่วนเงินจำนวนเหลือจะใช้ในการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ โดยจะเปิดให้ผู้ที่สนใจทั้งไทยและต่างประเทศเสนอโครงการเข้ามา เบื้องต้นมีต่างชาติที่สนใจเข้ามาเสนอโครงการบริหารน้ำประมาณ 8-9 ประเทศ
ส่วนพลตำรวจโททวีศักดิ์ กล่าวถึงการดำเนินโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลว่า ขณะนี้ยังมีความล่าช้า และเครื่องมือสำหรับคาดการณ์สถานการณ์ต่างๆ เช่น กรมอุตุนิยมวิทยาก็ล้าสมัย ซึ่งตนเห็นว่าประเทศไทยควรจะลงทุนในเรื่องนี้ เพื่อให้มีเทคโนโลยีพยากรณ์ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ได้มีการตั้งข้อสังเกตถึงการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ของรัฐบาลขึ้นมาบริหารจัดการน้ำ แทนที่จะใช้หน่วยงานของรัฐที่มีอยู่เดิม เช่น กระทรวงมหาดไทย แต่กลับไปใช้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อาจทำให้การทำงานเกิดความล่าช้า เนื่องจากความพร้อมด้านบุคลากร