คันกันน้ำพัง ทำสุโขทัยอ่วม "กรมชลฯ" ยันแผนรับน้ำปี '55 พร้อม!
กรมชลฯ ยันพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำปี '55 ลดระดับน้ำ 2 เขื่อนใหญ่-จัดหาแก้มลิง-เสริมทัพเครื่องสูบน้ำ ด้านกรมอุตุฯ เผยปริมาณฝนปีนี้ใกล้เคียงค่าปกติ บอกปัจจัยชี้ขาดน้ำท่วมขึ้นอยู่กับพายุ
วันที่ 13 มิถุนายน กรมชลประทาน จัดเสวนาเรื่อง “เตรียมการสู้วิกฤตน้ำ ปี 55” เนื่องในโอกาสวันสถาปนากรมชลประทานปีที่ 110 ณ อาคารศูนย์วิศวกรรมการชลประทาน โดย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวถึงการคาดการณ์น้ำตลอดปี 2555 พบว่าในลุ่มน้ำปิง ยม น่านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนในพื้นที่อื่นซึ่งตรวจวัดจาก 11 สถานี มีแนวโน้มใกล้เคียงค่าปกติ
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำในปี 2555 นั้น ดร.ทองเปลว กล่าวว่า ได้มีการปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำให้สอดรับกับแผนระยะเร่งด่วนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) โดยในพื้นที่ต้นน้ำ จะเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำให้ได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 3,256 ล้าน ลบ.ม. ภายในเดือนพฤษภาคม ซึ่งหากพิจารณาจาก 2 เขื่อนขนาดใหญ่จะพบว่า ขณะนี้เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำในอ่างอยู่ที่ 46% ของความจุ ลดลงจากปีก่อนซึ่งมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 54% ส่วนเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำในอ่างอยู่ที่ 48% ของความจุ ลดลงจากปีก่อนซึ่งมีปริมาณน้ำในอ่างอยู่ที่ 54% เช่นกัน ทำให้ปีนี้ทั้ง 2 เขื่อนดังกล่าวสามารถรองรับน้ำได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 12,000 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนพื้นที่กลางน้ำ ดร.ทองเปลว กล่าวว่า เน้นในเรื่องการชะลอน้ำ ซึ่งต้องจัดหาพื้นที่ให้ได้ 2.14 ล้านไร่ เพื่อชะลอน้ำ 5,112 ล้าน ลบ.ม.ไว้ในพื้นที่นาในช่วงต้นเดือนกันยายน ก่อนปล่อยคืนสู่ระบบในเดือนพฤศจิกายน พร้อมกันนี้จะดำเนินการซ่อมแซม ปรับปรุง คันกั้นน้ำและประตูระบายน้ำ ปรับแผนการเพาะปลูกและการใช้น้ำภาคการเกษตรควบคู่ไปด้วย
“ขณะที่พื้นที่ปลายน้ำจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำลงสู่ทะเลให้ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมวันละ 76.76 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งขณะนี้กรมชลฯได้เตรียมเครื่องสูบน้ำไว้แล้วจำนวนทั้งสิ้น 268 เครื่อง พร้อมทั้งเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ ขนาด 12 นิ้วอีก 505 เครื่อง สิ่งเหล่านี้เป็นมาตรการที่กรมชลประทานได้เตรียมไว้รองรับสถานการณ์ในปีนี้”
ทั้งนี้ ดร.ทองเปลว กล่าวถึงสาเหตุน้ำท่วมที่ปากพระ อำเภอเมือง จ.สุโขทัย ด้วยว่า เกิดจากการไหลบ่าของน้ำลงมาท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำ แต่เนื่องจากแนวคันกันน้ำพัง ทำให้เข้าท่วมพื้นที่ดังกล่าว โดยยืนยันว่าไม่ได้เกิดจากน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วม 2 ฝั่งแม่น้ำแน่นอน เพราะความสามารถของลำน้ำในบริเวณนี้อยู่ที่ 700 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะที่ปริมาณน้ำมีเพียง 600 ลบ.ม.ต่อวินาทีเท่านั้น
ด้าน ดร.เมธี มหายศนันท์ สำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงการคาดหมายปริมาณฝนในประเทศไทย ระหว่างเดือน พ.ค.-มิ.ย.ปี 2555 ว่า ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง สูงกล่าวค่าปกติเพียงเล็กน้อย ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก กรุงเทพและปริมณฑลมีปริมาณฝนใกล้เคียงกับค่าปกติ ขณะที่การคาดหมายปริมาณฝนในช่วงปลายปีนั้น จะเป็นบวกหรือลบคงต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง และปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเรื่องของพายุด้วยว่า จะเข้ามาในประเทศไทยมากน้อยเพียงใด ขณะนี้ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ เนื่องจากระบบการคาดการณ์พายุ สามารถทำได้ในช่วงเวลา 3-7 วันเท่านั้น